ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

ผู้นำทางศาสนา

เริ่มโดย เณรเทือง, 08:15 น. 18 เม.ย 55

เณรเทือง

กระผมสังเกตมานาน ในศาสนาอื่นที่มีนิกายเดียวกันมักพูดจากันเป็นเสียงเดียว เช่นคาทอลิกในบ้านเราจะมีผู้นำศาสนาคือพระคาร์ดินัล หลักต่างๆก็มีภาพที่เป็นหนึ่งเดียว ข้อห้ามข้อรับก็เคร่งครัดตรงกัน หรือศาสนาอิสลามของบ้านเราก็เช่นกันเขามีมาตรฐานตรงกันทุกประการไม่ว่าจะเป็นอิสลามของจังหวัดใดเขาก็มีมาตรฐานการศึกษาการปฏิบัติที่เหมือนกันกับจังหวัดอื่น สอนตรงกัน ข้อห้ามต่างๆตรงกัน ยอมรับกันไม่ว่าจะเป็นอิสลามพะเยาหรืออิสลามนราธิวาส อิหม่ามของอิสลามหรือพระอธิการของโบสถ์คริสต์ไม่เคยปรากฎว่าต้องอื้อฉาวเหมือนพระของเรา เพราะต่างก็มีภาพเป็นอันหนึ่งอันเดียวแน่นแฟ้นมาตรฐานพระคัมภีร์เล่มเดียวกัน
ที่นี้มาดูของเรา เท่าที่กระผมพอจะประมวลมีดังนี้
1.มีหลายสำนักคำสอน ต่างก็อ้างว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า หลายสำนักได้รับความนิยมและโด่งดังขึ้นจากข้อเขียนและบทความของตนที่ตีพิมพ์และเผยแพร่ บางสำนักเคยได้รับความนิยมและเสื่อมถอยไปพอสมควร หลายสำนักรจนกถานอกเหนือพระคัมภีร์ออกไปมากมาย (บางสำนักบอกว่าต้องมังสะวิรัติและอยู่มาได้พักนึง บางสำนักบอกว่านิพพานเป็นอัตตาจนมีคนค้านมากมาย)
2.มาตรฐานการลงโทษผู้ก้าวล่วงพระวินัยไม่เท่ากัน ในความผิดเดียวกัน (ยันตระจึงอยู่ได้พักนึง)
3.มีการใช้สิทธิทางกฎหมายฝ่ายบ้านเมืองเพื่อประวิงโทษความผิดพระวินัย (ทำผิดพระวินัยแต่ต้องรอให้ศาลสั่งจึงจะลงโทษได้
พระที่ตบหน้าพระพุทธรูปจึงอยู่ได้พักนึง)
4.มีการยินยอมให้สิ่งแปลกปลอมนอกศาสนาหรือนอกนิกายเข้ามาตั้งอยู่ในเขตสังฆมลฑล (หลายวัดมีศาลเจ้า, กวนอิม)
5.สับสนในคำสอน มีการตีความใหม่ (เจ้าคุณท่านหนึ่งที่เป็นเจ้าอาวาสวัดสาขาในต่างประเทศของสำนักหนึ่งทำการบวชภิกษุณีจนตัวท่านเองต้องโดนปลด และวัดสาขาก็ถูกถอดออก)
ท่านเห็นด้วยกับผมไหมครับ


คุณหลวง

สวัสดีครับ ท่านเณรเทือง

    แลกเปลี่ยนกันตามประสานะครับ ในส่วนของเพื่อนต่างศาสนิกนั้นผมไม่ขอพูดถึงนะครับ เพราะว่าความรู้ผมน้อยมาก แค่งูน้ำงูดินปลาซิวปลาสร้อยเท่านั้น แต่เห็นว่ารูปแบบของผู้นำศาสนานั้นแตกต่างกันพอสมควร ความอื้อฉาวในบางเรื่องที่เกิดขึ้นกับภิกษุจึงไม่มี ส่วนเรื่องอื่นๆนั้นก็ยกไปตามความไม่รู้

    แต่ทีนี้ เรามาดูกันว่าภิกษุนั้นมีความเป็นผู้นำทางศาสนามากแค่ไหน โดยหลักๆแล้ว พระสงฆ์ย่อมมีหน้าที่นั้นโดยปริยาย เพราะเป็นผู้สละตนออกบวชเพื่อศึกษาธรรมวินัย ไม่ทำงาน แต่เลี้ยงชีพด้วยอาศัยผู้อื่นอย่างได้รับความยินยอมพร้อมเต็มใจ แต่หากมองในบริบทของภิกษุจริงๆนั้น ก็ไม่อาจเรียกว่าผู้นำทางศาสนาได้ทั้งหมด

