ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

เดินหน้าผลักดันผู้ประกอบการ OTOP ใต้ ยกระดับคุณภาพ ที่จังหวัดสงขลา

เริ่มโดย ทีมงานประชาสัมพันธ์, 16:32 น. 29 พ.ค 58

ทีมงานประชาสัมพันธ์

กรมวิทยาศาสตร์บริการ เดินหน้าผลักดันผู้ประกอบการ OTOP พื้นที่ภาคใต้ยกระดับคุณภาพสินค้า เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ที่ จ.สงขลา

[attach=1]

วันนี้ (29 พ.ค.58)  โรงแรมบุรีศรีภูฯ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ดร.สุทธิเวช ต.แสงจันทร์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ เป็นประธานปิดโครงการ "ยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP ในพื้นที่ภาคใต้ สู่การรับรองมาตรฐาน"  พร้อมร่วมแถลงข่าวโครงการร่วมกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ คำรณ พิทักษ์ ที่ปรึกษาและผู้กำกับดูแลโครงการ โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้แทนจากอุตสาหกรรมจังหวัด พัฒนาชุมชน สาธารณสุขจังหวัด ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน OTOP ภาคใต้เข้าร่วมงานกว่า 200 คน

ดร.สุทธิเวช ต.แสงจันทร์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์บริการ มีบทบาทในการใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการเสริมสร้างขีดความสามารถเพื่อแข่งขันภายใต้ยุทธศาสตร์ประเทศ พร้อมส่งเสริมผู้ผลิตสินค้าภายในประเทศ ด้วยการพัฒนาและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP สู่การแข่งขันทางการค้า รวมถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค ซึ่งในปีงบประมาณ 2557 กรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้ร่วมกับหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในการพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน OTOP ในพื้นที่ภาคใต้  มากกว่า 100 ราย และผลักดันให้มีสินค้า OTOP ในการยื่นขอการรับรองไม่น้อยกว่า 300 ผลิตภัณฑ์ ภายใต้งบประมาณ 10 ล้านบาท โดยดำเนินการจัดฝึกอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีมาตรฐานการผลิตขั้นต้น (Primary GMP) และมาตรฐานต่างๆ แก่ผู้ประกอบการสินค้า OTOP ทั่วทั้งภาคใต้ อีกไม่น้อยกว่า 1,200 คน

ด้าน รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า การยกระดับมาตรฐานสินค้า OTOP เป็นงานสำคัญในการพัฒนาอาชีพและสร้างรายได้ที่มั่นคงในการพัฒนาเศรษฐกิจระดับชุมชน ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคมั่นใจในผลิตภัณฑ์ OTOP ที่ผลิตในประเทศสูงขึ้น อีกทั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมต่อผู้ประกอบการ OTOP ภาคใต้ ซึ่งได้รับเสียงสะท้อนถึงความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมโครงการเป็นอย่างมาก ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนสถานที่ผลิตและวิธีการผลิตตามหลักสากลด้านความปลอดภัยในการผลิตสินค้า โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตอาหาร ทำให้หลายปัญหา เช่น เชื้อจุลินทรีย์ หรือสิ่งปนเปื้อนต่างๆ ลดลง ส่งผลต่อคุณภาพที่ดี และสามารถเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ได้ยาวนานขึ้น 

ทั้งนี้ จากการดำเนินโครงการฯ กว่า 1 ปี มีผู้ประกอบการ OTOP ของภาคใต้ เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 109 ราย ซึ่งมีผู้ประกอบการ จำนวน 13 ราย 52 ผลิตภัณฑ์ ตั้งใจจะปรับปรุงโรงเรือนสถานที่ผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานการผลิตขั้นต้น สามารถขอมาตรฐานการรับรองอาหารและยา (อย.) ได้ และมีผู้ประกอบการอีก 57 ราย 256 ผลิตภัณฑ์ ที่จะปรับปรุงผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน จนสามารถเข้าสู่กระบวนการยื่นขอรับรองมาตรฐานได้ทั้งหมดอีกด้วย

ข้อมูลและที่มา
สุธิดา พฤกษ์อุดม / ข่าว สวท.สงขลา 29-05-58