ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

รองผู้ว่าฯ มอบโล่โครงการ"การเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตยางแผ่นรมควันฯ"

เริ่มโดย ทีมงานประชาสัมพันธ์, 16:18 น. 20 ส.ค 58

ทีมงานประชาสัมพันธ์

รองผู้ว่าฯ สงขลา มอบโล่ ประกาศเกียรติคุณ ในโครงการ "การเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตยางแผ่นรมควันของสหกรณ์โรงรมยาง" ประจำปีงบประมาณ 2558

วันนี้ (20 ส.ค. 58) ที่ ห้องแมกโนเลีย ชั้น 1 โรงแรม บุรีศรีภู บูติกโฮเต็ล อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นายอนุชิต ตระกูลมุทุตา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานในมอบโล่ ประกาศเกียรติคุณ ในโครงการ "การเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตยางแผ่นรมควันของสหกรณ์โรงรมยาง" ประจำปีงบประมาณ 2558 โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พร้อมด้วย นายอดิทัต วะสีนนท์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คำรณ พิทักษ์ รองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และผู้เข้าร่วมงาน กว่า 100 คน ให้การต้อนรับ

สำนักงานความร่วมมืออุตสาหกรรม อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 จัดทำโครงการ "การเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตยางแผ่นรมควันของสหกรณ์โรงรมยาง" ประจำปีงบประมาณ 2558 ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง เพื่อสู้วิกฤตราคายางตกต่ำ โดยการเพิ่มศักยภาพในการผลิตยางแผ่นรมควัน และลดต้นทุนการผลิตลง เช่น การนำเทคโนโลยีเตาอบยางที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถควบคุมอุณหภูมิในห้องอบยางได้ดีขึ้น ผลิตยางแผ่นรมควันที่มีคุณภาพสูงขึ้นในเวลาที่สั้นลง การพัฒนาระบบการเผาไหม้ไม่ฟืนเพื่อให้ความร้อน รวมทั้งการปรับปรุงการกระจายความร้อนในห้องรมยาง และเทคโนโลยีโรงตากยางแสงอาทิตย์ เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของการรมควัน ทำให้สามารถประหยัดพลังงานได้ ปัจจุบันได้ดำเนินโครงการจนเสร็จสิ้นตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการเป็นที่เรียบร้อย

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์และแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของโครงการ โดยมีสหกรณ์กองทุนสวนยาง (สกย.) ที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ 1.สกย.ควนกาหลง 2 จำกัด / 2.สกย.อุไดเจริญ 1 จำกัด / 3.สกย.นิคมพัฒนา 1 จำกัด / 4.สกย.วังใหม่พัฒนา จำกัด / 5.สกย.บ้านทรายขาว จำกัด / 6.สกย.บ้านเก่าร้าง จำกัด / 7.สกย.นาประดู่ จำกัด และ 8.สกย.บ้านบ่อน้ำร้อน จำกัด

อย่างไรก็ตาม การดำเนินโครงการมีขอบเขตการพัฒนา  3 ด้าน ได้แก่ การปรับปรุงห้องรมยาง การพัฒนาห้องรมยางใหม่ และการพัฒนาโรงตากยางแสงอาทิตย์ โดยทีมที่ปรึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผลการดำเนินงาน พบว่าในแต่ละด้านสามารถช่วงลดต้นทุนการผลิตได้เป็นอย่างดี การปรับปรุงห้องรมยางสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ประมาณ ร้อยละ 10 การพัฒนาห้องรมยางใหม่ สามรถลดต้นทุนการผลิตได้ประมาณ ร้อยละ 20 ส่งผลให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น และกลุ่มสหกรณ์มีความเข้มแข็งและยั่งยืน อีกทั้ง เป็นโอกาสอันดีของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางที่ร่วมโครงการได้เข้าถึงความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย