ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

เปิด 3 ฉากทัศน์ “กสทช.” ยุคใหม่ จะเห็นช้างกลางห้องหรือไม่

เริ่มโดย supergreat, 17:17 น. 28 เม.ย 65

supergreat

วิเคราะห์ 3 ฉากทัศน์ "กสทช." ยุคใหม่

ท่ามกลางกระแสการเมืองที่เผ็ดร้อน โดยเฉพาะใกล้ช่วงเลือกตั้ง ทั้งในสนามกรุงเทพฯ และระดับประเทศที่จะมีขึ้นในไม่ช้า ส่งผลให้กรณีการควบรวมทรูและดีแทคในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม บรรดานักการเมืองเริ่มเข้ามาโหนกระแส

แหล่งข่าวจากวงการนักวิเคราะห์มองว่าเป็นการสร้างประเด็นขึ้นมา ซึ่งเชื่อว่ากระแสนี้ยังจุดไม่ติด เนื่องจากขณะนี้มีประเด็นอื่นที่สำคัญและใหญ่กว่า ส่วนกรณีล่าสุดที่กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีควบรวมทรูดีแทคและการค้าปลีกค้าส่ง ส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ชะลอการดำเนินการออกไป ก็ไม่ได้สร้างความตื่นเต้นมากนัก เนื่องจากประเด็นคัดค้านไม่มีอะไรแปลกใหม่ ยังเหมือนเดิมกับที่หน่วยงาน องค์กรอื่น ๆ ได้สร้างประเด็นขึ้นมาคัดค้านก่อนหน้านี้

ที่สำคัญคือ การพิจารณาควบรวมกิจการโทรคมนาคมไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น ก่อนหน้านี้ กสทช. ได้พิจารณาให้ผู้ประกอบการสองรายที่ปรับโครงสร้าง ทั้งการควบรวมองค์กรโทรศัพท์และการสื่อสารแห่งประเทศไทย และค่ายเอไอเอส ที่มีการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น โดยมีกัลฟ์มาถือหุ้นใหญ่ผ่านทางอินทัช จึงทำให้เหล่านักวิเคราะห์มองเปรียบเทียบกับสำนวนฝรั่งที่ว่า "มีช้างอยู่ในห้อง" หรือ "Elephant in the Room" ซึ่งไม่ได้มีความหมายถึงช้างโดยตรง แต่เป็นการเปรียบเทียบ คำถาม หรืออุปมาอุปมัย ประเด็นขัดแย้ง หมายถึง เรื่องจริงหรือปัญหาบางอย่างที่เกิดขึ้น แบบที่เห็นช้างอยู่ต่อหน้าต่อตา แต่คนในห้องกลับปล่อยปละละเลยโดยเจตนา ตั้งใจทำเป็นมองไม่เห็น ซึ่งก็คือ ธุรกิจโทรคมนาคมไทยเป็นตลาดผูกขาดรายเดียว (Monopolistic market)



TDRI กล่าวว่า หลักฐานหนึ่งที่ชี้ว่าการประกอบการในตลาดโทรคมนาคมยังไม่เกิดการแข่งขันอย่างมีประสิทธิภาพ ก็คือ การที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สุดคือ AIS มีส่วนแบ่งตลาดที่สูงสุดเกือบร้อยละ 60 และมีอัตราผลตอบแทนการลงทุนในระดับสูงต่อเนื่องกันเป็นเวลาหลายปี ทำให้สันนิษฐานได้ว่า บริษัทดังกล่าวเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด (Market Dominant) เราจึงเห็นได้ว่าสถานการณ์ขณะนี้คือ ทุกคนที่ออกมาสร้างกระแส จุดประเด็นค้านการควบรวมทรูดีแทค มองไม่เห็นตัว "ช้าง" ซึ่งคือขนาดมูลค่าของบริษัท (Company Valuation) ของบริษัทโทรคมนาคมไทยตัวจริงเสียงจริงที่ใหญ่ที่สุดในขณะนี้ ซึ่งแม้กระทั่ง TDRI ยังเคยวิเคราะห์ว่าเป็นผู้ผูกขาดรายเดียว

