ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

ทม.บ้านพรุ เตรียมสร้างโรงงานเผาขยะมูลฝอยชุมชนเพื่อผลิตไฟฟ้ามูลค่า 600 ล.

เริ่มโดย หาดใหญ่ใหม่, 17:05 น. 10 มิ.ย 58

หาดใหญ่ใหม่

โครงการก่อสร้างโรงงานเผาขยะมูลฝอยชุมชนเพื่อผลิตไฟฟ้า

[attach=1]
เหตุผลความจำเป็น และวัตถุประสงค์ของโครงการ
ในปัจจุบันเทศบาลเมืองบ้านพรุใช้ระบบฝังกลบในการกำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลบนพื้นที่ 107 ไร่ 35 ตร.วา ประกอบด้วย บ่อฝั่งกลบขยะ 5 บ่อ บ่อบำบัดน้ำเสีย 3 บ่อ อาคารสำนักงาน อาคารเครื่องชั่ง และโรงจอดเครื่องจักร ซึ่งขณะนี้ใช้พื้นที่ไปแล้วประมาณ 40 ไร่ เทศบาลเมืองบ้านพรุวางแผนก่อสร้างบ่อฝังกลบขยะออกเป็น 5 ระยะ

ระยะที่ 1 ได้รับงบประมาณจากกรมควบคุมมลพิษ วงเงิน 40 ล้านบาท เปิดใช้งานในปี 2542 และปิดบ่อในปี 2550

ระยะที่ 2 ได้รับงบประมาณจาก อบจ.สงขลา วงเงิน 12 ล้านบาท เปิดใช้งานในปี 2550 และ ปิดบ่อในปี 2556

ระยะที่ 3 อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง โดยได้รับงบประมาณจาก อบจ.สงขลา วงเงิน 15 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดใช้งานในเดือนมิถุนายน 2558 ซึ่งจะรองรับปริมาณขยะได้ 4-5 ปี หลังจากนั้นต้องทำการก่อสร้างบ่อฝังกลบในระยะที่ 4 และ 5 ต่อไป ซึ่งการก่อสร้างบ่อฝังกลบใหม่ต้องใช้งบประมาณ 15-20ล้านบาท และยังต้องทำการรื้อร่อนขยะจากบ่อฝังกลบระยะที่ 1 ซึ่งต้องใช้งบประมาณสูงมาก

นอกจากปัญหาด้านงบประมาณในการรื้อร่อนขยะดังกล่าวแล้ว การที่เทศบาลเมืองบ้านพรุจะสร้างบ่อฝังกลบใหม่ในแต่ละครั้งก็ต้องพึ่งพาหน่วยงานอื่นๆ และในอนาคตเมื่อดินลูกรังที่จะนำมาใช้ฝังกลบหมดลง เทศบาลเมืองบ้านพรุจำเป็นต้องซื้อดินลูกรังมาใช้ ทำให้ต้นทุนในการฝังกลบขยะสูงขึ้น

อีกทั้งเทศบาลเมืองบ้านพรุ เป็นเมืองที่ขยายตัวเร็วมากปริมาณขยะจึงเพิ่มขึ้นด้วย หากไม่มีระบบการจัดการขยะที่ดีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมย่อมตามมาจนยากที่จะแก้ไขได้ ในปัจจุบันบ่อฝังกลบขยะของเทศบาลเมืองบ้านพรุ มีขยะที่ต้องกำจัดวันละ 80 ตัน จากเทศบาลเมืองบ้านพรุ เทศบาลเมืองคอหงส์ เทศบาลตำบลพะตง เทศบาลตำบลบ้านไร่ และองค์การบริหารส่วนตำบลพะตง คาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าปริมาณขยะจะเพิ่มขึ้นเป็น 150 ตันต่อวัน

