ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

อึ้ง! วัยโจ๋เปิดเพจสอนเสพยาอันตราย ซื้อง่ายขายคล่องไร้เภสัชกรคุม

เริ่มโดย ทีมงานบ้านเรา, 11:15 น. 08 ก.พ 56

ทีมงานบ้านเรา

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ www.manager.co.th

วัยรุ่นยุคโซเชียลมีเดีย เปิดเฟซบุ๊กแนะแหล่งขายยาแก้ไอ-ยาอันตราย พร้อมวิธีเสพ ขาโจ๋แห่ลอง ร้านขายยาหัวใสจัดยาชุด พร้อมขายสนองความต้องการ ภก.ชี้กินเกินขนาดอาจเสพติด อย.ลั่นหากควบคุมไม่ได้สั่งถอนทะเบียนยา
       
       วันที่ 7 ก.พ.หนังสือพิมพ์ "หอข่าว" จัดทำโดยนักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาวารสารศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้นำเสนอรายงานข่าวพฤติกรรมการใช้ยาแก้ไอในทางที่ผิดของกลุ่มวัยรุ่นรอบมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร เนื่องจากมีข่าวเกี่ยวกับการใช้ยาแก้ไอในทางที่ผิด รวมถึงการจับกุมร้านขายยาปรากฏอยู่ตลอดเวลา แต่กลุ่มวัยรุ่นก็ยังคงมีพฤติกรรมในการใช้ยาดังกล่าวอยู่ ผู้สื่อข่าวจึงได้เข้าไปตรวจสอบตัวยาแก้ไอที่วัยรุ่นนิยมใช้ผ่านเว็บไซต์ กูเกิล (www.google.co.th) และเฟซบุ๊ก (www.facebook.com) โดยค้นหาจากชื่อยายี่ห้อหนึ่งที่เป็นที่นิยม พบว่า มีแฟนเพจ (Fanpage) ในเฟซบุ๊กปรากฏอยู่หลายเพจ เช่น ProxxxxxLOVE, ProxxxxxThailand, I love Proxxxxx ซึ่งในแฟนเพจต่างๆ ได้โพสต์รูปที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาผิดวัตถุประสงค์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นรูปบรรจุภัณฑ์ของยาแก้ไอหลากหลายยี่ห้อเป็นจำนวนมาก ทั้งชนิดน้ำและชนิดเม็ดรวมไปถึงตัวยาแก้ไอหลังจากผสมเสร็จเรียบร้อยแล้ว
       
       จากการตรวจสอบเพจในเฟซบุ๊ก ProxxxxxLOVE และ ProxxxxxThailand พบว่าหน้าเพจเหล่านี้เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนข้อมูลและสนทนากันของเหล่าวัยรุ่นที่นิยมใช้ยาในทางที่ผิด มีทั้งการแนะนำบอกต่อกันถึงสูตรตัวยาใหม่ๆ และร้านที่มีการจำหน่ายอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ หากสมาชิกคนใดหาซื้อไม่ได้หรือต้องการยาก็จะมีการโพสต์ข้อความสอบถามสถานที่ของร้านที่ขายยาประเภทดังกล่าว ภายในเพจจะมีสมาชิกคนอื่นคอยตอบและให้ข้อมูล อีกทั้งยังมีสมาชิกบางรายประกาศจำหน่ายยาเป็นชุดๆ สำหรับใช้ผสมแบบครบครันโดยให้ติดต่อทางโทรศัพท์และแอด (Add) เพื่อนทางเฟซบุ๊ก ซึ่งสมาชิกที่มีการโฆษณาจำหน่ายยาแก้ไอเหล่านั้นไม่ใช่เภสัชกรแต่อย่างใด นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบสมาชิกที่อยู่ในแฟนเพจ พบว่า มีเยาวชนที่เป็นนักเรียนเป็นสมาชิกอยู่จำนวนมาก และเยาวชนเหล่านี้ยังมีการโพสต์ข้อความสอบถามถึงวิธีการซื้อวิธีการกินจากสมาชิกคนอื่นภายในเพจ
       
