ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

ท่าเรือน้ำลึกปากบารา จะทำอะไร บอกความจริงให้ชาวบ้านรับรู้ด้วย

เริ่มโดย ทีมงานประชาสัมพันธ์, 15:30 น. 21 มี.ค 55

ทีมงานประชาสัมพันธ์

ท่าเรือน้ำลึกปากบารา จะทำอะไร บอกความจริงให้ชาวบ้านรับรู้ด้วย
โดย อ.ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์


ในยุทธศาสตร์ความมั่นคงของชาติทางทะเล บอกไว้ว่า ประเทศไทย จำเป็นต้องมีทางออกสำหรับสินค้า และการขนส่งทางทะเลอื่นๆ ทางทะเลอันดามัน จะพึ่งพาแต่ทางฝั่งอ่าวไทยที่ท่าเรือมาบตาพุด ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือกรุงเทพฯ อย่างเดียวไม่ได้ เพราะผลประโยชน์ชาติทางทะเลที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางทะเลมีมากกว่า 6 ล้านล้านบาท ต่อปี ในขณะที่มีความต้องการระหว่างประเทศที่จะแสวงหาเส้นทางการขนส่งทางทะเลที่ประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่า การเดินเรืออ้อมไปผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งมีความแออัดมากขึ้นทุกวัน

ด้วยเหตุนี้ จึงมีความพยายามของรัฐในทุกยุคทุกสมัย ที่จะเชื่อมเส้นทางขนส่งทางทะเลระหว่างอ่าวไทย กับทะเลอันดามัน ตั้งแต่การขุดคลองกระ สะพานเศรษฐกิจที่ขนอมถึงกระบี่ หรือแม้แต่ท่าเรือระนอง และท่าเรือภูเก็ต
นอกจากนี้ยังมีท่าเรือขนาดเล็ก ขนส่งสินค้าระหว่างประเทศกระจายอยู่ทั่วไป เช่น ท่าเรือตำมะลัง ท่าเรือกันตัง จังหวัดตรัง ท่าเรือยิบซั่มที่กระบี่ ท่าเรือเหล่านี้ ถูกพิจารณาว่าเป็นเพียงท่าเรือขนาดเล็ก กระจายสินค้าได้ไม่มากนัก และไม่สามารถรองรับการขนส่งสินค้าจากภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้ โดยเฉพาะการขนส่งน้ำมันจากตะวันออกกลาง

ปัญหาสำคัญของการขนส่งทางทะเลตามแนวชายฝั่งภาคใต้ของประเทศ เช่น ท่าเรือน้ำลึกสงขลา คือ ความไม่สมดุลระหว่างการขนสินค้าส่งออกไปต่างประเทศ กับการนำสินค้าเข้ามา เนื่องจากที่ผ่านมา สินค้าที่นำเข้ามาท่าเรือน้ำลึกสงขลามีน้อยมาก ในขณะที่มีความต้องการขนส่งยางพาราออกนอกประเทศเป็นอย่างมาก ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ภาระในการนำตู้คอนเทนเนอร์เปล่า เข้ามารับยางพารา และสินค้าส่งออกอื่นๆ ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายในการส่งออกสูงมากกว่า การนำสินค้าไปยังท่าเรือปีนัง ซึ่งมีปริมาณสินค้าเข้า และสินค้าออกมาก ค่าใช้จ่ายจึงถูกกว่าการส่งออกจากท่าเรือน้ำลึกสงขลา จึงเห็นได้ว่า แต่ละปีมีการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศไทย กับท่าเรือปีนังปีละมากกว่า 200,000 ตู้คอนเทนเนอร์

ทางแก้ที่ภาครัฐมองคือ การเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้า ข้ามมหาสมุทรจากยุโรป และตะวันออกกลาง ทางฝั่งมหาสมุทรอินเดีย กับทางเอเชียตะวันออกทางฝั่งอ่าวไทย และมหาสมุทรแปซิฟิค ซึ่งก็คือ ความพยายามที่จะทำให้มีท่าเรือน้ำลึกทั้งสองฝั่งของภาคใต้ และเส้นทางการขนส่งทั้งทางรถไฟ ถนน และท่อส่งน้ำมันที่เชื่อมโยงทั้งสองฝั่งมหาสมุทรเข้าด้วยกัน และยังมองถึงผลประโยชน์จากการขนส่งทางทะเลของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ตะวันออกกลาง และยุโรป ซึ่งจะสร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นจำนวนมหาศาล

