ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

การทำ PRK คืออะไร? ทำความรู้จักทางเลือกใหม่ของการผ่าตัดรักษาสายตา

เริ่มโดย daisydaily, 14:13 น. 14 ก.พ 65

daisydaily

ไม่ว่าใครก็อยากจะมีสายตาปกติ สามารถมองเห็นโลกได้ชัดเจนโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งอุปกรณ์อย่างแว่นสายตา หรือคอนแทคเลนส์ การเข้ารับการผ่าตัดแก้ไขค่าสายตาอย่างถาวรจึงเป็นทางเลือกหนึ่งให้กับผู้ที่อยากจะแก้ไขปัญหาทางสายตา

ในปัจจุบันจะพบว่ามีการผ่าตัดแก้ไขค่าสายตาหลายวิธี ไม่ว่าจะทำ PRK, LASIK, Femto LASIK, ReLEx SMILE ซึ่งเป็นการแก้ไขค่าสายตาด้วยเลเซอร์ หรือจะเป็นการผ่าตัดใส่คอนแทคเลนส์เสริมแบบถาวรก็ตาม ในบทความนี้เราจะมาทำความรู้จักการผ่าตัดแก้ไขค่าสายตาด้วยการทำ PRK กันว่าคืออะไร แตกต่างจากการผ่าตัดวิธีอื่น ๆ อย่างไร และเหมาะกับใครกันค่ะ

[attach=1]


PRK คืออะไร

การทำ PRK (Photorefractive Keratectomy) คือวิธีผ่าตัดแก้ไขปัญหาค่าสายตาประเภทหนึ่ง โดยการทำ PRK เป็นวิธีแรกสุดของการผ่าตัดแก้ไขสายตาด้วยเลเซอร์ และเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด อย่างไรก็ตาม การทำ PRK นั้นมีผลข้างเคียงที่ค่อนข้างมาก และใช้เวลาพักฟื้นนาน จึงเป็นวิธีที่อาจไม่ได้รับความนิยมมากนักหลังจากมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาไม่ว่าจะเลสิค เฟมโตเลสิค หรือรีแลกซ์สมายล์ แต่การทำ PRK ก็ยังมีการนำมาใช้ในการรักษาจนถึงปัจจุบันอันเนื่องมาจากข้อจำกัดของผู้ป่วยบางประเภทที่ไม่สามารถรับการรักษาด้วยเลเซอร์โดยวิธีอื่นได้

[attach=2]

PRK ช่วยแก้ไขปัญหาสายตาแบบใด

การทำ PRK สามารถแก้ปัญหาค่าสายตาได้ทั้งสายตาสั้น สายตายาวแต่กำเนิด สายตายาวตามอายุ และสายตาเอียง แต่อาจเหมาะกับผู้ที่มีปัญหาค่าสายตาที่ไม่มาก เพราะการทำ PRK สามารถแก้ไขค่าสายตาได้ไม่เกิน -8.00


ข้อดี - ข้อจำกัดของการทำ PRK

ข้อดีของการทำ PRK

- PRK เป็นการผ่าตัดแก้ไขสายตาโดยใช้การลอกกระจกตาส่วนนอกออกไป และรอให้กระจกตาฟื้นตัวหลังผ่าตัด ดังนั้นการทำ PRK จึงไม่มีปัญหาเรื่องรอยแยกของกระจกตา ที่อาจมีความเสี่ยงเรื่องกระจกตาหลุด หรือกระจกตาเลื่อน
- PRK เป็นวิธีที่ยังสามารถคงความแข็งแรงของกระจกตาเหมือนเดิม
- PRK เป็นการแก้ไขค่าสายตาอย่างถาวร
- PRK เป็นทางเลือกให้กับผู้ที่มีปัญหาทางกายภาพของตา เช่น กระจกตาบาง หรือเคยมีประวัติกระจกตาเคลื่อน ภาวะตาแห้ง เป็นต้น
- เพิ่มโอกาสให้กับผู้ที่ต้องประกอบอาชีพเฉพาะ เช่น นักมวย ตำรวจ นักบิน เป็นต้น

