ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

เหงือกร่น สาเหตุเกิดจาก? รักษายังไง? แก้ด้วยตัวเองได้ไหม?

เริ่มโดย daisydaily, 15:31 น. 02 ธ.ค 64

daisydaily

"เหงือก" เป็นอวัยวะส่วนหนึ่งภายในช่องปาก ที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าส่วนอื่นๆ เพราะในบริเวณนี้มักจะประกอบไปด้วยเนื้อเยื่อที่หนาและมีเส้นเลือดจำนวนมากที่ปกคลุมอยู่ในส่วนของกระดูกขากรรไกรที่รองรับฟัน อีกทั้งเหงือกยังทำหน้าที่มากมาย เช่น การยึดฟันให้อยู่ในกระดูกขากรรไกร รองรับแรงขณะที่ทำการบดเคี้ยวอาหาร ปกคลุมรากฟัน เป็นต้น

[attach=1]

แน่นอนว่า เหงือกที่มีสุขภาพดี จะมีสีชมพู หรือสีที่มีโทนเดียวกันกับเยื่อบุในช่องปาก มีลักษณะแน่น แนวเหงือกปกคลุมรากฟัน และอาจพบเม็ดสีเมลานินตามขอบเหงือกได้ แต่ถ้าหากเหงือกเปลี่ยนไป แนวเหงือกที่ปกคลุมรากฟันค่อยๆร่น จนทำให้ฟันของคุณดูยาวขึ้น สามารถมองเห็นรากฟันได้ หรือแม้กระทั่งการมีอาการเสียวฟันเกิดขึ้นแล้วหล่ะก็ นั่นอาจเป็นสัญญาณว่าคุณกำลังจะ "เหงือกร่น"

แล้ว "เหงือกร่น" มีสาเหตุมาจากอะไร? มีอาการอย่างไรบ้าง? แล้วเราจะสามารถป้องกันการเกิดเหงือกร่นได้อย่างไร? รวมไปจนถึงคำถามยอดฮิตต่างๆ ในบทความนี้มีคำตอบให้สำหรับคุณ


เหงือกร่น คืออะไร

เหงือกร่น (Receding gums) คือ อาการที่เหงือกบริเวณโดยรอบฟันค่อยๆเคลื่อนตัว ทำให้เห็นตัวฟันมากขึ้น และร่นขึ้นไปจนเห็นรากฟัน ซึ่งส่งผลให้เนื้อฟันมีการสัมผัสกับแบคทีเรียเพิ่มมากขึ้น ก่อให้เกิดคราบหินปูนที่เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคและเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ภายในช่องปากตามมา

โดยเหงือกร่น เป็นอาการที่ไม่สามารถรักษาให้เหงือกกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ อีกทั้งผู้ที่มีอาการเหงือกร่นก็ยังไม่สามารถปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษาได้ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ให้เหงือกร่นขึ้นไปเรื่อยๆ จะส่งผลกระทบต่อกระดูกฟัน ทำให้ฟันไม่แข็งแรง มีภาวะฟันโยก และในที่สุด อาจก่อให้เกิดการสูญเสียฟันได้ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีวิธีที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เหงือกร่นไปมากกว่านี้อีก ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวถึงในลำดับถัดๆ ไป


อาการของเหงือกร่น

หากใครกำลังสงสัยว่าตนเองเป็นภาวะเหงือกร่นหรือไม่? หรือต้องการจะเช็คอาการให้แน่ใจ สามารถเช็คดูได้จากอาการเหงือกร่น ที่มีดังต่อไปนี้

[attach=3]


  • สามารถมองเห็นบริเวณคอฟันหรือรากฟันได้อย่างชัดเจน
  • ตัวฟันมีลักษณะที่ยาวขึ้นกว่าปกติ หรือมีอาการฟันโยก
  • มีอาการปวดฟัน เสียวฟัน ขณะรับประทานอาหาร
  • เหงือกมีลักษณะบวม และมีสีแดง
  • มีความรู้สึกเจ็บที่บริเวณเหงือก รู้สึกว่าเหงือกดูสั้นลง
  • ลมหายใจหรือบริเวณช่องปากมีกลิ่นไม่พึงประสงค์
  • มีอาการเลือดออกตามไรฟัน ขณะแปรงฟันหรือใช้ไหมขัดฟัน

สาเหตุของเหงือกร่น

โดยปกติแล้ว สาเหตุเหงือกร่นเกิดจากหลากหลายปัจจัย ดังต่อไปนี้

1. อายุที่เพิ่มขึ้น ก็อาจมีโอกาสที่ทำให้เหงือกร่นขึ้นได้ จากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน ยารักษาโรคประจำตัว ฯลฯ
2. การแปรงฟันที่ผิดวิธี หรือ มีการแปรงฟันที่รุนแรงมากจนเกินไป อีกทั้งอาจมีความเกี่ยวข้องกับลักษณะของขนแปรงที่แข็งไม่เหมาะสม ยาสีฟันที่มีความแสบร้อนมากจนเกินไป จนไปทำลายเนื้อเหงือก
3. การดูแลสุขภาพช่องปากและฟันได้ไม่เพียงพอ เช่น การแปรงฟันไม่สะอาด ไม่ได้ใช้ไหมขัดฟันหรือน้ำยาบ้วนปากทำความสะอาดบริเวณที่เข้าถึงยาก หรือเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียภายในช่องปากและเหงือก เป็นต้น
4. เกิดการสะสมคราบพลัคหรือคราบหินปูน ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาต่างๆ ภายในช่องปาก
5. ลักษณะทางพันธุกรรม หากมีบุคคลภายในครอบครัวมีประวัติหรือเคยมีภาวะเหงือกร่น ก็อาจมีความเสี่ยงที่จะมีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากรุ่นสู่รุ่นได้
6. โรคปริทันต์ เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของเหงือก ทำให้กระดูกที่อยู่บริเวณรอบรากฟันถูกทำลายจนมีขนาดลดลง จึงเกิดภาวะเหงือกร่นตามมา
7. พฤติกรรมการใช้ชีวิต ได้แก่ การสูบบุหรี่ การนอนกัดฟัน
8. การใส่อุปกรณ์จัดฟันที่ไม่เหมาะสมกับตนเอง เช่น อุปกรณ์ไม่มีความเป็นมาตรฐาน ขนาดไม่พอดีกับรูปฟัน ก็ส่งผลต่อการเกิดเหงือกร่นได้เช่นกัน
9. เกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบกับเหงือกโดยตรง เช่น เกิดอุบัติเหตุ ได้รับแรงกระแทกที่ปากแล้วทำให้เกิดการบาดเจ็บ หรือเกิดการดันตัวของฟันคุด ทำให้กระดูกบริเวณรอบรากฟัน หรือรากฟันข้างเคียงถูกทำลาย

"เหงือกร่น" เป็นอาการที่สามารถนำไปสู่การเกิดปัญหาสุขภาพเหงือกต่างๆได้ เช่น เหงือกอักเสบ (gingivitis) เพราะเหงือกร่น ทำให้เนื้อฟันต้องสัมผัสกับแบคทีเรียมากขึ้น เมื่อเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย แล้วปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้ทำการรักษา ก็จะทำให้เหงือกอักเสบ บวมแดง หรือเป็นหนองได้ ในขั้นรุนแรง อาจนำไปสู่ โรคปริทันต์ (periodontitis) จนเกิดการสูญเสียฟันในที่สุด


เมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายๆคนคงสงสัยว่า "แล้วแบบนี้ควรเข้าพบทันตแพทย์เมื่อไหร่ดี?" ในความเป็นจริงแล้ว หากคุณเริ่มมีอาการดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นสักระยะหนึ่งแล้ว ควรหาเวลาเข้าพบทันตแพทย์โดยเร็ว จึงจะเป็นทางที่ดีที่สุด โดยเมื่อเข้าพบทันตแพทย์แล้ว ทันตแพทย์จะมีการวินิจฉัยอาการเหงือกร่น ดังต่อไปนี้

