ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

กมธ.ยกร่าง รธน.ห้ามนายกฯ ดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระ

เริ่มโดย หาดใหญ่ใหม่, 10:46 น. 02 มี.ค 58

หาดใหญ่ใหม่

กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกของสภาผู้แทนราษฎร ดำรงตำแหน่งติดต่อกันไม่เกิน 2 วาระ พร้อมกำหนดมาตรการเสริมความเข้มแข็งให้เสถียรภาพรัฐบาล

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงว่า ที่ประชุมพิจารณาในหมวดว่าด้วยนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีโดยระบุว่า นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่า 2 วาระไม่ได้ และให้สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวัน นับตั้งแต่วันเรียกประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรก ซึ่งไม่ได้กำหนดว่านายกรัฐมนตรีต้องเป็นส.ส.

"คณะกรรมาธิการฯเคยมีมติมาตั้งแต่ต้นว่าจะคงการเลือกนายกรัฐมนตรีแบบเปิดเผยในสภา และคงให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา และเป็นผู้นำความขึ้นกราบบังคมทูลฯพระมหากษัตริย์เพื่อแต่ตั้งนายกรัฐมนตรี จึงเห็นควรให้เป็นไปตามความต้องการของสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทยที่ในกรณีอาจจะเกิดวิกฤติไม่ได้นายกรัฐมนตรีที่เป็นส.ส." นายคำนูณ กล่าว

นายคำนูณ กล่าวว่า สำหรับคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีมีลักษณะต้องห้ามที่เพิ่มเข้ามาคือ ห้ามบุคคลที่ไม่ได้แสดงสำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ย้อนหลังเป็นเวลา 3 ปีต่อประธานวุฒิสภา ปกปิด หรือแสดงหลักฐานดังกล่าวอันเป็นเท็จ เว้นแต่เป็นผู้ที่ไม่ได้ตามที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องยื่นแสดงรายการเสียภาษี /รัฐมนตรีต้องไม่เป็นส.ส. ส.ว. ซึ่งเท่ากับย้อนกลับไปใช้เหมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือรัฐมนตรีต้องไม่เคยเป็นส.ว. ซึ่งสมาชิกภาพสิ้นสุดมาแล้วยังไม่เกิน 2 ปี นับถึงวันที่ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี

"ที่ประชุมยังเห็นควรกำหนดให้คณะรัฐมนตรีที่เข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา และชี้แจงให้ชัดเจนว่าจะดำเนินการเรื่องใด ในระยะเวลาใด เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันที่เข้ารับหน้าที่ กำหนดว่านายกรัฐมตรีและรัฐมนตรีต้องเข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา และให้ถือเป็นภารกิจสำคัญเหนือภารกิจอื่นใด" นายคำนูณ กล่าว

นายคำนูณ กล่าวว่า กำหนดให้มีมาตรการป้องปรามฝ่ายนิติบัญญัติจากฝ่ายบริหาร ในมาตรา 183 ที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีอาจเสนอขอความไว้วางใจในการบริหารราชการแผ่นดินจากสภาผู้แทนราษฎรได้ เพื่อพิจารณาลงมติภายใน 7 วันนับตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรียื่นเรื่องดังกล่าว และในกรณีที่มีเสียงไว้วางใจน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ นายกรัฐมนตรีสามารถกราบบังคมทูลเพื่อขอยุบสภาได้ และนายกรัฐมนตรียังสามารถผลักดันกฎหมายสำคัญในขณะที่เสถียรภาพรัฐบาลมีความสั่นคลอน โดยการนำกฎหมายดังกล่าวมาเป็นตัวท้าทายให้ยื่นญัตติไม่ไว้วางใจได้ หากไม่ยื่นจะทำให้กฎหมายผ่านโดยปริยาย แต่หากยื่นแล้วเสียงไม่ไว้วางใจมากกว่า ยังเปิดช่องให้นายกรัฐมนตรียุบสภาได้

ด้านนายบรรเจิด สิงคเนติ โฆษกกรรมาธิการฯ กล่าวว่า มาตรการต่าง ๆ ที่ออกมา จะทำให้รัฐบาลที่คาดว่าเป็นรัฐบาลผสมมีความเข้มแข็งในการทำงานด้านการบริหาร และอาจเป็นครั้งแรกที่จะมีพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะรัฐมนตรี เพื่อกำหนดกรอบขอบเขตการใช้อำนาจของรัฐมนตรี และจะกำหนดว่าการจะออกพระราชกำหนด จะต้องผ่านการประชุมของคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ไม่ใช่ใช้รัฐมนตรี 3 คน และในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไปขอความไว้วางใจในการบริหารราชการแผ่นดินตามมาตรา 183 เป็นเสมือนมาตรการในการปราบเพื่อส่งสัญญาณว่านายกรัฐมนตรีก็มีอำนาจในการยุบสภาได้

[attach=1]
ที่มา.-สำนักข่าวไทย http://www.tnamcot.com/
หาดใหญ่ใหม่ www.facebook.com/hatyaimai
เมืองหลวงภาคใต้ หลากหลายเรื่องราว บอกเล่าแบ่งปัน