"ปี 2564 บริษัทเอไอเอส มีมูลค่าบริษัท 645.3 พันล้านบาท ในขณะที่ทรู มีมูลค่าบริษัท 161.5  พันล้านบาท  และ ดีแทค มีมูลค่าบริษัท 110.1 พันล้านบาท หากเปรียบเทียบกับนักมวย คงเปรียบได้กับ ไมค์ ไทสัน ชกกับ สมรักษ์ คำสิงห์ หรือ สามารถ พยัคฆ์อรุณ"

นักวิเคราะห์เปรียบเทียบให้เห็นภาพ พร้อมกล่าวเสริมว่า นอกจากนี้ ในด้านกำไรสุทธิ เอไอเอส กำไรต่อเนื่องทุกปี โดยย้อนหลัง 5 ปี กำไรกว่า 150,000 ล้านบาท ในขณะที่คู่แข่งยังปริ่มน้ำจากภาระต้นทุนที่สูง โดยปีล่าสุด 2564 รายได้รวม อยู่ที่ 181,333 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับปีก่อน ในส่วนกำไรสุทธิ 26,922 ล้านบาท ขณะที่ทรู และดีแทค ผลกำไรรวมกันสองบริษัทยังไม่ถึง 2, 000 ล้านบาท หากเป็นเจ้ามือต้องเรียกว่า กินเรียบอยู่รายเดียว แต่กลับไม่มีใครพูดถึง เข้าสำนวน มีช้างอยู่ในห้อง นั่งมองกันตาปริบๆ แต่ไม่มีใครพูด

ล่าสุด เมื่อ 27 เม.ย. 2565 การประชุมครั้งแรกคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (บอร์ด กสทช.) ชุดใหม่ ที่มีนายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ เป็นประธานฯ ได้เห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์กรณีควบรวมทรูดีแทครวม 4 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการฯ ด้านกฎหมาย คณะอนุกรรมการฯ ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง คณะอนุกรรมการฯ ด้านเทคโนโลยี คณะอนุกรรมการฯ ด้านเศรษฐศาสตร์ และยังเห็นชอบให้จัดประชุม Focus Group แลกเปลี่ยนความคิดเห็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง กลุ่มนักวิชาการ และกลุ่มผู้บริโภคและประชาชนทั่วไป ตลอดจนมอบหมายให้คณะทำงานของสำนักงานกสทช. และที่ปรึกษาอิสระ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ศึกษาผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์และสังคม ทั้งนี้ เพื่อคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะและอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ จึงต้องจับตามมองว่า กสทช. ชุดใหม่ จะทำหน้าที่ในการกำกับดูแลและส่งเสริมการแข่งขัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาดในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด เพราะว่ากิจการโทรคมนาคมนั้น หากปราศจากกำกับดูแลแล้ว จะมีแนวโน้มที่จำนวนผู้ประกอบการลดลงเรื่อย ๆ จนกลายเป็นตลาดผูกขาด ดังนั้นจึงเป็นที่น่าสนใจว่าฉากทัศน์ต่อไปของโทรคมนาคมไทยจะเป็นอย่างไร ซึ่งสามารถพยากรณ์ทิศทางอนาคตออกมาได้เป็น 3 ฉากทัศน์ ได้แก่

ฉากทัศน์ที่ 1 : กสทช.รักษาสภาพตลาดโทรคมนาคมแบบปัจจุบัน ซึ่งเป็นตลาดผู้นำเดี่ยวรายเดียว (Existing Case: Monopoly & Ineffective Competition)
ฉากทัศน์ที่ 2 : กสทช. สนับสนุนการปรับตัวของผู้ประกอบการ สู่การแข่งขันแบบผู้นำสองรายที่แข็งแกร่ง (Approved case: Strong Duopoly Competition)
ฉากทัศน์ที่ 3 : กสทช. หน่วงรั้งการปรับตัวของผู้ประกอบการ สู่การแข่งขันแบบนำห่างของผู้ประกอบการรายเดียว เกิดความไม่เท่าเทียมในการบังคับใช้กฎหมาย (Delayed case: Discrimination)

