ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

สะพัด แกรมมี่ บีบร้านอาหาร-ร้านค้าจ่ายลิขสิทธิ์เปิดเอ็ม.วี.จากยูทิวบ์

เริ่มโดย หาดใหญ่ใหม่, 10:23 น. 19 มี.ค 58

หาดใหญ่ใหม่

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์        http://manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9580000031908

สะพัด "แกรมมี่" บีบร้านอาหาร-ร้านค้าจ่ายลิขสิทธิ์เปิดเอ็ม.วี.จากยูทิวบ์ - หยิบคำพิพากษาตอกกลับยกฟ้องมาแล้ว
[attach=1]
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - วิจารณ์สนั่น "จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่" เข้มเปิดเอ็ม.วี.เพลงจากยูทิวบ์ในร้านอาหาร ผับ บาร์ คาราโอเกะ แม้แต่ร้านค้าทั่วไป ต้องขอลิขสิทธิ์ไม่ให้ถูกจับ พบอัตราค่าลิขสิทธิ์สุดโหด เหมาจ่ายปีละ 8 พัน สูงสุด 1.65 หมื่น ด้านทนายความยกคำพิพากษาศาลฎีการะยอง ระบุพิพากษายกฟ้อง เพราะไม่ได้เก็บค่าเปิดเพลงจากลูกค้า และไม่ได้ชาร์จรวมไปกับอาหารและเครื่องดื่ม
       
       วันนี้ (18 มี.ค.) หลังจากที่ค่ายเพลงจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ได้ขึ้นข้อความท้ายมิวสิควีดีโอแจ้งเตือนไปยังผู้ประกอบการร้านอาหาร ผับ บาร์ คาราโอเกะ หรือร้านค้าทั่วไป ว่า "หากมีการเปิดเพลงในสถานประกอบการ ถือว่าท่านกำลังเผยแพร่ลิขสิทธิ์เพลง จำเป็นต้องขออนุญาตให้ถูกต้อง เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกดำเนินคดีภายหลัง เปิดเพลงให้ถูกต้อง ถูกใจ ไม่ถูกจับ" พร้อมระบุหมายเลขโทรศัพท์สำหรับติดต่อสอบถามเรื่องลิขสิทธิ์เพลง โดยได้เริ่มขึ้นข้อความกับมิวสิควีดีโอเพลง "ทำไมต้องรัก" ซึ่งเป็นเพลงประกอบละครเรื่อง น้ำตากามเทพ ขับร้องโดยศิลปินดูโอ นิว จิ๋ว เมื่อวันที่ 16 มี.ค. ที่ผ่านมา ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมในการแสวงหาผลกำไรอย่างกว้างขวาง
       
       ทั้งนี้ ในโซเชียลมีเดียได้มีการส่งต่อบทความในหัวข้อ "เปิดฎีกา ตอกหน้าค่ายเพลง เจ้าของร้านอาหาร ร้านกาแฟ เปิดเพลงผ่าน Youtube ไม่ผิด" โดยเว็บไซต์ "ตั๋วทนาย.com" ซึ่งเขียนโดย นายกฤษดา ดวงชอุ่ม ทนายความ ระบุว่า จากกรณีที่บริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงรายใหญ่ของไทย ขึ้นข้อความหลังคลิปมิวสิคโวดิโอที่เพิ่งอัพโหลดใหม่ แจ้งเตือนไปยังผู้ประกอบการร้านอาหาร ผับ บาร์ คาราโอเกะ หรือร้านค้าทั่วไป ว่าการเปิดเพลงที่เป็นลิขสิทธิ์ของแกรมมี่ให้ลูกค้าฟังผ่าน Youtube ก็ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ หากต้องการเปิดแบบถูกต้อง จะต้องติดต่อขอสิทธิ์กับทางบริษัท ซึ่งโดยทั่วไปการเปิดผ่าน Youtube จะอนุญาตให้รับชมได้เฉพาะเป็นการส่วนตัวหรือในที่อยู่อาศัยเท่านั้น
       
       กรณีนี้เคยมีคำพิพากษาฎีกาที่เกี่ยวข้องซึ่งพอจะเทียบเคียงได้ กล่าวคือ
       
       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8220/2553
       พนักงานอัยการจังหวัดระยอง
       โจทก์
       
       นางสุรินทร์ XXX
       จำเลย
       
       กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
       
       ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง
       
       พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31, 70 วรรคสอง
       
       พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26
       
       โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยประกอบกิจการค้าขายอาหารตามสั่งและเครื่องดื่ม จำเลยเปิดแผ่นวีซีดีเพลง "กำลังใจที่เธอไม่รู้" อันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ซึ่งได้มีผู้ทำขึ้นหรือดัดแปลงขึ้นให้ลูกค้าในร้านอาหารของจำเลยฟัง ไม่ปรากฎว่าจำเลยเปิดเพลงเพื่อหากำไรโดยตรงจากการที่ให้ลูกค้าฟังเพลงโดยการเรียกเก็บค่าตอบแทนหรือเรียกเก็บเพิ่มรวมไปกับอาหารและเครื่องดื่มแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ประกอบมาตรา 70 วรรคสอง เพราะไม่ครบองค์ประกอบความผิดของบทมาตราดังกล่าว ซึ่งต้องเป็นการกระทำเพื่อหากำไรโดยตรงจากการละเมิดลิขสิทธิ์ แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง
       
       ________________________________
       
       โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 27, 28, 29, 30, 31, 69, 70, 75, 76 ริบโทรทัศน์สี เครื่องเล่นซีดี ดีวีดี และให้แผ่นซีดีเพลงจำนวน 19 แผ่น ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ของกลางตกเป็นของผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ และสั่งจ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
       
       จำเลยให้การรับสารภาพ
       
       ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ของกลางคืนให้แก่เจ้าของ
       
       โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
       
       ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ประกอบมาตรา 70 วรรคสอง เห็นว่า พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้ใดรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานใดได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานนั้นเพื่อหากำไร ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ (2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน..." ความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงต้องเป็นการเผยแพร่งานนั้นต่อสาธารณชน "เพื่อหากำไร" ซึ่งหมายความว่า กำไรนั้นหากจำเลยได้มาหรือจะได้มาจะต้องเกิดจากการกระทำแก่งานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น แต่ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องได้ความว่า จำเลยประกอบกิจการค้าขายอาหารตามสั่งและเครื่องดื่ม จำเลยเปิดแผ่นวีซีดีเพลง "กำลังใจที่เธอไม่รู้" อันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ซึ่งได้มีผู้ทำขึ้นหรือดัดแปลงขึ้นให้ลูกค้าในร้านอาหารของจำเลยฟัง ไม่ปรากฏว่าจำเลยเปิดเพลงเพื่อหากำไรโดยตรงจากการที่ให้ลูกค้าได้ฟังเพลง โดยการเรียกเก็บค่าตอบแทนจากลูกค้าในการเปิดเพลง หรือเรียกเก็บเพิ่มรวมไปกับค่าอาหารและเครื่องดื่มแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ประกอบมาตรา 70 วรรคสอง เพราะไม่ครบองค์ประกอบความผิดของบทมาตราดังกล่าวซึ่งต้องเป็นการกระทำเพื่อหากำไรโดยตรงจากการละเมิดลิขสิทธิ์ แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
       
       พิพากษายืน
       
       สาระสำคัญในคำวินิจฉัยคือ
       
       กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานนั้นเพื่อหากำไร คือกำไรโดยตรงไม่ได้มาจากการเปิดเพลง แต่มาจากอาหาร
       
       ซึ่งคีย์เวิร์ดให้จำง่ายๆ นะครับ "ไม่ปรากฏว่าจำเลยเปิดเพลงเพื่อหากำไรโดยตรงจากการที่ให้ลูกค้าได้ฟังเพลง โดยการเรียกเก็บค่าตอบแทนจากลูกค้าในการเปิดเพลง หรือเรียกเก็บเพิ่มรวมไปกับค่าอาหารและเครื่องดื่มแต่อย่างใด"
       
       ซึ่งทางเว็บมองว่าการกระทำดังกล่าวมิได้ทำเพื่อการหากำไรจากงานที่ละเมิดลิขสิทธิ์จึงไม่เข้าข่ายความผิดอยู่ดี
หาดใหญ่ใหม่ www.facebook.com/hatyaimai
เมืองหลวงภาคใต้ หลากหลายเรื่องราว บอกเล่าแบ่งปัน