ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

ข้อมูลทั่วโลกยืนยันตรงกัน อาหารไม่ใช่แหล่งแพร่เชื้อโควิด-19 ดีสุดปรุงสุกก่อนทาน

เริ่มโดย supergreat, 11:12 น. 04 มิ.ย 64

supergreat

สาเหตุการระบาดของโรค COVID-19 นั้น มีเพียงแหล่งเดียวคือ คน แต่ยังมีผู้บริโภคบางส่วนกังวลว่า อาหารจะเป็นแหล่งแพร่เชื้อโควิด-19 ในเรื่องนี้ หน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลกมีความเห็นและยืนยันตรงกันว่า ไม่เคยปรากฏข้อมูลบ่งชี้ว่า อาหารจะเป็นแหล่งแพร่เชื้อโควิด-19 แต่เพื่อความมั่นใจยิ่งขึ้น ผู้บริโภคควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุกอย่างดี



- องค์การอนามัยโลก ระบุว่า ยังไม่พบหลักฐานว่า อาหารเป็นช่องทางของการแพร่กระจายเชื้อ ดังนั้น ผู้บริโภคสามารถรับประทานอาหารได้อย่างสบายใจ โดยไม่จำเป็นต้องกังวลว่า สิ่งที่รับประทานหรือบรรจุภัณฑ์ที่นำมาใช้จะเป็นแหล่งแพร่เชื้อของไวรัสโควิด-19

- สอดคล้องกับองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ที่ยืนยันว่า เชื้อโควิด-19 ไม่สามารถติดต่อจากการรับประทานอาหาร และยังไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากการบริโภคอาหาร

- เช่นเดียวกับสมาคมโปรตีนจากสัตว์ของบราซิล ที่ระบุว่า ไม่มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าเนื้อสัตว์ก่อให้เกิดการติดเชื้อได้

- ขณะที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ตอกย้ำเกี่ยวกับประเด็นความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหาร สำหรับประชาชนทั่วไปว่า โควิด-19 ไม่สามารถติดต่อผ่านทางอาหารที่ปรุงสุกใหม่และอาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูปที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์อย่างดี

- ด้านสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา เผยว่า โรคโควิด-19 ไม่ติดต่อทางการกินอาหาร และทางการสัมผัสกับบรรจุภัณฑ์อาหารทุกชนิด และไม่ใช่โรคติดต่อทางการกินอาหารเหมือนโรคไวรัสตับอักเสบ A โรคท้องร่วงจากโนโรและโรตาไวรัส ปัจจุบันคนทั่วโลกติดเชื้อโควิด-19 มากกว่า 160 ล้านคน และยังไม่พบรายงานว่า เชื้อโควิด-19 ติดต่อทางการกินอาหารและทางการสัมผัสกับบรรจุภัณฑ์อาหาร

- รวมถึง หน่วยงาน Food Authority of Ireland, European Food Safety Authority (EFSA) และ United Sate Food and Drug Administration (USFDA) ที่ออกรายงานว่า ยังไม่พบหลักฐานยืนยันการพบเชื้อไวรัสโคโรน่าในอาหารหรือบรรจุภัณฑ์อาหาร หรือแม้แต่ในพื้นผิวดิน น้ำบาดาล น้ำประปา หรือน้ำบริโภค เนื่องจากไวรัสชนิดนี้ มีเยื่อหุ้มที่มีความทนทานต่อสภาวะแวดล้อมได้ต่ำและถูกทำลายได้ง่ายจากสารเคมีที่ใช้ในการฆ่าเชื้อ เช่น คลอรีน หรือความร้อน ดังนั้น ความเสี่ยงที่จะพบเชื้อไวรัสในอาหารจึงค่อนข้างต่ำ

- สำหรับประเทศไทย ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้ำชัดในเรื่องนี้ว่า สัตว์เศรษฐกิจ เช่น หมู ไก่และเป็ด ไม่สามารถติดโรคโควิด-19 ได้อย่างแน่นอน ขณะที่ อาหารทะเลและผลิตภัณฑ์ของอาหารทะเล ในปัจจุบันก็ยังไม่มีหลักฐานโดยตรงว่าเป็นแหล่งระบาดของโรค ประชาชนจึงสบายใจได้ในการบริโภคเนื้อสัตว์เหล่านี้



หน่วยงานด้านอาหารและสาธารณสุขทั่วโลกยืนยันตรงกันอย่างนี้ มั่นใจได้เลยว่า เราสามารถทานอาหารได้ทุกชนิด ไม่ว่าเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ โดยจะไม่ติดโควิด-19 จากอาหารเหล่านั้นแน่นอน แต่เราควรเน้นการปรุงอาหารให้สุก สะอาด และไม่ทานอาหารดิบๆ สุกๆ

การทานอาหารที่สุกจะปลอดภัยมั่นใจได้แน่นอน เพราะความร้อนสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ทุกชนิด รวมทั้งโควิด-19 ที่ถูกทำลายด้วยความร้อน 56 องศาเซลเซียส นานครึ่งชั่วโมง และถ้าความร้อนสูงขึ้นระยะเวลาก็จะสั้นลง

โดยทั่วไปแล้วถ้าความร้อนสูงกว่า 85 องศาเซลเซียส ก็จะมั่นใจในการทำลายไวรัสได้ และถ้าต้มให้เดือดที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส ไวรัสจะถูกทำลายทันที

นอกจากนี้ การจับต้องของดิบไม่ว่าจะเป็นอาหารทะเล หรือเนื้อสัตว์ ทั้งที่ซื้อมาจากตลาดและจากโรงงาน ต้องหมั่นล้างมือและดูแลเรื่องสุขอนามัยอยู่เสมอ