ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

โมเดล'สภานิติบัญญัติ-สภาปฏิรูป' เข้าตำรา'ดูช้างดูที่หาง ดูนางต้องดูที่แม่'

เริ่มโดย itplaza, 12:48 น. 23 มิ.ย 57

itplaza



ทีมโฆษกคสช.แถลงข่าว ชี้แจงทำความเข้าใจ

ในที่สุด คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ได้แพลม จำนวนสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาปฏิรูปฯที่คสช.จ่อ จะแต่งตั้งน่าจะไม่เกินเดือนสิงหาคมออกมาแล้ว ตามแผนโรดแม็ปของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.ควบ ผบ.ทบ.อีกตำแหน่ง โดยข่าว ระบุว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะมี สมาชิกจำนวน 200 คน และสภาปฏิรูปการเมืองจะมีสมาชิก 250 คน โดยจะมีการแต่งตั้งในเดือนส.ค.นี้

หลัง คสช.มีการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญชั่วคราว ที่ว่ากันว่าได้ร่างฯไว้เสร็จแล้ว ประเด็นสำคัญคือ ที่มาสภานิติบัญญัติ-สภาปฏิรูป กำหนดมาจากคณะกรรมการสรรหาที่ คสช.จะตั้งขึ้น ซึ่งเปลี่ยนจากข้อเสนอเดิม ที่กำหนดสภาปฏิรูป มาจากเลือกกันเอง 150 คน หน้าที่สภาปฏิรูปทำทั้งเรื่องทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ วางกรอบการปฏิรูปประเทศ โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการยกร่างรธน.จำนวน 35 คน ให้มาจากสภาปฏิรูป 20 คน คณะรัฐมนตรี 5 คน สภานิติบัญญัติ 5 คน คสช.5 คน ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยกร่างเสร็จแล้ว ก็ส่งสภาปฏิรูปลงมติเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ โดยไม่ต้องจัดให้ประชาชนลงมติว่า จะรับร่างฯ หรือไม่รับร่างฯเหมือน รธน.ฉบับปี 2549 อย่างไรก็ตาม ถ้าสภาปฏิรูป ไม่เห็นชอบ คสช.มีอำนาจหยิบรธน.ฉบับใดฉบับหนึ่ง ขึ้นมาประกาศใช้ได้



เป็นแผนคร่าวๆ ของ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมคสช. ได้บอกผ่านสื่่อมวลชน หลายคนอาจสงสัยว่า รธน.ชั่วคราวนั้นจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร เหมือนหรือคล้าย รธน.ฉบับรสช.เมื่อปี 2535 หรือ แตกต่างจากรธน. ฉบับคมช.ปี 2549 หรือไม่

รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการกฎหมายอิสระ

รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการกฎหมายอิสระ กล่าวกับ "ไทยรัฐออนไลน์ " ว่า ร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว เป็นกรอบโดยรวมของความเป็นรัฐธรรมนูญ ต้องมีเนื้อหาโครงสร้างของการบริหารราชการแผ่นดินโดยรวม ทั้งในส่วนของนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ เนื่องจากประเทศไทยได้วางระบบขององค์กรอิสระไว้ด้วยก็ต้องมี รวมถึงเรื่องการตรวจสอบถ่วงดุล คานอำนาจซึ่งกันและกัน

"เนื่องจากเป็นธรรมนูญปกครองชั่วคราว อาจมีความจำเป็นที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ต้องเป็นผู้รักษาความสงบเรียบร้อยโดยรวม เพราะฉะนั้น กลไกนี้ต้องมี คสช.อยู่บนยอด เพื่อจะดูแลสิ่งต่างๆ ได้ เพียงแต่ว่ายอดที่ คสช. ต้องอยู่ คือในฐานะ กำกับดูแล หรือรักษาความสงบ แต่ไม่ใช่ควบคุม" รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าว

ทั้งนี้ ในส่วนของธรรมนูญชั่วคราว ที่จะเกิดขึ้น รศ.ดร.เจษฎ์ ให้มุมมองว่า คาดว่า ต้องแบ่งเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย 1.ตุลาการ ซึ่งมีศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลทหาร โดยให้ดำเนินการตามกระบวนการเดิม

