ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

ไมโครไฟแนนซ์แบบ iBank ยกระดับชีวิต-แก้ปัญหาไฟใต้

เริ่มโดย ฅนสองเล, 10:09 น. 08 มี.ค 55

ฅนสองเล

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์   8 มีนาคม 2555 08:49 น.   
   
[attach=1]
"ธีรศักดิ์ สุวรรณยศ" กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย


อีกไม่กี่เดือนข้างหน้า "ธีรศักดิ์ สุวรรณยศ" กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือ iBank ก็จะเกษียณอายุ หลังจากที่เขานั่งเป็นบิ๊กบอสใหญ่ธนาคารแห่งนี้หลังควบรวมกับธนาคารชะริอะฮ์ ธนาคารกรุงไทย กับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปี 2555 เขาได้เปิดใจกับทีมข่าวเศรษฐกิจ ASTVผู้จัดการ โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจหลายๆ เรื่องเกี่ยวกับบทบาทของธนาคารอิสลามในการมีส่วนช่วยในแก้ไขปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยยุทธศาสตร์การปล่อยสินเชื่อเพื่อผู้มีรายได้น้อยที่ด้อยโอกาสเข้าถึงแหล่งเงิน หรือ ไมโครไฟแนนซ์, ผลกระทบของการลงทุนไทยต่อการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ฯลฯ
       
       อยากให้พูดถึง iBankในช่วงที่เข้ามารับตำแหน่ง
       
       ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานั้น iBank เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปมากขึ้นแม้ว่าธนาคารจะใช้หลักการให้บริการทางการเงินตามหลักศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัดแต่ก็ให้บริการประชาชนทุกศาสนา โดยภาพรวมลูกค้าของ iBank ทั้งหมด 85% เป็นลูกค้าที่ไม่ใช่ชาวมุสลิม ที่เหลืออีก 15% เป็นชาวมุสลิม ซึ่งก็ถือเป็นปกติตามสัดส่วนผู้นับถือศาสนาในประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตามเราก็ยังมุ่งเข้าหาลูกค้าชาวมุสลิมเป็นหลักอยู่แล้วตามวัตถุประสงค์การตั้ง iBank ขึ้นมา
       
       เป้าหมายที่เป็นกลุ่มลูกค้าชาวมุสลิมนั้นแต่เดิมเขาไม่ค่อยทำธุรกิจกันมากนักแต่เมื่อมี iBank เกิดขึ้นมาทำให้เขาหันมาทำธุรกิจมากขึ้น เนื่องจากสามารถดำเนินธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ได้โดยไม่ขัดต่อหลักศาสนา จากเดิมที่ไม่เคยเข้าแบงก์ก็หันมาใช้บริการมากขึ้นมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้นและช่วยให้มาตรฐานความเป็นอยู่ของเขาก็ดีขึ้น
       
       โดยเฉพาะในส่วนของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เรามีเป้าหมายลดความยากจน มีการลงพื้นที่ทุกเดือนเพื่อรับฟังความเห็นของลูกค้าในพื้นที่ ซึ่งเมื่อสามารถลดปัญหาความยากจนลงได้ก็จะช่วยลดความรุนแรงในพื้นที่ลงได้เช่นกัน เพราะเมื่อประชาชนในพื้นที่มีอาชีพมีรายได้เพิ่มขึ้นแล้วจะทำให้การรับรู้ข้อมูลที่ผิดๆ ลดน้อยลง
       
       วิธีการในการมีส่วนร่วมลดความรุนแรงในพื้นที่
       
       คือการดึงคนในพื้นที่เข้ามาเป็นพนักงานของเราโดยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะรับ 2 รูปแบบคือรับบนมาตรฐานคุณภาพตามปกติทั่วๆ ไปของการรับพนักงานและการรับเด็กที่จบปริญญาตรีในครอบครัวที่ยากจนหรือสูญเสียสมาชิกในครอบครัวจากเหตุการณ์ความไม่สงบเข้ามาทำงานให้มีรายได้และเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหา เนื่องจากคนในพื้นที่จะสามารถเข้าถึงและเข้าใจคนในพื้นที่ทำให้ iBank ทำงานในพื้นที่ได้สะดวกขึ้น
       
