ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

ระเบิดเวลาค่าแรง300 ญี่ปุ่นส่งสัญญาณอันตราย รัฐอัพเกรดแรงงานก่อนจะสาย!!

เริ่มโดย ทีมงานประชาสัมพันธ์, 16:42 น. 28 ม.ค 56

ทีมงานประชาสัมพันธ์

วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2556 เวลา 14:10:05 น.
โดยทีมข่าวเศรษฐกิจ  (ที่มา:มติชนรายวัน 28 ม.ค.2556)

ผ่านไปแล้วเกือบ 1 เดือน สำหรับนโยบายค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาททั่วประเทศ ซึ่งประกาศดีเดย์บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556

ท่ามกลางการถกเถียง และจับตามองจากหลายฝ่ายว่า ผลจากนโยบายดังกล่าวจะทำให้โรงงานอุตสาหกรรมต้นทุนเพิ่มขึ้นมากจนถึงขั้นต้องลดแรงงาน หรือรุนแรงถึงขั้นปิดกิจการจำนวนมากหรือไม่


ขณะที่อีกด้านมีการมองไปที่แรงงานที่ได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นว่า มีการพัฒนาฝีมือให้สอดคล้องกับค่าจ้างที่ปรับเพิ่มขึ้นมาหรือไม่ เพราะเมื่อนายจ้างควักกระเป๋าจ่ายเพิ่ม ก็ย่อมจะต้องหวังที่จะได้รับเนื้องานที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ก่อนมาตรการ 300 บาทมีผลบังคับใช้ กระแสข่าวการปิดโรงงานอุตสาหกรรมจากฝ่ายเอกชนที่พยายามนำเสนอออกสู่สาธารณชน แต่ถูกมองว่าข้อมูลไม่มีความชัดเจนว่า มีการปิดโรงงานไปจำนวนเท่าไหร่ ดังนั้น ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปตรวจสอบสถานการณ์ของโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศว่าเป็นอย่างไร ซึ่งจนถึงขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมยอมรับว่า การตรวจสอบไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะโรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เลี่ยงที่จะให้ข้อมูล

เมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐบาลคงต้องมาคิดเอาเองว่าผลจากค่าแรง 300 บาทรุนแรงจริงหรือไม่ และทำไมโรงงานอุตสาหกรรมจึงไม่กล้าตอบคำถาม ได้แต่เดาไปว่า ข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า การปิดกิจการเป็นเรื่องที่เจ้าของกิจการไม่กล้าเปิดเผย เพราะมีผลต่อการเริ่มต้นกิจการใหม่ ตลอดจนสถานภาพทางการเงินที่ธนาคารจะใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาให้สินเชื่อในอนาคต

ล่าสุด "อธิภูมิ กำธรวรรินทร์" ประธานกิตติมศักดิ์ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า ผลจากค่าแรง 300 บาททำให้มีโรงงานเซรามิก เครื่องปั้นดินเผา จ.ลำปาง ทยอยขึ้นป้ายประกาศขายที่ดินและโรงงานแล้ว เพราะนอกจากได้รับผลกระทบจากนโยบาย 300 บาทแล้ว อุตสาหกรรมดังกล่าวยังได้รับผลกระทบจากลอยตัวของราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) อีกด้วย ทำให้ภาระต้นทุนสูงขึ้น หากยังดำเนินการต่อไปจะยิ่งขาดทุน

ยิ่งตอกย้ำด้วยผลสำรวจผลกระทบการปรับค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศจาก ส.อ.ท. ที่สำรวจความเห็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่กระจายทั่วประเทศประมาณ 1,000 ราย ระหว่างวันที่ 12-17 มกราคม ครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรม หอการค้าจังหวัด และสมาคมต่างๆ ซึ่งมีผู้ตอบแบบสอบถามรวม 400 ราย แรงงานไม่เกิน 200 คน เป็นธุรกิจในประเทศ 56% ส่งออก 43% ลักษณะธุรกิจ ใช้แบรนด์ตัวเอง 37% ผลิตภายใต้แบรนด์ลูกค้า 27% และรับจ้าง 27%

โดยในแบบสอบถาม มีคำถามเกี่ยวกับมาตรการที่รัฐบาลเตรียมช่วยเหลือ พบว่า 46% ไม่สามารถช่วยได้ 51% ช่วยได้น้อย และไม่มีรายใดเชื่อว่าจะช่วยได้ คำถามด้านความพอใจต่อมาตรการพบว่า 66% ไม่พอใจ เพราะมาตรการหลักที่ต้องการคือ ตั้งกองทุนชดเชยส่วนต่างค่าจ้าง คำถามเรื่องผลกระทบต่อกำไรขาดทุน พบว่า 35% ขาดทุน และ 44% กำไรลดลง คำถามเรื่องโอกาสในการเลิกกิจการ พบว่า 24% มีโอกาสปิดกิจการ 11% ไม่แน่ใจ และ 64% กระทบแต่สามารถประคองธุรกิจได้