โครงการสร้างท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ จึงเกิดขึ้น และมีกระบวนการคัดเลือกพื้นที่ตลอดชายฝั่งอันดามัน ตั้งแต่จังหวัดระนองมาจนถึงจังหวัดสตูล แต่ก็ถูกผลักดัน ขับไล่ การไม่ยอมรับจากคนในพื้นที่ต่างๆ ทั้งภูเก็ต พังงา กระบี่ ที่มองว่ายุทธศาสตร์ของพื้นที่คือ การท่องเที่ยวทางทะเลที่สร้างรายได้ปีละหลายแสนล้านบาท ซึ่งไปด้วยกันไม่ได้กับการพัฒนาเส้นทางเดินเรือ และการพัฒนาทางอุตสาหกรรม ที่อาจส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงต่อคุณภาพระบบนิเวศทางทะเล ซึ่งเป็นต้นทุนทางธรรมชาติที่สำคัญที่สุดของการท่องเที่ยวทางฝั่งทะเลอันดามัน

และวันนี้ ที่ปากบารา คือ ที่มั่นสุดท้ายที่หลงเหลืออยู่สำหรับการสร้างท่าเรือน้ำลึก เนื่องจากยังเป็นพื้นที่ที่มีคนอยู่อาศัยไม่มาก และที่สำคัญ มีกระแสการต่อต้านน้อยที่สุด

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุด ที่ผู้บริหารของประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจจะไม่ทันคิดก็คือ ตั้งแต่เขตแดนไทยมาเลเซียที่สตูล ไปจนถึงอ่าวพังงาเป็นแหล่งที่มีระบบนิเวศแบบเอสทูรี่ หาดเลน และป่าชายเลนขนาดใหญ่ของประเทศไทย เช่น ปากน้ำสตูล ปากบารา ปากน้ำกันตัง ปากน้ำปะเหลียน ปากน้ำสิเกา ศรีบ่อยา ปากน้ำกระบี่ และอ่าวพังงา เป็นแหล่งสะสมของธาตุอาหารที่มาจากบนบก และในทะเล ส่งผลให้บริเวณนี้มีพืชและสัตว์ทะเลที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของประเทศ

จังหวัดสตูลยังมีประชากรไม่มากนัก ในอนาคตมีศักยภาพพอที่จะรองรับการพัฒนาทางการเพาะเลี้ยง การประมงชายฝั่ง และการอนุรักษ์เพื่อการท่องเที่ยวได้อีกมาก โดยเฉพาะหากประเทศไทยต้องการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ จังหวัดสตูล ก็มีศักยภาพการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศทางทะเล ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ มีเกาะจำนวนมาก มีป่าชายเลน มีแนวปะการัง แหล่งหญ้าทะเล มีสวนผลไม้ ชายฝั่งทะเล ป่าเขา ลำธาร และน้ำตก ถ้ำหินงอก หินย้อย ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แหล่งฟอสซิลที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย และยังเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งที่สำคัญของประเทศ

สิ่งที่ รัฐ พยายามบอกชาวบ้านคือ ราคาที่ดินจะมีราคาสูงขึ้น ชาวบ้านจะมีงานทำ จะมีเงินหมุนเวียนในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจะมีเงินมากขึ้น จะพาผู้นำชุมชน และผู้บริหารของจังหวัดไปดูงานท่าเรือต่างจังหวัด และในต่างประเทศ สร้างความหวังให้กับชาวบ้านที่มีที่ดินอยู่บริเวณนั้น และบริเวณใกล้เคียง และกลายเป็นมวลชนจัดตั้งที่รัฐและผู้บริหารของจังหวัด พร้อมจะพามาสนับสนุนในทุกเวทีการประชุม และเริ่มสร้างความร้าวฉานให้เกิดขึ้นระหว่างชุมชนในจังหวัดสตูล
แต่สิ่งที่ผิดพลาดอย่างรุนแรง ก็คือ

รัฐไม่ได้บอกชาวบ้านที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงจับกุ้ง หอย ปู ปลา ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง ทำสวนยาง สวนปาล์ม สวนผลไม้ และผู้ประกอบการท่องเที่ยว เจ้าของรีสอร์ท ร้านอาหารเลยว่าท่าเรือน้ำลึกจะส่งผลกระทบอะไรบ้าง จะมีกิจกรรมอะไรตามมาอีกบ้าง เพราะเป็นไปไม่ได้ ที่จะมีเฉพาะท่าเรือน้ำลึกเพียงอย่างเดียว อุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องการขนส่งสินค้า และการแปรรูปวัตถุดิบต่างๆ จะตามมาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการขนส่งน้ำมันทางท่อและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับปิโตรเลียม
ไม่มีใครบอกเขาว่า : การพัฒนาที่จะตามมานั้น จะมีการจ้างงานจริงๆ กี่คน คนสตูลจะได้โอกาสทำงานอะไร จำนวนเท่าไร ลูกหลานของคนสตูลมีความรู้และวุฒิตรงกับความต้องการของกิจการเหล่านั้นหรือไม่ และจะมีแรงงานต่างถิ่น เข้ามาใช้แรงงานในพื้นที่ กี่พันกี่หมื่นคน จะส่งผลกระทบทางด้านสังคม และวัฒนธรรมของชาวมุสลิมอย่างไร

