ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

คาดการณ์ 5-7 ต.ค.หมอกควันอินโดยังเกินมาตรฐาน ลุ้นฝนตกช่วยชะล้าง

เริ่มโดย หาดใหญ่ใหม่, 16:01 น. 05 ต.ค 58

หาดใหญ่ใหม่

รายงานสภาวการณ์ปัญหาหมอกควันในเขต อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และภาคใต้ ฉบับที่ 22/2558 (5 ตุลาคม 2558)

[attach=1]
สำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รายงานสถานการณ์หมอกควันจากข้อมูลวันที่ 4 ตุลาคม 2558 พบว่ามีจุดการเผาไฟ (Hot spots) ในเกาะสุมาตราสูงถึง 258 จุด ประกอบกับทิศทางลมที่ยังคงพัดเอากลุ่มหมอกควันจากแหล่งกำเนิดเข้ามายังทางตอนใต้ของประเทศไทย ทำให้ค่าความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน ใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และ จ.ยะลา ยังคงมีปริมาณสูงกว่ามาตรฐาน

นอกจากนี้จากข้อมูลของทิศทางลมและความเร็วลมในวันที่ 5 – 6 ตุลาคม 2558 พบว่ายังคงมีทิศทางจากทิศใต้เข้าสู่ประเทศไทย แม้ความเร็วลมลดลง อาจจะส่งผลให้กลุ่มหมอกควันที่เกิดจากการเผาไหม้เมื่อวานนี้ (4 ต.ค. 2558) มาถึงทางตอนใต้ของประเทศไทยช้าลง จากทิศทางลมที่จะเปลี่ยนไปในวันที่ 7 ตุลาคม 2558 จะทำให้สถานการณ์หมอกควันใหม่ที่จะพัดพาเข้าสู่ประเทศไทยมีปริมาณน้อยลง แต่ทั้งนี้กลุ่มหมอกควันเดิมจะยังคงไหลวนอยู่บริเวณภาคใต้ของประเทศไทยและขึ้นอยู่กับการจุดเผาไหม้และปริมาณฝนด้วยเช่นเดียวกัน

ในวันนี้ (5 ตุลาคม 2558) อาจจะมีฝนตกในเส้นทางหมอกควันปานกลางโดยเฉพาะในประเทศมาเลเซีย ซึ่งปริมาณฝนจะช่วยบรรเทาสถานการณ์ลงได้ แต่อย่างไรก็ตามในวันที่ 6 ตุลาคม 2558 จะมีปริมาณฝนลดน้อยลง ดังนั้นภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทยโดยเฉพาะฝั่งอ่าวไทย คือ สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส อาจจะยังคงได้รับผลกระทบของหมอกควันดังกล่าวในช่วงระยะ 1-2 วันนี้ (5-7 ตุลาคม 2558) เนื่องจากมีปริมาณการเผาไหม้ใหม่ที่สูงขึ้น และรวมถึงทิศทางลมที่พัดพาหมอกควันเข้าสู่ประเทศไทยตอนล่างอีกด้วย

          รายงานฉบับนี้จะวิเคราะห์สถานการณ์จากข้อมูลรอบด้าน และพยากรณ์แนวโน้มสถานการณ์ระหว่างวันที่ 5-7 ตุลาคม 2558

1. สถานการณ์ปัจจุบันของปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10)
จากผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่ ต.หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา (http://aqmthai.com/public_report.php) ในวันที่ 3- 4 ตุลาคม 2558 มีบรรยากาศขมุกขมัว ปกคลุมไปด้วยกลุ่มหมอกควันและทัศนวิสัยต่ำ โดยค่าความเข้มข้น PM10 รายชั่วโมงในวันที่ 4 ตุลาคม 2558 พบว่ามีปริมาณสูงกว่า 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และในวันนี้ (5 ตุลาคม 2558) พบว่าค่า PM10 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีปริมาณสูงกว่าเมื่อวาน โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 170.57 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ที่เวลา 08.00 น. ของวันที่ 4 ตุลาคม 2558 ถึง เวลา 08.00 น. ของวันที่ 5 ตุลาคม 2558)

ในขณะที่ จ.ภูเก็ต สุราษฏร์ธานี และพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างได้แก่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) เฉลี่ย 24 ชั่วโมงสูงขึ้นในทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดยะลาพบว่ามีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) เกินค่ามาตรฐาน โดยมีค่า PM10 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงเท่ากับ 143.51 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนจังหวัดนราธิวาสปริมาณฝุ่นละอองยังคงสูงกว่าปกติ โดยมีค่า PM10 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงเท่ากับ 89.81 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ที่เวลา 08.00 น. ของวันที่ 4 ตุลาคม 2558 ถึง เวลา 08.00 น. ของวันที่ 5 ตุลาคม 2558) ทั้งนี้เนื่องจากทิศทางลมส่งผลให้หมอกควันพัดเข้าสู่ทางภาคใต้ตอนล่าง ดังนั้นจึงควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

2. การคาดการณ์สถานการณ์หมอกควันในเขต อ.หาดใหญ่ และภาคใต้ตอนล่าง ช่วง 5-7 ตุลาคม 2558