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ประกอบกับ Roadmap ของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ด้านการจัดการขยะ ส่งผลให้จังหวัดสงขลาวางแผนการจัดการขยะโดยการแบ่งพื้นที่การกำจัดขยะเป็น 5 พื้นที่หลัก ได้แก่ 1.พื้นที่เทศบาลนครหาดใหญ่ 2.พื้นที่เทศบาลนครสงขลา 3.พื้นที่เทศบาลเมืองบ้านพรุ 4.พื้นที่เทศบาลเมืองสะเดา ใช้วิธีการก่อสร้างโรงงานเผาขยะมูลฝอย เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า(Waste to Energy) และ 5.พื้นที่เทศบาลตำบลบ่อตรุ ใช้วิธีฝังกลบแบบถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล (Sanitary Landfill)

เทศบาลเมืองบ้านพรุ เห็นว่าวิธีการก่อสร้างโรงงานเผาขยะมูลฝอย เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า เป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการขยะที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นได้เป็นอย่างดี เห็นได้จากความสำเร็จในต่างประเทศ อาทิ ไต้หวัน ญี่ปุ่น เยอรมัน สวีเดน ซึ่งนำขยะมาแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยไม่มีมลภาวะ เนื่องจากมีระบบการป้องกันอย่างดีในเรื่องอากาศ น้ำ และเสียงดังนั้น เทศบาลเมืองบ้านพรุจึงได้ดำเนินการขออนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาแต่งตั้งคณะกรรมการจัดหาประโยชน์ทรัพย์สินของเทศบาล และแต่งตั้งคณะกรรมการร่างขอบเขตของงาน (Term of Reference, TOR.) พร้อมทั้งประกาศประกวดราคาให้เอกชนมาลงทุนก่อสร้างโรงงานเผาขยะผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า เพื่อแก้ปัญหาการจัดการขยะมูลฝอยในระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สาระสำคัญของโครงการ
โครงการใช้วิธีกำจัดมูลฝอยแบบผสมผสาน เป็นการกำจัดมูลฝอยแบบ 4 วิธีมารวมกัน คือ
(1) การคัดแยกขยะมูลฝอย
(2)การหมักแบบชีวภาพ
(3) การเผาในเตาเผา
และ (4) การฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล

นอกจากนี้ในแผนการจัดการกำจัดนี้ยังต้องประกอบด้วยแผนงานลดปริมาณมูลฝอยจากแหล่งกำเนิด และการนำมูลฝอยหมุนเวียนกลับไปใช้ใหม่ด้วย จะทำให้แผนการกำจัดมูลฝอยรวมมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นการกำจัดมูลฝอยแบบผสมผสานนี้ทำให้ปริมาณมูลฝอยที่จะ นำไปกำจัดในแต่ละวิธีมีปริมาณที่ลดลง ซึ่งจะส่งผลในด้านการลดขนาดของระบบกำจัด ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดมูลฝอยทั้ง 4 วิธี เช่น โรงเตาเผาใช้เชื้อเพลิงคัดแยกจากขยะน้อยลง ได้รับความร้อนจากการเผาสูงขึ้นผลิตความร้อนหรือกระแสไฟฟ้าได้มากขึ้น

ในส่วนของการหมักขยะแบบชีวภาพ มีส่วนในการปรับปรุงคุณภาพของปุ๋ยที่ได้จากการหมัก เพื่อให้ปุ๋ยมีคุณภาพดีขึ้นเป็นที่ต้องการของตลาด ส่วนการฝังกลบ มีส่วนทำให้ปัญหาทางด้านน้ำชะมูลฝอย (Leachate) ก๊าซ และสารพิษลดลง เนื่องจากสารที่ย่อยสลายได้ง่าย เช่น เศษอาหาร และมูลฝอยอันตรายที่จะนำไปกำจัด โดยการฝังกลบมีปริมาณลดลง

ผู้ดำเนินการ
บริษัท พี แอนด์ ซี กรุ๊ป จำกัด เป็นผู้ดำเนินการและลงทุน โดยมี บริษัท ศแบง คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นผู้ออกแบบทางวิศวกรรมและก่อสร้างระบบโรงเผาไหม้ขยะ

