ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

ผลักดัน พ.ร.บ.ยาง-กระตุ้นการใช้-วิชาการเข้าช่วย ทางออกวิกฤตยางพาราไทย

เริ่มโดย หาดใหญ่ใหม่, 13:42 น. 04 พ.ย 57

หาดใหญ่ใหม่

[attach=1]

ศูนย์ข่าวบ้านเรา.-ม.อ.จัดเวทีเสวนาทางออกวิกฤตการณ์ยางพาราไทย ที่ปรึกษา รมว.เกษตร ชี้ต้องผลักดัน พ.ร.บ.ยางให้เกิดในรัฐบาลนี้เดินหน้าสู่ประเทศผู้ผลิตเป็นผู้กำหนดราคายางดึงภาควิชาการงานวิจัยมาช่วยเพิ่มมูลค่ายางเพื่อให้เกิดการแปรรูปและใช้ภายในประเทศ

สถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา ร่วมกับสำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดเสวนาหัวข้อ "ทางออก......วิกฤตการณ์ยางพาราไทย" เพื่อนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องยางพารา และร่วมหาทางออกประเด็นปัญหายางพาราไทยในปัจจุบัน โดยมี ดร.อำนวย ปะติเส ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวรายงาน จัดขึ้นเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2557 ที่โรงแรมบุรีศรีภู บูติกโฮเต็ล หาดใหญ่

ดร.อำนวย กล่าวถึงนโยบายการแก้ปัญหายางพาราของรัฐบาลว่า การขึ้นลงของราคาสินค้าเกษตรเป็นปัจจัยที่รัฐบาลไม่สามารถควบคุมได้ และรัฐบาลชุดปัจจุบันก็มีภาระหนี้ผูกพันที่เกิดนโยบายการรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่แล้วอยู่กว่า 7 แสนล้านบาท ในภาคการเกษตรประเทศเราทุกชนิดจะมีปัญหาเหมือนกันคือ "คนขายรวย เกษตรกรจน" เรื่องของยางพาราก็เช่นเดียวกัน ปัจจุบันราคาขายยางพาราที่เกษตรกรได้รับอยู่ที่ 40 กว่าบาทต่อกิโลกรัมเท่านั้นซึ่งถือว่าตำกว่าต้นทุนมากโดยต้นทุนที่เกษตรกรอยู่ได้น่าจะอยู่ที่ 60 บาทต่อกิโลกรัมขึ้นไป (ตามการอ้างอิงของนักวิชาการ)

"รัฐบาลมีนโยบายเร่งด่วนในการช่วยเหลือเกษตรกรโดยการมอบเงินช่วยเหลือเกษตรกรไร่ละ 1,000 บาทไม่เกิน 15 ไร่ เพื่อให้เกษตรกรได้มีเงินหมุนเวียนในเบื้องต้นก่อนโดยจะเร่งกระจายเงินลงมาให้เร็วที่สุด ส่วนระยะปานกลางคือการผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย ที่ผ่านมาพูดกันทุกรัฐบาลแต่ไม่มีรัฐบาลไหนทำได้และเหมือนเป็นอาถรรพ์เพราะ รมต.ที่รับผิดชอบเรื่องยางส่วนใหญ่อยู่ไม่เกิน 6 เดือนก็เปลี่ยน ที่ผ่านมานโยบายไม่ชัด กลไกไม่ถูก ยุทธศาสตร์ผิด กราฟราคายางจึงขึ้นลงเป็นภูเขาซึ่งเป็นราคาสินค้าเกษตรชนิดเดียวที่ราคาขึ้นลงเร็วมาก   

ปัจจุบันหน่วยงานที่ดูแลเรื่องยางมีถึง 3 หน่วย คือ สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร ดูแลตลาดกลางยางพารา ,สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (ส.ก.ย.) ดูแลการปลูกยางให้ได้ต้นทุนต่ำ และองค์การสวนยาง ทำหน้าที่ซื้อขาย จัดตั้งโรงงานยาง ซึ่งต้องรวม 3 องค์กรนี้มาเป็นหนึ่งเดียวเพื่อให้มีเจ้าภาพหลักในการดูแลทั้งระบบซึ่งถ้าไม่เกิดในรัฐบาลนี้อีกก็ยากแล้วจะเกิดในรัฐบาลอื่น จากนั้นเราค่อยเดินหน้าทำให้ประเทศผู้ผลิตเป็นผู้กำหนดราคายางพาราแทนที่จะเป็นประเทศผู้ซื้อหรือพ่อค้าคนกลางเช่นในอดีต

ต่อไปเราจะพัฒนาให้ตลาดยางพาราเหมือนตลาดทองคำ มีการซื้อขายในตลาดล่วงหน้าขยายความคิดสู่กลุ่มประเทศผู้ผลิตยางทั่วโลกเพื่อมีการรวมกลุ่มประเทศผู้ผลิตยางพารา ซึ่งเมื่อเกิดตลาดการค้าที่สมบูรณ์เราก็จะไม่ถูกกดราคาการขึ้นลงของราคาก็จะไม่หวือหวาแบบที่ผ่านมา และที่สำคัญที่สุดคือการเพิ่มปริมาณการใช้ในประเทศ ปัจจุบันเราใช้ในประเทศแค่ 14 % อีก 86 % เป็นการส่งออกแต่มูลค่าเงินของการใช้ประเทศและส่งออกเท่าเกือบเท่ากัน นี่คือโจทย์ใหญ่ที่เราต้องทำให้เกิดการใช้ยางพาราในประเทศให้มากขึ้นโดยดึงภาควิชาการงานวิจัยเข้ามาช่วย และให้ภาครัฐมีหน้าที่ส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปยางพารา"


จากนั้นเป็นการเสวนาหัวข้อ "ทางออก......วิกฤตการณ์ยางพาราไทย" โดยวิทยากรประกอบด้วย ดร.อำนวย ปะติเส ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  รองศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ชิตพงศ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ รศ.ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล รองอธิการบดีฝ่ายระบบวิจัยและบัณฑิตศึกษา นายศุภเดช อ่องสกุล รองเลขาธิการสมาคมยางพาราไทย นายชำนาญ เมฆตรง ผู้แทนจากภาคเกษตรกร ดำเนินรายการโดยนายบัญชร วิเชียรศรี จากสถานีวิทยุ FM 88 ม.อ. หาดใหญ่

[attach=2]
ดร.อำนวย ปะติเส ได้กล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหายางราคาตกโดยการนำมาผสมยางมะตอยเพื่อราดพื้นถนนว่า อาจจะช่วยให้เพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศมากขึ้น แต่เมื่อราคายางสูงขึ้นจะมีการถามหาถึงความคุ้มค่า "หากเรามั่นใจในศักยภาพด้านเทคโนโลยีและด้านวัตถุดิบ หากเรากล้าประกาศว่าสงขลาเป็นจังหวัดยางที่ประสบความสำเร็จ โดยมีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นฐานทางวิชาการ และหากเราสามารถประกาศว่า สงขลานครินทร์และยางเป็นของคู่กัน เมื่อนั้นเราก็พร้อมที่จะสามารถขยายไปสู่พื้นที่อื่นต่อไป"

รองศาสตราจารย์ ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล กล่าวว่า นักวิชาการของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้สร้างสรรค์องค์ความรู้เรื่องยางมาเป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีการนำไปต่อยอดในเชิงอุตสาหกรรม เรามีนักวิชาการมากพอที่จะทำให้ประเทศก้าวข้ามปัญหาการใช้ยางน้อยในประเทศ และสามารถแปรรูปให้มีการใช้งานมากในหลายรูปแบบ ด้วยเทคโนโลยีไม่สูงมากแต่มีความคงทน เช่น ยางปูพื้น ยางปูสนาม สามารถเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาด้านวิชาการทั้งด้านเทคโนโลยี การตรวจสอบผลิตภัณฑ์ การทำธุรกิจ การตลาด ไปจนถึงการสกัดสารจากน้ำยางมาทำเป็นยารักษาโรคและเวชสำอาง ซึ่งถ้ารัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมก็จะทำให้ยางและการพัฒนาเทคโนโลยีมีอนาคตขึ้น

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ชิตพงศ์ ได้ข้อมูลที่ได้เคยมีการศึกษา ถึงปัจจัยที่ทำให้ราคายางพาราไร้เสถียรภาพว่ามาจากสาเหตุใหญ่ๆ 16 ประการ คือ การควบคุมปริมาณการปลูกและการผลิตยางพารา ธรรมชาติการให้ผลผลิตของยางพาราที่ผันแปรตามฤดูกาล ภาวะเศรษฐกิจของประเทศผู้ผลิตและของโลก ความต้องการยางของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากยาง การบริโภคของประชากรโลก การเคลื่อนไหวของราคายางตามวัฏจักรและแนวโน้มทิศทางราคายางในระยะ 3-5 ปี การค้ายางของนักเก็งกำไร การเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมัน ราคายางสังเคราะห์ ราคาตลาดล่วงหน้า การเก็บสต๊อกยาง ภาวะตลาดหุ้น อุตสาหกรรมยานยนต์ การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และ นโยบายการค้าระหว่างประเทศ

นายชำนาญ เมฆตรง ผู้แทนจากภาคเกษตรกร กล่าวว่า "วิกฤตราคายางนาทีต้องบอกว่าเลยวิกฤตมาแล้วเพราะแต่ก่อนชาวสวนบอกว่าขอยางที่กิโลละ 100 หรือกิโลละ 80 ก็จะถูกนักวิชาการบอกว่าชาวสวนโลภมากเกินไปทั้งที่ต้นทุนอยู่ทีกิโลละ 60 ก็อยู่ได้แล้ววันนี้ราคายางอยู่ที่ 40 กว่าไม่เห็นมีนักวิชาการคนไหนออกมาปกป้องชาวสวนยางเลย แต่จากการได้ฟังแนวนโยบายของรัฐบาลผ่าที่ปรึกษา รัฐมนตรีเกษตรก็ถือว่าพอเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์บ้างแล้วและหวังว่านโยบายของรัฐบาลที่กล่าวมาจะเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด"

http://youtu.be/lrXxxsAMwec
หาดใหญ่ใหม่ www.facebook.com/hatyaimai
เมืองหลวงภาคใต้ หลากหลายเรื่องราว บอกเล่าแบ่งปัน

แมวคราว

จริงๆ ทางออกก็มีนะ ที่รัฐสามารถช่วยอย่างถูกต้องและยั่งยืนได้ แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีรัฐบาลไหนจริงใจกับประชาชน  ส.ยักคิ้ว

kik.kanittha

รับสมัครผู้ร่วมธุรกิจ รายได้ดี ลงทุนครั้งเดียว เก็บเกี่ยวตลอดชีวิต

ติดต่อ คุณ กนิษฐา 085-898-4980