ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

โรคมือเท้าปาก โรคยอดฮิตของเด็กๆ

เริ่มโดย ทีมงานประชาสัมพันธ์, 14:24 น. 03 ส.ค 55

ทีมงานประชาสัมพันธ์

ที่มา โรงพยาบาลศิครินทร์หาดใหญ่

กลับมาอีกแล้วครับ!!! โรคมือเท้าปาก โรคยอดฮิตของเด็กๆ ล่าสุดมีการระบาดอย่างมากในประเทศเวียดนาม มีผู้ติดเชื้อโรคดังกล่าวแล้วหลายหมื่นคนและมีผู้เสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 16 คน ทั้งหมดที่เสียชีวิตล้วนเป็นเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีโดยทั้งหมดนี้มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ Enterovirus 71  เรามาทำความรู้จักกับโรคนี้กันเถอะ และดูว่าเราจะหลีกหนีโรคนี้อย่างไรกันดีครับ

เชื้อสาเหตุ

ปกติถือว่าโรคนี้เป็นโรคไม่รุนแรง หายได้เอง โดยสาเหตุของโรคมือเท้าปาก เกิดจากไวรัสกลุ่มเอ็นเทอโรไวรัส (Enterovirus) ตัวที่พบบ่อยได้แก่สายพันธุ์ Coxsackie ชนิด A ซึ่งพบได้หลายสายพันธุ์ย่อย นอกจากนี้ยังเกิดจากสายพันธุ์ เอ็นเทอโรไวรัส 71 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่รุนแรงทำให้ผู้ป่วยเด็กเสียชีวิตได้

การติดต่อ

จะติดต่อกันง่ายมากในเด็กเล็กๆเนื่องจากชอบเล่นคลุกคลีใกล้ชิดกันโดยเฉพาะในโรงเรียนอนุบาล สถานรับเลี้ยงเด็ก หรือญาติพี่น้องที่อยู่รวมกันมากๆ จากการสัมผัสโดยตรงกับน้ามูก น้ำลาย เสมหะ ละอองจากการไอจาม น้ำเหลืองจากแผลพุพอง หรืออุจจาระของผู้ป่วย

ลักษณะอาการ

มักเริ่มจากมีไข้สูง เบื่ออาหาร ไม่สบายตัว เจ็บคอ หลังจากนั้น 1-2 วันจะมีแผลในปากเช่น ลิ้น เหงือก เพดานและกระพุ้งแก้มและเจ็บมาก กลืนน้ำและนมไม่ได้จนเด็กมักจะปล่อยน้ำลายยืดเนื่องจากกลืนน้ำลายไม่ได้ ต่อมาจะเริ่มมีผื่นเป็นจุดแดง และพองเป็นตุ่มน้ำในเวลาต่อมา ผื่นมักกระจายตามแขนขาโดยเฉพาะที่ฝ่ามือฝ่าเท้า และอาจลามขึ้นมาถึงก้นได้ ผื่นอาจจะมีอาการเจ็บเล็กน้อย อาการไข้ แผลในช่องปากและผื่นตามตัวจะค่อยๆดีขึ้นและหายไปเองภายใน 1 สัปดาห์ แต่อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่ร้ายแรงโดยเฉพาะการติดเชื้อสายพันธุ์เอ็นเทอโรไวรัส 71 เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ อันเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในที่สุด

การดูแลรักษา

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายได้เอง อาการไข้ ผื่น และแผลในปาก จะค่อยๆดีขึ้นและหายได้เองในเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ให้การรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้แก้ปวด แก้เจ็บแผลในปาก ช่วงนี้สามารถให้ผู้ป่วยกินอาหารอ่อน ดื่มนมหรือเครื่องดื่มที่เย็นๆได้ แพทย์อาจให้ยาชาชนิดรับประทานเพื่อลดอาการปวดแผลในช่องปากซึ่งอาจช่วยให้ผู้ป่วยรับประทานข้าวหรือดื่มนมน้ำได้มากขึ้น คอยสังเกตอาการและรีบพาเด็กไปพบแพทย์หากผู้ป่วยเมื่อมีไข้สูง ซึมลงหรืออาการทั่วไปแย่ ลงนอกจากนี้ผู้ดูแลต้องต้องระมัดระวังการปนเปื้อนสารคัดหลั่ง เช่นน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ อุจจาระ และต้องล้างมือหลังการสัมผัสผู้ป่วยหรือข้าวของเครื่องใช้ทุกครั้ง

การระวังป้องกัน

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันสำหรับโรคนี้ การป้องกันที่ดีที่สุดคือการหลีกเลี่ยงไม่สัมผัสกับผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้เนื่องจากติดต่อกันค่อนข้างง่าย เด็กๆมักติดโรคกันเองจากสมาชิกในบ้านหรือจากสถานเลี้ยงเด็กหรือโรงเรียน ดังนั้นการจัดการสถานที่ เช่นระบบระบายอากาศ ความแออัด การทำความสะอาดพื้นที่และอุปกรณ์ของเล่นต่างๆย่อมมีความสำคัญอย่างมาก ควรคัดกรองผู้ป่วยตั้งแต่หน้าประตูโรงเรียนจะช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อได้อย่างดี หากพบเด็กมีตุ่มใสขึ้นที่ปาก มือหรือเท้าให้แนะนำผู้ปกครองพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาและแยกเด็กป่วยไม่ให้คลุกคลีกับเด็กอื่นเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ประการสุดท้ายคือการรณรงค์การล้างมืออย่างถูกวิธี เพราะนอกจากป้องกันและลดการแพร่กระจายเชื้อโรคนี้แล้วยังสามารถป้องกันกันการแพร่กระจายเชื้อโรคอื่นๆได้อีกด้วย เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคอุจจาระร่วง เป็นต้นครับ


นพ.วิธาน  วชิรแพทย์

กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤต

กุมารแพทย์ประจำโรงพยาบาลศิครินทร์หาดใหญ่

propolis2u

หากพบเจอลูกๆหลานๆ เป็นโรคนี้ อย่าลืมนึกถึงโปรพอลิส ช่วยต้านการติดเชื้อ และสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง www.propolis2u.com
อีกหนึ่งทางเลือกกี่ไม่ควรมองข้าม