       ผู้ใช้ชื่อในเฟซบุ๊กว่า MrPhoorithat xxx ระบุตอนหนึ่งในโพสต์ว่า "ท่านใดอยู่แถวรังสิต สนใจโปรเดลิเวอรี่ ชุด150 จัดส่งช่วงเย็นเป็นต้นไป เม็ดม่วง (Alprazolam) เม็ดละ 20 บาท 080251xxxx เป้คับ เม็ดม่วงแล้วแต่นะครับเพราะของมันขาดบ่อยครับ"
       
       ผู้ใช้ชื่อในเฟซบุ๊กว่า Han Brxxxx หนึ่งในสมาชิกแฟนเพจของ ProxxxxxLOVE และ ProxxxxxThailand ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายยาแก้ไอได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ได้รับประทานยาแก้ไออยู่เป็นประจำ และมีการจำหน่ายให้แก่ผู้ที่ติดต่อหรือต้องการยาซึ่งมีทั้งชนิดน้ำและเม็ด โดยจะสั่งมาครั้งละจำนวนมากๆ จากร้านขายยาย่านจรัญสนิทวงศ์เพื่อรับประทานเองและจำหน่าย เพราะมีราคาถูกกว่าซื้อเป็นชุดๆ โดย 1 ลังจะอยู่ที่ราคา 4,800 บาท มี 48 ขวด ยาเม็ดแผงละ 25 บาท นำมาแบ่งขายต่อในราคาชุดละ 140 บาท ซึ่งมียาน้ำ 1 ขวดกับยาเม็ด 1 แผง ซึ่งร้านขายยาดังกล่าวไม่จำหน่ายยาแก้ไอให้แก่บุคคลแปลกหน้าเกิน 2 ชุดแต่จะขายเป็นจำนวนมากๆ ให้แก่คนที่รู้จักและลูกค้าประจำเท่านั้น
       
       ผู้สื่อข่าวได้ลงสำรวจตามร้านขายยาต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในแฟนเพจบนเฟซบุ๊กตามคำแนะนำจากสมาชิกว่า มีการจำหน่ายยาแก้ไอและยายี่ห้อต่างๆ ที่เป็นส่วนผสม โดยผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ตรวจสอบร้านขายยาจำนวน 9 ร้านในหลายเขตทั่วกรุงเทพฯ ได้แก่ จรัญสนิทวงศ์ ห้วยขวาง ประชาสงเคราะห์ อินทามระ พหลโยธิน บางเขน และรามคำแหง พบว่า ร้านขายยาทั้ง 9 ร้านมีการจำหน่ายยาแก้ไอจริง
       
       ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อขอซื้อยาแก้ไอจากร้านขายยาทั้ง 9 ร้าน พบว่าเกือบทุกร้านที่มีการจำหน่ายยาแก้ไอได้มีการจัดยาเป็นชุดๆ สำหรับขายให้กลุ่มวัยรุ่นโดยเฉพาะ คือ เมื่อเข้าไปสั่งซื้อยาที่ใช้สำหรับผสมเครื่องดื่มยาแก้ไอ ร้านขายยาก็จะจัดยาให้เป็นชุด ซึ่งในหนึ่งชุด ประกอบด้วย ยาน้ำ 1 ขวด และยาเม็ดจำนวนหนึ่ง โดยที่ผู้ซื้อไม่ต้องสั่งชื่อตัวยาทั้ง 2 ชนิด ไม่ต้องบอกอาการที่เจ็บป่วยและทางร้านขายยาก็ไม่ได้มีการซักถามถึงอาการที่จำเป็นต้องใช้ยาแต่อย่างใด โดยกลุ่มวัยรุ่นที่ใช้ยาประเภทนี้อยู่เป็นประจำ จะมีคำศัพท์ที่ใช้เฉพาะในการสั่งซื้อกับร้านขายยาและร้านขายยาก็จะจัดชุดยาตามยี่ห้อที่ต้องการมาให้พร้อมกับยาเม็ด
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า นอกจากนี้ ร้านขายยาบางร้านยังมีการแนะนำยาแก้ไอยี่ห้ออื่นๆ ที่สามารถรับประทานแทนกันได้หากยายี่ห้อที่ผู้ซื้อต้องการหมด ซึ่งยาที่ร้านขายยาแนะนำนั้นก็จะเป็นยาที่ออกฤทธิ์ ทำให้เกิดอาการมึนเมาและเป็นยี่ห้อที่นิยมใช้ของกลุ่มวัยรุ่นเช่นเดียวกัน
       