       สิ่งที่สาขาแถบพื้นที่ภาคใต้ทำคือการปล่อยสินเชื่อ ไมโครไฟแนนซ์วงเงิน 5 พัน – 2 หมื่นบาท แต่เนื่องจากสาขาของเรามีน้อยจึงต้องอาศัยวิธีการร่วมมือกับชุมชนโดยให้คณะกรรมการหมู่บ้านเลือกตัวแทนที่จะมาประสานงานกับแบงก์ ซึ่งต้องมีลักษณะเป็นคนจนที่ดีตั้งใจทำงาน เมื่อเข้ามาแล้วจะมีการฝึกอบรมในเรื่องการอนุมัติสินเชื่อและติดตามการใช้วงเงิน โดยจะให้คนที่จบปริญญาตรีในพื้นที่ทำงานในลักษณะสัญญาจ้างเพื่อสอนเจ้าหน้าที่ภาคสนาม และในอนาคตหากมีความเชี่ยวชาญในการทำธุรกิจแล้วก็จะมีการแปลงสภาพเป็น Banking Agent หรือเจ้าหน้าที่สินเชื่ออิสระและแบ่งกำไรการดำเนินการกับแบงก์
       
       ไมโครไฟแนนซ์เข้าถึงลูกค้ามากแค่ไหน
       
       ตอนนี้สาขาใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ 28 สาขาถือว่า iBank แข็งแกร่งที่สุดในเรื่องสินเชื่อไมโครไฟแนนซ์ซึ่งมีลูกค้าในส่วนนี้เยอะมาก ซึ่งอยู่ในระหว่างการขยายเป็นไมโครไฟแนนซ์ เซ็นเตอร์ให้ครอบทั้ง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีชาวมุสลิมอยู่หนาแน่น ขณะที่เจ้าหน้าที่ภาคสนามมีอยู่ 175 คน และผู้ประสานงานในพื้นที่ 256 คนก็ต้องมีการรับเพิ่มขึ้นอีกในอนาคตเพราะมีผู้ประสานงานบางรายไม่มีความสามารถในการปฏิบัติงานได้อย่างเต็มที่ต้องอาศัยท้องถิ่นเป็นผู้คัดเลือกให้อีกครั้ง
       
       ซึ่งสิ่งที่เราทำอยู่ในขณะนี้ทางธนาคารโลกให้ความสนใจมากเนื่องจากการมีส่วนร่วมของชุมชนก็ให้ผลที่ดีและมีความแตกต่างกับกรามีนแบงก์ในบังคลาเทศที่ใช้รูปแบบการค้ำประกันของสมาชิกกลุ่ม คงใช้เป็นกรณีศึกษาต่อไปในอนาคต
       
       หนี้เสียเกิดขึ้นมากไหม
       
       NPL ที่เกิดขึ้นจากไมโครไฟแนนซ์ของเรามีอยู่เพียง 3% เท่านั้นนั่นเป็นเพราะขาดการติดตามอย่างเข้มข้นของผู้ประสานงานในพื้นที่ของธนาคาร ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นและกลายเป็น NPL นั้นมาจากวิถีชีวิตของเขาได้รับผลกระทบจากที่ดำเนินอยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น ลูกแต่งงาน น้ำท่วม เกิดเหตุระเบิด ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ประสานงานเข้าไปติดตามอย่างใกล้ชิดแต่แรกก็จะไม่มีปัญหาเกิดขึ้น ไปดูว่าลูกค้าที่เกิดปัญหาเหล่านี้จะทำอย่างไรต่อไป โดยสรุปแล้วปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นล้วนมาจากรายได้ไม่พอจ่ายหนี้
       
       เป้าหมายของไมโครไฟแนนซ์ในปีนี้
       
       ในพื้นที่แต่เดิมแล้วมีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสินเป็นผู้ปล่อยสินเชื่ออยู่แล้ว แต่ในระยะหลังที่ iBank เข้ามาลูกค้าก็เริ่มมาหาเรามากขึ้นเพราะไม่ขัดต่อหลักสาสนา โดยในปี 2555 นี้ตั้งเป้าที่จะปล่อยสินเชื่อไมโครไฟแนนซ์เพิ่มอีก 1 แสนรายโดยจะโฟกัสไปที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอันดับหนึ่งแต่ก็ไม่ทิ้งพื้นที่อื่นแต่เนื่องจากในพื้นที่นี้มีความเคร่งครัดต่อศาสนามากกว่าจึงมรความต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ไม่ขัดต่อหลักศาสนาสูงตามไปด้วยเช่นกัน
       
