ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

สุราษฎร์นำร่อง'ตลาดกลาง'ไม้ยางพารา

เริ่มโดย ทีมงานบ้านเรา, 15:48 น. 23 ก.ค 55

ทีมงานบ้านเรา

นำร่องสุราษฎร์เปิด 'ตลาดกลาง' ไม้ยางพารา เพิ่มทางเลือกด้าน "ราคา" เกษตรกรชาวสวนยาง : รายงานเกษตร : โดย ... สุวรรณี บัณฑิศักดิ์

          "ปัจจุบันการส่งออกไม้ยางพาราของไทยส่วนใหญ่ส่งในรูปของวัตถุดิบไปประเทศจีนถึง 93 % ซึ่งถือเป็นตลาดหลัก ทั้งที่ฝีมือแรงงานไทยมีคุณภาพแต่ระบบอุตสาหกรรมด้านเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นสินค้าหลักของโลกมาตรฐานไม่สูงพอ"

          นี่คือเสียงสะท้อนที่ออกมาจากปากของ สมบูรณ์ พฤกษานุศักดิ์ อุปนายกสมาคมธุรกิจไม้ยางพาราไทย กล่าวที่โรงแรมไดมอนด์ พลาซ่า อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี ในโอกาสที่มาร่วมงานสัมมนา "การเปิดตลาดกลางไม้ยางพาราระบบอิเล็กทรอนิกส์" ที่สถาบันวิจัยยางกรมวิชาการเกษตรและสำนักงานตลาดกลางยางพาราสุราษฎร์ธานี ร่วมกันจัดขึ้น โดยมีเกษตรกรชาวสวนยางและผู้ประกอบการธุรกิจเกี่ยวกับไม้ยางพาราใน จ.สุราษฎร์ธานี เข้าร่วมสัมมนาประมาณ 300 คน 

          อุปนายกสมาคมธุรกิจไม้ยางพาราไทยยอมรับว่าปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกไม้ยางทั่วประเทศกว่า 18 ล้านไร่ มีบางส่วนที่ไม่สามารถผลิตน้ำยางได้แล้วก็ต้องตัดโค่น แปรรูปเป็นสินค้าสำเร็จรูปโดยเฉพาะการผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้อัด ซึ่งปริมาณการตัดโค่นที่ได้ปีละ 3 แสน 3 หมื่นไร่ จากที่ควรจะโค่นอยู่ที่ประมาณ 6 แสนไร่ โดยแต่ละปีคิดเป็นมูลค่าตั้งแต่ปี 2550 มูลค่าจากไม้ยางพาราปีละ 1.5 แสนล้านบาท และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยมาเพิ่มมากสุดปี 2554 มูลค่า 1.7 แสนล้านบาท

          "ปีนี้มีแนวโน้มที่จะมีปัญหาอีกคือราคาไม้ยางลดลง ถือเป็นวัฏจักรทางเศรษฐกิจ มูลค่าทางไม้ยางพารามีแนวโน้มจะลดลง ส่วนหนึ่งมาจากการที่เราส่งออกประเทศจีนถึง 93% ในขณะที่จีนประกาศภาวะเศรษฐกิจที่ยั่งยืนมีนโยบายชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจจาก 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ เหลือ 7 เปอร์เซ็นต์ ทำให้การส่งออกไม้ยางของไทยลดลงแต่คิดว่าเป็นช่วงสั้นๆ"

          สมบูรณ์ ยังแนะทางออกของเกษตรกรคือหากราคาไม้ยางไม่ดีให้ชะลอการโค่นไว้ก่อนและตอนนี้สินค้าไม้ยางที่ส่งออกค้างอยู่ในโกดังหมื่นกว่าตู้คอนเทนเนอร์ ส่งผลกระทบให้ผู้ประกอบการไม่ซื้อไม้ท่อนจากชาวสวน ทำให้ราคาตกลงมา เหลือเพียงกิโลกรัมละ 1 บาทกว่า จากเดิมอยู่ที่กิโลกรัมละ 3 บาทกว่าในปี 2554 ทั้งนี้ หากเป็นไปได้อยากจะให้ภาครัฐช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับ โดยเฉพาะภาษี เพื่อให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องและสามารถซื้อไม้ยางเกษตรกรมาเก็บไว้ได้

          นอกจากนั้นในส่วนของผู้ประกอบการเองเริ่มมองหาตลาดสำรองไว้ โดยเฉพาะในโซนเอเชีย คือญี่ปุ่น แม้จะเป็นตลาดเล็กๆ แต่ในอนาคตอาจจะเติบโตได้ แต่หากมองถึงการพัฒนาโรงงานเพื่อให้สามารถผลิตเฟอร์นิเจอร์ได้ทั้งระบบ โดยรัฐต้องสนับสนุน เพราะตอนนี้ลำพังผู้ประกอบการเองประสบปัญหาหลายด้านทั้งค่าแรงงานที่ปรับสูงขึ้น เป็นต้น

          "สำหรับตลาดไม้ยางของไทยยังมีแนวโน้มโตอีกมากในตลาดโลก โดยเฉพาะตลาดอเมริกายังมีความต้องการสูง เพียงแต่ช่วงนี้อาจจะประสบภาวะเศรษฐกิจทำให้ชะลอตัวลงบ้าง แต่คิดว่าเป็นวัฏจักร อีกไม่นานน่าจะฟื้นตัว รวมทั้งตลาดยุโรปบางประเทศที่มีปัญหาเช่นกัน" อุปนายกสมาคมธุรกิจไม้ยางพาราไทยกล่าว

          ขณะ สุจินต์ แม้มเหมือน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร ระบุว่า ความต้องการตลาดไม้ยางไทย โรงงานยังมีความต้องการสูง ในแต่ละปียังต้องการไม้ยางที่ต้องโค่นมากถึง 6 แสนไร่ แต่เนื่องจากราคายางพาราสูงเป็นแรงจูงใจทำให้เกษตรกรชะลอการโค่นยางลงทั้งที่ราคาไม้ยาง โดยเฉพาะในช่วงปี 2554 มีราคาสูงและบางช่วงไม่เพียงพอ แต่ในปีนี้ราคายางและไม้ยางเริ่มตกลง เกษตรกรบางส่วนเริ่มที่จะโค่นต้นยางขาย แต่เนื่องจากความต้องการของตลาดโลกปรับลดลงในบางประเทศจึงทำให้ราคาไม้ยางตกเช่นเดียวกันกับราคายาง

          "สถาบันวิจัยยางจึงเห็นว่าควรที่จะเปิดตลาดกลางไม้ยางพาราขึ้นเพื่อให้เกษตรกรได้ขายไม้ยางในราคาที่เสถียรภาพ โดยใช้ตลาดกลางยางพาราสุราษฎร์ธานีเป็นจังหวัดนำร่องและเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันนี้ (19 ก.ค.55) เป็นต้นไป โดยกำหนดการเปิดตลาดไม้ยางทุกวันพฤหัสบดี และใช้วิธีการเดียวกับตลาดยางพาราทุกอย่าง"

          ผอ.สถาบันวิจัยยางยังระบุด้วยว่า ไม้ยางที่เหมาะสำหรับการโค่นควรจะมีอายุโดยเฉลี่ย 22-25 ปี เพราะปริมาณน้ำยางช่วงนี้จะลดลง แต่หากเกษตรกรเห็นว่าราคายังต่ำอยู่ก็สามารถที่จะกรีดต่อได้ หรืออาจจะใช้น้ำยาแร่งเพื่อให้ยางออกดี แต่ต้องอยู่ในความเหมาะสมและถูกต้องตามหลักวิชาการเพื่อรักษาเนื้อไม้ยางไว้ หากถึงเวลาเหมาะสมที่เห็นสมควรจำเป็นต้องโค่นจริง 

          ในขณะที่มุมมองของเกษตรกรชาวสวนยาง จ.สุราษฎร์ธานี ไมตรี เจริญสุข อายุ 54 ปี กล่าวว่า นับเป็นเรื่องที่ดีมากเมื่อสถาบันวิจัยยางให้ความรู้เรื่องการเปิดตลาดกลางไม้ยางพารา เพราะจะได้ทราบความเคลื่อนไหวของราคาที่แท้จริง แม้ในความเป็นจริงอาจจะขายไม้ยางได้ไม่เท่ากับราคาที่ประมูล มีลักษณะเหมือนกับราคายางหากขายกับพ่อค้าอาจจะถูกลดราคาลงบ้าง กิโลกรัมละ 1-2 บาท เกษตรกรพอจะรับได้ แต่ที่ผ่านมาราคาไม้ยางไม่ทราบแล้วแต่โรงงานที่ซื้อ และเชื่อได้ว่าเมื่อมีตลาดกลางทำให้ขายไม้ยางได้ราคาที่เป็นธรรมมากขึ้น

          "ของผมเองตอนนี้มีสวนยางที่ถึงเวลาที่โค่นจำนวน 20 ไร่ ยังลังเลในการขายไม้ยางอยู่เหมือนกัน หากไม่มีความจำเป็นช่วงนี้อาจจะชะลอไว้ก่อน รอให้ราคาดีกว่านี้และจะศึกษาราคาจากตลาดกลางไม้ยางพารา" เกษตรกรชาวสวนยางรายเดิมกล่าว

          อย่างไรก็ตามการสัมมนาครั้งนี้นับเป็นการชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของไม้ยางพารา และกระตุ้นให้ยางพาราคงอยู่กับสภาพแวดล้อมมากที่สุดและมีความเข้มแข็งและก้าวหน้าเป็นที่ยอมรับของโลก เสริมความรู้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางได้ทราบกลไกตลาดและทราบเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของราคาและได้ราคาที่เสถียรภาพนั่นเอง

ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก (วันที่ 23 กรกฎาคม 2555)
สนับสนุนการขับเคลื่อนโดย
- ฮอนด้าพิธานพาณิชย์-อริยะมอเตอร์ www.phithan.co.th/hondaphithan
- ปาล์มสปริงส์ & ซิตี้รีสอร์ท บ้านและคอนโดคุณภาพจากเครืองศุภาลัย www.hatyainakarin.com
- ธีระการช่าง หาดใหญ่ (เยื้องบิ๊กซีคลองแห) โทร 086-4910345 www.facebook.com/teerakarnchanghy
- เอนกการช่าง ผู้นำการพัฒนาเครื่องจักรกลเกษตร โทร 081-7382622 www.an-anek.com/contact.php
รีวิวธุรกิจ เกาะติดบ้านเมือง ร้อยเรื่องท้องถิ่น TLP 0897384215