    ทั้งนี้ เพราะว่าภิกษุจำนวนไม่น้อยที่เข้ามาบวชด้วยความไม่รู้จริง ไม่ตั้งใจบวช บวชหนีความทุกข์ทางโลก บวชแสวงลาภ ยศ สรรเสริญ(ที่ไม่อาจทำได้หากอยู่ทางโลก) แม้กระทั่งบวชเลี้ยงลูกเลี้ยงเมีย และมีส่วนน้อยที่เข้ามาเพื่อศึกษาธรรมนำทางแก่ผองชน

    และพระพุทธองค์เองก็ไม่เคยตรัสว่าภิกษุเป็นผู้นำทางศาสนา แต่กำชับว่า พระสัทธรรมนั้นจะตั้งมั่นหรือล่มสลายไปเพราะบุคคล ๔ จำพวก คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา นั่นก็หมายความว่า ทุกคนในพุทธบริษัททั้ง ๔ นี้ล้วนมีความสำคัญเท่ากันต่อความรุ่งเรื่อง หรือร่วงโรยของพระศาสนา

    การที่จะเรียกภิกษุรูปใดว่าเป็นผู้นำทางศาสนาจึงต้องใช้วิจารณญาณในการรับชมเป็นอย่างยิ่ง

อ้างถึง1.มีหลายสำนักคำสอน ต่างก็อ้างว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า หลายสำนักได้รับความนิยมและโด่งดังขึ้นจากข้อเขียนและบทความของตนที่ตีพิมพ์ และเผยแพร่ บางสำนักเคยได้รับความนิยมและเสื่อมถอยไปพอสมควร หลายสำนักรจนกถานอกเหนือพระคัมภีร์ออกไปมากมาย (บางสำนักบอกว่าต้องมังสะวิรัติและอยู่มาได้พักนึง บางสำนักบอกว่านิพพานเป็นอัตตาจนมีคนค้านมากมาย)

    คำสอนของพระพุทธองค์ โดยเฉพาะวิธีปฏิบัตินั้น มีมากมายหลายวิธี แค่กรรมฐาน ๔๐ กองนั้นก็มากเหลือแล้ว แต่ทำไมพระองค์จึงจำแนกออกมามากมายอย่างนั้น เพราะเหตุว่าต่างคนต่างมีนิสัย มีจริตที่แตกต่างกัน การปฏิบัติจึงต้องเลือกให้เหมาะแก่จริตแห่งตนเพื่อความสะดวก ก้าวหน้าในการปฏิบัติได้เร็วขึ้น

    ดังนั้น ความต่างกันในวิธีการสอนจึงไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เป็นเรื่องที่ผู้แสวงหาจะต้องค้นหาเองว่าตนเหมาะกับการปฏิบัติแบบใด เพราะต่างคนต่างธาตุต่างจริต ดังพระสูตรนี้ครับ

    ๑๗๔. เข้ากันได้โดยธาตุ

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายย่อมเข้ากันได้ ย่อมลงกันได้โดยธาตุ. คนมีศรัทธา ย่อมเข้ากันได้ ย่อมลงกันได้กับคนมีศรัทธา. คนมีใจละอายต่อบาป ก็เข้ากันได้ ลงกันได้กับคนที่มีใจละอายต่อบาป. คนมีความเกรงกลัวต่อบาป ก็เข้ากันได้ ลงกันได้กับคนที่มีความเกรงกลัวต่อบาป. คนที่สดับตรับฟังมากก็เข้ากันได้ ลงกันได้กับคนที่สดับตรับฟังมาก. คนที่ปรารภความเพียร ก็เข้ากันได้ ลงกันได้กับคนที่ปรารภความเพียร. คนที่มีสติตั้งมั่น ก็เข้ากันได้ ลงกันได้กับคนที่มีสติตั้งมั่น. คนที่มีปัญญา ก็เข้ากันได้ ลงกันได้ กับคนที่มีปัญญา. แม้ในอดีตกาลนานไกล ในอนาคตกาลนานไกล ในปัจจุบันกาลนานไกล ก็เป็นอย่างนี้."