สถานที่ที่จะดำเนินการ
ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเทศบาลในพื้นที่หมู่ที่ 9 ต.บ้านพรุ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มีพื้นที่ 30 ไร่ เป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ของเทศบาลเมืองบ้านพรุ ห่างจากเทศบาล 8 กิโลเมตร ตามถนนกาญจนวนิชซึ่งเป็นถนนสายหลัก โดยมีทางแยกเข้าทางถนนฮกเต็กวิถี อีกประมาณ 4 กิโลเมตร

ขั้นตอนและระยะเวลาดำเนินการ

แผนงานโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า มีลำดับดังนี้
- งานออกแบบโรงไฟฟ้าและขออนุมัติแบบก่อสร้าง
- งานก่อสร้างฐานราก และอาคารภายในโรงไฟฟ้า
- งานผลิตและส่งมอบเครื่องจักรจากต่างประเทศ
- งานติดตั้งเครื่องจักรโรงไฟฟ้า
- งานติดตั้งระบบไฟฟ้าและระบบควบคุมโรงไฟฟ้า
- งานทดสอบระบบและส่งมอบโรงไฟฟ้า
รวมระยะเวลาการก่อสร้าง ไม่เกิน 730 วัน

ผลผลิตและผลลัพธ์ของโครงการ
- กำจัดขยะชุมชนได้วันละ 150 ตัน/วัน
- ผลิตไฟฟ้าขนาด 39,200,000 kWhr/ปี
- ปุ๋ยเตรียมดินประมาณ 13,000 ตัน/ปี

ผลประโยชน์ที่เทศบาลเมืองบ้านพรุจะได้รับ
- ค่าเช่าที่ดิน 30 ไร่ เป็นเงิน 50 ล้านบาท/ปี
- 3 % ของรายได้ที่จำหน่ายให้การไฟฟ้าฯ เป็นเงิน 50 ล้านบาท/ปี
- ประหยัดงบประมาณที่ต้องจ่ายค่ากำจัดขยะมูลฝอย เทศบาลเมืองบ้านพรุ เป็นเงิน 50 ล้านบาท/ปี
- ส่วนต่างค่ากำจัดขยะ 100 บาท/ตัน เป็นเงิน 50 ล้านบาท/ปี
- เครื่องจักรที่จำเป็นต้องใช้เพื่อกำจัดขยะมูลฝอย เป็นเงินหลายล้านบาท ประกอบด้วยรถแบ๊คโฮ ,รถแทรกเตอร์ ,รถบรรทุกดิน และ รถบรรทุกน้ำ
- ขยะเก่าที่ฝังกลบไปแล้ว (การรื้อร่อน) 350,000 ตัน ได้รับการกำจัดประหยัดงบประมาณคิดเป็นเงิน 0 ล้านบาท
- หมดภาระด้านงบประมาณในการก่อสร้างบ่อฝังกลบขยะซึ่งต้องใช้งบประมาณหลายล้านบาท

ผลประโยชน์ที่เทศบาลตำบลบ้านไร่จะได้รับ (เนื่องจากที่ตั้งของโรงงานเผาขยะผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าตั้งอยู่ในเขตพื้นที่เทศบาลตำบลบ้านไร่)
- ภาษีโรงเรือน 5% ของค่าเช่าที่ดิน 30 ไร่ เป็นเงิน 200,000 บาท/ปี
- กองทุนพัฒนาไฟฟ้า เป็นเงิน 700,000 – 1,000.000บาท/ปี
- ประหยัดงบประมาณที่ต้องจ่ายค่ากำจัดขยะมูลฝอย เทศบาลตำบลบ้านไร่ เป็นเงิน 1,600,000 บาท/ปี
- หมดภาระด้านงบประมาณในการก่อสร้างบ่อฝังกลบขยะ
- หมดภาระด้านงบประมาณในการร่วมจ่ายเพื่อซ่อมบำรุงเครื่องจักรบ่อฝังกลบขยะ
- มีสถานที่กำจัดขยะอย่างยั่งยืน ในอีก 25 ปีข้างหน้า
- ไม่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมจากสถานที่กำจัดขยะ

ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชนที่อาศัยหรือประกอบอาชีพในสถานที่ ที่จะดำเนินโครงการ และ พื้นที่ใกล้เคียง และประชาชนทั่วไป รวมทั้งมาตรการป้องกัน แก้ไข หรือ เยียวยาความเดือดร้อนหรือความเสียหายที่อาจเกิดจากผลกระทบดังกล่าว

ลักษณะผลกระทบที่เกิดขึ้นและมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม
- เศษวัสดุที่เหลือจากกระบวนการผลิตเชื้อเพลิงขยะอาร์ดีเอฟ
- เศษขยะอนินทรีย์ ที่เผาไหม้ไม่ได้ และนำไปหมุนเวียนกลับมาใช้ไม่ได้ จะถูกฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล ส่วนที่เป็นดิน หิน ทราย เศษกระเบื้อง คอนกรีต ฯลฯ สามารถนำไปถมที่ได้
- น้ำเสียจากขยะ และการชำระล้างรถเก็บขนขยะ จะถูกส่งไปที่บ่อรวบรวมน้ำเสีย แล้วส่งต่อไปที่บ่อบำบัดน้ำเสีย สุดท้ายไปที่บ่อระเหย จะไม่มีการปล่อยน้ำเสียออกจากโครงการ
- เศษโลหะ นำไปจำหน่ายเพื่อรีไซเคิล
- เศษวัสดุที่เหลือจากกระบวนการผลิตไฟฟ้า
- ขี้เถ้าที่เหลือจากการเผาไหม้ จะมีการปรับเสถียร และฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล
- อากาศที่เหลือจากการเผาไหม้ จะเข้าสู่ระบบบำบัดอากาศที่เหลือจากการเผาไหม้แบบระบบแห้ง (Dry scrubber) และจะมีการตรวจวัดคุณภาพอากาศ รวมทั้งระบบติดตาม CEMS
- น้ำที่เหลือจากระบบผลิตไฟฟ้า นำมารดน้ำต้นไม้ภายในโรงงาน
- เศษวัสดุที่เหลือจากกระบวนการผลิตปุ๋ยเตรียมดิน
- เศษขยะอนินทรีย์ที่เผาไหม้ไม่ได้ และนำไปหมุนเวียนกลับมาใช้ไม่ได้ จะถูกฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล ส่วนที่เป็นดิน หิน ทราย เศษกระเบื้อง คอนกรีต ฯลฯ สามารถนำไปถมที่
- อากาศที่เหลือจากระบบผลิตปุ๋ยเตรียมดิน จะใช้มาตรการป้องกันระบบไบโอฟิลเตอร์
- เสียงที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินการจะมีการติดตั้งเครื่องดูดซับเสียง (Silencer) บริเวณเครื่องจักรที่มีเสียงดัง

การดำเนินการด้านการขนส่ง
มีการบริหารจัดการขนส่งขยะในช่วงที่กำหนดเท่านั้นรวมถึงบันทึกสถิติการเกิดอุบัติเหตุด้วย ประมาณการค่าใช้จ่าย ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐจะเป็นผู้ดำเนินโครงการของรัฐเองให้ระบุที่มาของเงินที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินโครงการของรัฐเองให้ระบุที่มาของเงินที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินโครงการนั้นด้วย

งบประมาณของโครงการรวมทั้งสิ้น 600 ล้านบาท โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด
หาดใหญ่ใหม่ www.facebook.com/hatyaimai
เมืองหลวงภาคใต้ หลากหลายเรื่องราว บอกเล่าแบ่งปัน

charyen

เป็นโครงการที่ดีครับ นำสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ มาทำให้เป็นประโยชน์ รอดูผลงานครับ  ส.ตากุลิบกุลิบ ส.ตากุลิบกุลิบ ส.ตากุลิบกุลิบ
รับเขียนโปรแกรม สอนเขียนโปรแกรม หาดใหญ่ สงขลา

https://www.facebook.com/CharyenSoftwareHatyai/