ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

ทาง 2 แพร่งวัดใจ กนง. "คง-ลด" ดอกเบี้ย แก้เงินเฟ้อหรือกันเงินไหลเข้า

เริ่มโดย ทีมงานประชาสัมพันธ์, 10:13 น. 08 ต.ค 55

ทีมงานประชาสัมพันธ์

updated: 06 ต.ค. 2555 เวลา 15:32:38 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

การปรับตัวขึ้นพรวดของเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.ย. ปรับตัวสู่ 3.38% จาก 2.69% ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำของปีที่แล้ว การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าหมวดอาหาร และการปรับค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (ค่าเอฟที) ในอัตรา 0.18 บาท/หน่วย ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ นักวิเคราะห์ต่างทบทวนทิศทางดอกเบี้ยจากนี้ไปถึงสิ้นปีอีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้คาดกันว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะเริ่มลดดอกเบี้ยนโยบายจาก 3% ในปลายปีนี้ เพื่อสอดรับกับหลายประเทศที่ลดดอกเบี้ยไปแล้ว

ในมุมมองของ นางลัษมณ อรรถาพิช เศรษฐกร สำนักงานผู้แทนธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) กล่าวว่า นโยบายการเงินของไทยจะยังเป็นแบบผ่อนคลาย เนื่องจากเศรษฐกิจโลกอ่อนแอ และอัตราเงินเฟ้อก็ต่ำกว่าที่คาด จึงได้ปรับลดประมาณการเงินเฟ้อในปีนี้และปีหน้าลดลงจาก 3.4% และ 3.3% เป็น 3.0% และ 3.2% ตามลำดับ สอดคล้องกับการลดประมาณการจีดีพีทั้งปีนี้และปีหน้าลงจาก 5.5% เป็น 5.2% และ 5.0% ตามลำดับ

ในภาวะที่เงินเฟ้อปรับตัวขึ้นมากในเดือน ก.ย. และเศรษฐกิจในประเทศยังขยายตัวดี เอดีบีคาดว่า กนง. จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 3% ไปจนถึงสิ้นปี และจะลดดอกเบี้ยในปีหน้าต่อเมื่อเศรษฐกิจถูกกระทบจากปัญหา

ต่างประเทศ โดยเฉพาะกรณีสหรัฐ ยุโรป และเศรษฐกิจหลักของเอเชียอย่างจีนและอินเดียอยู่ในภาวะซบเซามากกว่าคาด

สำหรับการระดมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ เป็นอีกปัจจัยที่มีผลต่อประสิทธิภาพการส่งผ่านดอกเบี้ยนโยบาย และทำให้ กนง.ไม่ลดดอกเบี้ย ซึ่งจากที่เอดีบีได้พูดคุยกับธนาคารพาณิชย์ ได้รับการอธิบายว่า ธนาคารต้องระดมสภาพคล่องไว้ก่อนที่รัฐบาลจะเข้ามากู้ในตลาดในปีหน้า โดยเฉพาะการกู้ลงทุนวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 จำนวน 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งปีนี้กู้เงินไปเพียง 1 หมื่นล้านบาทเท่านั้น แต่ต้องดำเนินการทั้งหมดภายในเดือน มิ.ย. 2556

"แบงก์เก็งว่าปีหน้ารัฐบาลจะเข้ามาเป็นผู้กู้ใหญ่ ทั้งการกู้ชดเชยงบประมาณขาดดุลปี 2556 อีก 3 แสนล้านบาท ส่วนที่เหลือจาก พ.ร.ก. 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งยังไม่ได้กู้ถึง 3.4 แสนล้านบาท และต้องดำเนินการให้เสร็จตามกฎหมายภายในเดือน มิ.ย. 56 ก็เป็นไปได้ที่ระหว่างนี้จะยังระดมเงินฝาก และรอดูว่าหลังประมูลโครงการเสร็จเดือน เม.ย. 2556 แล้วรัฐบาลจะเข้ามากู้ด้วยวิธีไหน" นางลัษมณกล่าว

ด้าน นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.ภัทร เห็นสอดคล้องกันว่า แม้ภาคส่งออกจะชะลอลง แต่อุปสงค์ในประเทศยังขยายตัวได้ดี ขณะที่สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวสูง มีการแข่งขันระดมเงินฝาก กนง.ลดดอกเบี้ยก็อาจไม่ได้รับการตอบสนองจากธนาคาร ดังนั้นดอกเบี้ยนโยบายจะยังคงอยู่ที่ 3% ไปจนถึงสิ้นปี และอาจไม่มีการปรับลด เว้นแต่จะมีปัญหาวิกฤตที่รุนแรงในต่างประเทศ และส่งผลต่ออุปสงค์ในประเทศอย่างมาก ก็อาจมีการปรับลด 1-2 ครั้งในปีหน้าเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม นางสาวอุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ยังเห็นว่า กนง.จะลดดอกเบี้ยลง 2 ครั้ง โดย 1 ครั้งจะเกิดขึ้นในปลายปีนี้ และอีก 1 ครั้งในครึ่งแรกของปีหน้า ภายใต้ประมาณการเงินเฟ้อทั่วไป และเงินเฟ้อพื้นฐานในปีนี้ที่ 2.9% และ 3.1% และในปีหน้า 2.1% และ 1.9% ตามลำดับ

แม้จะมองว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้ เงินเฟ้อยังคงอยู่ระดับใกล้เคียงกับเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา แต่เชื่อว่าผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก จะทำให้ภาวะเงินเฟ้อในระยะต่อไปไม่น่าเพิ่มขึ้นรุนแรง ดังนั้น กนง.จะยังให้น้ำหนักกับความเสี่ยงด้านการเติบโตมากกว่าเงินเฟ้อ

"เรามองว่า กนง.จะลดดอกเบี้ยเพื่อปรับสมดุลระหว่างดอกเบี้ยในประเทศกับต่างประเทศ สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลกเพื่อดูแลเรื่องเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยคาดว่า ครั้งแรกจะลดในการประชุม กนง.เดือน พ.ย. เพราะช่วงนั้นจะเห็นตัวเลขจริงของเศรษฐกิจไตรมาสที่ 3/55 ที่น่าจะออกมาไม่ดีนัก กนง.ก็จะมีเหตุผลเอาดอกเบี้ยลง" นางสาวอุสรากล่าว

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ กนง.จะมีการประชุมดอกเบี้ยนโยบายในวันที่ 17 ต.ค.นี้ ยังมีอีกหลายปัจจัยที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้ โดยเฉพาะตัวแปรจากต่างประเทศ ทั้งการแก้ปัญหาของวิกฤตยุโรปและสหรัฐที่จะมีผลต่อการชั่งน้ำหนักของ กนง.