ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

ไทยฮิต "สมาร์ทโฟน จุดพลุ "มาร์ตเก็ตติ้ง ออน โมบาย"

เริ่มโดย moomai muna, 14:41 น. 06 พ.ค 55

moomai muna

ไทยฮิต "สมาร์ทโฟน จุดพลุ "มาร์ตเก็ตติ้ง ออน โมบาย"


[attach=1]


    จากจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ 100 คนในไทย พบว่าเป็นประเภท "สมาร์ทโฟน" หรือโทรศัพท์ที่มีคุณสมบัติทำงานใกล้เคียงคอมพิวเตอร์ทั่วไป 18 คน

         จากจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ 100 คนในไทย พบว่าเป็นประเภท "สมาร์ทโฟน" หรือโทรศัพท์ที่มีคุณสมบัติทำงานได้ใกล้เคียงคอมพิวเตอร์ทั่วไป 18 คน ซึ่งเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนทั่วโลกที่มีสัดส่วนอยู่ราว 30% อาจเป็นตัวเลขที่ยังห่างไกล แต่เมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตของผู้ใช้ที่มากกว่าคำว่า "ก้าวกระโดด" อนาคตของธุรกิจที่ผูกติดกับกระแสของสมาร์ทโฟนจึงดูคึกคักมากเป็นพิเศษ

         ผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้มือถือ 48,000 คนจาก 58 ประเทศรวมไทยโดย "ทีเอ็นเอส" บริษัทที่ปรึกษาด้านการตลาดในเครือกันตาร์ หนึ่งในเครือข่ายด้านข้อมูลเชิงลึกและคำปรึกษาทางการตลาดแถวหน้าของโลกยังพบสถิติที่น่าสนใจว่า ผู้ใช้มือถือทั้งแบบพรีเพด (เติมเงิน) และโพสต์เพด (รายเดือน) ต่างก็นิยมใช้การรับส่งข้อมูลผ่านมือถือ โดย 61% ของผู้ถูกสำรวจยินดีที่จะจ่ายค่าใช้บริการดังกล่าว

         รอวัน 3จี-สมาร์ทโฟนพร้อม
         ทั้งนี้เนื่องจากมือถือเริ่มกลายเป็นเครื่องมือที่อยู่ติดตัวคนตลอดทั้งวันและมีกิจกรรมต่างๆ ที่ทำผ่านมือถือนอกเหนือจากการสื่อสารด้วยเสียงเหมือนที่ผ่านมา เช่น ใช้อินเทอร์เน็ต, ฟังเพลง และเล่นเกม ซึ่งเมื่อเจาะลึกข้อมูลเฉพาะประเทศไทยพบว่า คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ 30% เทียบกับใช้ผ่านพีซีที่บ้าน 69%, พีซีที่ทำงาน 23%, ร้านอินเทอร์เน็ต คาเฟ่ 27% และแทบเล็ต 1% เจ้าของสมาร์ทโฟนในไทย 19% เป็นชาย, 18% เป็นหญิง ส่วนใหญ่ หรือราว 21% มีอายุเฉลี่ย 16-21 ปี

         นางสาวฟิโอนา บูคาแนน ผู้จัดการการพัฒนาภาคธุรกิจเทคโนโลยีและดิจิทัลกลุ่มบริษัททีเอ็นเอส กล่าวว่า เหตุที่เปอร์เซ็นต์การใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือของคนไทยยังต่ำกว่าเมื่อเทียบกับการใช้ผ่านพีซี เพราะไทยกำลังอยู่ในช่วงที่คนเริ่มหันมาให้ความสนใจกับสมาร์ทโฟน ซึ่งเมื่อถึงวันที่เทคโนโลยีสำคัญ ทั้งตัวเครื่อง (ที่มีฟีเจอร์และราคาที่เป็นเจ้าของได้ง่ายขึ้น) และเครือข่ายพร้อมให้บริการได้อย่างครอบคลุมการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือของคนไทยจะยิ่งก้าวกระโดดมากขึ้นเหมือนกับหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น เกาหลีที่มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือสูงถึง 63%

