ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

ผ่ายุทธวิธี!...ชำแหละขุมทรัพย์ “รื้อโครงสร้างรัฐวิสาหกิจ ฉากหน้าหรือเอาจริง?”

เริ่มโดย itplaza, 10:32 น. 18 มิ.ย 57

itplaza


"เก้าอี้บอร์ดรัฐวิสาหกิจ" เปรียบได้ดั่งอู่ข้าวอู่น้ำของเหล่าพรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งได้เสียงข้างมากเข้ามาบริหารประเทศ ที่จะเดินเกมส่งบุคคลที่มีสายสัมพันธ์อันดีและเป็นที่ไว้วางใจไปเป็นคณะกรรมการ หรือบอร์ดแต่ละรัฐวิสาหกิจ หรือแม้แต่การปูนบำเหน็จรางวัลให้คนรับใช้ใกล้ชิดในเครือข่ายเข้าไปนั่งในบ่อเงิน บ่อทอง ทำงานสนองนโยบายให้เป็นไปอย่างคล่องตัว

กระนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังจากการจัดโต๊ะ จัดเก้าอี้เป็นที่เรียบร้อย จึงเป็นการเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์และส่งเสริมให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันขนานใหญ่!

โดยเฉพาะระบอบทักษิณอันเป็นระบอบที่ครองอำนาจมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน บอร์ดรัฐวิสาหกิจแทบทุกแห่งจะมีคนของนายใหญ่ เข้าไปฝังตัวรับทรัพย์์ตุงกระเป๋าอยู่ทั่วทุกหนแห่ง โดยที่นายใหญ่ ไม่จำเป็นต้องควักเงินในกระเป๋ามาจ่ายให้สักแดงเดียว หากเพราะนี่คือยุทธวิธีจัดสรรผลประโยชน์อย่างชาญฉลาด และสุดถนัดของคนแดนไกล

ฉะนั้น เมื่อถึงช่วงเวลาอันเหมาะเจาะที่จะรื้อกันเสียที ก็ควรจะต้องปฏิรูปกันเสียให้สิ้นซาก และเป็นมาตรการถาวร ยั่งยืน และที่สำคัญ จะต้องจับตาให้ดีว่า คสช.จะล้างบางได้สำเร็จ หรือพลาดพลั้งหนุนนำคนของระบอบทักษิณขึ้นมาหากินบนหลัง คสช.ได้อย่างเนียนๆ หรือไม่

'ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์' จะพาคุณไปไขปริศนา ค้นหาคำตอบถึง แนวทางการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจในยุครัฐประหาร 'บิ๊กตู่' ว่าจะเก่งกล้าสามารถรื้อได้สำเร็จ ชนิดถอนรากถอนโคน หรือจะเข้าสำนวนลูบหน้าปะจมูก เท่านั้น...



ชำแหละ! ขุมทรัพย์รัฐวิสาหกิจ เบี้ยประชุมจัดเต็ม โบนัสจัดจริง
- บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)...
ประธานบอร์ดการบินไทย ได้เบี้ยประชุมครั้งละประมาณ 45,000 บาท กรรมการได้ 30,000 บาท และยังได้สิทธิตั๋วโดยสารเครื่องบินต่างประเทศปีละ 10 ใบ ในประเทศอีก 10 ใบ

ค่ายานพาหนะในแต่ละเดือนของผู้บริหารระดับสูง ซึ่งขณะนี้ในระดับรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ได้รับเดือนละ 75,000 บาท และระดับผู้อำนวยการใหญ่ได้รับ 70,000 บาท

