ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

รื้อ 8 โครงการ “ฝันอร่อย” “รฟท.-ทอท.” อ่วม “กสทช.” กระอัก

เริ่มโดย ฟ้าเปลี่ยนสี, 11:40 น. 21 มิ.ย 57

ฟ้าเปลี่ยนสี

รื้อ 8 โครงการ "ฝันอร่อย" "รฟท.-ทอท." อ่วม "กสทช." กระอัก

โดย ASTVผู้จัดการรายวัน    
21 มิถุนายน 2557 06:03 น.

ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) แต่งตั้ง "พล.ท.อนันตพร กาญจนรัตน์" ปลัดบัญชีทหารบก เป็นประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) โดยสามารถใช้อำนาจตรวจสอบได้ทุกโครงการ
       
       เวลาผ่านไปร่วม 1 เดือน เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2557 ที่ผ่านมาคตร.ก็ได้นำเสนอข้อมูลโครงการที่มีปัญหาในเรื่องของการใช้งบประมาณและส่อไปในทางทุจริตออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 8 โครงการด้วยกัน ได้แก่
       
       1. โครงการจัดหารถรุ่นใหม่สำหรับบริการเชิงพาณิชย์ จำนวน 115 คันของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)
       
       2. โครงการจัดหารถจักร จำนวน 126 คันของ ร.ฟ.ท.
       
       3.โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 (ปี พ.ศ. 2554-2560) ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.)
       
       4. โครงการจ้างให้บริการระบบตรวจสอบและคัดกรองผู้โดยสารล่วงหน้าของ ทอท.
       
       5. กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานของสำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน
       
       6. โครงการจัดการเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) ของกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
       
       7. โครงการสร้างโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)
       
       และ 8.โครงการสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลของ กสทช.
       
       ทั้ง 8 โครงการมีรายละเอียดการดำเนินงานอย่างไร และทำไมถึงมีปัญหา นี่คือสิ่งที่สังคมใคร่รู้
       
       โครงการจัดหารถรุ่นใหม่สำหรับบริการเชิงพาณิชย์ จำนวน 115 คัน ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
       
       โครงการนี้ ถือเป็นหนึ่งในแผนงานตามโครงการการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ตามร่างพ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กู้เงินประจำปีงบประมาณ 2556 จำนวน 45,862 ล้านบาท โดย รฟท.ได้เปิดประมูลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (อีอ๊อกชั่น) ซึ่งขณะนี้อัยการได้ตรวจร่างสัญญาและส่งกลับมาให้ร.ฟ.ท.แล้ว และรอการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เสนอราคา เพื่อลงนามสัญญา
       
       โครงการจัดหารถจักร จำนวน 126 คันของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
       
       รฟท.อยู่ระหว่างดำเนินการ โดยขณะนี้เพิ่งเซ็นสัญญาการจัดซื้อหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้าน้ำหนักกดเพลา 20 ตันต่อเพลา จำนวน 20 คัน พร้อมอะไหล่ วงเงิน 2,130 ล้านบาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อเดือนมิถุนายน 2557 โดยลงนามกับบริษัท ป่าไม้สันติ จำกัด และเริ่มทยอยรับหัวรถจักรรอบแรก 1 - 2 หัว ในเดือนกรกฎาคม 2557 จนถึงสิ้นปี เพื่อนำไปใช้บริการรับขนสินค้า ส่วนโครงการที่เหลือจะมีการประกวดราคาจัดซื้อหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้าพร้อมอะไหล่ทดแทน GE จำนวน 50 คัน วงเงิน 6,562 ล้านบาท เปิดประกวดราคาวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (อี-ออกชั่น) ก่อนหน้านี้เคยเปิดประมูลไปแล้วแต่มีร้องเรียนเรื่องล็อกสเปก ล่าสุด เตรียมขายเอกสารประกวดราคา ซึ่ง คตร.เห็นว่าอาจจะมีการปรับราคากลาง และทำทีโออาร์ให้โปร่งใสมากขึ้น
       
       โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 (ปี 2554 - 2560) ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.)
       
       โครงการดังกล่าวมีวงเงินลงทุน 62,503.214 ล้านบาท ตามแผนโดยในช่วงแรกจะใช้เงินทุนของทอท.โดยปี 2557 ประมาณ 1,300 ล้านบาท ปี 2558 ประมาณ 6,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างวิเคราะห์แหล่งเงินทุนที่เหมาะสม โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มงานคือ กลุ่มงานอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (มิดฟิลด์คองคอร์ด) งานส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ และระบบขนส่งผู้โดยสาร (Automated People Mover ; APM)กลุ่มงานอาคารผู้โดยสารและก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค โดยจะเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคนต่อปี จากเดิม 45 ล้านคนต่อปี
       
       โดยทอท.ได้ดำเนินการว่าจ้างที่ปรึกษาออกแบบเรียบร้อยแล้ว ดำเนินการว่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงาน (PMC) เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำร่างทีโออาร์เพื่อประกวดราคา ว่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง(CSC) และ จัดทำร่างทีโออาร์ ประกวดราคา ว่าจ้างผู้รับเหมาก่อสร้าง ซึ่งการดำเนินงานมีความล่าช้ากว่าแผนแล้วประมาณ 2-3 เดือน
       
       โครงการจ้างให้บริการระบบตรวจสอบ และคัดกรองผู้โดยสารล่วงหน้าของ ทอท.
       
       เป็นโครงการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายที่เป็นจุดอ่อนของประเทศ รวมถึงแก้ไขสภาพความคับคั่งของการตรวจสอบผู้โดยสารของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) อย่างไรก็ดีโครงการดังกล่าวถูกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ส่งหนังสือถึง ทอท. ระบุว่า มีข้อพิรุธในโครงการนี้ โดยเฉพาะประเด็นไม่มีการกำหนดเงื่อนไขหลักประกันซองประกวดราคา หรือการกำหนดราคากลาง พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า หาก ทอท.ดำเนินการประมูลไปแล้วเกิดความผิดพลาดจะต้องรับผิดชอบหากเกิดความเสียหาย
       
       กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ของสำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน
       
       กองทุนนี้ถูกจัดตั้งขึ้นภายใต้พระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานพ.ศ.2535 เพื่อเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพโดยให้ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและช่วยเหลืองานหรือโครงการที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงาน การค้นคว้า วิจัย การศึกษาเกี่ยวกับพลังงาน ซึ่งรายได้ของกองทุนฯมาจากการกำหนดอัตราเงินนำส่งน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิด จำนวน 0.07-0.25 บาทต่อลิตรหรือทำให้มีรายได้ในปัจจุบันกว่า 12,000 ล้านบาทต่อปี
       
       ทั้งนี้งบประมาณรายจ่ายแต่ละปีที่ผ่านมาเฉลี่ยมีการอนุมัติเริ่มต้น 2,000- 3,000 กว่าล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2550 แต่หลังจากนั้นก็ขยับเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องจนในปี 2557 มีการอนุมัติส่งเสริมทั้งสิ้นในสมัยนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล เป็นรมว.พลังงานรวม 104 โครงการจำนวน 6,524 ล้านบาทเพื่อดำเนินงานภายใต้ 3 แผนงานได้แก่ แผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน แผนพลังงานทดแทนและแผนบริหารทางกลยุทธ์ โดยตั้งเป้าหมายที่จะประหยัดพลังงานได้ไม่น้อยกว่า 145.98 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบคิดเป็นมูลค่าเงินที่จะประหยัดได้ 3,649.5 ล้านบาทต่อปี
       
       การดำเนินงานตลอดระยะเวลา 21 ปีที่ผ่านมาไม่มีข้อพิสูจน์ใดๆ ที่พิสูจน์ให้เห็นถึงผลประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับจากกองทุนอนุรักษ์ฯ เนื่องจากการให้การส่งเสริมฯการวิจัย การพัฒนา ฯลฯ ก็ยังพบว่าไม่ได้มีการนำมาต่อยอดเทคโนโลยีแต่อย่างใด ขณะที่แผนงานประชาสัมพันธ์ก็มุ่งเน้นการจัดอีเว้นต์
       
       การซื้อสื่อแต่กลับไม่สามารถชี้ชัดว่าสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนไทยให้รู้จักประหยัดได้ชัดเจนเพราะการใช้น้ำมันยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี ซึ่งทั้งหมดล้วนเกิดจากการบริหารจัดการที่ได้มุ่งเน้นผลลัพธ์และการกำหนดประสิทธิภาพของโครงการ แต่เหนือสิ่งอื่นใดกองทุนอนุรักษ์ฯตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากลับเป็นเครื่องมือหลักแบบเงียบๆให้ข้าราชการประจำ และนักการเมืองที่รู้ช่องทางมาแสวงหากำไรในส่วนนี้ โดยนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงมีอิทธิพลในการกำหนดกรอบวงเงินที่จะอนุมัติในแต่ละปี และลักษณะโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุน และมีบริษัท "ขาประจำ" ที่เกาะกินอยู่กับกองทุนฯดังกล่าวปีแล้วปีเล่า ด้วยการริเริ่มโครงการ ขอทุนจากกองทุนฯ และใช้เส้นสายกลุ่มข้าราชการที่ทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดการอนุมัติโครงการ โดยมีธรรมเนียมตอบแทนผลประโยชน์ให้แก่ข้าราชการหรือนักการเมืองทั้งในรูปแบบเงินสด การจัดทริปไปเที่ยวต่างประเทศ เป็นต้น
       
       ด้วยเหตุนี้ทำให้การเปิดเผยข้อมูลให้ต่อสาธารณะตลอดเวลาที่ผ่านมาจึงมีน้อยมากไม่ว่าจะเปิดเผยผลการดำเนินงาน รายชื่อโครงการต่างๆ ที่ได้รับอนุมัติที่ครบถ้วนและสมบูรณ์ ไม่มีการนำผลการศึกษามาชี้แจงให้เห็นถึงการดำเนินงานตามเป้าหมายหรือไม่ ฯลฯ ซึ่งทำให้เกิดคำถามต่อมาว่า กองทุนฯนี้ยังคงสมควรจะคงมีไว้หรือไม่หรือนักวิชาการบางคนเคยเสนอให้นำเงินที่สะสมนี้ไปสร้างรถไฟฟ้าเพื่อลดใช้พลังงานจะดีกว่า ประเด็นเหล่านี้"คสช."น่าจะมีคำตอบในการปฏิรูปอยู่แล้ว
         
       โครงการจัดการเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) ของกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
       
       เป็นการจัดซื้อแท็บเล็ตให้กับนักเรียน อย่างไรก็ดีโครงการดังกล่าวพบพิรุธหลายประการ เช่น กรณีบริษัท เซิ่นเจิ้น อิงถัง อิเทลลิเจ้นท์ คอนโทรล จำกัด ที่ชนะการประมูลจัดซื้อแท็บเล็ตชั้นป.1 และม.1 โซนภาคกลางและภาคใต้ ได้ทำหนังสือแจ้งขอยกเลิกสัญญา จนกระทั่งมอบของล่าช้า และถูกเรียกค่าปรับ เป็นต้น นอกจากนี้ยังรวมไปถึงเรื่องสเปกของแท็บเล็ต และกระบวนการตรวจรับแท็บเล็ตอีกด้วย และกระทรวงศึกษาธิการมีความเห็นแล้วให้ยกเลิกเสนอต่อ คสช.เรียบร้อยแล้ว (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในอวสาน..."แท็บเล็ต" ประชานิยมจอมปลอม)
       
       โครงการสร้างโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)
       
       สำหรับโครงการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G ย่านความถี่ 1900 MHz ของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เฟส 1 ที่มีมูลค่าโครงการ 15,999 ล้านบาท ได้เปิดประมูลไปเมื่อปี 2554 แต่เพิ่งติดตั้งสถานีฐานครบ 5,320 แห่งเมื่อต้นปี 2557 ที่ผ่านมา ได้กลับมาเป็นประเด็นร้อนอีกครั้งภายหลังเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)โดยคณะอนุกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณภาครัฐ(คตร.)เข้าตรวจสอบโครงการดังกล่าวเนื่องจากเป็นโครงการที่มีการร้องเรียนไปยังสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประเด็นเรื่องการประกวดราคาและเป็นโครงการที่มีรายได้ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน
       
       โครงการ 3G ทีโอที นั้นแม้จะผ่านด่านประมูลมาได้ แต่ก็เริ่มมีปัญหามาตั้งแต่การติดตั้งสถานีฐานเฟส 1 จำนวน 5,320 สถานีฐาน ที่ล่าช้ามากโดยสาเหตุหลักมาจากปัญหาเรื่องของการติดตั้งสถานีฐานภายในอาคาร และการใช้สถานีฐานร่วมกับเอกชน (โคไซต์) รวมทั้งประเด็นของสัญญาที่ระบุให้ทีโอทีต้องเป็นผู้จัดหาสถานที่ในการติดตั้งสถานีฐาน
       
       รวมทั้งประเด็นการเปิดให้เอกชนมาเป็นผู้ทำตลาดในลักษณะ MVNO โดยเบื้องต้นมีเพียงกลุ่มสามารถคอร์ปอเรชั่น ที่ผ่านการคัดเลือก และผ่านความเห็นชอบจากอัยการสูงสุดแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถเซ็นสัญญาฉบับใหม่ได้ เนื่องจากสัญญาดังกล่าวพบว่ามีการผูกปมด้านเทคนิคทำให้ทีโอทีต้องซื้ออุปกรณ์เพิ่มกว่า 1,000 ล้านบาท และยังมัดมือจำกัดสิทธิด้านความถี่ไม่สามารถพัฒนาระบบไป 4G LTE ได้ จนต้องมีการแก้ไขปรับปรุงหลายครั้ง
       
       ทีโอทียังมีการทำสัญญาการใช้บริการข้ามโครงข่ายมือถือภายในประเทศ (โรมมิ่ง) กับเอไอเอส จำนวน 1 ล้านเลขหมายโดยเอไอเอสได้เสนอขอโรมมิ่งเพิ่มเติมกับบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) ผู้ได้รับใบอนุญาตให้บริการคลื่นความถี่ 2.1 GHz โดยไม่ระบุจำนวนเลขหมาย แต่ระบุจำนวนโครงข่ายหรือจำนวนคลื่นความถี่ และสัญญาการเช่าใช้ไวไฟ ระหว่างทีโอทีกับบริษัท แอดวานซ์ โมบาย บรอดแบนด์
       
       ส่วนโครงการ 3G เฟส 2 ของทีโอที ตอนแรกตั้งใจจะลงทุนเองในการขยายสถานีฐานเพิ่มอีกราว 9,000 สถานีฐาน ด้วยงบประมาณ30,000 ล้านบาท แต่มีการปรับแผนให้ เอไอเอส เช่าใช้โครงข่ายบนความถี่ 1900 MHz จำนวนความถี่ 15MHz ของทีโอที และการร่วมกันใช้สถานีฐานทีโอทีจำนวน 5,320 สถานีฐาน รวมถึงสถานีฐานของเอไอเอสอีกประมาณ 15,000 สถานีฐาน แต่แผนนี้ไม่ทันเวลาเพราะยุบสภาก่อนจึงไม่สามารถเสนอให้ครม.อนุมัติได้ ทีโอทีจึงปรับแผนใหม่ เปลี่ยนเป็น เปิดให้ เอไอเอสเข้ามาเช่าใช้ความถี่จำนวน 5 MHz โดยทดลองให้บริการ 4G แทน
       
       ปัญหาสำคัญของโครงการ 3G ทีโอที คือจะเลิกหรือทำต่อ และถ้าทำต่อต้องทำภายใต้แผนการเช่นไร ซึ่งคาดว่าต้องหาเอกชนมาเป็นพันธมิตร แต่ด้วยวิธีการแบบไหน ถึงจะอยู่ในภาวะชนะทั้งคู่ ไม่ใช่ถูกเอกชนเอาเปรียบ หรือ เป็นการยกคลื่นความถี่ที่มีมูลค่ามหาศาลให้เอกชนไปง่ายๆ โดยเฉพาะสิ่งสำคัญที่สุดคือต้องไล่บอร์ดทีโอทีออกยกชุดเพราะที่ผ่านมากรรมการบอร์ดมักเป็นตัวแทนจากกลุ่มทุนการเมืองมานั่งทะเลาะกันในบอร์ดเพื่อแสวงหาประโยชน์ให้กลุ่มทุนของพวกพ้องยกเว้นทีโอทีมาโดยตลอด
       
       โครงการ 3G ทีโอที ปัจจุบันภายใต้การทำตลาดของ MVNO เดิมมีผู้ใช้บริการประมาณ 5 แสนราย จากความจุของโครงข่าย 3G ทั้งหมด 7.5 ล้านเลขหมาย
           
       โครงการสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลของ กสทช.
       
       โครงการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านทีวีจากระบบอนาล็อกเป็นระบบดิจิตอลด้วยการแจกคูปองแก่ประชน มูลค่า 25,000 ล้านบาท ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ถูกคำสั่งคสช.ให้ชะลอไปก่อนเพื่อตรวจสอบความโปร่งใสและรายละเอียดของโครงการหลังจากที่ผ่านมามีความขัดแย้งในประเด็นสำคัญ 2 เรื่องคือ มูลค่าของคูปอง และ เงื่อนไขการนำคูปองไปใช้แลก
       
       โดยมูลค่าคูปอง1,000 บาทต่อครัวเรือน ที่กสทช.เห็นว่าเหมาะสมเพราะมีข้อมูลยืนยันว่าราคากล่องรับสัญญาณอยู่ที่ราคา 1,019 บาท ในขณะที่คณะกรรมการองค์กรการอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนมองว่า ราคาดังกล่าวสูงเกินจริงเพราะราคาที่ตรวจสอบได้อยู่ที่ 512 บาทซึ่งเป็นราคาที่รวมกำไรด้วยเท่านั้น โดยได้ยื่นข้อมูลทั้งหมดให้คณะกรรมการกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เพื่อพิจารณา พร้อมทั้งขู่ว่า หากยืนยันที่จะมีการแจกคูปองมูลค่า 1,000 บาท ก็จะยื่นเรื่องให้ป.ป.ช. พิจารณาดำเนินการทางกฎหมายต่อไป
       
       ส่วนในเรื่องของเงื่อนไขการนำคูปองไปแลกซื้อ ที่กสทช.คิดจะเหวี่ยงแหให้นำไปแลกซื้อได้หมดไม่ว่าจะเป็นกล่องอะไร ทำให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ที่เสียเงินประมูลจำนวนมากเพื่อให้ได้ใบอนุญาตจากกสทช. และตัวแทนจำนวน 12 ช่อง ประกอบไปด้วย เครือเนชั่น 2 ช่อง ,อสมท 2 ช่อง ,ไทยทีวี (ทีวีพูล) 2 ช่อง , สปริงนิวส์ทีวี ,พีพีทีวี ,อมรินทร์ทีวี ,โมโน 29 , ไบรท์ทีวี และวอยซ์ทีวี ได้ยื่นหนังสือ ไม่เห็นด้วยที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กำหนดให้คูปองสามารถนำไปแลกซื้ออุปกรณ์กล่องรับสัญญาณดาวเทียม (DVB-S2) และกล่องเคเบิล (DVB-C) ได้ เนื่องจากคูปองสนับสนุนดังกล่าวเป็นเงินที่ได้จากการประมูลทีวีดิจิตอล
       
       ดังนั้นจึงเห็นว่าควรนำมาสนับสนุนการรับชมทีวีดิจิตอลภาคพื้นดินอย่างเดียว จะตรงวัตถุประสงค์มากกว่า ด้วยการนำคูปองไปแลกซื้อโทรทัศน์ที่มาพร้อมระบบดิจิตอล (iDTV) และกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ดิจิตอลภาคพื้นดิน (DVB-T2) เท่านั้น
       
       อีกประเด็นที่ถือเป็นปัญหาคือเรื่องของกรอบเวลาการแจกคูปองให้กับประชาชน ที่ยังไม่เป็นที่แน่นอนทำให้ประธานชมรมผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ซึ่งเป็นตัวแทนผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลทั้ง 24 ราย และสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์เข้ายื่นหนังสือต่อกทปส. เพื่อต้องการให้กสทช. และกทปส.มีความชัดเจนเรื่องกล่องโดยเร็วเพราะหากการแจกคูปองล่าช้าออกไปอีกผู้ประกอบการทั้ง 24 ช่องก็จะทำธุรกิจด้วยความยากลำบาก ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องการเห็นการแจกคูปองภายในเดือน ก.ค.นี้ แต่ในฝั่งที่เห็นตรงกันข้ามกลับต้องการให้นำเรื่องการแจกคูปองสนับสนุนดังกล่าวนำไปเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ(ประชาพิจารณ์) ก่อน
       
       ปัญหาของคูปองทีวีดิจิตอล คือ ต้องสรุปเรื่องราคาและเงื่อนไขที่นำไปใช้ให้ชัดเจน ถูกต้อง และเป็นธรรม ในกระบวนการทำธุรกิจจริง ที่จะเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่เชื่อแต่ข้อมูลบนแผ่นกระดาษเท่านั้น
       
       อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่เพียง 8 โครงการดังที่ปรากฏชื่อเท่านั้น "พล.ท.อนันตพร กาญจนรัตน์" ปลัดบัญชีทหารบก ประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ยังได้ระบุด้วยว่า ได้รายงานผลการตรวจสอบโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐที่มีวงเงินลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 28 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 40,000 ล้านบาท ให้กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รับทราบเมื่อวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา รับทราบ โดยได้เร่งรัดให้หน่วยงานที่รับผิดชอบกลับไปทบทวนความเหมาะสมของโครงการ ทั้งเรื่องของแผนงาน การประกวดราคา และราคากลาง จากนั้นจึงเสนอให้คตร.พิจารณา ภายในสิ้นเดือนมิถุนายน
       
       "ทั้ง 28 โครงการ เป็นโครงการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณตามรายจ่ายงบประมาณประจำปี 57 และทำไว้ต่อเนื่องและได้รับการจัดสรรงบมาแล้วแต่ยังไม่ได้ดำเนินการ จึงต้องให้คตร.มาตรวจสอบว่า แต่ละโครงการเหมาะสมที่จะทำต่อ หรือยกเลิก และทบทวนวงเงิน ราคากลางเป็นหลัก โดยตอนนี้มีโครงการที่เข้าข่ายต้องยกเลิกแล้ว 2 โครงการของกรมชลประทาน เป็นการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ซึ่งจะต้องมาดูว่า เป็นโครงการที่เหมาะสมและเป็น ประโยชน์กับประชาชนหรือไม่" พล.ท.อนันตพร กล่าว
       
       ที่น่าสนใจก็คือ นอกจากโครงการดังกล่าวแล้ว ดูเหมือนว่า คสช.จะพุ่งเป้าไปที่ กสทช.เป็นพิเศษ โดยนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ส่งหนังสือตอบกลับมายังสำนักงาน กสทช. โดยให้ สำนักงาน กสทช.ชะลอการดำเนินโครงการทั้ง 4 โครงการเป็นการชั่วคราวก่อนเพื่อความโปร่งใส จนกว่าจะมีการสอบรายละเอียดทั้ง 4 เรื่อง ได้แก่
       
       1. โครงการจัดประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz จำนวน 2 ใบอนุญาตที่มีราคาตั้งต้นการประมูลที่ใบอนุญาตละ 11,600 ล้านบาท 2.โครงการจัดประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 900 MHzจำนวน 2 ใบอนุญาต ที่มีราคาตั้งต้นการประมูลที่ 11,260 ล้านบาท และ 8,445 ล้านบาท3.โครงการสนับสนุนช่วยเหลือการเปลี่ยนผ่านทีวีจากระบบอนาล็อกเป็น ระบบดิจิตอลด้วยการแจกคูปองแก่ประชาชนมูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท และ4.โครงการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (USO) ที่มีมูลค่าโครงการรวม 2.4 หมื่นล้านบาท ภายหลังจากเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมาสำนักงาน กสทช.ได้ส่งรายละเอียดการดำเนินการทั้ง 4 โครงการตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)
       
       อีกทั้งคสช.ยังระบุให้กสทช.ปรับปรุงโครงสร้าง และจัดทำเป็นข้อบังคับ ข้อกฎหมาย และการใช้จ่ายงบประมาณให้ชัดเจน ให้ได้รับความไว้วางใจ และเกิดประโยชน์กับรัฐอย่างเต็มที่ เพื่อคลายความวิตกกังวลสังสัยจากประชาชนให้ได้ก่อน จึงจะดำเนินการต่อไป พร้อมกันนี้ คสช.และคณะทำงานกฎหมาย ที่มี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา เป็นประธานคณะทำงานจะนำระเบียบในปัจจุบัน ของ กสทช.มาพิจารณาอย่างเร่งด่วนอีกด้วย
       
       งานนี้ กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานใดกำลัง "ฝันอร่อย" เห็นทีจะ "ฝันค้าง" กันเป็นที่แน่แท้
ไม่ว่าเราจะมีความทุกข์เพียงไร เราก็มีความสุขกับชีวิตได้
เพราะเราเลือกที่จะ.."เข้าใจ" แทนการเลือกที่จะ.."เจ็บปวด"
"ยอมรับ" ในสิ่งที่เป็นอยู่ "ปล่อยวาง" ในสิ่งที่ผ่านไปแล้ว  "มีศรัทธา" กับสิ่งที่กำลังจะมาถึง และทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด