ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

นักวิชาการ มทร.ศรีวิชัย เผยถ้าฟื้นฟูและพัฒนาเมืองเก่าต้องสร้างอาชีพในพื้นที่

เริ่มโดย ทีมงานประชาสัมพันธ์, 10:28 น. 19 พ.ค 58

ทีมงานประชาสัมพันธ์

นักวิชาการ มทร.ศรีวิชัย ระบุการฟื้นฟูชุมชนและการพัฒนาเมืองเก่าด้วยการรักษาหลักฐานทางโบราณคดี สร้างอาชีพในพื้นที่ ควบคู่กับการพัฒนาเมืองตามข้อบัญญัติท้องถิ่น จะสามารถอนุรักษ์เมืองเก่าได้อย่างยั่งยืน

[attach=1]

วานนี้ (18 พ.ค. 58) ที่ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดสงขลา ดร.จเร สุวรรณชาต อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย สงขลา ร่วมให้สัมภาษณ์ในรายการ "หนึ่งถ้วยกาแฟ" ซึ่งออกอากาศทางคลื่นความถี่ 102.25 เมกกะเฮิร์ตซ เกี่ยวกับการรักษาเมืองเก่าสงขลา โดยมี นายณรงค์ ชื่นนิรันดร์ ผู้อำนวยการสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดสงขลา เป็นผู้ดำเนินรายการ ว่า ตนเองเป็นคนจังหวัดสงขลาโดยกำเนิด อาศัยอยู่ในบริเวณชุมชนถนนศรีสุดา ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา จึงได้เห็นเรื่องราวความเป็นมาของเมืองสงขลาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ควบคู่กับการย้ายถิ่นฐานของคนรุ่นใหม่ที่นิยมออกไปทำงานนอกพื้นที่เนื่องจากยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป

ดังนั้น ตนเองและภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม จึงได้รวมตัวกันเพื่อดำเนินงานในการรักษาเมืองเก่าสงขลา ซึ่งถือเป็นเมืองเก่า 1 ใน 10 เมืองของประเทศไทย ตามมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบให้บริเวณเมืองเก่าได้รับการคุ้มครอง ดูแลอย่างถูกต้องเหมาะสม มีการบริหารจัดการอย่างเป็นรูปธรรม เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมต่อไป นอกจากนี้ความพิเศษของเมืองสงขลาอีกหนึ่งอย่างที่สำคัญ คือ การเป็นเมืองสำคัญในการตั้งชาติ ซึ่งในพื้นที่ภาคใต้มีเพียง 2 เมือง เท่านั้น คือ เมืองสงขลา และเมืองนครศรีธรรมราช

ทั้งนี้ เขตเมืองเก่าโซนไข่แดง หรือ Core Zone ในจังหวัดสงขลา เริ่มตั้งแต่เส้นทางถนนนครนอก ถนนนครใน และถนนนางงาม ซึ่งขณะนี้ทางเทศบาลนครสงขลาได้มีการออกข้อบัญญัติท้องถิ่นในการควบคุมอาคารสูงไม่ให้กระทบกับทัศนียภาพในการมองเห็นชุมชนเมืองเก่าในบริเวณดังกล่าว พร้อมเร่งผลักดันมาตรการเสริมแรงกับโครงการต่างๆ ที่เป็นการสนับสนุนทัศนียภาพที่สวยงาม เช่น โครงการสายไฟฟ้าลงดิน ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการเกือบแล้วเสร็จ ควบคู่กับการดูแลความสะอาดด้วย

จากเหตุผลดังกล่าวจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ชาวสงขลาทุกคนจะต้องหันมาร่วมกันรักษาหลักฐานทางโบราณคดี เรื่องราวต่างๆในอดีตให้คงไว้ ควบคู่กับการปรับเปลี่ยนให้มีความเหมาะสมกับวิถีชีวิตคนปัจจุบัน เพื่อลดการย้ายถิ่นฐานของคนรุ่นใหม่ เช่น การสร้างอาชีพในพื้นที่ให้น่าสนใจ เพื่อให้ลูกหลานของคนในชุมชนเมืองเก่าได้ดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข ซึ่งจะเป็นการช่วยรักษาเมืองเก่าให้คงอยู่อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ทางภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม ได้ร่วมกับหลายหน่วยงานในการจัดการประชุม IMT-GT 2015 International Symposium on Livable Old – Town ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 28-29 พฤษภาคม 2558 ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา นำร่องในการยกระดับการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ภายใต้กรอบความร่วมมือสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ IMT-GT ของยุทธศาสตร์ Old Town Tourism เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยว แบ่งปันประสบการณ์ และสร้างความร่วมมือระหว่าง 7 เมืองเก่าใน 3 ประเทศ ได้แก่ 1.เมืองสงขลา และเมืองภูเก็ตของประเทศไทย 2.เมืองปาเลมบัง เมืองเมดาน และเมืองโกตาซาวาลุนโต ของประเทศอินโดนีเซีย 3.เมืองมะละกา และเมืองปีนัง ของประเทศมาเลเซีย เพื่อเป็นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ ตลอดจนสรรหาผลงานการค้นคว้าทางวิชาการเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองเก่า ทั้งด้านการอนุรักษ์เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยว นำมาปรับใช้ในการพัฒนาเมืองเก่าสงขลา เพื่อยกระดับเมืองเก่าสงขลาไปสู่การเป็นเมืองมรดกแห่งภูมิภาคอาเซียน และเมืองมรดกโลก ร่วมกับเมืองเก่ามะละกา เมืองเก่าปีนัง และเมืองเก่าอื่นๆ ในภูมิภาคนี้

ทั้งนี้ การจัดประชุมวิชาการระดับนานาชาติ IMT-GT เป็นการเผยแพร่ความรู้เรื่องเมืองเก่าสงขลา และเมืองเก่าอีก 6 เมือง จาก 3 ประเทศ ช่วยสร้างโลกทัศน์ และความตระหนักในคุณค่าความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมืองที่อาศัยอยู่ กระตุ้นให้ทุกภาคส่วนร่วมกันรักษา และฟื้นฟูมรดกทางวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการพัฒนาการท่องเที่ยวร่วมกันระหว่าง 7 เมืองเก่า เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ จังหวัดสงขลา โดยจะมีการจัดเวทีเสวนาในหัวข้อ มองไปข้างหน้าสู่ความร่วมมือเมืองเก่าที่น่าเที่ยว และการนำเสนอผลงานวิชาการจากตัวแทนของทั้ง 3 ประเทศ สอดคล้องต่อประกาศคณะรัฐมนตรีเรื่องขอบเขตเมืองเก่าสงขลา พ.ศ.2554 ที่ประกาศให้สงขลาเป็น 1 ใน 10 เมืองเก่า และเป็น 1 ใน 2 เมืองในภาคใต้ ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดี อีกทั้งยังมีหลักฐานของงานศิลปกรรมที่บ่งบอกถึงความเป็นเอกลักษณ์ของอาณาจักรนั้นๆ อีกด้วย

ข้อมูลและที่มา
สุธิดา พฤกษ์อุดม / ข่าว สวท.สงขลา 18 พ.ค. 2558