2. การบริหาร โดยจะต้องมีการจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมา ซึ่งจะให้ใครมาเป็นรัฐบาล หรือรัฐมนตรี เป็นบุคคลใดก็แล้วแต่ความเหมาะสม ซึ่งคงไม่แตกต่างจากกลไกของฝ่ายบริหารทั่วไป โดยในส่วนของรัฐบาลอาจจะเป็นไปได้ 2 แบบ คือ 1.มาจาก คสช. เป็นผู้แต่งตั้ง 2.ต้องเกิดสภานิติบัญญัติแห่งชาติมาก่อน แล้วเอารัฐบาลออกมาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นผู้เสนอ โดยใช้วิธีการโหวต

3. นิติบัญญัติ โดยปกติประเทศไทยใช้แบบสองสภาฯมาโดยตลอด แต่ทุกคราวที่มีการปฏิวัติ หรือรัฐประหาร จะกลายเป็นสภาเดียว เพราะฉะนั้นจึงมองว่า จากนี้ก็ต้องเป็นสภาเดียว คือ ใช้ ส.ส. และ ส.ว. รวมกัน ซึ่งจากที่ปรากฏเป็นข่าวออกมาว่า น่าจะเป็นในรูปแบบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แล้วจะมีสภาปฏิรูปฯออกมาด้วยนั้น ซึ่งบางรัฐประหารจะออกมาในรูปแบบของสภาปฏิรูปฯ แต่ทว่าในครั้งนี้มองว่า คงจะไม่ใช้แบบนั้น

ประชาชนชาวไทยแห่ชมหนังพระเรศวรฟรีจนโรงหนังแทบแตก 1 ในมาตรการคืนความสุขคสช.

อย่างไรก็ตามใน ส่วนที่จะนำ ส.ส. ส.ว. จะมาจากการเลือกตั้งในครั้งนี้ นักวิชาการกฎหมายอิสระมองว่า ยังไม่สามารถมีได้ ถ้าหวังว่า สภานิติบัญญัติ จะมาจากการเลือกตั้ง หากพูดกันตรงไปตรงมา จะทำให้การทำรัฐประหารในครั้งนี้ไม่มีประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น ทำให้เท่ากับว่า การปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ลืมไปได้เลย

4.องค์กรอิสระ จะคล้ายกับศาล โดยปล่อยให้องค์กรอิสระทำหน้าที่ตามกรอบที่เคยทำมา ให้ตรวจสอบ ถ่วงดุล แม้กระทั่งการถอดถอนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือฝ่ายบริหาร แต่ว่า ตัวบุคคลอาจจะมีการปรับเปลี่ยน เช่นเดียวกับลักษณะปรับเปลี่ยนบุคคลในฝ่ายบริหาร โดยรูปแบบของบุคคลที่จะเข้ามาในองค์กรอิสระแบ่งเป็น 2 แบบ คือ 1.คสช. เลือก 2.สภานิติบัญญัติเลือก

ดังนั้นกลไกต่างๆ จะต้องไม่ต่างจากรัฐธรรมนูญปกติเท่าใดนัก แต่มี 3 อย่างที่จะต่างกัน คือ

1.รัฐธรรมนูญทั่วไป การอาศัยการตรวจสอบขององค์กรอิสระจะไม่มีคสช. แต่ธรรมนูญชั่วคราวจะมี คสช.

2.หลายอย่างที่อยู่ในรัฐธรรมนูญทั่วไป จะนำมาเขียนในธรรมนูญชั่วคราวไม่ได้ เช่น นโยบายแห่งรัฐ แต่ว่าเรื่องหลักอย่างสิทธิเสรีภาพของประชาชนชาวไทยก็มี เพียงแต่ อาจจะเขียนกว้างๆ ไม่ลงรายละเอียด เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ไม่ยาวมาก ส่วนหลักๆ อาจไม่เปลี่ยนเท่าใดนัก แต่ผลของการได้มาอาจจะเปลี่ยน

3.สภาปฏิรูปเกิดขึ้น ซึ่งเป็นกลไกชั่วคราวสามารถทำขึ้นมาได้เลย เพราะฉะนั้นเอาไปเปรียบเทียบกับกลไกของรัฐธรรมนูญที่มีปกติทั่วไปไม่ได้ และมีขอบเขตหน้าที่เป็นไปตามที่วางไว้ใหม่ ไม่เชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญทั่วไป

มาตรการปราบปรามยาเสพติดแบบเด็ดชาดของคสช.

