ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

สกว. จับมือ มทร.ศรีวิชัย แถลงข่าวการลงนามความร่วมมือสร้างงานวิจัยไม้ผลเชิงพื้นที่

เริ่มโดย ทีมงานประชาสัมพันธ์, 14:48 น. 30 ก.ย 56

ทีมงานประชาสัมพันธ์

สกว. จับมือ มทร.ศรีวิชัย แถลงข่าวการลงนามความร่วมมือสร้างงานวิจัยไม้ผลเชิงพื้นที่

วันนี้(30ก.ย.56)  เวลา 11.00 น. ที่ โรงแรมราชมังคลา พาวิลเลียน บีช อ.เมือง จ.สงขลา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดย ดร.สีลาภรณ์  บัวสาย รองผู้อำนวยการ และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย  ผศ.รุจา  ทิพย์วารี อธิการบดี และอีกหลายหน่วยงาน ร่วมแถลงข่าวการลงนามความร่วมมือทางวิชาการในการร่วมทุนทำงานวิจัยเชิงพื้นที่ ภายใต้โครงการ "การสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อการผลิตไม้ผลเศรษฐกิจของกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรในจังหวัดนครศรีธรรมราช" โดยมี รศ.ดร.สมพร ณ นคร เป็นหัวหน้าทีมวิจัย


รศ.ดร.สมพร ณ นคร หัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยว่า  จากการระดมความคิดเห็นเพื่อค้นหาโจทย์วิจัยด้านไม้ผลเชิงพื้นที่ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช ที่มีผู้เข้าร่วมระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งนักวิชาการ นักวิจัย ผู้แทนจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ รวมถึงเกษตรกรผู้ผลิตเงาะ มังคุด ทุเรียนและส้มโอ ได้มีการสะท้อนปัญหาด้านการผลิตไม้ผลของเกษตรกรทำให้พบว่า การผลิตไม้ผลของเกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่ได้มาตรฐาน มีผลกระทบทำให้ราคาตกต่ำ เช่น มังคุด และจากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า เกษตรกรผู้ผลิตไม้ผลในจังหวัดนครศรีธรรมราชยังผลิตผลไม้ เช่น มังคุด ทุเรียน เงาะ และลองกอง มีค่าเฉลี่ยของการผลิตต่อไร่ต่ำกว่าของเกษตรกรในภาคตะวันออก และผลผลิตต่อไร่ของไม้ผลเกือบทุกชนิดมีค่าเฉลี่ยต่อไร่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยต่อไร่ของประเทศไทย จากข้อมูลการรวมกลุ่มของเกษตรกรในจังหวัดนครศรีธรรมราช ส่วนใหญ่รวมกันเป็นกลุ่มไม่เป็นทางการประมาณกลุ่มละ 20-30 คน บางกลุ่มได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการจากนักวิชาการและจากภาครัฐ บางกลุ่มจะมีองค์ความรู้ด้านการผลิตไม้ผลให้มีคุณภาพดี แต่บางกลุ่มยังขาดการช่วยเหลือทางด้านวิชาการและยังขาดองค์ความรู้ด้านวิชาการและเทคนิคการผลิตไม้ผลให้มีคุณภาพ ขาดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ขาดองค์ความรู้ด้านวิชาการ ทำให้ไม่สามารถที่จะเป็นผู้ผลิตไม้ผลให้มีคุณภาพได้ และจากประสบการณ์ของคณะนักวิจัย พบว่า หน่วยงานภาครัฐ เช่น สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัด และหน่วยงานอื่นๆ มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ในลักษณะการประชุมสัมมนาเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้บ่อยครั้ง เช่น โครงการนครแห่งไม้ผล เมื่อปี 2555 แต่ก็ไม่สามารถเป็นคำตอบได้ว่าเกษตรกรได้รับความรู้เพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด

ดังนั้น  หากการสร้างกระบวนการเรียนรู้ด้านการผลิตไม้ผลให้แก่เกษตรกร มีองค์ความรู้ด้านสภาพแวดล้อมในการผลิตไม้ผล การแก้ปัญหาด้านต้นทุน การผลิต และการตลาด ที่เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามกระบวนการเรียนรู้ที่กำหนดขึ้น เช่น การร่วมมือทำวิจัยในการสร้างองค์ความรู้ที่เป็นประเด็นปัญหา ก็จะทำให้มีความรู้และประสบการณ์และได้องค์ความรู้ด้านการผลิตไม้ผล รวมถึงได้ทราบกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมในการพัฒนากลุ่มเครือข่ายเกษตรกรผู้ผลิตได้อีกรูปแบบหนึ่ง

สำหรับโครงการดังกล่าว  เป็นการลงทุนร่วมกันฝ่ายละครึ่ง โดยมีระยะเวลาในการดำเนินโครงการ 1 ปี 6 เดือน ภายใต้การดูแลของสำนักประสานงาน "การวิจัยและพัฒนาเชิงพื้นที่ภาคใต้ตอนกลาง" สกว.


ข้อมูลและที่มา
สุธิดา พฤกษ์อุดม / ข่าว สวท.สงขลา 300956