ไม่มีใครบอกเขาว่า : ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ในช่วงเดือนมีนาคม ถึงเดือนกันยายน จะพัดพาฝุ่นควันทั้งหลายเข้าสู่เมืองสตูล เมืองละงู ชุมชน และสวนยางตลอดแนวชายฝั่งทะเล
ไม่มีใครบอกเขาว่า : ลมฝนเหล่านี้ จะละลายฝุ่นควัน และสารพิษ จากเขตอุตสาหกรรมต่างๆ ตกลงบนหลังคาบ้าน ตกลงในสวนยาง สวนผลไม้ ในบ่อเก็บน้ำ ในน้ำตกวังสายทอง ในแม่น้ำ และลำคลองที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนทั้งสองฟากฝั่ง
ไม่มีใครบอกเขาว่า : ชายฝั่งทะเลของอันดามันใต้ หรืออาจเรียกว่าเป็นส่วนหนึ่งของช่องแคบมะละกาตั้งแต่อ่าวพังงาลงมา โดยเฉพาะจังหวัดตรังและสตูล เป็นพื้นที่รองรับการสะสมของตะกอนทั้งจากแผ่นดินและทะเล สารพิษทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นมันไม่ถูกพัดพาออกไปทะเลลึก แต่จะสะสมอยู่ในชั้นดินตะกอนตลอดชายฝั่งทะเลที่มีสภาพเป็นโคลนปนทราย

ไม่มีใครบอกเขาว่า : หากมีการรั่วไหลของน้ำมัน น้ำมันเครื่องเรือ น้ำจากท้องเรือ หรือสารพิษต่างๆ สารมลพิษเหล่านี้มันจะสะสมอยู่ตลอดชายฝั่งทะเลจังหวัดสตูล เหตุการณ์ต่างๆ จะร้ายแรงยิ่งกว่าที่มาบตาพุด ซึ่งมีกระแสน้ำพัดพาออกสู่ทะเลลึก
ไม่มีใครบอกพวกเขาว่า : บริเวณทะเลหน้าหาดปากบารา ที่มีความสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลกำลังจะกลายเป็นท่าเทียบเรือน้ำลึก มีการถมทะเลยื่นออกไปนอกหาดยาวเป็นกิโล เพื่อให้เรือสินค้าขนาดใหญ่หลายสิบลำมารับส่งสินค้าปีละมากกว่า 200,000 ตู้ หรืออาจจะมากกว่านั้น ถ้าโครงการมีการขยายตัวไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมต่างๆ ที่จะตามมาจากการขนส่งน้ำมันและปิโตรเคมี