                                                                                                                                      ๑๖/๑๙๑

๑๗๕. ตัวอย่างของผู้เข้ากันได้โดยธาตุ

              สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้กรุงราชคฤห์. สมัยนั้น ท่านพระสาริบุตร เดินจงกรมร่วมกับภิกษุมากหลายในที่ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค. แม้ท่านพระมหาโมคคัลลานะ, ท่านพระมหากัสสปะ, ท่านพระอนุรุทธ์, ท่านพระปุณณะ, ท่านพระอุบาลี, ท่านพระอานนท์ และพระเทวทัต (แต่ละท่าน) ต่างก็เดินจงกรมร่วมกับภิกษุมากหลายในที่ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค.

              ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายเห็นสาริบุตรกำลังเดินจงกรมร่วมกับภิกษุมากหลายหรือไม่ ?"
              "ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า "เห็น พระเจ้าข้า"
              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด เป็นผู้มีปัญญามาก. ท่านทั้งหลายเห็นมหาโมคคัลลานะกำลังเดินจงกรมร่วมกับภิกษุมากหลายหรือไม่ ?"
              "เห็น พระเจ้าข้า"
              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด เป็นผู้มีฤทธิ์มาก. ท่านทั้งหลายเห็นมหากัสสปกำลังเดินจงกรมร่วมกับภิกษุมากหลายหรือไม่ ?"
             "เห็น พระเจ้าข้า"
              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด เป็นธุตวาทะ (ผู้กล่าวในทางขัดเกลากิเลส คือ สรรเสริญการประพฤติธุดงค์). ท่านทั้งหลายเห็นอนุรุทธ์กำลังเดินจงกรมร่วมกับภิกษุมากหลายหรือไม่ ?"
              "เห็น พระเจ้าข้า"
              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้น เป็นผู้มีทิพยจักษุ. ท่านทั้งหลายเห็นปุณณะ มันตานีบุตรกำลังเดินจงกรมร่วมกับภิกษุมากหลายหรือไม่ ?"
              "เห็น พระเจ้าข้า"
              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด เป็นธรรมกถึก (ผู้แสดงธรรม). ท่านทั้งหลายเห็นอุบาลีกำลังเดินจงกรมร่วมกับภิกษุมากหลายหรือไม่ ?"
              "เห็น พระเจ้าข้า"
              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด เป็นวินัยธร (ผู้ทรงวินัย). ท่านทั้งหลาย เห็นอานนท์กำลังเดินจงกรมร่วมกับภิกษุมากหลายหรือไม่ ?"
              "เห็น พระเจ้าข้า"
              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด เป็นผู้สดับตรับฟังมาก. ท่านทั้งหลายเห็นเทวทัตกำลังเดินจงกรมร่วมกับภิกษุมากหลายหรือไม่ ?"
              "เห็น พระเจ้าข้า"
              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด เป็นผู้มีความปรารถนาลามก."
              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายย่อมเข้ากันได้ ย่อมลงกันได้โดยธาตุ. ผู้มีอัธยาศัยเลว ย่อมเข้ากันได้ ย่อมลงกันได้กับผู้มีอัธยาศัยเลว ผู้มีอัธยาศัยดีงาม ย่อมเข้ากันได้ ลงกันได้กับผู้มีอัธยาศัยดีงาม."
              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ในอดีตกาลนานไกล สัตว์ทั้งหลายเข้ากันได้แล้ว ลงกันได้แล้วโดยธาตุ ทั้งผู้มีอัธยาศัยเลว อัธยาศัยดีงาม."
              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ในอนาคตกาลนานไกล สัตว์ทั้งหลายจักเข้ากันได้ ลงกันได้โดยธาตุ ทั้งผู้มีอัธยาศัยเลว อัธยาศัยดีงาม."
              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ในปัจจุบันกาลนานไกล สัตว์ทั้งหลายย่อมเข้ากันได้ ลงกันได้โดยธาตุ ทั้งผู้มีอัธยาศัยเลว อัธยาศัยดีงาม."

                                                                                                                                      ๑๖/๑๘๖
(http://www.larnbuddhism.com/tripitaka/interest/part6.5.html)

อ้างถึง2.มาตรฐานการลงโทษผู้ก้าวล่วงพระวินัยไม่เท่ากัน ในความผิดเดียวกัน (ยันตระจึงอยู่ได้พักนึง)

    โทษทางวินัยนั้นเท่ากันทั้งสิ้น แต่ในสังคมบ้านเราศาสนาถูกนำไปเป็นเครื่องมือทางอำนาจและการเมืองก็ไม่น้อย รวมทั้งการคานกันด้วยอามิส พระผู้ใหญ่มากมายเลยไม่กล้าปริปากเมื่อภิกษุบางพวกทำผิดเพราะเหตุได้รับการปรนเปรอมานานและมาก รวมถึงความย่อหย่อนหละหลวมของผู้มีหน้าที่สังฆาธิการ(แต่เข้มจังกับพระป่าไร้พิษ)