2.1 การพยากรณ์ทิศทางและความเร็วลมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตอนล่าง
ความเร็วลมในช่วงวันที่ 5-6 ตุลาคม 2558 ที่ความสูง 2 เมตร และ 2,500 ฟุต แสดงในภาพข้างล่าง จะเห็นได้ว่ามีทิศทางจากเกาะสุมาตราไหลวนมาที่ภาคใต้ของไทยด้วยความเร็วระหว่าง 5.6 - 50 กม./ชม. แล้วออกสู่อ่าวไทยตอนใต้ จากค่าความเร็วลม และช่วงเวลาของการเผาไหม้ใหม่ที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ กลุ่มหมอกควันดังกล่าวที่เกิดขึ้นแล้วจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ทางตอนใต้ของประเทศไทย ดังนั้นภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทยโดยเฉพาะฝั่งอ่าวไทย คือ สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จะได้รับผลกระทบของหมอกควันดังกล่าวในช่วงระยะ 1 – 2 วันนี้ ส่วนในวันที่ 7 ตุลาคม 2558 พบว่าลมมีการเปลี่ยนทิศ หากเป็นเช่นนั้นจริงก็จะช่วยบรรเทาสถานการณ์ได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับการจุดเผาไหม้และปริมาณฝนด้วยเช่นเดียวกัน

2.2 แหล่งกำเนิดควันจากการเผาป่า (Hotspots) ในเกาะสุมาตรา
จากข้อมูลของศูนย์อุตุนิยมประเทศสิงคโปร์ Meteorological Service Singapore พบว่ามีแหล่งกำเนิดควันจากการเผาป่าในเกาะสุมาตราในวันที่ 3 ตุลาคม 2558 เท่ากับ 69 จุด และมีเพิ่มขึ้นเป็น 258 จุด ในวันที่ 4 ตุลาคม 2558 ดังนั้นจึงควรเฝ้าระวังหมอกควันที่เกิดจากจุดการเผาไฟเพิ่มขึ้นอย่างใกล้ชิด ในช่วง 1-2 วันนี้

2.3 การพยากรณ์ปริมาณน้ำฝนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตอนล่าง ช่วงวันที่ 5-6 ตุลาคม 2558
จากข้อมูลพยากรณ์ปริมาณฝนในเส้นทางการเคลื่อนที่ของหมอกควันจากเกาะสุมาตรามาสู่ภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย (http://www.worldmeteorology.com) สำหรับในวันนี้ (5 ตุลาคม 2558) จะมีฝนปกคลุมเส้นทางเดินของหมอกควันจากเกาะสุมาตราเข้าสู่ภาคใต้ตอนล่างของไทย แต่อย่างไรก็ตามในวันที่ 6 ตุลาคม 2558 พบว่าจะมีฝนตกน้อยลง

2.4. แผนที่หมอกควัน (Haze Map) บริเวณแหล่งกำเนิดควันในเกาะสุมาตรา
จากแผนที่หมอกควัน (http://wip.weather.gov.sg/wip/c/portal/layout?p_l_id=PUB.1003.538) บริเวณแหล่งกำเนิดควันในเกาะสุมาตรา พบว่ามีการแพร่กระจายของหมอกควันจากแหล่งกำเนิดมุ่งหน้าสู่ทิศเหนือเข้าประเทศมาเลเซียและมีโอกาสเข้าสู่ภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย

3. บทสรุปและข้อแนะนำ
จากข้อมูลความเร็วลมในช่วงวันที่ 5-7 ตุลาคม 2558 มีทิศทางจากเกาะสุมาตราเคลื่อนผ่านประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียมาที่ภาคใต้ตอนล่างของไทยด้วยความเร็วระหว่าง 5.6 - 50 กม./ชม. แล้วออกสู่อ่าวไทยตอนใต้ เนื่องจากความเร็วลมที่ลดลง ทำให้ปริมาณหมอกควันที่เกิดแล้วนั้น สามารถพัดมาถึงภาคใต้ตอนล่าง โดยใช้เวลาประมาณ 24 ชั่วโมงจากแหล่งกำเนิด

จุดการเผาไฟในวันที่ 4 ตุลาคม 2558 เพิ่มขึ้นสูงมาก รวมถึงจากทิศทางลมในวันที่ 6 และ 7 ตุลาคม 2558 นั้นพบว่าลมพัดไหลวนจากทิศตะวันออกเข้าสู่ทิศตะวันตก นั่นหมายความว่ากลุ่มหมอกควันเดิมอาจจะยังไหลวนอยู่ทางตอนใต้ของประเทศไทย ดังนั้นภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทยโดยเฉพาะฝั่งอ่าวไทย คือ สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จะยังคงได้รับผลกระทบของหมอกควันดังกล่าวจนถึงในช่วงระยะ 1-2 วันนี้

อย่างไรก็ตามจากข้อมูลการพยากรณ์ฝนของภาคใต้ตอนล่างในวันที่ 5 ตุลาคม 2558 พบว่าจะมีฝนตกปานกลาง และมีฝนตกในประเทศมาเลเซียซึ่งเป็นเส้นทางเดินหมอกควัน ส่วนในวันที่ 6 ตุลาคม 2558 อาจจะมีฝนตกลดน้อยลง แต่ฝนที่ตกในประเทศมาเลเซียจะช่วยชะล้างหมอกควัน อาจทำให้สถานการณ์บรรเทาลงได้บ้าง

ในกรณีทีมีหมอกควันปกคลุมอย่างหนาแน่นและทัศนะวิสัยไม่ดี อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพในระบบทางเดินหายใจ จึงขอแนะนำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกอาคารเป็นเวลานาน หากจำเป็นต้องออกนอกอาคาร ควรใช้หน้ากากป้องกันละอองฝุ่น

โดย รศ.ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล
ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และรองอธิการบดีฝ่ายระบบวิจัยและบัณฑิตศึกษา

น.ส. ภัทราภรณ์ แซ่เตี้ยว
ภาควิชาวิศวกรรมโยธา สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ดร.จิราพร ช่อมณี
สาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ
หาดใหญ่ใหม่ www.facebook.com/hatyaimai
เมืองหลวงภาคใต้ หลากหลายเรื่องราว บอกเล่าแบ่งปัน