สำหรับการออกแบบสภาปฏิรูป ตามทัศนะของ รศ.ดร.เจษฎ์ มี 3 ส่วน คือ 1.ให้สาขาอาชีพต่างๆ เลือกกันมาเองโดยที่ต้องไม่ไปยุ่ง ใช้วิธีเช่นว่า ในประเทศนี้มีสาขาอาชีพอะไรบ้าง กำหนดกรอบว่า สาขาอาชีพ เช่น สหกรณ์การเกษตร หรือ แพทยสภา สภาพยาบาล วิศวกรรมสภา สถานบันการศึกษา ให้เลือกมา 1 คน เลือกมาแล้วจะให้เขาขึ้นมาทำหน้าที่เลยหรือไม่ หากเลือกมาแล้วยังไม่ให้ทำ อาจจะให้คนอื่นๆ มาเลือกกันเองว่า ให้เหลือเท่าไหร่ก็ว่ากันไป

2. ให้เลือกกันเองส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งคสช.ส่งมา ส่วนการทำงาน หาได้ 3 แบบ คือ 1.เอามาจากบุคคลที่เลือกมาตอนแรก ให้กำหนดมาเอง แต่ คสช.กำหนดจำนวนให้ไป เช่น สภาปฏิรูปมี 150 คน แบ่งทำงาน 5 ส่วน เช่น ปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปสื่อ ปฏิรูประบบราชการ สร้างรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะให้แต่ละส่วนมีคณะทำงาน 30 คน แยกออกมาจาก 150 คน หรือ อาจจะตั้งคณะทำงานเพิ่มไม่เกี่ยวกับ 150 คน จะมีกี่คณะก็ว่ากันไป หรือให้ 150 คน จะเลือกมาเท่าไหร่ก็ได้ และ คสช. ส่งตัวแทนมาทำงานร่วมกัน เพราะ คสช.อาจจะอยากกำกับดูแลในส่วนนั้น

3.สภาปฏิรูป อาจจะต้องเป็นกลไกที่เกิดขึ้นหลังสุด ซึ่งจะมีการเลือกขึ้นมาจากคสช. รัฐบาล สภานิติบัญญัติ และองค์กรอิสระ ซึ่งมาจากหลายภาคส่วนเข้ามารวมเป็นสภาปฏิรูป ทั้งนี้เพื่อให้ทุกส่วนเข้ามาเป็นกลไกบริหารราชการแผ่นดินมีส่วนรับผิดชอบ หากให้คนเลือกเข้ามาเอง แม้กระทั่ง คสช. หรือฝ่ายต่างๆ ก็ไม่ต้องมารับผิดชอบ แต่ทว่า หากนำหลายภาคส่วนเข้ามาก็ต้องมารับผิดชอบร่วมกันหมด

คสช.ลุยจัดระเบียบรถแท็กซี่

"สูตรแรกประชาชนร่วมกันรับผิดชอบ สูตรที่สองประชาชนร่วมกับคสช.รับผิดชอบ สูตรที่สามใครก็ตามเข้ามาทำงานภายหลังจากรัฐประหารต้องร่วมกันรับผิดชอบกับประชาชนหมด" นักกฎหมายอิสระ กล่าว

รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งที่ธรรมนูญปกครองชั่วคราวไม่น่าจะมี คือเรื่องนิรโทษกรรมตนเอง ควรจะให้ไปอยู่ในส่วนอื่น ส่วนที่ว่า คสช. จะออกนิรโทษกรรมตนเอง เนื่องจาก การรัฐประหาร ถือเป็นความผิดตาม ก.ม. จะมองได้ 2 แบบ 1.มองว่ายึดอำนาจสำเร็จ มีอำนาจอธิปไตยอยู่ในมือ ก็ไม่มีความผิดอะไรเกิดขึ้น เท่ากับก่อการล้มล้างสำเร็จทุกอย่าง เพราะฉะนั้นก็ไม่มีความผิด ไม่จำเป็นต้องทำอะไรเลย หรือ 2.หากผู้ใดเอาขึ้นฟ้องร้องต่อศาล ศาลก็จะต้องไปพิจารณาพิพากษาในทางที่ว่า ก่อการสำเร็จ เขามีอำนาจอธิปไตยอยู่ในมือจะทำอะไรก็ได้ เพราะฉะนั้นไม่มีความผิดอะไรเลยตาม ก.ม.

ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตอธิการบดีสถาบันพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า)

ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตอธิการบดีสถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวกับทีมข่าว"ไทยรัฐออนไลน์"ว่า ปกติสมาชิกนิติบัญญัติ 200 คน จำนวนอย่างนี้ก็ไม่มีปัญหาอะไร ประเทศไทยเรามีประชากรประมาณ 68 ล้านคน ขณะที่สหรัฐอเมริกามีประชากร มากกว่า 300 ล้านคน แต่มี ส.ส.แค่ 438 คน เท่านั้น ฉะนั้นหากเราจะมีสมาชิกสภานิติบัญญัติ ซัก 200 คน ก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะสามารถทำงานได้

หน้าที่สภาปฏิรูปฯเท่าที่ทราบ น่าจะให้พิจารณา เรื่องการปฏิรูปประเทศ รวมทั้งให้มารับผิดชอบการร่างรธน.ด้วย เขาว่าอย่างนั้น แต่ในที่สุดขึ้นอยู่ที่ ธรรมนูญการปกครองชั่วคราว ที่จะออกมา ส่วนการพูดถึงตัวเลขว่า ควรมีเท่านั้นบ้าง เท่านีี้บ้าง อันนี้เห็นว่า ไม่มีปัญหาเพราะสามารถทำงานได้อยู่แล้ว ซึ่งเวลาทำงานจริงๆ เขาก็ยังสามารถตั้งคณะอนุกรรมการฯ มาช่วยงานได้อีก ดังนั้น คสช.จะต้องประกาศให้มี"ธรรมนูญปกครองชั่วคราว"ออกมาให้ได้เสียก่อน ก็อย่างที่ หัวหน้าคณะคสช.ยืนยันไว้ว่า ประมาณเดือนสิงหาคมนี้ แล้วจะเห็นได้ว่า จะต้องทำอย่างไรต่อไป

กองทัพกับมาตรการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว

ทั้งนี้ หากเรามาดูจังหวะการทำงานของ คณะคสช. ในเรื่องการเตรียมออก รธน.ชั่วคราว ต่อเนื่องไปถึงการ แต่งตั้งสภานิติบัญญัติ ที่คาดกันว่า น่าจะมีประมาณ 200-250 คน ส่วนสภาปฏิรูปประเทศมี 150 หรือ 250 คนนั้น หากมองไปถึงความจำเป็นเร่งด่วน ในขณะนี้ คือเรื่องของการผ่านงบประมาณแผ่นดิน ประจำปี 2558 ที่มีตัวเลขงบฯสูงถึง 2.575 ล้านล้านบาท ทีนี้ถ้า คสช.ระบุว่า ต้องให้งบประมาณแผ่นดิน ผ่านความเห็นชอบของสมาชิกสภานิติบัญญัติ ที่กำลังจะมีการแต่งตั้งขึ้นประมาณเดือนสิงหาคม อย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยัน ก็แสดงว่า ต้องมีธรรมนูญการปกครองชั่วคราวออกมา เพื่อแต่งตั้ง สนช.ก่อน เพื่อจะให้พิจารณาเรื่องของบงบประมาณแผ่นดิน ส่วนการตั้งนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐบาล ก็มาหลังจากนั้นได้ เพราะ คสช.ยังทำหน้าที่บริหารประเทศอยู่ เรื่องนี้เป็นเรื่องด่วน เพราะเขาประกาศออกมาว่า งบประมาณแผ่นดิน ต้องสามารถใช้ได้ทันวันที่ 1 ต.ค.

วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก (ช่วงนี้เห็นหน้าทุกวันจนชิน)

"ฉะนั้น เรื่องของสมาชิกสภานิติบัญญัติ จะต้องมีให้ได้ ภายในเดือนกันยายนนี้ เนื่องจากต้องพิจารณาผ่านเรื่อง งบประมาณแผ่นดิน มันต้องใช้ระยะเวลา เพราะต้องมีการพิจารณา วาระ 1 ขั้นรับหลักการ วาระ 2 ขั้นตั้งกรรมาธิการ แปรญัตติ เมื่อมีการตั้งคณะกรรมาธิการแล้วจึงเอากลับลงมา ก่อนไปลงมติวาระ 3 ต่อไป ฉะนันต้องมีเวลาอย่างน้อย ซักประมาณ 1 เดือน การฟอร์มสภานิติบัญญัติก็ต้องเป็นช่วงเดือนสิงหาคม เพราะเดือนกันยายน เขาต้องทำงานแล้ว ไม่เช่นนั้นงบประมาณจะผ่านไม่ทัน หากคสช.มีความตั้งใจให้งบประมาณผ่านจากสภานิติบัญญัติ เงื่อนไขให้ทันวันที่ 1 ต.ค.นะ เพื่อไม่ให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ก็ต้องเอาเข้าสภานิติบัญญัติ ซึ่งต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 เดือน หากสมมุติว่า เกิดอุบัติเหตุไม่ทันจริง หัวหน้าคสช. ก็มีอำนาจสามารถประกาศใช้ได้ทันที แต่ก็อาจถูกข้อครหาว่า "คิดคนเดียวทำคนเดียว" ได้อีก หากจำกันได้สมัย คมช.ปฏิวัติเมื่อปี 2549 สภานิติบัญญัติ ที่ตั้งขึ้นในขณะนั้น มีสมาชิกแค่ 99-100 คน เท่านั้น ก็ยังสามารถทำหน้าที่ได้ ถ้าโมเดลสภานิติบัญญัตินี้มีถึง 150 คน ก็ไม่น่ามีปัญหา เชื่อว่า สามารถทำงานได้แน่ "ศ.ดร.สมบัติ กล่าว.

ผู้การราบฯ11 พล.ต.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ แจง จัดระเบียบวินจยย.

เข้าตำรา"ดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่ ถ้าจะให้แน่ต้องต้องดูถึงยาย"จริงๆ เพราะท้ายสุดไม่ว่าแนวคิด ตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) หรือ สภาปฏิรูปประเทศ หน้าตาจะออกมาเป็นเช่นไร เข้าขั้นหล่อ-สวย หรือ ขี้ริ้ว-ขี้เหร่ หรือไม่? ก็อยู่ที่ "ธรรมนูญการปกครองชั่วคราว" ที่คสช.จะประกาศออกมาใช้ ซึ่งถ้าอุปมาอุปไมยไปก็เหมือนแม่ที่ให้กำเนิดลูก

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.ควบผบ.ทบ.

ขณะที่ปัญหาอีกเปลาะ คือ จากนี้ไป พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.และ หัวหน้า คสช. มำกำหนดจะเกษียณอายุราชการ 30 ก.ย.นี้ มีการวิเคราะห์กันว่า มีทางเลือก คือ 1.เป็นนายกรัฐมนตรีเอง เพื่อสานงานต่อ ขณะที่ตำแหน่งผบ.ทบ.ส่งต่อให้กับทายาทที่ได้วางตัวกันไว้  หรือ 2.เป็น หัวหน้าคสช. แล้วต่ออายุควบเก้าอี้ ผบ.ทบ.ไปด้วยเลย นั่นเพราะ ถ้านั่งเป็น หัวหน้าคสช.อย่างเดียว ไม่ได้คุมกำลังทหาร ก็เปรียบเสมือน "ขาลอย" แต่ทว่าถ้าเลือกทางนี้ น้องๆ ในทบ.ที่จ่อคิวอยู่ จะเป็นเช่นไร อีกทั้งถ้าต่ออายุ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ตัองมีการ ต่ออายุ ผบ.สส.-ผบ.ทร.-ผบ.ทอ.ไปด้วยหรือไม่?  เพราะจะเกษียณอายุราชการปลาย ก.ย.นี้เหมือนกัน ก็ต้องรอดูการตัดสินใจของ "บิ๊กตู่"ว่าจะออก "หมู่หรือจ่า" อีกไม่นาน เดี๋ยวก็รู้...

ขอบคุณ thairath
ที่มา http://www.itplaza.co.th/update_details.php?type_id=1&news_id=36928&page=1