การวินิจฉัยอาการเหงือกร่น

อาการเหงือกร่น เป็นอาการที่ค่อยๆเกิดขึ้นทีละเล็กน้อย จึงทำให้ในระยะแรกเริ่มสังเกตเห็นค่อนข้างยาก แต่เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง จะมีอาการมากขึ้น ทำให้ทันตแพทย์สามารถสังเกตเห็นได้จากลักษณะเหงือกที่ร่นลงมาบริเวณโคนฟันหรือร่นจนสามารถมองเห็นรากฟันที่โผล่ออกมาได้

ทันตแพทย์จะทำการวินิจฉัยจากความลึกของร่องเหงือก โดยเหงือกที่มีลักษณะปกติจะมีความลึกของร่องเหงือกประมาณ 1-3 มิลลิเมตร แต่ถ้าตรวจแล้วพบว่าความลึกของร่องเหงือกมีมากกว่า 3 มิลลิเมตร อาจเป็นไปได้ว่า ผู้รับบริการมีอาการเหงือกร่น ทันตแพทย์จะทำการซักประวัติเพื่อหาสาเหตุ และวางแผนการรักษาในขั้นต่อๆ ไป


วิธีรักษาเหงือกร่น

แล้วแบบนี้ "เหงือกร่นรักษาได้มั้ย?"

ในความเป็นจริงแล้ว "สามารถรักษาได้" แต่การรักษาเหงือกร่นนั้น คือการทำให้เหงือกไม่ร่นเพิ่มขึ้นจากเดิมอีก และเพื่อเป็นการป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆจากอาการเหงือกร่น ส่วนเหงือกที่มีการเสียหายไปแล้ว ไม่สามารถฟื้นฟูให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมได้

การรักษาเหงือกร่น แนะนำว่าคุณควรเข้ารับการรักษาจากทันตแพทย์เฉพาะทางด้านปริทันต์ เพื่อการรักษาที่เฉพาะเจาะจงมากกว่า โดยทันตแพทย์จะทำการซักประวัติหาสาเหตุ วินิจฉัย และใช้วิธีการรักษาตามสาเหตุของการเกิดเหงือกร่นในแต่ละบุคคล

วิธีรักษาเหงือกร่นตามสาเหตุที่เกิดขึ้น

1. เกิดจากการแปรงฟันที่ผิดวิธี หรือมีการแปรงฟันที่รุนแรงเกินไป

ทันตแพทย์จะให้คำปรึกษาถึงลักษณะการแปรงฟันที่ถูกวิธี และให้ผู้รับบริการทำการเปลี่ยนแปลงวิธีการแปรงฟันให้ถูกต้อง
การดูแลสุขภาพช่องปากและฟันได้ไม่เพียงพอ

ทันตแพทย์จะให้คำแนะนำวิธีการดูแลสุขภาพช่องปากและฟันที่ถูกต้อง ให้ผู้รับบริการนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ในเรื่องนี้ผู้รับบริการจำเป็นต้องพยายามดูแลรักษาสุขภาพช่องปากและฟันของตัวเองให้สะอาดทั่วถึงมากยิ่งขึ้น โดยการใช้น้ำยาบ้วนปากและไหมขัดฟันร่วมด้วยในบริเวณที่ทำความสะอาดได้ยาก

2. เกิดการสะสมคราบพลัคหรือคราบหินปูน

วิธีแก้เหงือกร่นจากคราบพลัคหรือคราบหินปูน อาจใช้วิธีการขูดหินปูนและขัดฟัน เพื่อขจัดคราบพลัคหรือคราบหินปูนที่เกาะอยู่ให้หลุดออกไป

3. โรคปริทันต์

ทันตแพทย์จะทำการขูดหินปูนและเกลารากฟัน เพื่อขจัดคราบหินปูนให้หลุดออก ซึ่งในขั้นตอนนี้จะช่วยให้เนื้อเยื่อเหงือกแนบปิดกับฟันอีกครั้ง ในกรณีที่มีอาการอักเสบร่วมด้วย ทันตแพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาอาการอักเสบ ผู้รับบริการควรจะให้ความร่วมมือในการใช้ยาตามคำแนะนำของทันตแพทย์ และรักษาความสะอาดภายในช่องปากให้มากยิ่งขึ้น

4. พฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การสูบบุหรี่ การนอนกัดฟัน

ผู้รับบริการควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ด้วยตนเอง ส่วนในเรื่องของการนอนกัดฟัน ทันตแพทย์จะให้คำแนะนำ หรือให้อุปกรณ์ที่สามารถช่วยในเรื่องนี้ได้

5. การใส่อุปกรณ์จัดฟันที่ไม่เหมาะสมกับตนเอง

ทันตแพทย์จะทำการปรับเปลี่ยนให้อุปกรณ์จัดฟันที่มีความเป็นมาตรฐานและพอดีกับช่องปากของแต่ละบุคคล

กรณีที่บุคคลนั้นๆ มีอาการเหงือกร่นระดับขั้นรุนแรง เช่น เหงือกร่นจนสามารถมองเห็นรากฟันได้อย่างชัดเจน ทันตแพทย์จะให้คำแนะนำวิธีการรักษาในรูปแบบของการผ่าตัด ซึ่งจะมีดังต่อไปนี้

การซ่อมแซมกระดูกและเนื้อเยื่อ

ทันตแพทย์จะใช้เนื้อเยื่อที่มีการเพาะเลี้ยงภายนอก หรือเยื่อบุผิวเหงือกในการรักษา และเมื่อร่างกายมีการซ่อมแซมกระดูกและเนื้อเยื่อต่างๆแล้ว จะทำให้เนื้อเยื่อเหงือกสามารถขึ้นมาปิดบริเวณรากฟันได้ใกล้เคียงจากของเดิมมากที่สุด

การปลูกถ่ายเนื้อเยื่อเหงือก

การปลูกถ่ายเนื้อเยื่อเหงือก เป็นการผ่าตัดเพื่อปลูกถ่ายเนื้อเยื่ออ่อนบริเวณร่องฟันที่หายไป โดยทันตแพทย์จะทำการตรวจดูว่าผู้รับบริการยังมีเนื้อเยื่อบริเวณรอบๆฟันเพียงพอหรือไม่ หากมีเพียงพอ ทันตแพทย์จะใช้เนื้อเยื่อเหล่านั้นในการปกปิดรากฟันที่โผล่ออกมา แต่ถ้าหากกรณีที่ผู้รับบริการมีเนื้อเยื่อบริเวณรอบๆฟันไม่เพียงพอ ทันตแพทย์อาจจำเป็นต้องนำเนื้อเยื่อบริเวณเพดานปากมาปิดบริเวณที่มีรากฟันโผล่ออกมา เพื่อช่วยให้รากฟันปลอดภัยจากการติดเชื้อหรือการเกิดอาการอักเสบ


ภาวะแทรกซ้อนจากอาการเหงือกร่น

ภาวะแทรกซ้อนจากอาการเหงือกร่น เริ่มมาจากการที่เหงือกร่นลง ทำให้เนื้อฟันต้องสัมผัสกับเชื้อแบคทีเรียมากขึ้น และยิ่งในกรณีของเหงือกที่ร่นจนสามารถมองเห็นรากฟันที่โผล่ออกมาได้นั้น ก็ยิ่งมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการติดเชื้อจากแบคทีเรียภายในช่องปากมากขึ้น และหากเหงือกร่นมากๆในระดับนึง ก็จะทำให้เกิดอาการ "ฟันโยก" เนื่องจากฟันไม่สามารถที่จะยึดติดอยู่กับที่ได้

แน่นอนว่าในขณะเดียวกันที่ฟันโยกนั้น ก็จะมีเนื้อฟันบางส่วนถูกทำลายด้วย ซึ่งลักษณะสภาพเหงือกในช่วงนี้ ก็จะก่อให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียที่ง่าย และปัญหาที่อาจตามมาได้ คือ การเกิด "เหงือกอักเสบ" ขึ้น

เหงือกอักเสบที่ไม่ได้รับการรักษา จะทำให้เกิดอาการลุกลามไปยังเนื้อเยื่อเหงือก กระดูก เอ็นที่รองรับฟัน เมื่ออาการมีระดับความรุนแรงมากขึ้น จะนำไปสู่ "โรคปริทันต์" ซึ่งอาจทำให้เกิดการสูญเสียฟันเกิดขึ้นได้


การป้องกันเหงือกร่น

[attach=2]

วิธีการป้องกันเหงือกร่นที่สามารถทำได้ด้วยตนเองแบบง่ายๆ มีดังต่อไปนี้


  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นสาเหตุของปัญหา เช่น งดหรือหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ พยายามไม่นอนกัดฟัน เป็นต้น
  • เข้าพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพภายในช่องปากปีละ 1-2 ครั้ง
  • เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่บำรุงสุขภาพเหงือก
  • เลือกแปรงสีฟันที่มีขนาดเหมาะกับช่องปากของตนเอง และมีลักษณะแปรงที่อ่อนนุ่ม
  • ใช้ยาสีฟันที่ไม่แสบร้อนจนเกินไป และมีส่วนผสมของฟลูออไรด์ในการช่วยป้องกันฟันผุ
  • แปรงฟันอย่างถูกวิธีตามที่ทันตแพทย์แนะนำ ไม่แปรงฟันรุนแรงจนเกินไป โดยแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง
  • เมื่อแปรงฟันเสร็จแล้ว ควรใช้น้ำยาบ้วนปากหรือไหมขัดฟัน ทำความสะอาดบริเวณที่เข้าถึงได้ยาก
  • ใช้ปลายนิ้วนวดเหงือกเบาๆอย่างถูกวิธี จะทำให้เกิดการกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ส่งผลให้เหงือกแข็งแรงและเกิดอาการเหงือกร่นได้ยากขึ้น


รักษาเหงือกร่นที่ไหนดี

หากใครที่เริ่มรู้ตัวแล้วว่า ตนเองอาจจะมีอาการเหงือกร่น แล้วต้องการที่จะหาทางรักษา แต่ก็ยังต้องคิดหนัก เพราะไม่รู้ว่าจะ "รักษาเหงือกร่นที่ไหนดี?" บทความนี้ มีข้อพิจารณาที่คุณควรศึกษาก่อนตัดสินใจไปทำ ดังนี้


  • สถานที่ทางทันตกรรมใกล้กับแหล่งที่คุณอาศัยอยู่หรือเป็นสถานที่ที่คุณสามารถเดินทางได้สะดวก
  • คลินิกทันตกรรม หรือ โรงพยาบาล จะต้องมีความน่าเชื่อถือ มีใบอนุญาตประกอบกิจการ อย่างถูกต้อง
  • มีความเป็นมาตรฐาน มีความสะอาด ปลอดภัย เครื่องมือที่ใช้มีความทันสมัย
  • ทันตแพทย์มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในเรื่องนั้นๆ และมีใบประกอบวิชาชีพทางทันตกรรม
  • ราคามีความสมเหตุสมผลกับบริการที่จะได้รับ

หากใครที่ยังนึกไม่ออกว่าจะไปที่สถานที่ทางทันตกรรมที่ไหนได้บ้าง ทางเราขอแนะนำ "คลินิกทันตกรรมสีวลี(Sivalee Dental Clinic)" ไว้เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกดีๆ เพราะคลินิกทันตกรรมสีวลี เป็นคลินิกที่มีทันตแพทย์เฉพาะทางทุกสาขา ให้การดูแลและให้คำปรึกษาจากผู้ที่มีประสบการณ์มากกว่า 10 ปี บริการด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีความสะอาดปลอดภัย ได้มาตรฐาน ทำให้คุณมั่นใจได้ว่า ทุกขั้นตอนการรักษามีประสิทธิภาพ และสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆให้คุณได้อย่างแน่นอน 


