ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

ไตรมาส2ฝันร้าย! อุตฯรถ1.5แสนคันหายวับไม่มีส่ง

เริ่มโดย ทีมงานบ้านเรา, 12:27 น. 27 เม.ย 54

ทีมงานบ้านเรา

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์    27 เมษายน 2554 08:27 น.

   [attach=1]   

พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ! จากตัวเลขการผลิตและขายในประเทศ ที่ทำสถิติสูงสุดเป็นว่าเล่นในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ แต่พอเปิด ฉากไตรมาส 2 กลับกลายเป็นฝันราย! อุตสาหกรรมรถไทย เมื่อเจอหางเลขเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่ญี่ปุ่น เพราะค่ายรถประเมินผลกระทบล่าสุด ตัวเลขการผลิตรถยนต์ในไทยไปจนถึงมิถุนายนลดลงเฉลี่ย 50% หรือประมาณ 1.5 แสนคัน เงินสะพัดในตลาดหายไปกว่า 7.5 หมื่นล้านบาท เหตุผู้ผลิตชิ้นส่วนรถในญี่ปุ่นไม่สามารถผลิตป้อนให้ได้ตามต้องการ ยักษ์ใหญ่ "โตโยต้า" แถลงโรงงาน 3 แห่ง ต้องหยุดผลิตทุกวันจันทร์และศุกร์ และที่เหลือผลิตเพียงแค่ 50% ของปริมาณการผลิตปกติ ขณะที่ "ฮอนด้า" ประกาศงดรับจองอีโคคาร์ "ฮอนด้า บริโอ้" ที่เพิ่งเปิดตัว เช่นเดียวกับ "มาสด้า3" โฉมใหม่ ที่จะเริ่มส่งมอบได้ช่วงครึ่งปีหลัง แม้แต่ "นิสสัน" ที่ได้รับผลกระทบ 20% ปัจจุบันก็ไม่มีรถตัวธง "นิสสัน มาร์ช" ในสต็อกโชว์รูมดีลเลอร์เลย ส่วนค่ายรถอื่นๆ มีสภาพไม่แตกต่างกัน รวมถึงบรรดารถยนต์นำเข้าสำเร็จรูปจากญี่ปุ่น โดยเฉพาะรถตู้ยอดฮิต "โตโยต้า คอมมิวเตอร์" ที่งานนี้ลูกค้านั่งรอกันจนรากงอกเลย

       ยังไม่ทันปลาบปลื้มดีใจ กับยอดขายรถยนต์ในไทย ช่วงไตรมาสแรก(ม.ค.-มี.ค.)ของปีนี้ ที่ทำได้มากถึงร่วม 2.4 แสนคัน ซึ่งนับเป็นตัวเลขพุ่งแบบติดเทอร์โบ โดยเฉพาะเดือนมีนาคมยอดขายทะยานแรงเกือบ 1 แสนคัน เช่นเดียวกับภาพรวมของอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไทยไตรมาสแรก ที่มีปริมาณการผลิต 4.68 แสนคัน และเดือนมีนาคมมากถึงกว่า 1.72 แสนคัน ที่ล้วนเป็นสถิติสูงสุดใหม่ของอุตสาหกรรมรถยนต์ในไทย แต่หลังการเปิดเผยตัวเลขดังกล่าวเพียงไม่กี่วัน กระทรวงอุตสาหกรรมและบริษัทรถยนต์ ต่างได้มีการแถลงผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิที่ประเทศญี่ปุ่นชัดเจนเป็นครั้ง แรก ปรากฏว่าส่งผลทำให้การผลิตรถในไทยหายไปเฉลี่ยประมาณ 50%
       
       "เหตุการณ์สึนามิที่ญี่ปุ่น ทำให้โรงงานประกอบรถยนต์และชิ้นส่วนของญี่ปุ่นเสียหายมาก จนทำให้ไม่สามารถผลิตได้เต็มกำลัง โดยเฉพาะผู้ผลิตชิ้นส่วนของญี่ปุ่นที่ผลิตได้เพียง 50% ทำให้ไม่สามารถส่งชิ้นส่วนไปประกอบรถทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยที่เป็นฐานการผลิตรถของญี่ปุ่นได้ตามต้องการ และจากการประชุมร่วมกับบริษัทรถยนต์ ต่างแจ้งว่าจะทำให้การผลิตรถในไทยลดลงเฉลี่ย 50% เช่นกัน"

       เป็นการเปิดเผยของ "วิฑูรย์ สิมะโชคดี" ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ภาย หลังจากประชุมร่วมกับผู้ผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในประเทศไทย อาทิ โตโยต้า, ฮอนด้า, อีซุซู, นิสสัน, ซูซูกิ, จีเอ็ม, มิตซูบิชิ และคาวาซากิ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ยังประเมินว่าจะเป็นผลกระทบระยะสั้นในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน และคาดว่าหลังจากนั้นจะเริ่มกลับมาฟื้นการผลิตได้มากขึ้น
       
       ขณะที่ "วัลลภ เตียสิริ" ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ เปิด เผยว่า แม้การผลิตรถในไทยจะใช้ชิ้นส่วนประมาณ 70-80% แต่ยังมีบางชิ้นส่วนที่จำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะชิ้นส่วนประเภทอิเล็กทรอนิกส์ ที่เป็นหัวใจสำคัญของการผลิตรถ ดังนั้นเมื่อผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ประเทศญี่ปุ่น ไม่สามารถผลิตสินค้าป้อนให้แก่ค่ายรถยนต์ทั่วโลกได้ตามต้องการ ย่อมทำให้การผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นในโรงงานต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยไม่สามารถผลิตได้เต็มที่เช่นกัน
       
       "จาก ตัวเลขที่บริษัทรถในไทยแจ้งมา จะทำให้ยอดการผลิตลดลง 50% ซึ่งหมายความว่าตัวเลขการผลิตจะหายไปประมาณ 1.5 แสนคัน ในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ หรือจะเกิดการสูญเสียรายได้ไปประมาณ 7.5 หมื่นล้านบาท แต่นั่นเป็นผลกระทบถึงเพียงแค่เดือนมิถุนายน เพราะหากหลังจากนั้นสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย ตัวเลขการผลิตย่อมลดลงมากกว่านั้น"

       เช่นเดียวกับ "ศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร" ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ยังไม่สามารถระบุผลกระทบกับตัวเลขการผลิต และตลาดรถยนต์ในไทยได้ แต่เบื้องต้นจากปลายเดือนเมษายนถึงช่วงเดือนมิถุนายน จะทำให้ตัวเลขการผลิตรถยนต์ในไทยลดลงเฉลี่ยประมาณ 50% จากกำลังการผลิตเฉลี่ยเดือนละ 1.5 แสนคัน(สำหรับรองรับในประเทศและส่งออก) หากหลังจากนั้นสถานการณ์คลี่คลาย ผู้ผลิตชิ้นส่วนในญี่ปุ่นกลับมาผลิตได้เต็มที่ โรงงานผลิตรถยนต์ในไทยก็จะสามารถเร่งการผลิตได้ และทำให้ไม่หลุดเป้าหมายการผลิต 1.8 ล้านคัน หรือตลาดในประเทศขาย 9.5 แสนคัน จากที่เคยประเมินไว้เมื่อต้นปีมากนัก
       
       ทั้งนี้มีรายงานข่าวว่า ค่ายรถยนต์ได้แจ้งต่อกระทรวงอุตสาหกรรม ถึงผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิที่มีต่อการผลิตรถในไทย โดยโตโยต้าต้องลดกำลังการผลิตลง 50% เช่นเดียวกับฮอนด้า, อีซูซุ, ฮีโน่ และคาวาซากิ ขณะที่นิสสันลดลงประมาณ 20% ส่วนมิตซูบิชิ, ซูซูกิ และจีเอ็ม ลดกำลังการผลิตลงแต่ไม่ได้มากนัก และบริษัทรถยังคาดว่าจะส่งมอบรถบางรุ่นได้ช้าออกไปอาจจะให้ลูกค้ารับรถ 5-6 เดือนก็เป็นได้

       สำหรับบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้แถลงเป็นเอกสารต่อสื่อมวลชนว่า ได้พิจารณาปรับลดปริมาณการผลิต เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณชิ้นส่วนที่มีจำนวนจำกัด จากผลกระทบเหตุการณ์สึนามิ ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน ถึงวันที่ 4 มิถุนายน 2554

       โดยบริษัทฯ ได้ปรับลดปริมาณการผลิตในโรงงานประกอบรถยนต์โตโยต้าทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ โรงงานสำโรง โรงงานเกตเวย์ และโรงงานบ้านโพธิ์ โดย งดทำการผลิตรถยนต์ในวันจันทร์ และวันศุกร์ ส่วนการผลิตระหว่างวันอังคาร ถึงวันพฤหัสบดี จะเป็นการผลิตในสัดส่วน 50% ของปริมาณการผลิตปกติต่อวัน ทั้ง นี้ ในช่วงเวลาที่ไม่มีการผลิต บริษัทฯจะจัดกิจกรรมและการจัดการอบรมต่างๆ ให้แก่พนักงานเพื่อพัฒนาศักยภาพในการผลิต อันเป็นการเตรียมความพร้อมเมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติอีกครั้งหนึ่ง
       
       อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ต้องขออภัยสำหรับความไม่สะดวก ที่อาจเกิดขึ้นกับลูกค้าในครั้งนี้ สำหรับแผนการผลิตหลังวันที่ 4 มิถุนายน 2554 ทางบริษัทฯจะประเมินสถานการณ์และพิจารณาผลกระทบ และพร้อมประกาศให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง
       
