ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

จริงหรือ..? เล่ห์การตลาดนมผง ทำเด็กไทยกิน'นมแม่'ไม่ครบเกณฑ์

เริ่มโดย หาดใหญ่ใหม่, 16:13 น. 14 ก.ค 58

หาดใหญ่ใหม่

โดย ไทยรัฐออนไลน์ http://www.thairath.co.th/content/510754

นมแม่ดีที่สุด! ในช่วงไม่กี่ปีมานี้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กลายเป็นเทรนด์ฮิตของคุณแม่ลูกอ่อนหลายๆ คน หลังจากที่เปิดทุกมิติของนมแม่ ใน ฟังให้รอบด้าน เสี่ยงจริงไหม? นมจากอกให้ลูกคนอื่น และ คนเป็นแม่ต้องรู้! นมผง VS นมเต้า ความต่างราวฟ้ากับเหว วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาทุกท่านไปเจาะลึกถึงสาเหตุที่ทำให้เด็กไทยไม่ได้รับสารอาหารอันมากล้นในนมแม่ ทั้งที่ทำให้เด็กแข็งแรงกว่าเด็กที่ทานนมผง ...

บริษัทนมผงรุกหนัก แจก-แถม ตั้งแต่ในโรงพยาบาล

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ได้ทำการสำรวจโรงพยาบาลเอกชนชื่อดัง 5 แห่ง ในกรุงเทพมหานคร พบว่า ในโรงพยาบาลทั้ง 5 แห่ง มีการแจกตัวอย่างนมผงให้กับแม่และทารกแรกคลอดในโรงพยาบาล ผ่านรูปแบบของขวัญที่เรียกว่า "กิฟต์เซต" ซึ่งประกอบด้วย กระเป๋า ของเล่น ของใช้เด็กทารก และผลิตภัณฑ์ตัวอย่างนมผงจากบริษัทต่าง ๆ

การแจกตัวอย่างนมผงเกิดขึ้นทั้งในโรงพยาบาลเอกชนทั่วไปและโรงพยาบาลที่สนับสนุนนมแม่ แต่ในโรงพยาบาลที่มีนโยบายสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จะมีการพาทารกมาหาแม่เพื่อกระตุ้นน้ำนมในทุก 3-4 ชั่วโมง และยังไม่ให้นมชงแก่ทารกแรกคลอด ส่วนการเลือกระหว่างการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และนมผง ขึ้นอยู่กับแม่เป็นคนเลือก แต่โรงพยาบาลที่ไม่ได้สนับสนุนนมผงจะมีการนำนมชงให้ทารกกินในเนิร์สเซอรี่ของโรงพยาบาล ซึ่งทำให้เด็กติดขวดและปฏิเสธการดูดนมแม่ได้

บุคลากรทางแพทย์ท่านหนึ่ง (ไม่ประสงค์เปิดเผยชื่อ) ระบุว่า การส่งเสริมการตลาดของบริษัทนมผง เป็นปัจจัยขัดขวางที่ทำให้แม่นั้นตัดสินใจเลือกเลี้ยงด้วยนมตนเอง โดยการส่งเสริมการตลาดประกอบด้วย การโฆษณา การแจกตัวอย่างผลิตภัณฑ์ การที่บริษัทนมผงติดต่อและให้ข้อมูลกับแม่โดยตรง การที่จัดงานอีเวนต์และเชิญชวนให้คนเข้ามาร่วม การที่บริษัทให้ของกับบุคลากรในโรงพยาบาล เช่น ให้เงินไปต่างประเทศ ให้เงินจัดอบรม เป็นต้น

ฉะนั้นแล้ว จึงอดสงสัยไม่ได้ว่า การทำการตลาดของบริษัทนมผงเช่นนี้ เป็นเรื่องผิดจรรยาบรรณหรือไม่? ทีมข่าวจึงสอบถามไปยัง ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา ได้รับคำตอบว่า เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับทางแพทยสภา เป็นเรื่องระหว่างบริษัทนมผงและกรมอนามัย ทั้งนี้ นายกแพทยสภา ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องจรรยาบรรณแพทย์แต่อย่างใด


เด็กควรได้รับประทานนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน
เอาผิดเอกชนไม่ได้! ไร้กฎหมายครอบคลุม ทำได้แค่ขอความร่วมมือ

[attach=2]
เพื่อให้เกิดความกระจ่าง ทีมข่าวได้ต่อสายตรงคุยกับ ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ในตอนนี้ยังไม่สามารถดำเนินการใดๆ กับโรงพยาบาลเอกชนที่มีการแจกตัวอย่างนมผงได้ เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายรองรับ ต่างกับหน่วยงานและสถานบริการพยาบาลที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยหลักเกณฑ์อาหารทารกและเด็กเล็ก เมื่อปี 2551คอยควบคุมไม่ให้บริษัทนมผงทำการตลาดได้