ฉากทัศน์ที่ 1 : กสทช. รักษาสภาพ ตลาดโทรคมนาคมแบบปัจจุบัน ซึ่งเป็นตลาดผู้นำเดี่ยวรายเดียว (Existing Case: Monopoly & Ineffective Competition)

เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกันแล้ว บริการโทรคมนาคมในประเทศไทย ยังมีระดับการแข่งขันในหลายตลาดที่ยังไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็น "การแข่งขันอย่างมีประสิทธิภาพ" (effective competition) ได้ เนื่องจากยังเป็นตลาดผูกขาดรายเดียว (monopolistic market) โดยมีผู้นำตลาดที่สามารถทำกำไรได้เกือบสามหมื่นล้านบาทเพียงรายเดียว และทำกำไรต่อเนื่องสะสมมากกว่า 20 ปี ในขณะที่ผู้ประกอบการที่เหลือในอุตสาหกรรมยังขาดทุน หรือทำกำไรเพียงเล็กน้อย หรือ อาจเรียกได้ว่าเป็นตลาดกึ่งผูกขาด (oligopolistic market) ความสามารถในการสร้างความต่อเนื่องในการลงทุนในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม จากขนาดมูลค่าบริษัทของผู้นำตลาด (Market Valuation) ที่มีขนาดใหญ่กว่าผู้ประกอบการทุกรายรวมกัน ทำให้การปรับตัวในยุคปัจจุบันมีความสำคัญ เพราะเป็นยุคของการหลอมรวม (Convergence) เมื่อวิเคราะห์ในรายละเอียดจะพบว่า ปรากฏการณ์ที่เรียกว่าการหลอมรวม ซึ่งเกิดขึ้นใน 4 ระดับคือ การหลอมรวมบริการ (convergence of services) การหลอมรวมของช่องทางการสื่อสาร ข้อมูล (convergence of transmission channels) การหลอมรวมของอุปกรณ์ลูกข่าย (convergence of terminals) และการหลอมรวมของผู้ให้บริการ (convergence of providers) ผ่านการควบรวมกิจการและการสร้างเครือข่ายเสิรมสร้างความแข็งแรงในการปรับตัว จากภาระต้นทุน ดอกเบี้ย การลงทุนต่อเนื่อง และการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยี ในขณะที่เทคโนโลยีเดิมยังไม่คุ้มทุน

ผลของฉากทัศน์ในการรักษาสภาพตลาดที่มีการแข่งขันแบบด้อยคุณภาพ สภาพการแข่งขันแบบผูกขาดรายเดียวของผู้นำตลาด จะยังไม่ถูกแก้ไข ผู้เล่นที่เหลือในตลาดเกิดความอ่อนแอจากภาระต้นทุน ดอกเบี้ย และ การเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ และผู้เล่นดิจิทัลจะเข้ามาทดแทน ภาครัฐจะต้องเข้ามาอุ้มธุรกิจที่ไม่สามารถแข่งขันได้ เช่นเดียวกับสภาพของดิจิทัลทีวี เนื่องจากเอกชนถูกกำกับให้ไม่สามารถปรับตัวได้ ลูกค้าทรูและดีแทค เสียโอกาสในการใช้เครือข่ายร่วมกัน เข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น ต้นทุนการให้บริการแทนที่จะลดลง ทำให้การแข่งขันด้านราคาสูงขึ้น ก็จะไม่สามารถแข่งได้ออย่างใกล้เคียง

ฉากทัศน์ที่ 2 : กสทช. สนับสนุนการปรับตัวของผู้ประกอบการ สู่การแข่งขันแบบผู้นำสองรายที่แข็งแกร่ง (Approved case: Strong Duopoly Competition)

