ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

เครือข่ายธรรมภิบาลยื่นจดหมายเปิดผนึกค้านขึ้นราคา LPG ถึงนายกรัฐมนตรี

เริ่มโดย ทีมงานประชาสัมพันธ์, 17:26 น. 20 ธ.ค 55

ทีมงานประชาสัมพันธ์

แนวร่วมเครือข่ายธรรมาภิบาลด้านพลังงาน จังหวัดสงขลา ยื่นจดหมายเปิดผนึกค้านขึ้นราคา LPG ถึงนายกรัฐมนตรี  ผ่าน ผู้ว่าฯสงขลา

            วันนี้(20 ธ.ค. 55) ที่หน้าศาลากลางจังหวัดสงขลา อ.เมืองสงขลา แนวร่วมเครือข่ายธรรมาภิบาลด้านพลังงาน จังหวัดสงขลา ออกรณรงค์แจกใบปลิว รวมพลังคนสงขลา ค้านการขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ในย่านเศรษฐกิจใจกลางเมืองหาดใหญ่ และสงขลา เพื่อประชาสัมพันธ์ และให้ข้อมูลแก่ประชาชนให้ทราบถึงผลของการปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี หรือก๊าซหุงต้ม ที่รัฐบาลจะเริ่มปรับราคาในปี 2556 โดยจะขึ้นราคาอย่างต่ำ กิโลกรัมละ 50 สตางค์ต่อเดือน เป็นเวลา 2 ปี ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนผู้บริโภคต้องได้รับความเดือดร้อน


            โดยวันนี้เดินทางมารณรงค์ที่อำเภอเมืองสงขลา นำโดย นายสุมิตร นวลมณี และ นายแพทย์อนันต์ บุญโสภณ เป็นแกนนำ ในการเข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกผ่าน นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ไปยังนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้หยุดนโยบายปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม อ้างเหตุผล 5 ข้อ

            1. ให้รัฐบาลหยุดนโยบายปรับขึ้นราคา LPG กับ ภาคครัวเรือน และยานยนต์ เนื่องจากการ   ให้สัมปทานปิโตรเลียมของประเทศไทย เป็นระบบสัมปทานที่รัฐได้รับผลประโยชน์ตอบแทนต่ำที่สุดในอาเซียน ทำให้ผู้รับสัมปทานมีต้นทุนการผลิตต่ำ บวกกำไรของผู้รับสัมปทาน อยู่ที่ประมาณ   9 บาท ต่อ กิโลกรัม ขณะที่ราคาขาย LPG ให้กับครัวเรือน และยานยนต์ รวมกำไรผู้ค้าและภาษี อยู่ที่กิโลกรัมละ 18.13 บาท ต่อกิโลกรัม และ 21.38 บาท ต่อ กิโลกรัม ตามลำดับ จึงเป็นราคาที่ผู้ค้าได้กำไรอยู่แล้ว

            2. ก๊าซ LPG ที่ผลิตจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ รัฐฯ ควรจัดให้ภาคประชาชนได้ใช้ก่อน เนื่องจากวัตถุดิบในการผลิตมาจากแผ่นดินไทยถือเป็นทรัพยากรของประชาชน ทั้งนี้ ในปี 2555      โรงแยกก๊าซ มีกำลังการผลิต 3.60 ล้านตัน ประชาชนใช้ 3.57 ล้านตัน และปี 2555 คาดว่าจะผลิตได้ 3.88 ล้านตัน ซึ่งเพียงพอต่อการใช้งานภายในประเทศ  ส่วนที่เหลือค่อยจำหน่ายให้กับภาคอุตสาหกรรมได้ หากไม่เพียงพอให้ภาคอุตสาหกรรมเป็นผู้รับภาระในการนำเข้าเอง

            3. ให้เลิกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ไปอุดหนุนการใช้ LPG เป็นวัตถุดิบของการผลิตปิโตรเคมี ในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดโลก ประมาณร้อยละ 40 การนำเงินกองทุนน้ำมันฯ ไปอุดหนุนปิโตรเคมี ดังกล่าว เป็นการกระทำที่ผิดวัตถุประสงค์ ของการจัดตั้งกองทุนน้ำมัน

            4. หนี้กองทุนน้ำมัน ที่ปัจจุบันติดลบอยู่ประมาณ 17,000 ล้านบาท เกิดจากการนำเงินกองทุนน้ำมันฯ ไปอุดหนุนธุรกิจปิโตรเคมี ดังนั้น แทนที่รัฐฯ จะปรับขึ้นราคา LPG กับภาคขนส่งและครัวเรือน ปีละ 3-6 บาท ต่อกิโลกรัม รัฐฯ ควรสั่งให้ปิโตรเคมีที่ใช้ LPG อย่างน้อยปีละ 2,400 ล้านกิโลกรัม จ่างเงินเข้ากองทุนน้ำมันอย่างน้อยกิโลกรัมละ 7 บาท เหมือนที่จัดเก็บจากโรงงานอุตสาหกรรมอื่น ๆ จะได้เงินถึงปีละ 16,800 ล้านบาท ทำให้หนี้กองทุนน้ำมันจะหมดภายใน 1 ปี และเพื่อความเป็นธรรมกับประชาชน รัฐฯ ควรสั่งให้ ปตท.ส่งคืนเงินที่ได้รับชดเชยส่วนต่างราคา LPG นำเข้าไปแล้วประมาณ 1 แสนล้านบาท ให้แก่กองทุนน้ำมันโดยเร็ว

            5. ให้มีคำสั่งห้ามมิให้ปลัดกระทรวงพลังงานและข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพลังงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลกิจการพลังงานเป็นกรรมการในธุรกิจพลังงานทั้งหมด เนื่องจากการรับเงินเดือน โบนัส และเบี้ยประชุมจากบริษัทพลังงานของข้าราชการ มีผลประโยชน์ทับซ้อนในการปฏิบัติหน้าที่ และเป็นการกระทำผิดหลักธรรมาภิบาลสากล

            ทั้งนี้มีป้ายข้อความต่าง ๆ เช่น ปตท.หยุดเสวยสุขบนความทุกข์ของชาวบ้าน รัฐบาลดีช่วยแก้ไข รัฐบาลจัญไร ชอบขึ้นราคา เป็นต้น ซึ่งภายหลังยืนจดหมายเปิดผนึกเสร็จ แนวร่วมเครือข่าย  ธรรมาภิบาลด้านพลังงาน ยอมสลายตัวไปในที่สุด

ข้อมูลและที่มา จันจิรา  บัวน้อย//ข่าว PR Songkhla

คนไท

ชอบ ข้อ 2  ครับ

             LPG ที่ผลิตจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ รัฐฯ ควรจัดให้ภาคประชาชนได้ใช้ก่อน เนื่องจากวัตถุดิบในการผลิตมาจากแผ่นดินไทยถือเป็นทรัพยากรของประชาชน

ส.เดี๋ยวโดน ส.เดี๋ยวโดน ส.เดี๋ยวโดน
           


           


คนไท