ไม่มีใครบอกพวกเขาว่า : จะมีกิจกรรมที่ใช้พลังงานไฟฟ้ามหาศาลตามมา สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นต่อมาก็คือ การก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ เพื่อป้อนไฟฟ้าให้กับกิจกรรมการขนส่งทางทะเล และอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ แหล่งพลังงานที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าเหล่านี้ คืออะไร
ไม่มีใครบอกเขาว่า : นอกจากท่าเรือน้ำลึกแล้ว จะมีอุตสาหกรรมอะไรอื่นๆ ตามมาอีก เขาได้แต่บอกว่า ไม่ใช่หน้าที่ของเขาที่จะบอกว่าจะมีอุตสาหกรรมอะไรตามมา กรอบการศึกษาของเขามีเฉพาะการสร้างท่าเรือน้ำลึกเท่านั้น โครงการอื่นๆ ต้องพิจารณาต่างหาก ไม่เกี่ยวกับการศึกษาครั้งนี้ ในขณะที่แผนพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ระบุไว้ว่า จะมีการลงทุนเพื่อรองรับระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อ และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และยังมีงานวิจัยระบุว่า การสร้างท่าเรือเพื่อขนส่งสินค้าแต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่มีระบบขนส่งน้ำมัน จะไม่มีทางคุ้มทุน
ถ้ามีใครถามเขาว่า : ข้อมูลด้านผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร เขาจะบอกให้ชาวบ้านไปอ่านเอาในเอกสารหนาปึก ที่มีแต่ตัวเลขที่ชาวบ้านไม่เข้าใจ และต้องไปหามาอ่านเอาเอง และเขาก็จะโวยวายใส่ชาวบ้านว่า ก็ทำรายงานให้อ่านแล้ว ทำไมไม่อ่านกันเอง หรือไม่ก็ให้ไปอ่านในอินเตอร์เน็ต ที่ชาวบ้านไม่มีวันเข้าถึง และที่สำคัญ คือ รายงาน EIA ด้านสิ่งแวดล้อม ที่ไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริง หลอกได้แต่นักวิชาการที่ไปเป็นกรรมการอ่านรายงาน โดยไม่เคยเห็นพื้นจริง... แต่เป็นเรื่องที่หลอกชาวบ้านไม่ได้ชาวบ้านมาทราบทีหลังว่า ที่ดินหลายพันไร่ที่มีการเปลี่ยนมือไปแล้ว คือบริเวณที่อยู่ในแนวเส้นทางของท่าเรือน้ำลึก และพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นเขตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
สิ่งที่ภาครัฐบอกกับชาวบ้านตลอดมาก็คือ พวกเขาทำถูกต้องตามกฎหมายของกรมเจ้าท่า ผ่านการพิจารณา EIA ของนักวิชาการของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่จำเป็นต้องมาทบทวนกันอีกว่ารายงานมีความบกพร่องอย่างไร...
ดังนั้นพวกเขามีสิทธิที่จะสร้างท่าเรือน้ำลึก และแม้ว่ามันจะอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา รัฐก็สามารถเพิกถอนพื้นที่ที่ออกจากการเป็นอุทยานแห่งชาติได้
แต่.... ชาวบ้านก็ยังมีสิทธิลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของพวกเขา เช่นกัน
หากท่าเรือน้ำลึกเกิดขึ้นจริงแล้ว เขาหวั่นกลัวแน่นอนว่า
อากาศจะเป็นพิษ น้ำทะเลจะปนเปื้อนไปด้วยคราบน้ำมันและสารพิษที่สะสมตลอดชายฝั่ง กุ้ง หอย ปู ปลาจะหายไป อาหารทะเลจะปนเปื้อนไปด้วยสารพิษ น้ำตกและลำธารจะปนเปื้อนจากสารพิษ และนักท่องเที่ยวจะไม่กลับมา ฝนที่ตกลงมาจะมีสภาพเป็นกรดมากขึ้น ชาวสวน จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง การแย่งชิงน้ำจืดที่ต้องใช้ในการเกษตรจะเกิดขึ้น เพราะต้องในไปใช้ในเขตท่าเรือและเขตอุตสาหกรรม
ชาวสตูล คงไม่ต้องการให้ที่นี่กลายเป็นเหมือนแหล่งอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ชาวบ้านต้องนอนรอความตายผ่อนส่งโดยที่ไม่มีใครช่วยเหลือได้เลย และที่สำคัญลักษณะทางกายภาพของชายฝั่งทะเลที่นี่แตกต่างจากชายฝั่งบริเวณมาบตาพุด ปัญหามลพิษทุกอย่างจะสะสมอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลได้ง่ายกว่าบริเวณชายฝั่งมาบตาพุด
ขณะที่ผลกำไรจากการขนส่งทางทะเล และอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่มาจากการทำลายธรรมชาติ การทำลายสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนในพื้นที่ และการสร้างความแตกแยกให้กับคนในพื้นที่ ได้กลายเป็นเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นที่มีทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ที่ไม่ได้มีถิ่นฐานในพื้นที่
...
นักการเมืองเข้ามาทำงานไม่กี่ปี ก็ออกไป นักลงทุนเข้ามาลงทุน วันหนึ่งก็ถอนตัวออกไปลงทุนที่อื่นได้ แต่คนสตูลต้องอยู่กินบนผืนดินแห่งนี้ไปตลอดชีวิต รอรับผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมต่อไป

ม้าเหล็ก

เป็นธรรมดาได้อย่างเสียอย่าง ทุกวันนี้ถึงใช้น้ำมันแพงไง

PupaeDC

ถ้าเป็นเรื่องแบบนี้ไม่มีใครสนใจหรอก มัวแต่อยากรู้ว่าใครเป็นผัวใครเมียใครในทีวี สื่อที่ออกก็มีน้อยมาก ขอบคุณสำหรับข้อมูลนะครับ...

เพลบอย

  ส.สู้ๆ ในฐานะคนละงูคนหนึ่ง อยากให้โครงการนี้สำเร็จเร็วๆ สนับสนุน ส.สู้ๆ