อุตสาหกรรมมือถือในประเทศไทยมีการให้บริการมาเกือบ 30 ปี เป็นสภาพตลาดผู้นำเดี่ยวตลอดยุคอุตสาหกรรม ตรงกับสำนวนฝรั่ง "มีช้างอยู่ในห้อง" แต่ไม่มีใครพูดถึง และรายใหม่ที่จะมาท้าทายก็ไม่มี มีแต่ถอยทัพกลับประเทศ เพราะเสียเปรียบผู้นำในการแข่งขัน ต้องยอมรับว่า ธุรกิจโทรคมนาคม อดีตเคยเป็นธุรกิจที่เคยน่าสนใจ ต่อมาผู้ประกอบการก็ทยอยถอยทัพกลับประเทศ ด้วยต้นทุนการให้บริการที่สูงขึ้นจากการประมูลคลื่นใหม่ ๆ การขยายอุปกรณ์ทั่วประเทศตามอายุของเทคโนโลยีที่มีต้นทุนสูง กระทั่งปัจจุบันมีผู้ให้บริการเพียง 4 ราย และให้บริการด้านการสื่อสารที่ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ที่มีการกำกับดูแลของกสทช. ในการควบคุมเพดานราคา ประกอบกับปัจจุบันอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่าน จากผู้เล่นในบริการสาธารณูปโภคเป็นผู้เล่นในระบบดิจิทัล ด้วยเหตุนี้ อุตสาหกรรมโทรคมนาคมทั่วโลกจึงเป็นขาลงอย่างปฏิเสธไม่ได้ เพราะการรุกรานของผู้ให้บริการดิจิทัล



ดังนั้น หากกสทช. ออกเอกสารเชิญชวนผู้ประกอบการใหม่ มาลงทุนโทรคมนาคม โดยเฉพาะในประเทศไทย คงต้องคิดหนัก เพราะเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง มีกฎหมาย กฎระเบียบ การกำกับดูแลมากมาย และยังมีเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ยังไม่ทันคืนทุน ก็จะมีเทคโนโลยีใหม่เข้ามา นอกจากนี้ อุปกรณ์โทรศัพท์มือถือทุกยี่ห้อ แทบจะไม่เหลือกำไรให้กับผู้ประกอบการโทรคมนาคม ซึ่งหลายคนคงไม่เคยรู้ ในช่วงแรกของโทรคมนาคม มีเพียงเอไอเอส และแทค ที่ให้บริการโทรศัพท์มือถือ การที่ประเทศไทยมีผู้ให้บริการที่แข็งแกร่งสองราย ย่อมดีกว่าการมีผู้ประกอบการแข็งแกร่งเพียงรายเดียว ส่วนอีก 2 ราย คือ ทรูที่มีการขยายตลาดและมีนวัตกรรม แต่มีภาระต้นทุนสูงและยังขาดทุน ในขณะที่ดีแทค เน้นการลดต้นทุน แผนการลงทุนในประเทศไทยยังไม่ชัดเจน ดังนั้น หากสองบริษัทรวมกันได้ ก็จะทำให้การขยายการลงทุนในประเทศไทยเป็นรูปธรรมและเชื่อว่าลูกค้าได้ประโยชน์ อาทิ