ข้อจำกัดการทำ PRK

- ใช้เวลาพักพื้นนาน เนื่องจากการทำ PRK จะต้องลอกกระจกตาส่วนนอกออก ทำให้เกิดแผลขนาดใหญ่
- PRK สามารถแก้ไขค่าสายตาได้ไม่มาก จึงเหมาะกับผู้ที่มีค่าสายตาน้อยเท่านั้น
- PRK มีผลข้างเคียงหลังทำมาก ในช่วงวันแรก ๆ หลังทำผู้ป่วยอาจไม่สามารถลืมตาขึ้น น้ำตาไหลมาก ปวดตามาก แต่อาการจะค่อย ๆ ทุเลาลง
- จำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อติดตามอาการถี่กว่าการผ่าตัดด้วยวิธีอื่น ๆ 


เปรียบเทียบ PRK Vs LASIK

จุดเด่นของการทำ PRK

- PRK เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาภาวะกระจกตาบาง กระจกตาถลอกง่าย หรือภาวะตาแห้ง ไม่สามารถรับการรักษาด้วยเลสิคได้
เพราะการทำ PRK ไม่ต้องแยกชั้นกระจกตาออก จึงทำให้หลังรับการรักษาจะไม่มีรอยต่อของกระจกตา
- ผู้ที่มีโรคทางตา เช่น โรคต้อหิน จะไม่สามารถรับการแก้ไขปัญหาทางสายตาด้วยเลสิคได้ แต่สำหรับ PRK นั้นหากแพทย์พิจารณาว่าสามารถรับการรักษาได้ ก็สามารถแก้ไขปัญหาทางสายตาด้วยวิธี PRK ได้
- ในบางอาชีพ จำกัดให้สามารถรับการแก้ไขค่าสายตาแบบถาวรได้เฉพาะการทำ PRK เท่านั้น และในบางอาชีพที่อาจมีความเสี่ยงต่อการกระทบดวงตา การทำ PRK จะปลอยภัยกว่าทำเลสิคที่มีการแยกชั้นกระจกตา เสี่ยงภาวะกระจกตาหลุด กระจกตาเคลื่อน
- โอกาสตาแห้งหลังทำ PRK น้อยกว่า
- ค่าใช้จ่ายของการทำ PRK น้อยกว่าการทำเลสิค

จุดเด่นของการทำ LASIK

เนื่องจากการทำ LASIK เป็นการแยกชั้นกระจกตาก่อนแก้ไขค่าสายตาด้วยเลเซอร์ และปิดกระจกตาเก่ากลับที่เดิม ทำให้แผลจากการผ่าตัดเล็กกว่าการทำ PRK จึงทำให้ผลข้างเคียงน้อยกว่า และพักฟื้นได้ในระยะสั้น การทำ LASIK สามารถแก้ไขค่าสายตาได้มากกว่าการทำ PRK แต่อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับความหนาของกระจกตาด้วย

[attach=3]

การทำ PRK เหมาะกับใคร

การทำ PRK เหมาะกับผู้ที่ต้องการแก้ไขปัญหาค่าสายตาอย่างถาวร และ/หรือตามีปัญหาทางกายภาพ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ตาแห้ง หรือกระจกตาบาง จนไม่สามารถเข้ารับการรักษาแบบเลสิคได้ นอกจากนี้สำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพบางอาชีพ เช่น ทหาร ตำรวจ นักบิน จำเป็นจะต้องใช้วิธี PRK สำหรับการรักษาแก้ไขค่าสายตาเท่านั้น


การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการทำ PRK

เมื่อต้องการแก้ไขปัญหาสายตาสั้นอย่างถาวร อาจต้องเข้ามาพบจักษุแพทย์เพื่อขอรับคำแนะนำวิธีผ่าตัดแก้ไขค่าสายตาด้วยวิธีต่าง ๆ ทั้งข้อดี ข้อเสียของแต่ละวิธี แพทย์จะนัดให้เข้ามาตรวจสุขภาพตาก่อนพิจารณาว่าคนไข้ควรจะใช้วิธีใดในการรักษาค่าสายตา ในวันก่อนเข้ามาตรวจสุขภาพตาควรเตรียมตัวมาให้พร้อมดังนี้