การบินไทย รัฐวิสาหกิจที่ขึ้นชื่อว่ามีระบบเส้นสายมาก



- บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)...
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บอร์ดจะได้รับค่าเบี้ยประชุมเดือนละ 3 หมื่นบาท เบี้ยประชุมเฉพาะที่เข้าร่วมประชุมครั้งละ 5 หมื่นบาท จ่ายเบี้ยประชุมไม่เกินปีละ 15 ครั้ง และเบี้ยประชุมอื่นที่บอร์ดแต่งตั้ง บอร์ดตรวจสอบได้รับเบี้ยกรรมการรายเดือน เดือนละ 1.5 หมื่นบาท ได้เบี้ยประชุมครั้งละ 1.5 หมื่นบาท

ในส่วนของเงินโบนัส จะสะท้อนและเชื่อมโยงกับผลประกอบการ หรือกำไรสุทธิของ ปตท. ในอัตรา 0.05% ของกำไรสุทธิประจำปี แต่กำหนดวงเงินสูงสุดไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อคนต่อปี และในปี 2556 ปตท.ต้องจ่ายเงินบอร์ด มูลค่ากว่า 64.4 ล้านบาท แยกเป็น เงินเบี้ยประชุม 16.3 ล้านบาท และเงินโบนัส 45.12 ล้านบาท

บอร์ด ปตท.จะไม่ได้สิทธิใช้น้ำมันฟรี ส่วนพนักงาน ปตท. จะได้สิทธิซื้อน้ำมันราคาถูก หรือซื้อผลิตภัณฑ์ ปตท. ราคาถูก ในวงเงิน 3,000 บาทต่อปี

ในส่วนของบริษัท ปตท. ที่มีบริษัทลูกจำนวนมาก ยังพบว่าบริษัทลูกบางแห่ง มีการจ่ายผลตอบแทนให้กรรมการสูงกว่าบริษัท ปตท. ด้วย ซึ่งกระทรวงการคลังไม่สามารถเข้าแทรกแซงได้ เพราะไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ


ในปี 2555 ปตท. ได้ถูกจัดอันดับให้เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่อันดับที่ 95 จาก 500 ของบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก



- บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)...
การประชุมบอร์ดได้รับเบี้ยประชุมครั้งละประมาณ 3 หมื่นบาทต่อเดือน และยังมีคณะกรรมการย่อยอีกจำนวน 6 คณะ ที่คณะกรรมการต้องเข้าไปนั่งเป็นกรรมการ ซึ่งค่าตอบแทน บอร์ดจะได้ชุดละ 3 หมื่นบาทต่อ 3 เดือน

บอร์ด 1 คน จะนั่งคณะกรรมการชุดนี้ประมาณคนละ 3 คณะ และยังมีค่าเบี้ยเลี้ยงประชุมคณะอนุกรรมการอีกครั้งละประมาณ 1 หมื่นบาทเท่านั้น และ ทอท. ไม่ได้มีสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม


- การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย...
กำหนดจ่ายเบี้ยประชุมให้กับประธานบอร์ดครั้งละ 20,000 บาท ส่วนกรรมการได้รับคนละ 10,000 บาท นอกจากนี้ยังมีค่าตอบแทนกรรมการคนละ 50,000 บาทต่อปี ส่วนประธานบอร์ดจะได้รับปีละ 100,000 บาท

บอร์ด กฟผ. ไม่มีการได้รับสิทธิประโยชน์ใช้ไฟฟ้าฟรี โดยการให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรีแก่พนักงาน กฟผ.นั้น ที่ผ่านมา พนักงานเคยได้รับจริงแต่เป็นไปในรูปเงินยังชีพ ประเภทค่ากระแสไฟฟ้าที่รวมอยู่ในเงินเดือนและได้ยกเลิกไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 37 เป็นต้นมา (พนักงานที่เข้าก่อนปี 2537 ยังได้รับสิทธินี้อยู่)

บอร์ดกฟผ.ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ใช้ไฟฟ้าฟรี แต่ได้เบี้ยประชุมให้กรรมการครั้งละ 10,000 บาทต่อคน



บอร์ดรัฐวิสาหกิจสุดสะพรึง! แห่ลาออกก่อนโดนเก็บ

ภายหลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีนโยบายปรับปรุงประสิทธิภาพรัฐวิสาหกิจโดยเฉพาะประเด็นเรื่องผู้ที่มาเป็นกรรมการและผู้บริหารระดับสูง ส่วนกระทรวงการคลัง ก็เร่งเดินหน้าประเมินสถานะและวิเคราะห์ประสิทธิภาพของกรรมการรัฐวิสาหกิจ และบริษัทมหาชนที่รัฐบาลถือหุ้นอยู่ทั้ง 56 แห่ง โดยรวบรวมรายละเอียด ทั้งเรื่องของผลตอบแทนและสิทธิประโยชน์ส่วนเกิน ค่าตอบแทนกรรมการ เบี้ยประชุม โบนัส และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่กรรมการได้รับ เพื่อเสนอให้ คสช.พิจารณาความเหมาะสมอีกครั้ง

เหล่าบอร์ดรัฐวิสาหกิจที่แจ้งลาออกจากตำแหน่ง



ฉะนั้น จึงไม่แปลกแต่อย่างใด ที่เหล่าคณะกรรมการและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ จะเริ่มร้อนๆ หนาวๆ ทยอยลาออกกันเป็นทิวแถว...

ล่าสุด ยอดรายชื่อบอร์ดรัฐวิสาหกิจที่แจ้งลาออกจากตำแหน่งแล้ว จำนวน 6 คน ทั้งนายวรวิทย์ จำปีรัตน์ ประธานธนาคารกรุงไทย นายศิธา ทิวารี ประธานกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานไทย นายปานปรีย์ พหิทธานุกร ประธานกรรมการบริษัท ปตท. พล.ต.ต.อรรถกฤษณ์ ธารีฉัตร ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล นายธานินทร์ อังสุวรังษี กรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และนายณอคุณ สิทธิพงศ์ ประธานกรรมการ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)


สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นอีกหนึ่งรัฐวิสาหกิจที่นักการเมืองจะส่งพวกพ้องเข้ามานั่งเก้าอี้บอร์ด



แหก พ.ร.บ. อุ้มพรรคพวก ส่องรัฐวิสาหกิจแห่งแดนสนธยา
รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต ได้วิพากษ์ถึงประเด็นการตัดสิทธิประโยชน์ให้กับ 'ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์' ฟัง อย่างน่าสนใจว่า ณ ปัจจุบันมีรัฐวิสาหกิจเป็นจำนวนน้อยมากที่มีระบบธรรมาภิบาลอันเป็นที่ยอมรับได้ หากเพราะไม่ว่าจะเป็นขั้วไหน ฝ่ายใดขึ้นมาเถลิงอำนาจ ก็ย่อมจะส่งคนของฝ่ายการเมืองเข้ามาเป็นกรรมการเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทั้งสิ้น

โดยเฉพาะระบบการจัดซื้อจัดจ้าง อันเป็นยุทธวิธีที่สามารถเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้อง มิหนำซ้ำยังเป็นหนทางที่แสนจะง่ายดายและแยบยลที่สุด...

รศ.ดร.สังศิต ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า "หากผู้บริหารไม่สามารถขับเคลื่อนองค์กรให้รุดหน้า สร้างผลกำไรให้เกิดแก่บริษัทได้ ฉะนั้น ควรแล้วหรือที่จะได้รับผลตอบแทน สิทธิประโยชน์นานา ในขณะเดียวกัน หากผู้บริหารคนนั้นๆ สามารถบริหารงานสร้างผลกำไร หนุนนำความเจริญก้าวหน้าให้แก่องค์กรได้ เช่นนั้นจึงจะควรค่าแก่การได้รับผลตอบแทน แม้ว่าจะต้องตอบแทนกันอย่างมากมาย ก็็ถือว่าเป็นเรื่องอันควร"

ในปี 2556 คือ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นรัฐวิสาหกิจที่สามารถนำเงินส่งรัฐได้มากที่สุด




มิใช่ว่า ประเทศไทยจะไม่มีกฎเกณฑ์หรือเงื่อนไขใดๆ ในการสรรหาคณะกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ แต่ที่ผ่านมานักการเมืองไม่เคารพกฎหมาย และแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆ ในรัฐวิสาหกิจกันอย่างตามอำเภอใจ ทั้งๆ ที่มี พ.ร.บ. คุณสมบัติมาตรฐานสําหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2550 บัญญัติไว้อย่างชัดเจน

"มาตรา 5 กรรมการของรัฐวิสาหกิจ จะต้องมีคุณวุฒิและประสบการณ์เหมาะสมกับกิจการของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ, ไม่เป็นข้าราชการการเมือง, ไม่เป็นผู้ถือหุ้นของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ จะต้องไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ไม่ว่าจะได้รับโทษจำคุกจริงหรือไม่" นี่คือตัวอย่างข้อบังคับที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.อย่างชัดเจน



ปตท. เป็๋นรัฐวิสากิจอันดับต้นๆที่มีคนจำนวนมากอยากเข้าไปร่วมงาน



ทว่าบรรดากฎหมาย และข้อบังคับได้กำหนดไว้อย่างมากมายภายใต้ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว แต่กระนั้น เหล่าผู้เรืองอำนาจทั้งหลาย ก็ยังจะแหกกฎ ฝ่าฝืนกันอย่างซึ่งหน้า บ้างก็ถ่างขาควบตำแหน่งหลายแห่ง ฟันค่าตอบแทนกระเป๋าตุงปีละหลายๆ ล้าน หรือการเปิดโอกาสให้ผู้ต้องโทษ หรือกลุ่มที่มีคดีร่ำรวยผิดปกติ เข้ามาเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ จนได้เข้าไปชูคอเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจจำนวนมาก

ส่วนรัฐวิสาหกิจที่น่าเป็นห่วงและควรแก่การปฏิรูปอย่างถึงรากถึงโคน คือ ปตท. รัฐวิสาหกิจที่ขึ้นชื่อว่า เป็นแดนสนธยา การบินไทยสุดยอดแห่งระบบอุปถัมภ์ และรัฐวิสาหกิจที่เก่ียวข้องกับหน่วยงานพลังงานและคมนาคมก็อยู่ในสถานะที่น่าเป็นห่วงเช่นกัน

ดังนั้น รัฐวิสาหกิจควรจะต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน โดยเฉพาะการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหาร เนื่องจากที่ผ่านมา การปรับเปลี่ยนนั้น ฝ่ายรัฐมนตรีเป็นผู้ดูแลและปรับเปลี่ยนบอร์ดไปตามยุคตามสมัยขั้วอำนาจ ทำให้การทำงานไม่ต่อเนื่อง ดังนั้น ทางออกควรมีผู้ทรงคุณวุฒิอิสระและมาจากการสรรหาเพื่อถ่วงดุลอำนาจ และควรแก่การร่างกฎหมายบังคับมิให้ฝ่าฝืนกฎเกณฑ์การแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจอย่างเด็ดขาด หากผู้ใดฝ่าฝืนให้ฟ้องร้องได้เลย เพื่อป้องกันการทุจริตในอนาคต



บอร์ดปตท. ได้เงินโบนัสคณะกรรมการได้ 0.05% ของกำไรสุทธิประจำปี 57



ค่าตอบแทนน้อย-กำไรมาก ความแตกต่างระหว่างต่างชาติ-ไทย
ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้สะท้อนทรรศนะเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวผ่าน 'ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์' ว่า หากเราพิจารณาเปรียบเทียบรัฐวิสาหกิจของไทย กับต่างชาติ จะพบว่า ในต่างประเทศ อย่างเช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย การแต่งตั้งบอร์ดใช้วิธีการสรรหา เหมือนกับเอกชนทั่วไป และไม่มีข้าราชการเข้ามาร่วมบริหารองค์กรรัฐวิสาหกิจแต่อย่างใด มีแต่มืออาชีพในสาขาที่เกี่ยวข้องกับองค์กรรัฐวิสาหกิจนั้นๆ เข้ามาบริหาร อีกทั้งแต่ละคนล้วนแล้วแต่มากด้วยประสบการณ์ และเป็นที่จัดเจนทั้งสิ้น

ส่วนสาเหตุที่ไม่ควรให้ข้าราชการเข้ามาอยู่ในคณะกรรมการบอร์ดนั้น เนื่องจากเกรงว่าจะมีผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะข้าราชการบางคนอยู่ในตำแหน่งหน้าที่กำกับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจนั้นอยู่แล้ว ฉะนั้น แม้แต่จะได้ค่าตอบแทนก็ยังเป็นเรื่องที่ไม่ควรได้รับอยู่ดี ซึ่งถือว่าเป็นการทำตามหน้าที่ ดังนั้น หากประเทศไทยต้องการให้การบริหารรัฐวิสาหกิจเจริญรุ่งเรืองเหมือนต่างประเทศ ข้าราชการไม่ควรเข้ามาเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจ



ในปี 2556 ปตท.จ่ายโบนัสให้กับคณะกรรมการจำนวน 15 คน เป็นเงินกว่า 37.5 ล้านบาท



หากต้องการปรับปรุงรัฐวิสาหกิจจริง จะต้องรื้อกระบวนการการสรรหาตำแหน่งต่างๆ ทั้งประเทศ มิใช่จะทำแค่ค่อนๆ กลางๆ และที่สำคัญจะต้องนำมืออาชีพเข้ามาบริหารรัฐวิสาหกิจ โดยให้ค่าตอบแทนที่มีการกำหนดไว้ให้ชัดเจน และเหมาะสมแก่คุณสมบัติของบุคคลนั้นๆ

"เปรียบเทียบค่าตอบแทนของคณะกรรมการ ปตท. กับ คณะกรรมการบริษัท สแตทออยล์ ไฮโดร ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติของประเทศนอร์เวย์ พบว่า กรรมการของบริษัทสแตทออยล์ฯ ได้รับค่าตอบแทนต่อคนต่อปีน้อยกว่ากรรมการ ปตท. ร่วม 1 ล้านบาท ในขณะที่บริษัทพลังงานแห่งชาติของนอร์เวย์แห่งนี้ มียอดขายมากกว่า ปตท. 2 เท่า สามารถทำกำไรมากกว่า ปตท. 3 เท่า โดยที่มีกรรมการน้อยกว่าแต่ประชุมมากกว่า และค่าครองชีพของประเทศนอร์เวย์สูงกว่าประเทศไทย" ดร.เดือนเด่น ได้ยกตัวอย่างไว้อย่างถึงลูกถึงคน


ทว่า ประชาชนตาดำๆ กำลังจับจ้องการรื้อโครงสร้าง ล้างคอร์รัปชัน ของ คสช. ว่าจะเข้าอีหรอบเก่า ตำราเดิมอีกหรือไม่ เพราะบรรดาเสือหิว กำลังจับจ้องเก้าอี้ว่างกันให้ตาเป็นมัน โดยมุ่งหวังที่จะเสียบแทนพวกเก่าที่ถูกโละออกไป...ฉะนั้น วินาทีนี้ จึงเป็นเวลาพิสูจน์ฝีไม้ลายมือว่า เหล่าทหารหาญ จะเป็นได้แค่ คสช.เทียม หรือ คสช.แท้ กันแน่!



ขอบคุณ : ไทยรัฐ
ที่มา http://www.itplaza.co.th/update_details.php?type_id=1&news_id=36827&page=1