ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

NGOขู่ฟ้องกรมวิชาการเกษตรขึ้นทะเบียน4ยาฆ่าแมลงร้ายแรงแค่ "เฝ้าระพิเศษ"

เริ่มโดย ทีมงานประชาสัมพันธ์, 10:22 น. 01 ต.ค 55

ทีมงานประชาสัมพันธ์

NGOขู่ฟ้องกรมวิชาการเกษตรขึ้นทะเบียน4ยาฆ่าแมลงพิษตกค้างร้ายแรงแค่ "เฝ้าระวังพิเศษ"

updated: 30 ก.ย. 2555 เวลา 16:30:44 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

เอ็นจีโอจับตากรมวิชาการเกษตรขึ้นทะเบียนยาฆ่าแมลงพิษร้ายแรง 4 ชนิด "คาร์โบฟูราน-เมโทมิล-ไดโครโตฟอส-อีพีเอ็น" ทั้ง ๆ ที่มีพิษตกค้างรุนแรง แถมเป็นสารก่อมะเร็ง จนประเทศผู้ผลิตทั้งสหรัฐ-สหภาพยุโรปสั่งแบนห้ามใช้ แต่ผู้ค้าในไทยยังแห่นำเข้าช่วง 3 ปีที่ผ่านมานับ 10,000 ตัน

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานการคัดค้านการขึ้นทะเบียนสารเคมีทางการเกษตร หรือยาฆ่าแมลง มีพิษตกค้างร้ายแรง 4 ชนิด ได้แก่ คาร์โบฟูราน (Carbofuran), เมโทมิล (Methomyl), ไดโครโตฟอส (dicrotophos) และอีพีเอ็น (EPN) ซึ่งเป็น 4 ใน 11 สารเคมีการเกษตรอันตรายที่ กรมวิชาการเกษตร ขึ้นบัญชีให้อยู่ในกลุ่มเฝ้าระวังพิเศษ (Watch List) ภายใต้คณะทำงานดำเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตรายที่ต้องเฝ้าระวังมาตั้งแต่ปี 2554

ล่าสุดได้มีความพยายามจากบริษัทผู้ค้ายากำจัดศัตรูพืช ทั้งบริษัทต่างชาติและบริษัทของผู้ประกอบการคนไทย "ล็อบบี้" ที่จะให้กรมวิชาการเกษตร ขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2551 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 สิงหาคม 2554 ส่งผลให้องค์กรพัฒนาภาคเอกชน (NGO) และเครือข่ายออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการขึ้นทะเบียนยาฆ่าแมลงทั้ง 4 ชนิดอย่างกว้างขวาง

รายงานข่าวจากกรมวิชาการเกษตรระบุว่า ทางคณะทำงานกำลังดำเนินการพิจารณาหลักเกณฑ์การประเมินความเสี่ยงหรือห้ามใช้ หรือยกเลิกการใช้ สารเคมีการเกษตร/ยาฆ่าศัตรูพืชอันตรายที่ต้องเฝ้าระวังทั้ง 11 ชนิด สามารถกำหนดเกณฑ์พิจารณาสำคัญ 3 เกณฑ์ ประกอบไปด้วย

1)สารเคมีทางการ เกษตรจะต้องไม่เป็นสารที่มีพิษเรื้อรัง ส่งผลร้ายต่อมนุษย์และสัตว์ทดลอง อาทิ เป็นสารก่อมะเร็ง, ก่อการกลายพันธุ์, ตัวอ่อนผิดปกติ 2)ต้องไม่เป็นสารที่มีพิษเฉียบพลันสูง (LD50 ต่ำ) เป็นอันตรายต่อมนุษย์/สัตว์ได้ง่าย มีระดับความเป็นพิษอยู่ในชั้น I ตามกฎของ FAO/WHO และ 3)ต้องไม่เป็นสารที่ถูกห้ามใช้หรือถูกแบนในต่างประเทศ