คำถามเกี่ยวกับอาการเหงือกร่นที่พบบ่อย

รักษาเหงือกร่นด้วยตัวเองได้ไหม
   
"รักษาเหงือกร่นด้วยตัวเองได้ไหม?" เป็นคำถามยอดฮิตที่มักมีใครหลายๆ คนสงสัยกัน คำตอบก็คือ การรักษาเหงือกร่นด้วยตัวเองนั้น ไม่สามารถทำได้ในแง่ของการรักษาให้หาย แต่จะทำได้ในแง่ของการช่วยบรรเทาอาการเท่านั้น

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะรักษาให้หายด้วยตนเองไม่ได้ แต่ก็ยังสามารถฟื้นฟูหรือทำให้อาการดีขึ้นได้ด้วยตนเอง จากการที่เริ่มปรับพฤติกรรมที่เป็นสาเหตุของปัญหาเหงือกร่นควบคู่กับการรักษาของทันตแพทย์ได้ โดยทางเราแนะนำว่า หากคุณมีอาการเหงือกร่นรุนแรง ให้รีบเข้าพบทันตแพทย์ที่มีความเฉพาะทางด้านปริทันต์ เพื่อขอคำปรึกษา หาสาเหตุ และวางแผนการรักษาให้อย่างดีที่สุด

เหงือกร่นจัดฟันได้ไหม
   
"สามารถจัดฟันได้" ในกรณีที่ปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาเหงือกร่น เหงือกอักเสบ โรคปริทันต์ ได้รับการรักษาจนหายดีแล้ว จะได้รับการจัดฟันต่อ โดยทันตแพทย์จะเป็นผู้วางแผนการรักษาให้คุณ

เหงือกร่นอุดฟันได้ไหม
   
"สามารถอุดฟันได้" เนื่องจากการอุดฟันก็เป็นหนึ่งในตัวช่วยที่จะปกป้องรากฟันในกรณีที่มีฟันสึกหรือเสียวฟัน ไม่ให้ติดเชื้อแบคทีเรียได้ง่าย ซึ่งปัจจุบันสามารถเลือกวัสดุที่มีสีคล้ายฟันเพื่อความสวยงามได้อีกด้วย


ข้อสรุป 'เหงือกร่น'

"เหงือกร่น" เป็นอาการที่ใครหลายๆคนไม่รู้ตัวว่าตนเองเป็น อาการเหงือกร่นจะค่อยๆเริ่มขึ้น จนกว่าจะรู้ตัวอีกทีก็เข้าสู่ระยะที่เริ่มมีอาการแสดงออกมาให้เห็นแล้ว ซึ่งถึงแม้ว่าอาการเหงือกร่นในระยะแรกๆอาจไม่รุนแรงนัก แต่ก็จำเป็นที่จะต้องเข้ารับการรักษา เพราะอาการเหงือกร่น เป็นสิ่งที่สามารถนำไปสู่อาการอื่นๆที่มีความรุนแรงขึ้นได้ ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดการสูญเสียฟัน

ดังนั้น หากเริ่มมีอาการ ควรรีบเข้ารับการรักษาก่อนจะลุกลามไปสู่ปัญหาที่มีความรุนแรงมากขึ้น ควรปรึกษาและรักษากับทันตแพทย์ที่มีความเฉพาะทางด้านปริทันต์ เพื่อช่วยให้การวางแผนการรักษาเป็นไปได้ด้วยดี อีกทั้งยังสามารถฟื้นฟูเหงือกได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยง ใส่ใจในเรื่องของการทำความสะอาดสุขภาพช่องปากและฟันมากขึ้น รวมไปจนถึงการเข้าพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพเหงือกและฟันเป็นประจำ เพื่อช่วยให้มีสุขอนามัยที่ดี และลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากปัญหาต่างๆ ได้