         "แอลบีเอส" กำลังมา
         อย่างไรก็ตามแม้ฟีเจอร์ส่วนใหญ่ที่ผู้ใช้มือถือไทยจะนิยมใช้จะอยู่ในหมวดเพื่อความบันเทิงเป็นส่วนใหญ่ เช่น ใช้ฟังเพลง, ดูคลิปวิดีโอ, โซเชียล เน็ตเวิร์ค และแชท แต่ความสนใจที่มีต่อบริการเพื่อความสะดวกสบายอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแอพพลิเคชั่นประเภทบอกตำแหน่ง หรือ "โลเคชั่น เบส เซอร์วิส (แอลบีเอส)" กำลังขึ้นแท่นแอพที่เติบโตมากที่สุด ปัจจุบันไทยมีสัดส่วนผู้ใช้บริการแอลบีเอสต่ำเพียง 4% แต่มีผู้ต้องการที่จะใช้งานในอนาคตสูงถึง 66%

         "บริการแอลบีเอสที่ฮอตๆ ในไทยตอนนี้ก็เช่น โฟร์สแควร์ และเฟซบุ๊ค เพลส ซึ่งคนเริ่มสนใจใช้มากกว่าเป็นบริการบอกทาง แต่ยังเป็นช่องทางรับข้อมูลทางการตลาดที่สนใจ เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร และยังรู้ความเคลื่อนไหวของเพื่อนว่าเช็คอินอยู่ที่ไหนบ้าง เพราะโฆษณาทางมือถือจะพ่วงมาด้วยข้อเสนอที่อยู่ใกล้จุดที่อยู่ในขณะนั้น"

         เธอระบุว่า กระแสดังกล่าวกำลังกลายเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ทรงพลังที่จะทำให้นักการตลาดใช้เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ

        สนเครื่องใหม่จ่ายแพงกว่าเดิม
        ขณะที่ปัจจัยที่จะกระตุ้นให้ตลาดสมาร์ทโฟนและความต้องการใช้แอพพลิเคชั่นเพื่อความสะดวกสบายจะยิ่งเติบโตมากขึ้นคือ การครอบคลุมของเครือข่าย 3จี และเทคโนโลยีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบไร้สาย หรือไวไฟที่กำลังเกิดขึ้นในไทย

        นอกจากนี้ยังรวมถึงราคา "ดาต้า แพลน แพ็คเกจ" ที่ปัจจุบันยังมีราคาสูง หากอนาคตมีผู้ใช้บริการมากขึ้นและทำให้ราคาค่าเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านมือถือต่ำลงได้อีกก็จะยิ่งกระตุ้นให้เกิดการใช้บริการที่หลากหลายผ่านมือถือมากขึ้น

        ทั้งนี้ยังสอดคล้องกับแนวโน้มการซื้อมือถือเครื่องใหม่ซึ่งผลสำรวจพบว่า ผู้ใช้มือถือไทยมีแผนจะซื้อสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่ราคาเฉลี่ยที่ 257 ดอลลาร์ (7,000-8,000 บาท)

        "คนใช้ดาต้าบนมือถือยิ่งใช้แล้วก็ยิ่งติด ดังนั้นข้อมูลที่ออกมาจึงพบว่าถ้าซื้อเครื่องต่อไปก็ยินดีจะจ่ายเงินเพิ่มขึ้น เพราะหวังว่ามือถือจะมีลูกเล่นเยอะขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสของบริการใหม่ๆ ที่นิยมแล้วในต่างประเทศ โดยเฉพาะบริการโมบาย เปย์เมนท์ และบริการประเภทคิวอาร์ โค้ดที่เพิ่มความสะดวกสบายให้แก่การใช้บริการห้างร้านต่างๆ ด้วยใช้เช็คข้อมูลบริการหรือราคาของสิ่งของต่างๆ ได้ก่อนเดินไปซื้อหาจริง และไม่จำเป็นต้องพกเงินสดจำนวนมาก"

         บูคาแนนสรุปว่า แบรนด์ โดยเฉพาะในกลุ่มคอนซูเมอร์ โปรดักส์ที่ต้องการจะใช้มือถือเป็นช่องทางสร้างการเติบโตให้ธุรกิจจึงควรต้องมี "โมบาย โซลูชั่น" ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และยังควรต้องอิงกับกลยุทธ์ที่มีอยู่หน้าร้านด้วย โดยต้องไม่ลืมปัจจัยสำคัญทั้งความสะดวกสบาย, อิสรภาพ, ความรู้สึกเกี่ยวข้อง, ความโปร่งใส และสร้างประสบการณ์ให้แก่ผู้ใช้มือถือ

         ทั้งนี้เพราะผลลัพธ์ที่ได้นอกจากจะสร้างการรับรู้ในแบรนด์แล้วยังเป็นช่องทางใหม่สำหรับการสร้างรายได้ให้การเติบโตของธุรกิจยุคที่สมาร์ทโฟนเริ่มครองเมือง


ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.bangkokbiznews.com