- งดใส่คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม 3 วัน หรือคอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง 7 วันก่อนเข้ารับการตรวจ ระหว่างนี้ให้ใช้แว่นสายตาทดแทน เพื่อให้การตรวจได้ผลที่แม่นยำที่สุด
- งดการแต่งหน้า การใช้สเปรย์และน้ำหอมก่อนเข้าตรวจ
- ในวันตรวจควรพาญาติมาด้วย เพราะในวันตรวจแพทย์จะหยอดยาขยายม่านตาเพื่อตรวจค่าสายตาขณะม่านตาขยาย
- เมื่อแพทย์พิจารณาแล้วว่าสามารถเข้ารับการรักษาด้วยการทำ PRK ได้ แพทย์จะทำการนัดและให้เจ้าหน้าที่ชี้แจงถึงการเตรียมตัวก่อนเข้ารับการรักษาต่อไป


การตรวจสภาพสายตาก่อนเข้ารับการผ่าตัด

แพทย์จะให้คนไข้หยอดยาขยายม่านตา และทำการวัดค่าสายตาในสภาพที่ม่านตาขยายตัว ทำการวัดความโค้งและความหนาของกระจกตา และการตรวจสุขภาพตาส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียด เช่น กระจกตา จอประสาทตา และนำข้อมูลทั้งหมดที่ได้มาใช้ประกอบการพิจารณาเพื่อหาวิธีที่เหมาะสมที่สุดแก่คนไข้ หากตรวจพบว่ามีปัญหาทางสุขภาพตา เช่น ตาแห้งหรือกระจกตาบาง แพทย์อาจแนะนำให้ทำ PRK แทนการทำเลสิค เป็นต้น

[attach=4]

ขั้นตอนการทำ PRK

- แพทย์จะทำการหยอดยาชาที่ตาให้กับคนไข้
- แพทย์จะทำการลอก Epithelium หรือผิวกระจกตาชั้นนอกสุด
- จากนั้นแพทย์จะใช้ Excimer Laser ปรับความโค้งของกระจกตาส่วนกลางให้เหมาะสม
- เมื่อปรับความโค้งกระจกตาเสร็จ แพทย์จะใส่คอนแทคเลนส์ชนิดพิเศษให้คนไข้ เพื่อลดการระคายเคือง คอนแทคเลนส์นี้จะต้องใส่อยู่ประมาณ 3-5 วัน และกลับมาให้แพทย์เป็นผู้ถอดออกให้
- สำหรับการทำ PRK จะใช้เวลาผ่าตัดรวมเพียงประมาณ 15-30 นาทีเท่านั้น และสามารถกลับบ้านหลังทำ PRK เสร็จได้เลย

[attach=5]

ข้อควรปฏิบัติหลังการผ่าตัด

- ในวันแรก ๆ หลังการทำ PRK อาจมีผลข้างเคียงมาก เช่น ปวดตามาก น้ำตาไหล สู้แสงไม่ได้ หากปวดตาให้กินยาตามแพทย์สั่ง และพยายามพักผ่อน ไม่ใช้สายตามาก หากมีน้ำตาไหลห้ามถอดที่ครอบตา ให้ใช้กระดาษสะอาดซับบริเวณขอบ ๆ เท่านั้น
- ห้ามให้ตาโดนน้ำเด็ดขาด ควรหลีกเลี่ยงการล้างหน้า และการสระผมด้วยตนเอง
- หากคันตา ห้ามขยี้ตาเด็ดขาด และตอนนอนให้ใส่ที่ครอบตาตลอด ป้องกันการขยี้ตาโดยไม่รู้ตัว
- รับประทานยาและหยอดยาตามแพทย์สั่งเท่านั้น ห้ามซื้อยานอกมากินเอง
- งดกิจกรรมให้ได้มากที่สุด ให้ทำเฉพาะกิจกรรมที่จำเป็นเท่านั้น
- เมื่อถึงวันที่แพทย์นัดถอดคอนแทคเลนส์ออก ให้ไปพบแพทย์ตามนัด ไม่ถอดคอนแทคเลนส์ออกมาเอง และการนัดติดตามดูอาการหลังทำ PRK ควรไปตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง


อาการที่อาจเกิดขึ้นได้หลังผ่าตัด

ทุกการผ่าตัด ล้วนสามารถเกิดผลข้างเคียงได้ โดยเฉพาะ PRK ที่มีผลข้างเคียงมากกว่าการผ่าตัดแก้ไขสายตาแบบอื่น ๆ หลังทำ PRK คนไข้อาจพบอาการไม่พึงประสงค์ เช่น ปวดตา ลืมตาไม่ขึ้น ตาไม่สามารถสู้แสงได้ น้ำตาไหลมาก มองภาพไม่ชัดเจน หรือเห็นแสงกระจายในที่มืด โดยอาการเหล่านี้สามารถหายได้เองหลังผ่านการผ่าตัดไปสักระยะ แต่หากอาการไม่ดีขึ้น ควรเข้ามาพบแพทย์ทันที


ค่าใช้จ่ายในการทำ PRK ราคาเท่าไหร่

การแก้ไขค่าสายตาอย่างถาวรด้วยการทำ PRK มีขั้นตอนที่ไม่ยาก ไม่ซับซ้อน และเป็นวิธีที่เก่าแก่ที่สุดในการรักษาแก้ไขค่าสายตาแบบผ่าตัด ค่าใช้จ่ายการทำ PRK ราคาอยู่ที่ประมาณ 35,000 บาทขึ้นไป ทั้งนี้ขึ้นกับสถานพยาบาลที่ไปรับการรักษาด้วย


ทำ PRK ที่ไหนดี

เมื่อรู้ตนเองแล้วว่าอยากจะแก้ไขปัญหาค่าสายตาด้วยการทำ PRK หลาย ๆ คนก็นึกขึ้นว่าควรจะไปทำ PRK ที่ไหนดี สามารถนำข้อแนะนำต่อไปนี้ใช้ประกอบการตัดสินใจเพื่อให้ได้สถานพยาบาลที่เหมาะสมกับตนที่สุด

1. จักษุแพทย์ผู้รักษาควรมีความชำนาญ และมีประสบการณ์ในการรักษาภาวะความผิดปกติด้านสายตาด้วยการผ่าตัด
2. ทีมเจ้าหน้าที่ควรมีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในการสื่อสาร อธิบายให้คนไข้สามารถเข้าใจได้ง่าย
3. สถานพยาบาลที่ดี ควรมีความสะอาด ปลอดภัย และได้รับการรับรอง มีผู้ที่เคยเข้ารับบริการมาก
4. เครื่องมือที่ใช้ในสถานพยาบาลควรจะต้องมีความทันสมัย เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างดี
5. สามารถเดินทางจากที่พักอาศัยได้สะดวก


FAQs การทำ PRK (Photorefractive Keratectomy)

หลังทำ PRK ต้องพักฟื้นกี่วัน
ตอบ   เพราะการทำ PRK จะทำให้เกิดบาดแผลขนาดใหญ่ ดังนั้นระยะพักฟื้นจะค่อนข้างนานประมาณ 3-5 วันเพื่อรอให้กระจกตากลับมาผสานกันเหมือนเดิม

หลังทำ PRK กี่วันถึงจะมองเห็นได้ชัดเจน
ตอบ   หลังทำ PRK จะยังไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนทันที โดยจะต้องรอให้กระจกตากลับมาสภาพสมบูรณ์ก่อน ส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 2 อาทิตย์กว่าจะกลับมามองเห็นได้ชัดเจน

ทำ PRK แล้วมองไม่ชัด เกิดจากอะไร
ตอบ   เพราะกระจกตายังไม่สมานตัวเต็มที่ หรือยังอยู่ในสภาพที่ยังไม่สมบูรณ์ แสงจึงไม่สามารถตกกระทบไปที่จอประสาทตาโดยตรง จึงทำให้มองภาพไม่ชัด แต่เมื่อกระจกตากลับมาสภาพปกติ จึงจะสามารถกลับมามองเห็นได้ชัดเจน


ข้อสรุป

PRK เป็นวิธีการรักษาแก้ไขค่าสายตาที่มีมาก่อน และมีมานานหลายสิบปี ซึ่งในปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เข้ามารักษาค่าสายตาโดยลดผลข้างเคียงและเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษามากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการทำ PRK ก็ยังนำมาใช้รักษาจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากข้อจำกัดบางอย่างของคนไข้อาจไม่เหมาะสมที่จะผ่าตัดแก้ไขค่าสายตาด้วยเลสิค หรือเทคโนโลยีใหม่อื่น ๆ รวมไปถึงผู้ที่มีปัญหาโรคตา และผู้ที่มีข้อจำกัดทางอาชีพ เป็นต้น