ขณะเดียวกัน แหล่งข่าววงใน ที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ เผยว่า ประเทศไทยมีข้อตกลงร่วมกับบริษัทนมผง เรื่องหลักเกณฑ์ว่าด้วยการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก (CODE) ตั้งแต่ปี 2524 เนื่องจากไทยเป็นสมาชิกสมัชชาสุขอนามัยโลก แต่ไม่มีการบังคับให้เป็นกฎหมาย โรงพยาบาลบางแห่งในไทยก็เลือกปฏิบัติตามด้วยความสมัครใจ ไม่มีบทลงโทษสำหรับโรงพยาบาลที่ไม่ปฏิบัติตาม ถือว่าเป็นการขอร้องเชิงจริยธรรมทางวิชาชีพ

ทั้งนี้ ในที่ประชุมสมัชชาสุขอนามัยโลก ปี 2554 ก็มีมติเห็นว่าประเทศสมาชิกทุกประเทศต้องมีการออกกฎหมายว่าด้วยการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก เนื่องจากการขอความร่วมมือ ไม่เกิดการปฏิบัติจริง โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย

"ที่ผ่านมาบริษัทนมผงทำผิดหลักเกณฑ์กันมาก โดยเฉพาะในโรงพยาบาลเอกชน เพราะว่าภาครัฐไม่สามารถก้าวล่วงถึงโรงพยาบาลเอกชนได้ จึงต้องใช้วิธีการเจรจาด้วยจริยธรรม แต่นักธุรกิจเขาคงไม่มีจริยธรรม เขาก็ต้องเอาเรื่องของการอยู่รอดของธุรกิจไว้ก่อน" บุคลากรทางการแพทย์แสดงความคิดเห็น

ตัดเรียบ กินนมแม่มากกว่า 2 ปี โฆษณานมผงตัดเหลือแค่ 6 เดือน!

แหล่งข่าววงในระบุว่า ทางกรมอนามัยและกระทรวงสาธารณสุขรณรงค์ให้ทารกแรกเกิดจนถึง 6 เดือน กินนมแม่เพียงอย่างเดียว หลังจากนั้นจึงเพิ่มอาหารเสริมตามวัย และกินนมแม่จนลูกอายุ 2 ปีหรือมากกว่า แต่ปัญหาที่พบคือบริษัทนมผงมักจะตัดประโยคเหล่านั้นออก แล้วโฆษณาว่ากินนมแม่เพียง 6 เดือนก็เพียงพอแล้ว

บริษัทนมผงยังเรียกร้องให้หลักเกณฑ์ครอบคลุมโฆษณาในแค่กลุ่มเด็กอายุ 1 ปีเท่านั้น ทั้งที่ผลิตภัณฑ์ของบริษัทเป็นนม สำหรับเด็ก อายุ 1-3 ปี มันผิดหลักเกณฑ์และไม่สามารถโฆษณาได้ ที่ผ่านมาก็มีการส่งเสริมการตลาดอย่างไร้จริยธรรม ทั้งการลดแลกแจกแถมในโรงพยาบาล ให้ข้อมูลเหนือความเป็นจริง เช่น สร้างมายาคติในโฆษณาว่า กินนมผงแล้ว DHA สูง สามารถเรียนวิศวกรรมได้ เป็นต้น

"ประเทศไทยเราปฏิบัติตามหลักเกณฑ์สากล ทางกรมอนามัยเสนอกฎหมายเข้าไปตอนนี้คือต้องการให้ครอบคลุมนมผงของเด็กที่มีอายุ 3 ปี ซึ่งอาจถูกต่อรองจนเหลือน้อยกว่านี้ แต่เป็นไปได้ก็อยากจะให้ครอบคลุมเด็กที่อายุ 2 ปีหรือมากกว่า ส่วนตอนนี้บริษัทนมผงเขาก็วิ่งเต้นขอต่อรอง พูดคุยแม้กระทั่งกับกระทรวงที่ไม่รู้เรื่อง ไม่ได้มีอำนาจในการดูแลเรื่องนี้" บุคลากรทางการแพทย์กล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจัง

ช็อก! ไทยสุดล้าหลัง อาเซียนมีกฎหมายควบคุมการตลาดกันถ้วนหน้

แหล่งข่าววงในท่านเดิมยังเปิดเผยว่า ตอนนี้ประเทศในอาเซียนมีกฎหมายควบคุมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กกันเกือบทุกประเทศ ยกเว้น ไทย สิงคโปร์ และมาเลเซีย