ส่วนประเด็นคำถามเรื่องโอกาสย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ พบว่า 81% ไม่มีนโยบายย้ายฐาน 18% มีแนวคิดย้ายไปประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งประเทศที่ต้องการไปลงทุน พบว่า 50% ไปพม่า 20% ไปกัมพูชา 20% ไปอินโดนีเซีย และ 10% ไปเวียดนาม

จากข้อมูลของ ส.อ.ท.สะท้อนความต้องการผู้ประกอบการว่า อยากให้มีกองทุนชดเชยส่วนต่างค่าแรงมากที่สุด แต่เรื่องดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้น เพราะยังมีการถกเถียงกันอยู่ จึงอาจต้องใช้เวลานาน เพราะเป็นเรื่องยากที่รัฐบาลจะใช้งบประมาณอุ้มเอกชน และเป็นเอกชนที่มีกำลังความสามารถในการต่อสู้อยู่รอดได้ หาใช่คนยากคนจนในสังคมแต่อย่างใด

โจทย์เรื่องนี้ จึงสรุปได้ว่า ทางรอดจากพิษ 300 บาทที่รัฐควรให้ความสำคัญและดูแลอย่างจริงจัง น่าจะเป็นการช่วยพัฒนาฝีมือแรงงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดมากกว่า!!!

ประเด็นนี้ "ประยูร เชี่ยววัฒนา" นายกสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) ระบุว่า จากการสำรวจความคิดเห็นนักลงทุนทั้งญี่ปุ่นและไทยต่อการขึ้นค่าจ้าง 300 บาทนั้น ต่างต้องการให้รัฐบาลพิจารณาความเหมาะสมของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน เพราะเกิดความกังวลว่าค่าจ้างที่จ่ายจะไม่คุ้มกับคุณภาพของแรงงาน เนื่องจากแรงงานต่างด้าวได้รับ 300 บาทเหมือนกัน ดังนั้น รัฐบาลจึงควรจัดตั้งหน่วยงานเพื่อฝึกอบรมแรงงานและจัดการทดสอบตามมาตรฐาน เพื่อให้นักลงทุนสามารถใช้แรงงานเหล่านี้ได้เกิดประโยชน์สูงสุด

หากรัฐบาลไม่ให้ความสำคัญและปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเอกชนในการรับภาระที่มาจากนโยบายรัฐบาล มนต์เสน่ห์ที่ไทยเป็นประเทศน่าลงทุนในสายตาต่างชาติ อาจจะไม่เป็นไปตามคาด โดยเฉพาะกับนักลงทุนญี่ปุ่น เพราะผลสำรวจนักลงทุนญี่ปุ่นโดยองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) ให้ข้อมูลชัดเจนว่า ค่าจ้าง 300 บาททำให้ญี่ปุ่นลังเลที่จะเข้ามาลงทุน

"ยาซุโอะ ฮายาชิ" ที่ปรึกษาพิเศษเจโทร ระบุว่า แนวโน้มการลงทุนของญี่ปุ่นในอาเซียนยังคงจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพทั้งทำเลที่ตั้ง ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานมีความพร้อม และบริษัทญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนอยู่ในเมืองไทยค่อนข้างมาก แต่เมื่อสำรวจความกังวลของญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนอยู่ในอาเซียน เช่น ในประเทศไทย มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย พบว่าปัญหาหลักคือ ปัญหาค่าแรงที่เพิ่มขึ้น โดยมีความกังวลเรื่องค่าแรงในเมืองไทยอันดับแรก สัดส่วนสูงถึง 77.9% รองลงมาคือ ความสามารถในการแข่งขันของตลาด 57.2% การขาดแคลนแรงงาน 55% ความยากในการหาพนักงานในระดับผู้บริหาร 50.3% และปัญหาลูกค้าหลักต้องการราคาสินค้าต่ำ 50.1%

"การปรับขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาททั่วประเทศทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นเกิดความกังวลมากขึ้น และหันไปมองประเทศกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง หรือ จีเอ็มเอสมากขึ้น เพื่อเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานเข้มข้น"

ขณะที่ปัญหาคุณภาพแรงงานเริ่มถูกเอกชนตั้งคำถามมากขึ้น ในอีกมุมหนึ่งของแรงงานกลับรู้สึกอยากได้ค่าจ้างที่มากกว่า 300 บาทเสียด้วยซ้ำ!!

เพราะศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ผลสำรวจลูกจ้างที่ได้รับค่าแรงเพิ่ม จากกลุ่มสำรวจ 1,200 ราย พบว่า ส่วนใหญ่เห็นว่าราคาสินค้าแพงขึ้น จึงมีลูกจ้างบางส่วนอยากให้ปรับค่าจ้างเป็น 464.3 บาทต่อวัน ดังนั้น หากรัฐไม่ควบคุมราคาสินค้า ค่าแรงที่ปรับขึ้น 300 บาทต่อวันจะถูกกว่าราคาสินค้าที่ปรับเพิ่ม ไม่ช่วยลดหนี้สินเพราะปรับลดได้เล็กน้อยเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลการสำรวจผู้ประกอบการที่สอดคล้องกับ ส.อ.ท.คือ กำลังเผชิญปัญหาจากค่าจ้าง 300 เพราะผู้ประกอบการจำนวน 600 ราย ระบุว่าส่งผลกระทบต่อธุรกิจแล้วในระดับน้อยถึงปานกลาง ต้นทุนเพิ่มขึ้น 10.2% จ้างคนงานลดลง 4.3% ปลดคนงานเพิ่ม 4.3% จ้างแรงงานต่างด้าวเพิ่ม 5.6% กำไรลดหรือขาดทุน 3.2% ปรับขึ้นราคาสินค้า 6.7% ปิดกิจการ 5.5% ใช้เครื่องจักรแทนแรงงาน 7.9%

ดังนั้น หากรัฐบาลไม่ออกมาตรการช่วยเหลือที่ตรงจุด จะมีผลต่อธุรกิจรุนแรงขึ้นใน 3-6 เดือนข้างหน้า เพราะธุรกิจแบกรับภาระต้นทุนเพิ่มได้เพียง 7 เดือนเท่านั้น!!!

ปัญหาจากผลกระทบ 300 บาท ในมุมของ "ประเสริฐ บุญชัยสุข" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยืนยันว่า ผลกระทบจริงจะเกิดในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะมีนโยบายเร่งด่วน คือ คลินิกอุตสาหกรรมที่จะเข้าช่วยเหลือผู้ประกอบการลดต้นทุนได้ถึง 10% โดยโครงการดังกล่าวเคยสำเร็จมาแล้วตั้งแต่ช่วงที่เกิดปัญหาน้ำท่วม

นอกจากนี้ สำนักงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ยังเตรียมออกมาตรการช่วยเหลือภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ 3 มาตรการ คือ 1.มาตรการเพิ่มผลิตภาพ อาทิ สนับสนุนการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร โดยจัดให้มีแหล่งทุนเพื่อสนับสนุนการปรับเปลี่ยน หรือปรับปรุง ทั้งรูปแบบของการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เงื่อนไขพิเศษ สนับสนุนค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยบางส่วน ส่งเสริมการใช้บริการพี่เลี้ยง ที่ปรึกษา นักวินิจฉัยแก่เอสเอ็มอี ซึ่งมาตรการนี้จะเน้นช่วยเหลือ 19 จังหวัดที่ค่าแรงขึ้นมากที่สุดเฉลี่ย 23% อาทิ พะเยา ศรีษะเกษ น่าน ตาก สุรินทร์ โดยรัฐจะสนับสนุนค่าใช้จ่าย 70% เอสเอ็มอี 30%

2.มาตรการลดต้นทุน โดยจัดพื้นที่พิเศษเพื่อการประกอบธุรกิจของเอสเอ็มอี เช่น พื้นที่ชายแดน พื้นที่บางส่วนของนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น โดยภาครัฐจะอำนวยความสะดวก ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร และกระทรวงอุตสาหกรรมจะออกมาตรการลดค่าใช้จ่ายเอสเอ็มอี เช่น ยกเว้นหรือลดหย่อนค่าธรรมเนียมบริการภาครัฐ 3.มาตรการเพิ่มรายได้ จะเน้นให้ความช่วยเหลือด้านการตลาดด้วยการส่งเสริมให้ภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างกับเอสเอ็มอีในสาขาที่ได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เช่น เฟอร์นิเจอร์หวาย ผลิตพลอยเจียระไน ผลิตเครื่องนุ่งห่ม ผลิตกระเป๋าหนัง เป็นต้น และสนับสนุนการเชื่อมโยงเอสเอ็มอีกับกองทุนภาครัฐ เช่น หากเลิกจ้างแรงงานอาจให้เข้าร่วมกองทุนตั้งตัวได้ของรัฐบาล กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เป็นต้น

ส่วนมาตรการที่เกี่ยวข้องกับแรงงานนั้น เป็นหน้าที่ของกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ซึ่งจะต้องทำงานแบบบูรณาการร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมแน่นอน

เมื่อความช่วยเหลือมี แต่ต้องอาศัยหน่วยงานรับผิดชอบช่วยผลักดันให้เดินหน้า ความหวังเรื่องการพัฒนาแรงงานให้มีศักยภาพคุ้มกับค่าจ้าง 300 จึงเป็นเรื่องที่เอกชนต้องลุ้นกันต่อไปว่าจะสัมฤทธิ์ผลหรือไม่

ส่วนจะเป็นเฮือกสุดท้ายหรือไม่นั้นก็ต้องรอดู!!!