       ผมภูมิใจที่สินเชื่อไมโครเข้าถึงชาวบ้านได้ซึ่งช่วยยกระดับของคนที่อยู่นอกระบบสถาบันการเงินให้เข้ามาอยู่ในระบบได้ ทำให้เขาลืมตาอ้าปากได้ และในอนาคตเมื่อลูกค้ามีการเติบโตขึ้นก็จะขยายการใช้บริการทางการเงินที่ไม่ขัดต่อหลักศาสนาได้อย่างหลากหลายมากขึ้นซึ่งเป็นผลดีต่อแบงก์อย่างมากในอนาคต
       
       จะใช้รูปแบบนี้ทำตลาดทั่วประเทศหรือไม่
       
       ต้องขอบอกก่อนว่ารูปแบบนี้ใช้ได้เฉพาะในระดับอำเภอหรือในเขตชนบทเท่านั้นเป็นการใช้ชีวิตทำมาหากินในชุมชนแต่ถ้าเป็นเขตเมืองจะมีความแตกต่างกันมากจะใช้รูปแบบอื่น เช่นในเขตกรุงเทพมหานครแม้แต่คนละพื้นที่ก็ยังใช้รูปแบบที่แตกต่างกัน เช่น ในเขตทุ่งครุก็จะใช้รูปแบบหนึ่ง ย่านตลาดยิ่งเจริญก็จะใช้อีกรูปแบบหนึ่งจะมีความยืดหยุ่นปรับไปตามสภาพของแต่ละพื้นที่ให้มีความเหมาะสมกับรูปแบบชีวิตของคนในชุมชนนั้นๆ เป็นหลัก โดยในปัจจุบันที่กรุงเทพฯ มีการดำเนินการไปแล้ว 160 ชุมชน
       
       จะส่งไม้ต่ออย่างไรหลังเกษียณไปแล้ว
       
       ในฐานะที่ผมทำหน้าที่ตรงนี้มาก็ได้วางรากฐานที่ดีเพื่อให้ iBank สามารถเดินหน้าต่อไปได้ แผนธุรกิจ 5 ปีก็เสนอไปยังกระทรวงการคลังแล้วจึงไม่ค่อยเป็นห่วงว่าคนที่จะเข้ามาใหม่ที่รับช่วงต่อจากผมเขาก็ต้องทำตามการประเมินผลงานในแผนที่ยื่นไปยังกระทรวงการคลัง แต่เท่าที่มองก็เห็นรองกรรมการผู้จัดการ 2 คนที่มีความเหมาะสมกับตำแหน่งนี้แต่ก็ขึ้นอยู่กับกระบวนการสรรหาว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร
       
       การทำหน้าที่บริหารแบงก์แห่งนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่ใช่จะเอาใครที่ไหนก็ได้มาทำผู้ที่จะเข้ามาบริหารแบงก์อิสลามจะต้องเข้าใจหลักการของศาสนาอิสลามอย่างแท้จริงว่าการทำธุรกรรมทางการเงินต้องใช้หลักการใดบ้าง ซึ่งคิดว่าอย่างน้อนคนในที่มีประสบการณ์ก็น่าจะมีภาษีดีกว่าคนนอกอยู่บ้าง
       
       กรณีญี่ปุ่นจะย้ายฐานการผลิต-การลงทุน เพราะปัญหาเรือ่งค่าแรงขั้นต่ำและเรื่องน้ำท่วมในเมืองไทย มองอย่างไร
       