       จากการสอบถามร้านขายยา ผู้สื่อข่าวได้ขอซื้อตัวยาที่ชื่อ อัลปราโซแลม (Alprazolam) ซึ่งเป็นยาที่กลุ่มวัยรุ่นนิยมกินควบคู่กับตัวยาแก้ไอน้ำและยาเม็ดเพื่อเสริมฤทธิ์ของยา จากจำนวน 9 ร้าน พบว่า มี 2 ร้านที่มีการจำหน่ายยาตัวนี้ ซึ่งยาอัลปราโซแลมนั้นจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภทที่ 4 ตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 การที่จะขายได้ต้องมีใบสั่งแพทย์และต้องทำใบขออนุญาตในการจำหน่ายจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เท่านั้น จากการติดต่อขอซื้อยาดังกล่าว ผู้สื่อข่าวไม่ได้มีใบสั่งแพทย์และไม่ได้มีอาการ หรือความจำเป็นในการใช้ยา ซึ่งร้านขายยาก็ไม่ได้มีการถามถึงอาการหรือมีการซักถามประวัติการเจ็บป่วยแต่อย่างใด
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานต่อไปว่า ร้านขายยาบางแห่งยังมีการจำหน่ายยาแก้ไอ โดยใช้วิธีการจัดส่งให้ถึงที่ซึ่งไม่ต้องไปซื้อด้วยตัวเอง โดยผู้ขายจะขี่รถจักรยานยนต์มาส่งยังจุดที่ผู้ซื้อได้นัดหมาย ซึ่งอยู่ในละแวกเดียวกันกับร้านขายยา โดยยาอันตรายที่นำมาส่งนั้นถูกห่ออยู่ในบรรจุภัณฑ์ของยายี่ห้ออื่นและมีกระดาษห่อทับด้วยกระดาษอีกชั้นอย่างแน่นหนา โดยร้านเหล่านี้จะจัดส่งและจำหน่ายให้เฉพาะลูกค้าประจำเท่านั้น
       
       เด็กวัยรุ่นเผยซื้อยาโดยง่าย
       
       เด็กชายต้น (นามสมมติ) อายุ 17 ปี นักเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า รับประทานยาแก้ไอมาระยะหนึ่ง เพราะเพื่อนแนะนำให้ลองโดยซื้อจากร้านขายยาแถวบ้าน ซึ่งเป็นร้านประจำเมื่อเข้าไปสั่งชื่อยาที่ต้องการ ทางร้านขายยาก็จะจัดยามาให้เป็นยาน้ำกับแคปซูลโดยไม่ต้องบอกว่าเอาอะไรบ้าง แต่ถ้าหากไม่ใช่ร้านที่เป็นร้านประจำเมื่อสั่งชื่อยาร้านขายยาก็จะถามว่าเอายาแผงด้วยหรือไม่ โดยที่ซื้อเป็นประจำจะอยู่ที่ราคา 60-70 บาทต่อหนึ่งชุดแล้วแต่ขนาดและยี่ห้อของยา รับประทานโดยผสมกับน้ำอัดลมหากรับประทานเข้าไปแล้วจะเกิดอาการมึน และมีอาการกระตุกเล็กน้อยในเวลานอน
       