"เกณฑ์ 3 ข้อเห็นได้ชัดแล้วว่า ยาฆ่าแมลง 4 ชนิดยากที่จะผ่านการพิจารณาขึ้นทะเบียน เนื่องจากมีรายงานทางวิชาการมากมายที่แสดงให้เห็นถึงพิษตกค้างสะสมรุนแรง การเป็นสารก่อมะเร็ง และที่สำคัญเฉพาะยาฆ่าแมลงคาร์โบฟูราน (Carbofuran) กับเมโทมิล (Methomyl) นั้น ถูกห้ามใช้ทั้งในสหภาพยุโรปและสหรัฐ รวมทั้งประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศด้วย" นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถีไทย ร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภค/เครือข่ายเกษตรทางเลือก ซึ่งคัดค้านการขึ้นทะเบียนยาฆ่าแมลงอันตรายร้ายแรงทั้ง 4 ชนิด กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กรมวิชาการเกษตรไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลการพิจารณาอย่างโปร่งใส ชอบอ้างว่าต้องรอข้อมูลจากภาคเอกชนอย่างเดียว กรมควรจะประกาศยกเลิกการใช้ยาฆ่าแมลงที่มีพิษตกค้างรุนแรง เป็นสารก่อมะเร็งได้แล้ว

"กรมวิชาการเกษตรควรจะทำให้ชัดเจน แต่ขณะนี้ดูเหมือนจะรอเวลาไปเรื่อย ๆ กลายเป็นว่าเราต้องทำงานเยอะ ต้องค้นเอกสารคำตัดสินของศาลอเมริกา มติของสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา (EPA) ที่ปฏิเสธคำอุทธรณ์ของบริษัทที่ผลิตคาร์โบฟูราน กลายเป็นว่าเราต้องหาข้อมูลให้กรมเพื่อมาสนับสนุนข้อเท็จจริง ทำไมต้องห้ามขึ้นทะเบียนยาฆ่าแมลงเหล่านี้"

และหากกรมวิชาการเกษตร รับขึ้นทะเบียน/ต่ออายุยาฆ่าแมลงทั้ง 4 ชนิด ทางมูลนิธิชีววิถีไทยจะดำเนินการ 1)ฟ้องศาลปกครองให้ระงับชะลอคำสั่งขึ้นทะเบียน 2)ฟ้องการทำหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรและอธิบดีกรม ในฐานะที่มีอำนาจหน้าที่และเป็นประธานการเฝ้าระวังการจัดประเภทสารเคมี แต่ไม่ดำเนินการใด ๆ ทั้งที่มีข้อมูลหลักฐานรายงานที่กล่าวถึงพิษภัยของสารจำกัดศัตรูพืชเหล่านี้ และมีการห้ามใช้ในประเทศผู้ผลิต ขัดต่อหลัก Certificate of Free Sale เพราะประเทศต้นผลิตระงับการใช้ไปแล้ว แต่ไทยยังใช้อยู่ และ 3)ฟ้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โยงไปถึงเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น ของกรมวิชาการเกษตรกับบริษัทเอกชน

ด้าน นายจิรากร โกศัยเสวี อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ซึ่งจะเกษียณอายุในวันที่ 30 กันยายนนี้ ชี้แจงว่า กรมกำลังรอข้อมูลจากภาควิชาการ และ NGO โดยให้ส่งข้อมูลครั้งสุดท้ายภายในวันที่ 28 กันยายน "กรมวิชาการเกษตรไม่ได้ใส่เกียร์ว่าง แต่ต้องรออธิบดีคนใหม่สรุปว่าจะให้ขึ้นทะเบียนหรือไม่ให้ขึ้น"

นายโทมัส คอนเนลลี รองประธานบริหารและประธานฝ่ายนวัตกรรม บริษัทดูปองท์ กล่าวว่า เรื่องถกเถียงการขึ้นทะเบียนยาฆ่าแมลงเมโทมิล ที่ดูปองท์ผลิต เราไม่ได้มองเป็นเรื่องใหญ่ ปัจจุบันเรามีส่วนแบ่งตลาดในไทยราว 10% หากไทยยังไม่พร้อมให้นำเข้าก็ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร