ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

สาระน่ารู้จาก ธปท.ภาคใต้ ตอน ความจริงอีกด้านของเหรียญ

เริ่มโดย ทีมงานประชาสัมพันธ์, 11:10 น. 25 มี.ค 58

ทีมงานประชาสัมพันธ์

ความจริงอีกด้านของเหรียญ

นอกจากการดูแลเสถียรภาพทางการเงิน และเสถียรภาพระบบสถาบันการเงินแล้ว การออกและจัดพิมพ์ ธนบัตรก็ถือเป็นอีกหน้าที่ที่สำคัญประการหนึ่งของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวอาจ ทำให้บางท่านเข้าใจว่าการผลิตเหรียญกษาปณ์นั้นเป็นหนึ่งในหน้าที่ของ ธปท. ด้วยเช่นกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักกษาปณ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการในสังกัดกรมธนารักษ์ นอกจากประเด็นข้างต้นแล้ว ยังมีข้อเท็จจริงบางส่วนของเหรียญกษาปณ์ที่น่าสนใจ และน่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้บริการทางการเงิน

[attach=1]

สถานที่ผลิตเหรียญกษาปณ์ โรงกษาปณ์มีหน้าที่ผลิตเหรียญกษาปณ์หมุนเวียน เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เป็นต้น ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ส่วนการจัดพิมพ์ธนบัตรนั้น จะทำการผลิตที่โรงพิมพ์ธนบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ซึ่งผลิตภัณฑ์อื่น ๆ นอกเหนือจากธนบัตรหมุนเวียนและธนบัตรที่ระลึก ยังมีการรับผลิตอากรแสตมป์ และดวงตราไปรษณียากร อีกด้วย

สินทรัพย์ที่ใช้หนุนหลังในการผลิตเหรียญกษาปณ์ ในการผลิตธนบัตรเพื่อออกใช้จำเป็นต้องมีสินทรัพย์หนุนหลังเป็นทุนสำรองเงินตราในการผลิต ในขณะที่การผลิตเหรียญกษาปณ์นั้นไม่จำเป็นต้องมีสินทรัพย์หนุนหลัง เนื่องจากเหรียญกษาปณ์นั้นมีมูลค่าในตัวอยู่แล้ว ต่างจากธนบัตรที่ต้องมีทุนสำรองเงินตราเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเป็นหลักประกันว่าธนบัตรที่ออกใช้มีมูลค่าตามที่ตราไว้

การชำระหนี้ด้วยเหรียญกษาปณ์ แม้ว่าเหรียญกษาปณ์จะสามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย แต่ตามพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 ได้บัญญัติไว้ว่า "เหรียญกษาปณ์เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายไม่เกินจำนวนที่กำหนดโดยกฎกระทรวง" โดยมีรายละเอียดดังนี้ เหรียญกษาปณ์ชนิด 25 หรือ 50 สตางค์ ชำระได้ไม่เกิน 10 บาท, เหรียญกษาปณ์ชนิด 1, 2 หรือ 5 บาท ชำระได้ไม่เกิน 500 บาท และ เหรียญกษาปณ์ชนิด 10 บาท ชำระได้ไม่เกิน 1,000 บาท ส่วนธนบัตรสามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมายโดยไม่จำกัดจำนวน

เกณฑ์ในการรับแลกเหรียญกษาปณ์ชำรุด  เหรียญที่ชำรุดจากการใช้ สึกกร่อนตามธรรมชาติ สามารถรับแลกเปลี่ยนได้เต็มราคาหน้าเหรียญ แต่หากถูกตัด ถูกตอก หรือถูกกระทำด้วยประการใด ๆ ให้บุบสลาย จะรับแลกเปลี่ยนได้เพียงครึ่งราคาของเหรียญกษาปณ์นั้น ทั้งนี้ เหรียญดังกล่าวต้องสามารถมองเห็นลวดลายด้านหน้าหรือหลังว่าเป็นเหรียญชนิดราคาใด และต้องไม่เจาะรูทะลุเกินกว่า 2 ใน 5 ของขนาดเดิม หรือมีน้ำหนักไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของน้ำหนักเดิม ขอบด้านนอกของเหรียญกษาปณ์ต้องไม่ถูกตัดขาดเกินกว่า 2 ใน 5 ของขนาดเดิม หรือต้องมีน้ำหนักไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของน้ำหนักเดิม

การรับแลกเหรียญกษาปณ์คราวละมาก ๆ หากท่านเป็นผู้ที่มีเงินเหรียญในครอบครองเป็นจำนวนมาก และมีความประสงค์ที่จะแลกเป็นธนบัตร ท่านสามารถติดต่อสำนักงานธนารักษ์พื้นที่ ซึ่งในพื้นที่ภาคใต้มีสถานที่ทำการอยู่ 2 แห่ง คือ สำนักงานธนารักษ์พื้นที่ จังหวัดสงขลา และสำนักงานธนารักษ์พื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยผู้ที่ประสงค์จะแลกเหรียญจะต้องโทรศัพท์ไปจองคิวล่วงหน้า และแลกได้สูงสุดคราวละ 50,000 บาท โดยเจ้าหน้าที่จะทำการตรวจนับด้วยเครื่องจักร แต่หากไม่ทำการนัดล่วงหน้า จะสามารถแลกได้คราวละไม่มาก และผู้แลกจะต้องทำการตรวจนับเอง.

ข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้
ขอบคุณภาพประกอบจาก http://teen.mthai.com