ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

'เขาไม่ให้ผมกลับบ้าน' เปิดใจ 3 แรงงานไทย 'ตกทุกข์' บนเรือประมงอินโดฯ

เริ่มโดย itplaza, 10:33 น. 07 ต.ค 57

itplaza

ทันทีที่ TG434 จาการ์ตา-กรุงเทพฯ ถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ชีวิตของ 6 แรงงานไทย ที่ถูกหลอกให้ทำงานค้าแรงงานบนเรือประมง เกาะอัมบน ประเทศอินโดนีเซีย ก็เริ่มต้นใหม่อีกครั้ง...

"ไทยรัฐออนไลน์" ร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่ต้อนรับทั้ง 6 กลับบ้านอีกครั้ง พร้อมกับภาพประทับใจ "วินาที"ที่แรงงานแต่ละคนโผกอดเข้าหาครอบครัวด้วยความซาบซึ้ง หลังทักทายกันพอสมควร "ไทยรัฐออนไลน์" จับเข่าคุยกับ 3 แรงงาน ถึงชีวิตที่นั่นว่า "พวกเขาต้องเจอกับอะไรบ้าง?"

กลับบ้านเรานะ

"เขาไม่ให้ผมกลับบ้าน" จุดแตกหักของการหลบหนี!
เพราะทำประมงมาตลอดเกือบ 20 ปี และแต่ละครั้งจะออกเรือไปประมาณ 25 เดือน หรือ 2 ปี จึงจะกลับขึ้นฝั่งหนหนึ่ง โดยที่ไม่เคยบอกพ่อแม่ว่าไปขึ้นเรือที่ไหน ทำให้ บอย ทรงทรัพย์ วัย 30 ปี เชื่อใจว่า การออกเรือครั้งล่าสุด ที่จะเดินทางไปยังเกาะอัมบนคงไม่มีอะไร แค่ต้องอยู่ห่างบ้านนานหน่อย สัก 3-4 ปี จึงจะได้กลับอีกครั้ง แต่นั่น ... ไม่ใช่แบบที่บอยคิด

"มีเพื่อนมาบอกไปทำประมงที่เกาะอัมบน จะมีเงินมีทองเป็นก้อน เหลือเงินเป็นแสน เราก็เคยออกเรืออยู่แล้ว เราก็ไม่ได้บอกที่บ้าน เพราะปกติก็ไม่บอกอยู่แล้ว กลัวเค้าเป็นห่วง แต่พอไปถึง มันไม่ใช่ เขาไม่ได้ทุบตีผมนะ แต่กระทำผมด้วยคำพูดที่เจ็บแสบ ซึ่งไม่ควรเป็นคำพูดของคนอย่างเขา ไต้ก๋ง เจ้าของเรือ เขาบอกว่า ไม่ให้ผมกลับ ถ้ามีปัญญากลับเองได้ก็กลับ ผมก็คิดว่าไม่ไหวแล้ว เลยตัดสินใจที่จะตกเรือ (หนีออกมา) เออ ถ้าผมขอกลับ แล้วบอกว่าอย่าเพิ่งกลับ อยู่อีก 1-2 เดือนได้มั้ย ผมโอเค แต่นี่บอกว่า ไม่ให้ผมกลับ" บอย เล่า

หลังจากตัดสินใจตกเรือ บอยไม่ได้บอกใคร เพราะไม่ไว้ใจใครทั้งนั้น บอยต้องหลบๆ ซ่อนๆ อยู่บนเกาะอันบน เพราะไต้ก๋งพยายามหาคนมาตามหา เพื่อให้กลับไปทำงาน ซึ่งในช่วง 2-3 เดือนแรกที่หนีออกมา บอยต้องทนทุกข์กับการไม่มีเงิน ไม่มีข้าว ค่ำไหนนอนนั่น จนทำให้ตามเนื้อตัวของบอยเต็มไปรอยแผล

"ผมกินยังไง บางทีขอข้าวบ้าง รับจ้างบ้าง 2-3 เดือนก็เริ่มดี เจอเพื่อนคนไทยที่อยู่มาก่อน ก็มีงานทำ มีเงินเดือน พอมีได้เช่าบ้านอยู่ แต่เรารับจ้าง ก็ไม่มีเงินค่าเดินทางกลับไทย แม้คิดจะกลับบ้านก็ตาม แต่นี้พอมาเจอมูลนิธิ LPN (มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมสุขภาพแรงงาน Labour Rights Promotion Network Foundation: LPN) ก็โล่งอกหน่อย เขาถามว่าจะกลับบ้านมั้ย ผมก็บอกว่ากลับ ตอนนั้นรวมเวลาที่ตกเรือก็ประมาณ 5-6 เดือนได้" บอย บอก

บอยกราบขอโทษพ่อกับแม่

บอย บอกว่า หลังจากนี้ กลับมาประเทศไทยแล้ว จะไม่ขอกลับไปทำงานประมงอีกเด็กขาด แม้จะไม่ได้เจอการถูกทำร้าย แต่การไม่ให้กลับบ้านทำให้บอยรับไม่ได้ แม้วันนี้จะจ้างด้วยเงินครึ่งแสนก็ตาม ขณะเดียวกัน หลังจากที่เคลียร์ทุกๆ อย่างหมดแล้ว จะขอบวชให้พ่อกับแม่ ที่แท้จริงแล้ว คือ น้าชาย น้าสาว ที่เลี้ยงมาตั้งแต่เล็ก ทำให้บอยรักเหมือนพ่อแม่จริงๆ รวมถึงบอยวางแผนจะไปคุยกับเถ้าแก่คนไทย เพื่อพูดคุยค่าแรงที่ยังตกค้างอีกประมาณ 1 แสนกว่าบาท หลังจากที่ทำงานมาไม่ได้รับค่าแรงตามที่ตกลง ซึ่งตามความจริงนั้น ไปทำงานในเวลาเท่านี้ จะต้องได้รับค่าจ้างประมาณ 3 แสนบาท

"ผมมาที่นี่ได้เรียนรู้ทุกอย่าง ชีวิตมันมีทุกรสชาติเลย ถ้าให้แนะนำเรื่องทำงานบนเรือประมง ผมขอไม่แนะนำอะไร เพราะว่าทำยังไงก็ไม่ปลอดภัย ราชการไม่มีอะไรให้คนเรือ เจ็บไข้ก็ไม่มีสวัสดิการ บนฝั่งพูดอย่างนี้ พอไปกลางทะเลก็พูดอีกอย่าง เช่น คุยกันเงินเดือนเท่านั้นเท่านี้ ทำงาน 1-2 เดือน ทำไม่ไหว กลับได้ แต่ความจริงมันอยู่กลางทะเลก็ทำไรไม่ได้แล้ว บางคนก็โดดออกไปเลย เพราะเขาไม่คิดอะไรแล้ว อยู่ที่นี่ไปก็เท่านั้น" บอย บอก

บอยกำลังล่านาทีชีวิต

"เคยเห็นทาสมั้ย?" คำตอบจากคำถามที่ว่า "ทำงานหนักแค่ไหน"
อีกหนึ่งแรงงานที่ "ไทยรัฐออนไลน์" เข้าไปพูดคุย พิภพ พิลาบุตร วัย 32 ปี ชาว จ.หนองคาย เปิดเผยว่าเมื่อตัดสินใจทำประมงบนเรือครั้งแรก ก็เจอประสบการณ์งานเยี่ยงทาสครั้งแรกเลย เพราะต้องการเงินก้อนสัก 2-3 แสนบาท มาสร้างเนื้อสร้างตัว ซึ่งรู้ดีว่าจำต้องไปอยู่ที่นั่นประมาณ 3-4 ปี โดย พิภพทำงานบนเรือประมงนาน 3 ปี จากนั้น จึงขอไต๋ก๋งกลับบ้านบ้าง แต่คำตอบที่ได้คือ "ไม่ให้กลับบ้าน"!

"ผมไม่รู้ว่าตัวเองได้เงินเดือนเท่าไหร่นะ เพราะจะมาเคลียร์กันอีกทีที่มหาชัยเลย แต่ผมก็ส่งให้พ่อแม่เดือนละ 2,900 บาท ส่วนตัวนี่ไม่มีเลย 4-5 เดือนขึ้นฝั่งทีก็เบิกเงินทีไม่มากเท่าไหร่ แต่ผมทำงานหนักมาก ตั้งแต่ตี 4 ไปจนถึง 4 ทุ่ม เพราะสมัครมาเป็นผู้ช่วยนายท้ายเรือ" พิภพ อธิบาย