       เช่น เดียวกับ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด โดย "อาซึชิ ฟูจิโมโตะ" ประธานบริษัท เปิดเผยว่า การประเมินผลกระทบล่าสุด จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในญี่ปุ่น ต่อการจัดส่งชิ้นส่วนรถยนต์จากญี่ปุ่นมายังประเทศไทย ทำให้บริษัทฯ จำเป็นต้องหยุดรับจองฮอนด้า บริโอ้ รถยนต์อีโคคาร์ที่เพิ่งแนะนำสู่ตลาดเมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมาชั่วคราว

       "สถานการณ์การจัดส่งชิ้นส่วนจากญี่ปุ่น ในขณะนี้ยังคงไม่แน่นอน ทำให้ชิ้นส่วนอะไหล่เพื่อการผลิตฮอนด้า บริโอ้ มีไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า บริษัทฯ จึงมีความจำเป็นต้องหยุดรับจองฮอนด้า บริโอ้ เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยเราจะติดต่อลูกค้าที่ได้จองฮอนด้า บริโอ้ ไปก่อนหน้านี้ ผ่านทางผู้จำหน่ายทั่วประเทศ เพื่อชี้แจงสถานการณ์และกำหนดการรับรถเป็นระยะๆ และบริษัทฯ จะเปิดรับจองฮอนด้า บริโอ้อีกครั้ง ทันทีที่การผลิตและจัดส่งชิ้นส่วนจากญี่ปุ่น กลับมาอยู่ในระดับปกติ และเราเสียใจที่ทำให้เกิดความไม่สะดวกต่อลูกค้า"
       
       ส่วนค่ายนิสสันแม้ จะไม่ได้รับผลกระทบมากเท่ากับโตโยต้าและฮอนด้า แต่จากการสอบถามตัวแทนจำหน่ายในกรุงเทพฯ และปริมณฑลพบว่า ขณะนี้ต่างไม่มีรถยนต์ นิสสัน มาร์ช ในโชว์รูมไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายนนี้เป็นอย่างต่ำ ทำให้ระหว่างนี้ไม่สามารถส่งมอบรถให้แก่ลูกค้าได้เช่นเดียวกัน
       
       ด้าน บริษัท มาสด้า เซลส์(ประเทศไทย) จำกัด ที่เพิ่งเปิดตัวเก๋งคอมแพ็กต์รุ่นใหม่ "มาสด้า3" เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีปัญหาการผลิตจากการไม่มีชิ้นส่วนส่งมอบจากญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน ทำให้ไม่สามารถผลิตรถยนต์รุ่นนี้ได้ และต้องแจ้งการส่งมอบรถให้กับลูกค้าเป็นครึ่งปีหลังเป็นต้นไป
       
       ผล กระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่ญี่ปุ่น ไม่เพียงจะส่งผลต่อการผลิตรถยนต์ในไทยลดลงเฉลี่ย 50% แล้ว รถนำเข้าสำเร็จรูปจากประเทศญี่ปุ่น เป็นอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำเข้าอิสระ หรือเกรย์มาร์เกต หรือแม้แต่บริษัทตัวแทนจำหน่าย อย่างเช่นแบรนด์ "เลกซัส" หรือ "ซูบารุ" ขณะที่รถตู้ยอดนิยม "โตโยต้า คอมมิวเตอร์" ก็งดรับจองรุ่นนี้เช่นกัน
       
       เรียก ว่า... อุตสาหกรรมรถยนต์ และตลาดรถในไทย เข้าสู่ช่วงไตรมาส 2 พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว! ทีนี้คงต้องมาลุ้นกันต่อไป จะสามารถกลับมาพลิกฟื้นได้เร็วแค่ไหน? หากไม่จบภายในเดือนมิถุนายน งานนี้เป็นเรื่องใหญ่แน่?!
สนับสนุนการขับเคลื่อนโดย
- ฮอนด้าพิธานพาณิชย์-อริยะมอเตอร์ www.phithan.co.th/hondaphithan
- ปาล์มสปริงส์ & ซิตี้รีสอร์ท บ้านและคอนโดคุณภาพจากเครืองศุภาลัย www.hatyainakarin.com
- ธีระการช่าง หาดใหญ่ (เยื้องบิ๊กซีคลองแห) โทร 086-4910345 www.facebook.com/teerakarnchanghy
- เอนกการช่าง ผู้นำการพัฒนาเครื่องจักรกลเกษตร โทร 081-7382622 www.an-anek.com/contact.php
รีวิวธุรกิจ เกาะติดบ้านเมือง ร้อยเรื่องท้องถิ่น TLP 0897384215