ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

บทเรียนพ่อแม่ เรื่องเด็กกับเทคโนโลยี จากกรณีเล่นเกมสูญเงินหกหลัก

เริ่มโดย ทีมงานประชาสัมพันธ์, 11:05 น. 27 มิ.ย 57

ทีมงานประชาสัมพันธ์

บทเรียนพ่อแม่ เรื่องเด็กกับเทคโนโลยี จากกรณีเล่นเกมสูญเงินหกหลัก

นพ.เทอดพงศ์ ทองศรีราช
กุมารแพทย์พัฒนาการและพฤติกรรม หน่วยพัฒนาการเด็ก
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

[attach=1]

ประเด็นข่าวที่เป็นที่สนใจของสังคมในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาโดยเฉพาะสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง คงจะเป็นข่าวไหนไปไม่ได้นอกจากข่าวค่าใช้จ่ายหลัก(หลาย) แสน จากใบเสร็จเรียกเก็บเงินโทรศัพท์มือถือซึ่งเมื่อสืบสาวไปแล้วก็เป็นผลจากการเล่นเกมขนมอบยอดฮิตของลูก ค่าใช้จ่ายหกหลักเกิดจากการซื้อของเพื่อเพิ่มความสามารถของตัวละคร ซื้อไป ซื้อมาปาไปเป็นแสน เพื่อแลกกับคะแนนในเกมที่สูงขึ้น

หลายคนมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ เกิดจากการที่บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายหนึ่งเพิ่มระบบการซื้อของในเกม จากระบบการตัดเงินผ่านบัตรเครดิต ให้สามารถซื้อและเรียกเก็บเป็นค่าโทรได้เลย พ่อแม่จึงสูญเงินได้สะดวกยิ่งกว่าปอกกล้วยรู้ตัวอีกทีลมแทบจับ

ในฐานะหมอพัฒนาการเด็กหมอมองว่าพ่อแม่ทุกๆครอบครัวไม่เฉพาะครอบครัวนี้น่าจะได้บทเรียนเรื่องเด็กกับเทคโนโลยีจากสิ่งที่เกิดขึ้นได้ซึ่งหมอขอสรุปเป็นข้อๆ โดยเริ่มจากคำถามที่มักจะถูกถามบ่อยๆ ดังต่อไปนี้

1.   ควรหรือไม่ควรให้ลูกเล่นหรือใช้มือถือ:
ใจจริงหมออยากตอบว่าไม่ควรเพราะจริงๆแล้วการเล่นกับ พ่อแม่ กับเพื่อนหรือคุยกันต่อหน้าย่อมดีกว่าเป็นไหนๆ เจ้าเครื่องสี่เหลี่ยมดำๆแข็งๆ คงไม่สามารถมาแทนที่หน้ากลมๆตากลอกได้ ทำเสียงสูงต่ำ แสดงอารมณ์และตอบสนองต่อพฤติกรรมของเด็กได้ว่องไวกระตุ้นพัฒนาด้านภาษาและด้านสังคมของเด็กได้เป็นอย่างดี แต่ก็ต้องยอมรับว่าปัจจุบันมือถือ สมาร์ทโฟน หรือ เทคโนโลยีสารสนเทศเหล่านี้ได้แทรกซึมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเด็กอย่างยากที่จะห้ามได้โดยเฉพาะในเด็กวัยเรียน เป็นเหมือนสิ่งแวดล้อมหนึ่งที่ใกล้ตัวเด็กมากๆที่เด็กก็จำเป็นต้องเรียนรู้สิ่งนี้ด้วยดังนั้นหากจะใช้ก็คงต้องให้เหมาะสมสำหรับเด็กด้วย

2.   เด็กจะใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสมได้อย่างไร:
หมอให้หลักจำได้ง่ายๆว่า 2ว 2น อันได้แก่
a.   วัย: เด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี ไม่ควรให้เล่นหรือแม้กระทั่งเปิดให้ดูเลย มีการศึกษามากมายที่แสดงให้เห็นว่าการให้เด็กวัยน้อยกว่า 2 ปีดูสื่ออิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้จะส่งผลกระทบด้านลบต่อเด็กที่สำคัญคือทำให้ เวลาที่จะได้เล่นหรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นน้อยลงทำให้พัฒนาการด้านภาษาล่าช้าได้ แต่พ่อแม่ที่ลูกอายุมากกว่า 2 ปีก็ไม่สามารถนำเทคโนโลยีมาแทนปฏิสัมพันธ์โดยมนุษย์ได้ หากยังสามารถเล่นกับลูกได้เองก็ควรเล่นด้วยตนเอง หรือพาเด็กไปเจอสิ่งแวดล้อมภายนอกก็จะดีกว่าผ่านทางมือถืออย่างเดียว

b.   เวลา: เด็กที่อายุมากกว่า 2 ปีไปแล้วผู้ปกครองควรจำกัดเวลาการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด รวม TV ด้วยไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน

c.   เนื้อหา: ผู้ปกครองควรเฝ้าระวังและคัดกรองเกม หรือสื่อต่างๆที่ลูกดู หลีกเลี่ยงเกมที่มีเนื้อหารุนแรง หรือมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องเพศ

d.   แนะนำ: หลังจากเลือกให้เหมาะสมแล้วพ่อแม่ก็ไม่ควรให้ลูกเล่นเกมหรือดูสื่อต่างๆเหล่านั้นโดยลำพัง ควรให้คำแนะนำระหว่างที่ลูกดูหรือเล่นไปด้วย อภิปรายถึงสิ่งที่เห็นหรือได้ดูกับลูก ได้พูดคุยกันถึงเรื่องประโยชน์และโทษของเทคโนโลยีและสังคมออนไลน์ทั้งนี้พ่อแม่มีความจำเป็นที่จะต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมหรือเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีต่างๆเหล่านี้ไปพร้อมๆกับลูกด้วย

3.   จากกรณีนี้จะป้องกันได้อย่างไร:
หากทำตามหลัก 2ว 2น ที่กล่าวมาพ่อแม่ก็จะเห็นได้ว่าโอกาสเกิดปัญหาดังกล่าวข้างต้นจะน้อยลงมาก เช่นเมื่อจำกัดเวลาแล้วโอกาสที่เด็กจะเล่นจนติดก็จะน้อยลง หรือถ้าพ่อแม่คอยเฝ้าดูอยู่ด้วยก็พอจะเห็นว่าลูกจะซื้อของจากเกมก็จะเป็นโอกาสดีในการสอนเรื่องการใช้เงินและความจำเป็นของการซื้อของมาเพื่อทำให้ตนชนะ ซึ่งถือเป็นการโกงอย่างหนึ่ง นอกจากนี้การแก้ปัญหานี้อีกวิธีหนึ่งที่อาจทำเสริมกันไปได้แก่วิธี"หนามยอก เอาหนามบ่ง"นั้นคือการใช้เทคโนโลยีมาควบคุมการใช้งานมือถือของเด็กอีกขั้นหนึ่งเช่นจากกรณีนี้พ่อแม่สามารถควบคุมการใช้เงินซื้อของผ่าน Appsได้โดยวิธีดังต่อไปนี้

a.   ระบบ Android: เริ่มจากเข้าไปในหน้า Play store >เลือก "การตั้งค่า" >เลือก "ต้องป้อนรหัสผ่านเพื่อสั่งซื้อ" >เลือก "สำหรับการสั่งซื้อทั้งหมดบนอุปกรณ์นี้">ใส่รหัสผ่าน gmailของเรา

b.   ระบบ IOS (iPhone, iPad): โดยปกติทุกครั้งที่จะดาวน์โหลดApp ใหม่หรือการกดซื้อจาก App Store จะต้องใส่รหัสผ่านของ Apple ID เพื่อยืนยันก่อนทุกครั้ง นอกจากนี้ทาง Apple ได้เพิ่มระบบควบคุมให้ผู้ปกครองสามารถกำหนดได้ว่าต้องใส่รหัสผ่านก่อนถึงจะกดซื้อApp ได้ ซึ่งรหัสผ่านที่ว่านั้นสามารถตั้งเป็นคนละรหัสกับ Apple ID ได้โดยการเลือก "การตั้งค่า" >เลือก"ทั่วไป" >เลือก"เปิดใช้การจำกัด" >เลือก "ต้องใช้รหัสผ่านสำหรับรายการซื้อต่างๆ"

นอกจากการตั้งค่าเพื่อจำกัดการซื้อแล้วมือถือหลายรุ่นพ่อแม่ยังสามารถจำกัดเวลาการเล่นและจำกัด Apps ที่จะให้เด็กใช้ได้ยกตัวอย่างเช่น Kids mode ในมือถือยี่ห้อหนึ่ง เมื่อดาวน์โหลด App นี้มาแล้วพ่อแม่สามารถกำหนด PIN ในการเข้า mode นี้สามารถเลือก Apps ที่จะให้เด็กเข้าถึงได้ โดยสามารถเลือกเฉพาะ Apps ที่จำเป็นในการเรียนรู้ สามารถกำหนดระยะเวลาในการใช้มือถือในแต่ละวันตามที่ตกลงกับเด็ก และสามารถตรวจสอบการเข้าใช้งาน ย้อนหลังได้ถึง 30 วันเป็นต้น

เห็นไหมครับว่าการใช้เทคโนโลยีสำหรับเด็กก็จะไม่เป็นเรื่องน่าปวดหัวอีกต่อไป หมอคิดเสมอว่าเรื่องนี้หากหมอเป็นพ่อแม่เด็กก็คงอยากเป็นพ่อที่ "หมุนทันโลก"ไปพร้อมกับลูก มากกว่าจะเป็นพ่อแม่ที่ "ขวางโลก" ดังนั้นการรู้ เข้าใจ และเท่าทันเทคโนโลยีต่างๆในยุคปัจจุบันจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับพ่อแม่ในยุคที่โลกหมุนเร็วเช่นทุกวันนี้

[attach=2]
                  นพ.เทอดพงศ์ ทองศรีราช

************************************
สุดท้ายนี้หมอขอถือโอกาสประชาสัมพันธ์สำหรับพ่อแม่ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องเทคโนโลยีสำหรับเด็กโดยหมอจะมีบรรยายในงานประชุมดังต่อไปนี้

17 กรกฎาคม 2557 งานประชุมวิชาการประจำปีชมรมพัฒนาการการและพฤติกรรมเด็กแห่งประเทศไทย ณ โรงแรมเดอะสุโกศล ในหัวข้อ "การใช้เทคโนโลยีช่วยการเรียนรู้ของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ" สนใจติดต่อหน่วยพัฒนาการการเด็กรพ.รามาธิบดี  02-2011772

8 สิงหาคม 2557 งานประชุมวิชาการประจำปีคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ณ ศูนย์จัดการประชุมคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในหัวข้อ " How to choose good (Ipad, Android) Apps for your kids?"  สนใจติดต่อหน่วยจัดการประชุมคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 074455000

นายไข่นุ้ย

DO YOU KNOW ME? I AM A CAT 28 YEARS. AND YOU?    แมวแท้สู (แมวยิ้ม)