ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี WHO สนับสนุนไทยปรับโครงสร้างภาษียาสูบ

เริ่มโดย ฅนสองเล, 10:48 น. 05 เม.ย 55

ฅนสองเล

[attach=1]

ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี WHO สนับสนุนไทยปรับโครงสร้างภาษียาสูบ ป้องกันความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ชี้ที่ผ่านมา รายได้ภาษีน้อยกว่าการสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการใช้ยาสูบ ศจย.ชี้ ต้องทำทั้งระบบ ป้องกันเปลี่ยนไปสูบบุหรี่ราคาถูก หมอประกิต ชงนายกฯ เร่งปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ เก็บรายได้เข้ารัฐเพิ่ม สร้างผลงานชิ้นโบว์แดง ชี้ต้องกล้าตัดสินใจ สกัดนักสูบหน้าใหม่ได้ผล

ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) จัดแถลง "ผู้เชี่ยวชาญภาษียาสูบจากองค์การอนามัยโลก สนับสนุนนโยบายการขึ้นภาษีของรัฐบาลไทย" โดยดร.ไอด้า ยูริกลี่ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ยาสูบ องค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่า ในเชิงเศรษฐศาสตร์การขึ้นภาษียาสูบเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพสูงในการลดการบริโภคยาสูบ โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรที่มีรายได้น้อยและเยาวชน รวมทั้งป้องกันนักสูบหน้าใหม่ การขึ้นภาษียาสูบนอกจากจะเป็นประโยชน์ในด้านสาธารณสุขแล้ว ยังสามารถเพิ่มรายได้รัฐได้อีกด้วย ข้อมูลในประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งประเทศไทยโดยเฉลี่ยพบว่า ต้นทุนที่ต้องสูญเสียทางเศรษฐกิจรวมทั้งค่ารักษาพยาบาลที่เกิดจากการบริโภคยาสูบ สูงกว่ารายได้ของรัฐที่ได้จากภาษียาสูบรวมกับกำไรจากโรงงานยาสูบของรัฐ

"ขอสนับสนุนให้รัฐบาลไทยเพิ่มภาษียาสูบ จะมีผลให้ราคาบุหรี่และยาเส้นสูงขึ้น รวมทั้งการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ซิกาแรต เพื่อแก้ปัญหาบุหรี่ราคาถูก ที่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน อันเป็นผลจากการเปิดการค้าเสรี เพื่อลดผู้สูบรายใหม่ ลดการตายก่อนวัยอันควรของประชากรไทย และลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่" ดร.ไอด้า กล่าว

ดร.ทพ.ญ.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผู้อำนวยการ ศจย. กล่าวว่า จากความร่วมมือของนักวิชาการภาษียาสูบไทย ระหว่างสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง และศจย. ที่ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก นำโดย ดร.ไอด้า ยูริกลี่ ตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ.2554 ผลจากการทำงานร่วมกัน พบข้อสังเกตว่า ประเทศไทยควรปรับเพิ่มอัตราภาษียาสูบทุกประเภทไปพร้อมๆ กัน เพื่อป้องกันผู้สูบบุหรี่เปลี่ยนพฤติกรรมไปซื้อบุหรี่ที่มีราคาถูกกว่าสูบแทน เช่น บุหรี่ราคาถูกที่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน หรือบุหรี่ที่ผลิตในประเทศ และยาเส้น เป็นต้น ส่งผลให้มาตรการการลดการบริโภคบุหรี่ได้ผลน้อยลง การแก้ปัญหาเรื่องนี้ต้องทำอย่างเป็นระบบ เนื่องจากในอดีตการขึ้นภาษียาสูบในประเทศไทย ส่งผลต่อการลดนักสูบหน้าใหม่ได้น้อย เนื่องจากอัตราการเพิ่มภาษีต่ำ ทำให้เมื่อเทียบกับค่าครองชีพ ราคาบุหรี่ก็ยังถือว่ามีราคาถูก

"ครั้งสุดท้ายที่มีการเพิ่มภาษีบุหรี่ คือ เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นเป็นการดีที่จะมีการปรับภาษียาสูบ ซึ่งแนวทางที่ดีคือการปรับภาษีตามสภาพด้วย เพื่อให้บุหรี่ราคาไม่ถูกจนเยาวชนเข้าถึงได้ง่ายเหมือนที่เป็นในขณะนี้" ดร.ทพญ.ศิริวรรณ กล่าว

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลมี 2 ทางเลือก ในการบริหารรายรับจากกิจการยาสูบ คือหากำไรจากโรงงานยาสูบเพิ่มขึ้น ด้วยการขายบุหรี่เพิ่มขึ้น โดยไม่ขึ้นภาษียาสูบ หรือเลือกที่จะทำให้รัฐมีรายได้จากการขึ้นภาษียาสูบ แต่คงระดับกำไรของโรงงานยาสูบไว้ ซึ่งตนมั่นใจว่ารัฐบาลจะเลือกแนวทางที่ 2 ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด โดยควบคุมตลาดบุหรี่ไม่ให้เติบโต ในขณะที่รัฐมีรายรับจากการขึ้นภาษีเป็นจำนวนมหาศาล ดังเช่นในปี 2553 รัฐมีรายได้จากการจัดเก็บภาษียาสูบทั้งสิ้น 53,367ล้านบาท ขณะที่โรงงานยาสูบ มีกำไรนำส่งคลัง 4,653 ล้านบาท คิดเป็นรายได้จากภาษีมากกว่ากำไรโรงงานยาสูบถึง 11.4 เท่า ข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการขึ้นภาษี และปรับโครงสร้างภาษียาสูบทั้งระบบรวมทั้งการขึ้นภาษียาเส้น มากกว่าจะให้ความสำคัญกับกำไรจากโรงงานยาสูบเพียงเล็กน้อย ซึ่งไม่คุ้มทั้งในเชิงเศรษฐกิจ และเชิงสุขภาพที่คนไทยต้องสูญเสียจากการสูบบุหรี่

"ผมเชื่อว่า คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะแสดงภาวะผู้นำตัดสินใจเห็นชอบให้กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ปรับโครงสร้างและขึ้นภาษียาสูบซึ่งจะเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของคุณยิ่งลักษณ์ ที่รัฐบาลชุดอื่นๆยังไม่กล้าตัดสินใจ ที่สำคัญ จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับภาครัฐนำไปจัดการบริหารประเทศในด้านอื่นๆได้ ลดนักสูบหน้าใหม่โดยเฉพาะเยาวชน และลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่"   ศ.นพ.ประกิตกล่าว