อ้างถึง3.มีการใช้สิทธิทางกฎหมายฝ่ายบ้านเมืองเพื่อประวิงโทษความผิดพระวินัย (ทำผิดพระวินัยแต่ต้องรอให้ศาลสั่งจึงจะลงโทษได้
พระที่ตบหน้าพระพุทธรูปจึงอยู่ได้พักนึง)

    อันนี้ไม่ทราบรายละเอียด แต่ที่พระเกษมอยู่ไม่ได้นั้นคงไม่ใช่มาจากการตบหน้าพระพุทธรูป แต่เป็นเรื่องอื่นมากกว่า และส่วนตัวได้ฟังจากยูทิวบ์แล้ว เข้าใจนะว่าพระเกษมทำอย่างนั้น ไม่ใช่ไร้สาระ แต่การกระทำนั้นต่างหากที่ไร้สาระ

อ้างถึง4.มีการยินยอมให้สิ่งแปลกปลอมนอกศาสนาหรือนอกนิกายเข้ามาตั้งอยู่ในเขตสังฆมลฑล (หลายวัดมีศาลเจ้า, กวนอิม)

    อันนี้ก็หลากเหตุผลครับ ผมเองก็เห็นว่าไม่ควรในบางอย่าง และบางอย่างก็มีเหตุผลรองรับได้ แต่บางอย่างบางที่ก็มาด้วยเหตุผลทางธุรกิจ พูดยากครับท่าน  ส.อืม

อ้างถึง5.สับสนในคำสอน มีการตีความใหม่ (เจ้าคุณท่านหนึ่งที่เป็นเจ้าอาวาสวัดสาขาในต่างประเทศของสำนักหนึ่งทำการ บวชภิกษุณีจนตัวท่านเองต้องโดนปลด และวัดสาขาก็ถูกถอดออก)

    อันนี้ หากพูดก็คงพูดกันยาว เพราะผมมีความเห็นต่างพอสมควร แต่การที่ท่านเจ้าคุณรูปนั้น ซึ่งอยู่ต่างประเทศ ได้รับการยอมรับกันในประเทศนั้นเรื่องภิกษุณี ท่านเองก็คงเห็นประโยชน์ในการรับรองและบวชภิกษุณี จึงกระทำดังนั้น การที่พระไทย(ซึ่งไม่ยอมรับเรื่องความมีอยู่ของภิกษุณี)จะคัดค้านก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกเช่นกัน และการที่ท่านถูกปลด และถูกตัดออกจากการเป็นวัดสาขาก็อาจเป็นการดีที่ท่านได้กระทำใดๆได้สะดวกขึ้น

    และส่วนตัวเชื่อว่าภิกษุณีจะได้รับการยอมรับเป็นวงกว้างและแพร่หลายขึ้นเรื่อยๆในเมืองไทยครับ มีผู้หญิงอีกมากที่ต้องการภาวะที่เอื้อต่อการปฏิบัติธรรม แต่ผลดีผลเสีย ก็ต้องตามกันต่อไป

    ยาวพอสมควรแล้วครับ ขอลาท่านไปแต่เพียงเท่านี้ก่อน โอกาสหน้าพบกันใหม่ สวัสดี

สะบายดี...
สิ่งที่ไม่เหลือคือ  ความสงสัยในวิถีตน
สิ่งที่เหลือคือ  เดินทางต่อไป และต่อไป

DtawanDigital

   เข้ามาอ่าน   ผมว่าเชื่อในสายไหนก็เชื่อไปเถอะครับ ขอแค่ทำในสิ่งที่ดีไม่ผิดกฏหมายไม่ทำให้ใครเดือดร้อนก็พอครับ   

ผีดำ1

ทุกศาสนาไม่มีคนดีพร้อมหรอก แต่บางศาสนาชอบร่วมกันปกปิดความผิดของผู้นำศสาสนา(หรือแม้แต่คนในศาสนานั้นๆ)ไม่ยอมออกข่าวออกสื่อเราเลยไม่รู้กันในวงกว้าง แต่ศาสนาพุทธเรา ดีแล้วที่ใครผิดก็ขุดคุ้ยกัน เลยดูว่าพระสงฆ์ไทยผิดมาก แต่ทุกศาสนาคำสอนดีอยู่ที่คนปฏิบัติมากกว่า