หน้าที่ผู้ช่วยนายท้ายเรือที่พิภพบอก ไม่ใช่เพียงแค่การช่วยทำปลาที่จับมาได้เท่านั้น แต่พิภพจะต้องเข้ากะ เฝ้าเรือ ครั้งละ 4 ชม. เพิ่มจากเวลาปกติที่ต้องทำงานตี 4 ถึง 4 ทุ่ม ซึ่งหากทำปลาไม่เสร็จ จะนอนไม่ได้ ต่างจากคนที่ทำปลาอย่างเดียว ก็จะมีเวลาได้พักผ่อนบ้าง โดยเวลาที่ได้นอนมากสุดแต่ละวันคือ 5 ชม. และน้อยที่สุด คือ ครึ่ง ชม.

พิภพ และญาติๆ ที่มารอรับ

"เคยเห็นทาสมั้ย ผมต้องมาเข้ากะด้วย แม้ผมไม่เคยถูกทำร้าย แต่มันมีนะ แล้วสาเหตุที่ไม่อยากอยู่ เพราะเขาไม่ยอมให้กลับบ้าน ที่นี่ใช้งานทุกอย่าง ทั้งๆ ที่เราไม่เต็มใจจะทำ เราก็ต้องทำ ถ้าไม่ทำ เขาก็ตัดเงิน ทำงานหนักมาก จนผมตั้งใจจะหนี"

พิภพ หนีมาอยู่บนเกาะอัมบน และดำรงชีวิตด้วยการรับจ้างไปเรื่อยๆ รวมถึงมีครอบครัวที่นั่น และลูกวัย 5 ขวบอีกหนึ่งคน ซึ่งชีวิตพิภพ 3 ปี บนเกาะนั้นดีขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งมาพบกับกลุ่ม LPN ที่ให้การช่วยเหลือเรื่องกลับประเทศ

"เขาหาคนกลับบ้าน ผมก็เลยให้เขาช่วยเหลือ แต่ผมก็จะกลับไปอีกนะ เพราะครอบครัวอยู่ที่นั่น แต่กลับไปทีนี้ ต้องไปแบบถูกต้องตามกฎหมาย พ่อกับแม่ก็แก่แล้ว ถ้าพ่อแม่ไม่สบาย เราก็บินกลับมาได้ คาดว่าจะใช้เวลาอย่างมาก 1 เดือน ในการทำเอกสาร ซึ่งก็จะพยามทำให้เร็วที่สุด ไม่งั้นแฟนจะมาเยี่ยมที่นี่ มาเยี่ยมแทน แต่ป่าวมาอยู่นะ เพราะว่าไม่มีเอกสาร" พิภพ ระบุ

สำหรับข้อแนะนำของพิภพในการเดินทางทำประมงบนเรืออินโดนีเซีย คือ อยากให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตรวจคนเข้าเมือง กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับแรงงานประมง ทำพาสปอร์ต และมีคุ้มครองสวัสดิภาพแรงาน เมื่อเจ็บป่วยได้ไข้ เพราะจะได้ไม่ลำบาก รวมถึงต้องตรวจสอบด้วยว่า ไต้ก๋งที่จะไปอยู่ด้วยนั้นเป็นคนอย่างไร

"วันนี้ขอบคุณมาก ดีใจมากๆ ได้เห็นพ่อกับแม่อีก ดีใจมากๆ และขอขอบคุณมากๆ ทั้งหน่วย LPN และรัฐบาล หน่วยงานทุกหน่วย ขอบพระคุณมากครับ" พิภพ ทิ้งท้าย

อ้อมกอดแห่งความคิดถึง

ตกใจ! ตื่นมาอีกทีโผล่ที่น่านน้ำอินโดนีเซีย!
อีกหนึ่งเคสของชายวัย 46 ปี ณรงค์ศิลป์ พืชหมอ ชาว จ.อุบลราชธานี ที่นอนหลับแล้วตื่นมาพบว่าตัวเองอยู่ในน่านน้ำประเทศอินโดนีเซียเสียแล้ว เมื่อเดือน พ.ย.56 ที่ผ่านมา หลังจากที่คิดไว้ว่า จะมาทำงานประมงที่แถว จ.สงขลา หรือ จ.สตูล ซึ่งณรงค์ศิลป์อยู่บนเรือแม่เพียง 4-5 วัน ก็ตัดสินใจหนีทันที

"ตื่นมาขึ้นฝั่งไปอินโดฯ เลย อยู่บนเรือแม่ 4-5 วัน แล้วก็หนีเลย มันไม่เป็นอย่างที่คิด ที่ว่าจะไปลงปากอ่าว นึกว่าจะเป็นแถวสตูล สงขลา ที่ไหนได้ เลยไปมหาสมุทร มารู้ตัวอีกทีอยู่อินโดฯ เขาให้เงิน 1,000 บาท แล้วก็ไม่ได้เซ็นสัญญาอะไร อยู่ดีๆ ติดหนี้ 3-4 หมื่นบาท แต่อยู่ที่นั่น ไม่ได้ถูกทำร้ายอะไร กินแล้วก็นอน แต่ผมไม่เอา ไม่ใช่อย่างที่คิด" ณรงค์ศิลป์ เล่า

เมื่อตัดสินใจหนี ณรงค์ศิลป์ก็ต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ เช่นเดียวกับคนอื่นๆ และต้องบอกคนอื่นๆ ว่าไม่เคยมาทำงานประมง ไม่รู้จักไต้ก๋ง เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจับกลับไป แต่สำหรับชีวิตบนเกาะอัมบน เขายอมรับว่าต้องอดๆ อยากๆ อยู่สักพัก

ณรงค์ศิลป์ พืชหมอ

แม้ณรงค์ศิลปจะไม่เคยถูกทำร้ายบนเรือประมง แต่ก็เขาบอกว่าถูกตีเข้าที่หัวไหล่ด้านซ้าย จากกลุ่มลักเล็กขโมยน้อย 5 คน ที่ต้องการมาขโมยเงินของเขาไป ซึ่งบนเกาะอัมบนมีคนหลายประเทศ ทั้งเมียนมาร์ ลาว กัมพูชา และไทย

"อยู่ที่นู่น พอเดินไปนู่นไปนี่ คนงานประเทศอื่นก็แซว ไทยแลนด์มาแล้ว เดี๋ยวจะเอาโพลิส (ตำรวจ) มาจับ เราก็ดีสิ มาจับเราจะได้กลับบ้าน กลับประเทศ แล้วที่นี้ก็ไปเจอกับกลุ่มที่ช่วยเหลือ จนสุดท้ายได้กลับบ้าน ซึ่งวันนี้ก็มีน้องสาว และลูกหลายมารับ ตอนที่ได้กลับ ก็รู้ปลาบปลื้มมาก ไม่เสียความรู้สึก หลังจากนี้ ก็จะกลับบ้านไปเกี่ยวข้าวที่บ้านแล้ว" ณรงค์ศิลป์ เล่าอย่างอารมณ์ดี

ความลำบากยากแค้นของทั้ง 3 แรงงานที่ถ่ายทอดผ่าน "ไทยรัฐออนไลน์" อาจเทียบไม่ได้กับสิ่งที่เขาทั้ง 3 หรือทั้ง 6 คน หรืออีกนับร้อยนับพันจะต้องเจอ เมื่อเดินทางไปทำงานต่างบ้านต่างเมือง ซึ่งจะว่าไปก็เปรียบเสมือนการซื้อหวยเหมือนกัน ว่าจะเจ้านายจ้างที่ดีหรือไม่ โดยที่เราไม่สามารถปรักปรำได้ว่า การทำงานต่างประเทศนั้นเป็นเรื่องที่เลวร้าย หรือต้องถูกกดขี่ หรือใช้แรงงานข้ามชาติ แต่ในเมืองเศรษฐกิจในประเทศส่วนหนึ่งไม่สามารถตอบสนองการดำรงชีวิตของคนกลุ่มนี้ ก็ไม่แปลกที่พวกเขาจะต้องดิ้นรน และ "ยอมเสี่ยง" เลี้ยงชีพ และครอบครัวในต่างแดน

ดังนั้น สิ่งที่ต้องช่วยกันดูแลและช่วยเหลือ อาจไม่ใช่เพียงการช่วยพวกเขาจากความลำบากที่เกิดขึ้น แต่นั่นควรเป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ หรือหาหลักประกันให้พวกเขา หากต้องการหารายได้ในต่างประเทศ ก็เป็นอีกสิ่งที่ควรกระทำ.

ขอบคุณเนื้อหา thairath.co.th
ที่มา http://www.itplaza.co.th/update_details.php?type_id=1&news_id=40072&page=1