1. การเข้าถึงสัญญาณเครือข่ายดีขึ้น เสาสัญญาณเพิ่มมากขึ้น สัญญาเร็ว แรง และครอบคลุมพื้นที่ใช้งานมากขึ้น
2. คลื่นที่ครบถ้วนในทุกย่านความถี่ ทำให้ลูกค้าสามารถใช้มือถือได้ทุกรุ่น รองรับทุกย่านความถี่ เริ่มตั้งแต่คลื่น 700 MHz มีทั้ง 2 ค่าย คลื่น 850 MHz ดีแทคสามารถใช้คลื่นของทรูได้
3. เพิ่มความสะดวกมากขึ้น โดยมีศูนย์ให้บริการหลังการขายเพิ่มมากขึ้น สามารถเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น
4. ลูกค้าทั้งสองค่ายจะมีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ดีและสิทธิพิเศษที่เพิ่มมากขึ้น
5. เมื่อทรูควบรวมกับดีแทค จะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันใกล้เคียงกันกับเอไอเอส เมื่อผู้แข่งขันสองรายมีขีดความสามารถใกล้เคียงกัน จะทำให้เกิดการแข่งขันกันมากขึ้น ทำให้ลูกค้าได้โปรโมชั่นที่ถูกลง และมีข้อเสนอทางการตลาดที่ลูกค้าได้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น
6. ลูกค้าไร้กังวลว่าหลังการควบรวมแล้วราคาจะสูงขึ้น แพคเกจที่ใช้อยู่สามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง เพราะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกสทช.
7. การบริการต้นทุนของผู้ให้บริการหลังการควบรวมจะลดลง ทำให้ลูกค้าได้รับประโยขน์จากความคุ้มค่าของบริการที่ได้รับ ทำให้มีเงินทุนไปพัฒนาบริการใหม่ ๆ รองรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่กำลังจะเข้ามา เช่น ดาวเทียม, Metaverse, Quantum รวมถึงรถยนต์ EV และ Smart City
8. ผู้เล่นในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมทุกรายปรับโครงสร้างเพื่อรองรับการลงทุนใหม่ เช่น CAT+ TOT = NT และการที่ AIS มีการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น โดยมีการลงทุนใหม่ โดย GULF เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และลงทุนเพิ่มในอนาคต ทำให้หลังการควบรวมของทรูและดีแทค ผู้ประกอบการทุกรายจะมีความพร้อมในการแข่งขัน ซึ่งรัฐควรจะปฏิบัติต่อผู้ประกอบการอย่างเท่าเทียม มิใช่กีดกันรายใดรายหนึ่ง
9. ผู้บริโภคสามารถใช้บริการของผู้ประกอบการดิจิทัลอย่างไม่สะดุด เช่น Facebook, Line, Netflix และอื่น ๆ ที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย โดยใช้เครือข่ายโทรคมนาคมเดิม ซึ่งต้องใช้ดาต้าเพิ่มขึ้นมหาศาล ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตใช้งานดาต้าเพิ่มขึ้นหลายเท่าทุกปี เพื่อให้บริการจากผู้เล่นดิจิทัลมีความต่อเนื่อง การควบรวมจะทำให้เกิดความแข็งแกร่งในการพัฒนาคุณภาพเครือข่าย รองรับการเติบโตของผู้ใช้ข้อมูลที่เพิ่มขึ้น
10. หลังการควบรวม ผู้เล่นทุกรายในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย พร้อมปรับตัวเข้าสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี และเพิ่มขีดความสามารถที่จะแข่งกับผู้ประกอบการระดับโลก และสนับสนุนการลงทุนของ Tech Startup รุ่นใหม่ บริษัทจะมีความสามารถในการลงทุนเพิ่ม รองรับเทคโนโลยีใหม่ ทำให้ลูกค้าได้รับบริการดิจิทัลมากขึ้น เช่น บริการแพทย์ทางไกล การประชุมทางไกล การเข้าถึงคอนเทนต์ เพลง หนัง ระดับโลก ในราคาลดลง

ฉากทัศน์ที่ 3 : กสทช. หน่วงรั้ง การปรับตัวของผู้ประกอบการ สู่การแข่งขันแบบนำห่างของผู้ประกอบการรายเดียว เกิดความไม่เท่าเทียบในการบังคับใช้กฏหมาย (Delayed case: Discrimination)

กรณีการควบรวมทรูดีแทคที่ต้องล่าช้าออกไปย่อมส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เนื่องจากมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของกฎกติกาในการดำเนินธุรกิจ และที่สำคัญ ธุรกิจเทคโนโลยีล่าช้าเพียง 1 วันก็พ่ายแพ้ ด้วยเหตุนี้ การดำเนินการจากภาครัฐแม้ล่าช้าเพียง 1 เดือน ก็ทำให้ธุรกิจเสียรังวัดได้

ธุรกิจโทรคมนาคมที่ยื่นควบรวมเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ มีประชาชน องค์กรทั้งในและต่างประเทศเป็นผู้ถือหุ้น ความน่าเชื่อถือของประเทศเป็นเรื่องที่สำคัญ ด้วยกระบวนการที่ทำให้เกิดความเสียหายทางธุรกิจ เป็นประเด็นที่ต้องจับตามอง และทำให้เกิดคำถามตามมาต่อหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานกำกับ ต้องสวมหมวกผู้ประกอบการ และความยากง่ายในการทำธุรกิจ หากพิจารณาด้านการแข่งขันในธุรกิจโทรคมนาคม เปรียบการแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมได้กับพรรคการเมืองว่า ปัจจุบันเหมือนมีพรรคใหญ่พรรคเดียวคุมเสียงตลาด ที่เหลือพรรคเล็ก หากเปรียบเทียบกับ กรณีมี 2 ขั้วพรรคการเมืองยักษ์ใหญ่ แบบใดจะมีการแข่งขันมากกว่ากัน จะเห็นได้ชัดว่า หากมี 2 พรรคใหญ่ใกล้เคียงกันสู้กัน จะมีการแข่งขันทัดเทียมสูสี ฉันใดฉันนั้น เอไอเอส เป็นผู้นำเดี่ยวในตลาดโทรคมนาคม ปี 2564 กำไรสุทธิ 26,922 ล้านบาท ผูกขาดความเป็นผู้นำตลาดโทรคมนาคมมายาวนาน ตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปัจจุบัน หากการควบรวมทรูและดีแทคดำเนินการได้สำเร็จ จะทำให้มีผู้ประกอบการที่มีความทัดเทียม ทำให้สามารถแข่งขันกันมากขึ้น และสามารถแข่งขันกับผู้เล่นดิจิทัลได้

ดร.ฮามาดูน ตูเร อดีต เลขาธิการเลขาธิการสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) เคยกล่าวในงานปาฐกถาพิเศษ ภายใต้หัวข้อ "มุมมองของเลขาธิการสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) กับการกำกับดูแลในยุคหลอมรวมสื่อ" ว่า แนวทางการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม ควรเป็นแบบ Light-Touch Regulation คือ การกำกับดูแลแบบไม่ลงไปควบคุมมากจนเกินไป แต่จะปล่อยให้กลไกในตลาดควบคุมกันเอง

ธุรกิจโทรคมนาคม เป็นธุรกิจที่แข่งขันกับเทคโนโลยี และมีต้นทุนในการดำเนินการสูง ทั้งค่าคลื่น ค่าเน็ตเวิร์ค อุปกรณ์ ภาระดอกเบี้ย ฯลฯ ซึ่งการประวิงเวลาการควบรวมให้นานที่สุด ย่อมสร้างความได้เปรียบให้กับผู้เล่นรายอื่น ๆ ในตลาดที่ทำการปรับโครงสร้างเรียบร้อยแล้ว ปัจจัยด้านเวลานั้น ถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อเทคโนโลยีใหม่กำลังจะเข้ามา หากผู้เล่นปัจจุบันมีความอ่อนแอ จะไม่สามารถสู้ศึกในสนามต่อไปได้

การประมูล 4G ในประเทศไทย เป็นผลงานกสทช. ที่ทำเงินประมูลที่มีมูลค่าสูงถึง 232,730 ล้านบาทให้กับภาครัฐภายในระยะเวลา 4 ปี คือตั้งแต่ช่วง ปี 2559-2563 แต่ก็แถมมาด้วยความสะบักสะบอมของผู้ประกอบการไทยในการแบกรับดอกเบี้ย และไม่นานยังไม่ทันคืนทุนกับการประมูล 4G ก็มีการประมูล 5G ใช้เวลา 5 ชั่วโมง 35 นาที ได้เงินเข้ารัฐ 100,521 ล้านบาท ทำให้ผู้ประกอบการไทยแบกโซ่ตรวนหนักอึ้ง และขาดความพร้อมในการลงทุนเพิ่ม ในเทคโนโลยีใหม่ 2 ตัว ที่กำลังจะเข้ามาในไม่ช้า

ดังนั้น หากการควบรวมของทรูและดีแทค ทำไม่สำเร็จ แน่นอนว่า การเข้าสู่เทคโนโลยี 6G และ การเข้าสู่เทคโนโลยีการโทรผ่านดาวเทียม จะมีผู้ที่พร้อมให้บริการเพียงรายเดียว ดังนั้น การดึงเวลา หรือ ขอให้เริ่มต้นพิจารณาใหม่ จะทำให้ผู้เล่นบางรายหลุดออกจากอุตสาหกรรมโดยปริยาย หลุดจากช่วงเวลาที่แข่งขันได้ ซึ่งหากดึงเวลาได้เพียง 1 ปี ก็จะสร้างความได้เปรียบมหาศาล จากต้นทุนต่อลูกค้าที่ต่ำกว่ามาก ทำให้เกิดภาวะผู้นำเดี่ยวในตลาด และยังคงเป็นผู้เล่นในประเทศ ไม่ขยายไปแข่งในระดับภูมิภาค เนื่องจากมีพี่ใหญ่ ครองพื้นที่ในระดับภูมิภาคอยู่แล้ว ดังนั้น หากบันไดขั้นที่ 3 ทำสำเร็จ ก็จะทำให้เกิดการเติบโตระยะยาว แบบผู้เล่นรายเดียวในอุตสาหกรรม ซึ่งคนไทยคงต้องมองตาปริบ ๆ แล้วเปรยว่า คิดได้อย่างไร
มองข้ามช๊อต แบบมีวิชั่นส์ เมื่อเทคโนโลยีดาวเทียม (Low Earth Orbit) เข้ามา ย่อมชนะในกระดานต่อไป

หากใครยังไม่รู้จัก  Starlink คือการให้บริการอินเทอร์เน็ตจากดาวเทียม โดยข้อแตกต่างของอินเทอร์เน็ต Starlink คือการที่ดาวเทียมของมันจะโคจรในวงรอบที่ต่ำมาก ๆ (Low Earth orbit) ถือเป็นระดับวงโคจรที่ต่ำกว่าดาวเทียมทั่ว ๆ ไปที่เราใช้งานกันในปัจจุบันมากกว่า 60 เท่าตัว Starlink จะช่วยให้ผู้คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้อย่างไร้ข้อจำกัดด้วยราคาที่ถูก (แนวคิดของมัสก์) โดย Starlink น่าจะพร้อมให้บริการครอบคลุมประเทศไทยในช่วงราวปี 2022 ทำให้มีคนพูดว่า หากนำค่า HHI มาวัดการให้บริการโทรคมนาคมแบบเสาสัญญาณคงตกยุค เพราะยุคนี้ ผู้ประกอบการให้บริการผ่านดาวเทียมกันแล้ว ไม่ใช่ให้บริการผ่านเสาสัญญาณ เป็นต้น



ผลกระทบต่อโครงสร้างตลาดและการกํากับดูแลในยุคดิจิทัลดิสรัปชั่น การแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไปย่อมส่งผลกระทบต่อโครงสร้างตลาด และทําให้เราต้องทบทวนกฎเกณฑ์และแนวคิดในการกํากับดูแลกิจการโทรคมนาคมในด้านต่าง ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จาก Over Regulated มาสู่ Light Touch Approach เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการให้ปรับตัวได้ การยับยั้งการควบรวม ต้องกลับมาพิจารณาว่า ตลาดการแข่งขันในปัจจุบัน คือสิ่งที่ผู้ประกอบการทุกรายควรเป็นหรือไม่ ผู้ประกอบการทุกรายมีความสามารถในการแข่งขันที่เท่าเทียมหรือไม่ ผู้บริโภคจะได้ประโยขน์สูงสุดจริงหรือไม่ หากการควบรวมไม่สำเร็จ ผู้ชนะตัวจริงอาจเป็นช้างตัวใหญ่ที่อยู่กลางห้อง ที่ไม่มีใครกล้าพูดถึงนั่นเอง เพราะช้างตัวนี้ผูกขาดผู้นำตลาดมา 30 ปี และมีท่าทีว่าทุกคนจะเห็นดีให้เป็นเช่นนี้ตลอดไปหรือไม่

ที่มา: TheLeaderAsia