เนื่องจากสิงคโปร์ เป็นประเทศผู้มีการศึกษาและมีรายได้ดี มีสวัสดิการจากรัฐ ซึ่งสนับสนุนคนที่คลอดลูก ทั้งสามารถลางานได้ถึง 1 ปี และมีเงินเดือนให้ระหว่างลางาน ถ้าไม่มีกฎหมายนี้ก็ไม่ประสบปัญหาอะไร ด้านมาเลเซียมีกฎของศาสนาที่เคร่งกว่ากฎหมาย ซึ่งศาสนาอิสลามระบุเอาไว้เลยว่าต้องกินนมแม่ 2 ปี

"เราอายประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเขามีกฎหมายกันหมดแล้ว ตอนนี้ทางกรมอนามัยกำลังถูกประเทศลาวร้องเรียนมาว่า เมื่อเห็นการโฆษณานมผงจากประเทศไทย คนลาวก็คิดว่านมผงดีกว่านมแม่ เนื่องจากโทรทัศน์ของลาว สามารถรับสัญญาณจากไทยได้" แหล่งข่าววงในกล่าวเสริม

ดัน พ.ร.บ.ควบคุมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก หนุนเด็กไทยได้กินนมแม่

บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขยัง กล่าวต่อว่า ขณะนี้พยายามผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กในประเทศไทย เพื่อให้เด็กไทยได้มีโอกาสในการรับสารอาหารที่ดีที่สุด

"ร่างพระราชบัญญัติควบคุมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก  ผ่านประชาพิจารณ์ไปแล้วเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2557 และเราก็ทำประชาพิจารณ์ในวงย่อยของผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลเด็ก พวกแพทย์ต่างๆ อีกด้วย ขณะนี้ส่งร่างเข้าไปที่สำนักงานนายกรัฐมนตรี แต่ตอนนี้จะได้หรือเปล่า ก็ยังไม่รู้ จะบอกว่าเริ่มที่ 1 ก็ไม่ใช่ เรายังอยู่ที่ 0 อยู่เลย ที่ผ่านมาเราเสนอเข้าไปในรัฐบาลหลายสมัย แต่ก็ลำบาก ถ้าเป็นรัฐบาลชุดนี้จึงพอจะมีความหวังบ้าง" แหล่งข่าววงในทางการแพทย์ กล่าวเสริม

กระนั้น ก็ยังมีบางส่วนของร่าง พ.ร.บ.ที่ถูกปรับเปลี่ยน เช่น ยกเว้นอาหารทางการแพทย์ อนุญาตให้บริษัทนมผงสามารถสนับสนุนงบประมาณด้านการวิจัยหรือการจัดประชุม แต่ต้องแจ้งทางกรมอนามัยให้รับทราบและประกาศให้รู้เป็นสาธารณะ เพื่อจะเห็นอย่างชัดเจนว่าเป็นงานวิจัยที่ได้รับเงิน และอนุญาตให้บริจาคนมให้แก่สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าและต้องแจ้งกรมอนามัยให้ทราบเช่นเดียวกัน ส่วนอื่น ๆ ต้องรอดูใน พ.ร.บ.อีกที


นมแม่มีสารอาหารสำคัญที่ทารกต้องการ
เชื่อ มี พ.ร.บ. จะควบคุมการตลาดของบริษัทนมผงได้


อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ที่มีกรณีบุคลากรทางการแพทย์รับสินน้ำใจจากบริษัทนมผงอยู่จริง หากมีกฎหมายนี้ก็จะไม่สามารถทำแบบนี้ได้อีกแล้ว ทางบริษัทนมผงจะไม่สามารถกับยื่นข้อเสนอต่างๆ ให้กับแพทย์โดยตรง ทั้งยังห้ามโฆษณาในโรงพยาบาลอย่างเด็ดขาด ซึ่งข้อจำกัดเรื่องนี้จะดีขึ้นกว่าตอนนี้มาก

"ถ้ามี พระราชบัญญัติ นี้มีขึ้นมา กรณีแพทย์รับสินบนจากบริษัทนมผงก็จะผิดตามกฎหมาย มีโทษจับ โทษปรับ แต่ก็ไม่ได้ห้ามการโฆษณาในที่สาธารณะ คือสามารถใช้ชื่อบริษัทได้ในการโฆษณาได้ แต่ห้ามใช้ชื่อผลิตภัณฑ์ และไม่ได้ห้ามโฆษณาในทุกกลุ่ม ทุกวัย เด็กที่อายุ 3 ปีขึ้นไปก็สามารถโฆษณาได้ เพราะปัญหาของเราตอนนี้คือเด็กไทยได้รับนมแม่ครบ 6 เดือนในจำนวนที่ต่ำมาก จนกลายเป็นว่าต่ำที่สุดในอาเซียน สาเหตุก็มาจากการตลาดของนมผงนี่ล่ะ" ดร.นพ.พรเทพกล่าวทิ้งท้าย
หาดใหญ่ใหม่ www.facebook.com/hatyaimai
เมืองหลวงภาคใต้ หลากหลายเรื่องราว บอกเล่าแบ่งปัน