ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

“โซเชียลเน็ตเวิร์ค” อีกหนึ่งช่องทางของมิจฉาชีพทางการเงิน (บทความ)

เริ่มโดย ทีมงานประชาสัมพันธ์, 09:59 น. 21 ก.พ 57

ทีมงานประชาสัมพันธ์

"โซเชียลเน็ตเวิร์ค" อีกหนึ่งช่องทางของมิจฉาชีพทางการเงิน

สุเทพ พงษหา
ผู้วิเคราะห์อาวุโส ส่วนคุ้มครองและให้ความรู้ผู้ใช้บริการทางการเงิน
ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

[attach=3]

คำว่า โซเชียลเน็ตเวิร์ค (social network) เป็นหนึ่งช่องทางของการสื่อสารแบบไร้พรมแดน ที่มีความรวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่าย แต่ก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือของมิจฉาชีพที่จะใช้เป็นสื่อกลางในการหลอกลวงเงินจากประชาชน เท่าที่ผ่านมามีผู้คนจำนวนไม่น้อย มีจุดเริ่มต้นของความเสียหายที่มาจาก "สื่อสังคมออนไลน์"

มีขั้นตอนการหลอกลวงเอาเงินจากเราได้อย่างไร ?

เริ่มแรกมิจฉาชีพจะสมัครเข้ามาเป็นเพื่อนกับเราผ่านทาง เฟซบุค (Facebook) โดยส่งข้อความพูดคุยหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและทำตัวเสมือนเป็นเพื่อนที่แสนดีและไม่มีแนวโน้มหรือวี่แววว่าเป็นมิจฉาชีพปรากฏให้เห็นแม้แต่น้อย จนเมื่อเห็นว่า "เหยื่อ" ตายใจให้ความไว้วางใจแล้ว มิจฉาชีพก็จะเริ่มเดินเกมในขั้นตอนต่อไปทันที
มีหลายกรณีตัวอย่างที่มิจฉาชีพเคยนำมาหลอกเอาเงินจากเหยื่อแล้วได้ผล

   - บอกว่าส่งของที่มีมูลค่าสูงมาให้ มิจฉาชีพจะสร้างความน่าเชื่อถือโดยแนบลิงค์ บริษัท รับ-ส่ง   พัสดุภัณฑ์ระหว่างประเทศที่จัดทำขึ้นเองสำหรับหลอกเหยื่อมาให้ด้วย เมื่อตรวจสอบไปตามลิงก์ที่แนบมา ก็จะพบว่ามีรายงานการส่งของมาให้จริง จากนั้นทีมงานของมิจฉาชีพจะโทรศัพท์แจ้งว่าผู้รับต้องจ่ายค่าบริการและธรรมเนียมในการจัดส่ง และต่อด้วยกลยุทธ์อื่นๆ ที่จะหลอกเอาเงินจากเหยื่อ

   - ขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับมรดกที่ได้รับ เช่น บอกว่าพ่อทำงานอยู่ในประเทศมาเลเซียเสียชีวิต และเมื่อเดินทางไปร่วมงานศพก็ได้รับเช็คจากบริษัทที่พ่อทำงานอยู่ เป็นจำนวนเงินที่สูงมาก จำเป็นจะต้องเปิดบัญชีเงินฝากเพื่อเอาเช็คเข้าบัญชีแล้วจึงจะถอนเงินออกมาใช้ได้ แต่มีปัญหาเงินไม่พอเปิดบัญชีจึงขอความช่วยเหลือขอให้ช่วยโอนเงินไปเปิดบัญชีให้และยินดีที่จะตอบแทนให้ในจำนวนเงินที่ค่อนข้างสูง

   - ชวนให้เข้าไปร่วมทำธุรกิจด้วยกัน มิจฉาชีพบอกว่ากำลังลงทุนทำธุรกิจโรงแรมอยู่ที่จังหวัดภูเก็ต และอยู่ระหว่างระดมทุนจากเพื่อนๆ ที่อยู่ในประเทศมาเลเซีย อยากจะชวนให้มาร่วมทำธุรกิจด้วยกันโดยไม่ต้องนำเงินมาลงทุนเหมือนผู้ลงทุนคนอื่น แต่จะขอความช่วยเหลือให้เป็นผู้รวบรวมเงินทุนจากผู้ลงทุนในประเทศมาเลเซีย โดยให้เหยื่อโอนเงินไปเปิดบัญชีที่ประเทศมาเลเซียเพื่อใช้เป็นบัญชีกลางสำหรับระดมทุนจากผู้ร่วมทุน ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ของเขาช่วยดำเนินการเปิดบัญชีให้

[attach=2]

สังเกตอย่างไรว่าเพื่อนทาง Facebook เป็นมิจฉาชีพหรือไม่ ?

มิจฉาชีพมักจะอ้างสถานที่ติดต่อในประเทศเพื่อนบ้านของเราเพื่อให้ยากต่อการติดต่อ และที่ผ่านมามิจฉาชีพจะให้โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของสถาบันการเงินในประเทศไทย ระหว่างที่ติดต่อกับเพื่อนทาง Facebook ถ้าเริ่มจะมีเรื่องที่มากระทบกับการเงินของเรา จะต้องหยุดการติดต่อแล้วคิดไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ และต้องไม่ลืมว่า รูปถ่าย ข้อมูลประวัติส่วนตัว ของเพื่อนในสังคมออนไลน์อาจไม่ใช่ข้อมูลจริง
ถ้าพบปัญหาจะปรึกษาใครได้บ้าง ?

ปัจจุบันมิจฉาชีพมีการพัฒนารูปแบบกลลวงเพื่อหลอกเอาเงินจากเราควบคู่ไปกับการพัฒนาของเทคโนโลยีตลอดเวลา การติดตามข้อมูลข่าวสารเป็นเรื่องสำคัญและหากพบหรือมีข้อสงสัยก็ต้องหาที่ปรึกษาจากคนใกล้ชิดที่มีความรู้ หรือติดต่อหน่วยงานราชการที่พร้อมจะให้คำปรึกษา ดังนี้

โทร. 1359 ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สํานักงานปลัดกระทรวงการคลัง
โทร. 1213 ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย
ศคง. ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะให้ข้อมูล คำแนะนำ และคำปรึกษาในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการใช้บริการทางการเงินกับสถาบันการเงิน


[attach=4]

w_2005


เตือนภัย

ระวัง !! กลุ่มมิจฉาชีพที่มาในรูปแบบขายของออนไลน์กันนะจ๊ะ
เนื่องจากมีมิจฉาชีพหลายรูปแบบใช้กลโกงแอบอ้าง บัญชีนายอมร ก้องกังสดาลกุล ของเราหลอกให้ลูกค้าโอนเงินเข้ามาทางชื่อบัญชีนี้ จึงขอความกรุณาลูกค้าทุกท่านโปรดเช็คข้อมูลชื่อผู้ขายสินค้า และบัญชีให้ดีก่อนทำการโอน มิฉะนั้นท่านอาจตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพนี้หลอกได้ ด้วยความห่วงใย ปรารถนาดีจากเรา :')