       เรื่องย้ายฐานการลงทุนเป็นเรื่องธรรมชาติของนักลงทุน กรณีเรื่องค่าแรง 300 บาท พวกโรงงานผลิตรองเท้า สิ่งทอ ก็อาจจะย้ายไปพม่า เขมร เวียดนาม แต่อุตสาหกรรมและโรงงานที่ต้องใช้แรงงานมีฝีมือ อย่างพวกเซมิคอนดักเตอร์ ชิปต่างๆ คงจะย้ายยาก ตอนนี้สิ่งที่พวกนักลงทุนเขาปรับตัวก็คือ จากเดิมที่สร้างโรงงานกันแถวอยุธยา เพราะใกล้กรุงเทพฯ วันธรรมดาตัวเองทำงานอยุธยา ครอบครัวก็อยู่กรุงเทพฯ ไปมาสะดวก ตอนนี้ก็อาจจะต้องมีการย้ายหรือกระจายกำลังการผลิตของโรงงานไปอยู่พื้นที่อื่นๆ ที่น้ำไม่ท่วม อย่างทางตะวันออก ชลบุรี ระยองมากขึ้น หรือ ทางตะวันตก เช่น นครปฐม ราชบุรี กาญจนบุรี แทน
       
       มองเรื่องผลกระทบของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) และการเปิดประเทศของพม่าอย่างไรบ้าง
       
       ผมคิดว่าเรื่องเออีซี ประเทศไทยน่าจะได้เปรียบในอีกสองปีข้างหน้า เพราะอย่างน้อยเราน่าจะส่งสินค้าไปยังประเทศต่างๆ ในเออีซีได้มากขึ้น เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค อาหาร หรือ บริการ ส่วนจุดอ่อนของเมืองไทยก็คือ ความพอเพียงของโครงสร้างพื้นฐานต่อการพัฒนาเศรษฐกิจว่ามีพอหรือไม่ ซึ่งผมเห็นว่าไม่เกี่ยวกับเรื่องระดับค่าแรงขั้นต่ำ ส่วนอีกเรื่องที่น่าจะสำคัญกว่าก็คือ ความมั่นคงของระบบการเมือง อย่างน้อยๆ ไทยก็ยังมั่นคงในการเป็นประเทศที่มีระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยอยู่ ยังไม่เป็นระบบอื่น ซึ่งความผันผวนของปัจจัยอันหลังน่าจะส่งเป็นเรื่องที่นักลงทุนให้ความสำคัญมากกว่า
       
       นักลงทุนเวลาจะมาลงทุนเขาไม่ได้ดูเฉพาะแรงจูงใจเรื่องต้นทุนอย่างเดียว แต่เขาต้องดูปัจจัยแวดล้อม เช่น ถ้าเขาต้องมาทำงานแล้วมีโรงเรียนให้ลูกเขาไหม บ้านเมืองมีความปลอดภัยสำหรับภรรยาเขา ลูกเขา ครอบครัวเขาไหม มีแหล่งช็อปปิ้งไหม ส่วนอินโดนีเซียที่กำลังมาแรง แน่นอนว่าตอนนี้ประเทศอินโดฯ นั้นดูดี เพราะประชากรเขาเยอะกว่าตั้ง 200 กว่าล้านคน ส่วนการเมืองก็นิ่งกว่าเรา ค่อนข้างมีเสถียรภาพทางการเมือง แต่เชื่อว่าถ้าเอานักลงทุนมา 10 คนมาให้เลือก ผมก็ยังเชื่อว่าเขายังเลือกเมืองไทยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะบรรยากาศในการลงทุน ทั้งในเรื่องซอฟท์แวร์ และฮาร์ดแวร์
       
       ส่วนกรณีที่พม่าเปิดประเทศ ซึ่งมีหลายฝ่ายว่าถ้าพม่าเปิดประเทศแล้วแรงงานพม่าในไทยจะไหลกลับไป ผมมองว่าแรงงานพม่าส่วนใหญ่ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยเป็นพม่าที่มาจากชนกลุ่มน้อย ซึ่งบางส่วนก็คงกลับพม่า แต่ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในเมืองไทย ทั้งนี้ทั้งนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาแรงงานพม่าไหลกลับภาครัฐก็ต้องปรับวิธีการจัดการแรงงานต่างด้าวให้เหมาะสม

ตอบกลับอย่างรวดเร็ว

ชื่อ:
การยืนยัน:
กรุณาเว้นช่องนี้ว่างไว้:
พยัญชนะไทยรองตัวสุดท้าย:
shortcuts: กด alt+s เพื่อตั้งกระทู้ หรือ alt+p แสดงตัวอย่าง