      ไอซีทีเตือนหยุดเผยแพร่ข้อมูลการใช้ยาที่ผิด
       
       นายณัฐ พยงค์ศรี นักวิชาการคอมพิวเตอร์ปฏิบัติการ พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า สื่อสังคมออนไลน์นั้นสามารถสื่อสารได้อย่างรวดเร็วไม่ว่าจะเป็นการโพสต์ข้อความหรือรูปของยา กระทรวงไอซีทีมีการประสานงานความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขอยู่เป็นประจำในเรื่องของยาเสพติดหรือยาที่ผิดกฎหมาย การโพสต์รูปเกี่ยวกับการใช้ยาในทางที่ผิดอย่างเช่น การใช้ยาแก้ไอในทางที่ไม่เหมาะสมเป็นสิ่งที่ไม่สมควรอยู่แล้ว ถ้ามีประชาชนแจ้งเข้ามาทางกระทรวงไอซีทีก็จะส่งไปให้ผู้เชี่ยวชาญอย่างเช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาตรวจสอบว่าผิดกฎหมายของอย.หรือไม่ ถ้าผิดทางกระทรวงไอซีทีจะดำเนินการส่งต่อไปยังสำนักงานอื่นๆ เช่นสำนักงานตำรวจ เพื่อติดตามผลต่อไปว่ากลุ่มนี้มีการดำเนินการเช่นนั้นจริงและมีความผิดหรือไม่
       
       นักวิชาการคอมพิวเตอร์ปฏิบัติการกระทรวงไอซีที กล่าวต่อไปว่า การควบคุมเรื่องนี้จะเกี่ยวข้องกับทางอย. มากกว่าไอซีทีแต่จะมีการประสานงานกันอย่างต่อเนื่อง ปัญหานี้จะคล้ายกับเว็บอื่นๆ ทั่วไป หากเจอความผิดอะไรไม่เหมาะสมจะประสานไปยังอย. โดยการเก็บหลักฐานหน้าเว็บไซต์นั้น ตัวยาที่ใช้ เว็บไซต์ตั้งอยู่ที่ไหน เซิฟเวอร์อะไร ใครจดทะเบียน ให้ อย. ตรวจสอบว่ามีใบอนุญาตหรือไม่ ต้องมีใบอนุญาตสำหรับยาตัวนั้นหรือไม่ และที่สำคัญต้องดูด้วยว่าเป็นยาต้องห้ามหรือไม่
       
       "ด้านการส่งผลต่อเยาวชนนั้น ถ้าเป็นเด็ก เยาวชนหรือวัยรุ่นเมื่อไปเห็นรูปหรือกรรมวิธีการใช้ยาผิดๆ ที่ปรากฏในสื่ออินเทอร์เน็ตแล้ว อาจจะคิดว่าเท่ทำให้ส่งผลเกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้ แต่ที่สำคัญผู้ปกครองควรให้เวลาดูแลบุตรหลานด้วยในการเข้าใช้อินเทอร์เน็ต ว่ามีการเข้าไปรับชมเว็บไซต์เหล่านี้หรือไม่ ทั้งนี้ การจ่ายยาควรจ่ายโดยแพทย์ผู้ชำนาญเฉพาะทางมากกว่า อย่าไปซื้อกินเองโดยไม่มีความรู้" นายณัฐ กล่าว

[attach=1]       

       ภก.ชี้ตัวยาผสมโคเดอีน
       
       ภญ.สิริกัญญา กอบวรรธนะกุล หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกร วชิรพยาบาลกล่าวว่า กลุ่มวัยรุ่นมักรับประทานยาแก้ไอเพื่อหวังผลจากฤทธิ์ของยา ซึ่งสามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามร้านขายยา โดยตัวยาจะมีส่วนผสมของโคเดอีน (Codeine)ผสมอยู่ ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของสารเสพติดหากรับประทานในปริมาณที่น้อยจะช่วยในระงับอาการเจ็บปวดหรืออาการไอ แต่หากรับประทานในปริมาณที่มากจะทำให้เกิดอาการเสพติดได้ ส่วนยาอัลปราโซแลมนั้นเป็นยาที่มีการควบคุมจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ไม่มีขายตามร้านขายยาทั่วไป มีเพียงในโรงพยาบาลสำหรับจ่ายให้แก่ผู้ป่วยเท่านั้น หรือถ้ามีก็จะเป็นร้านขายยาใหญ่ๆ ที่มีการขออนุญาตจาก อย.หากจะจำหน่ายหรือจ่ายให้แก่ผู้ป่วยต้องมีการจำกัดจำนวนในการจ่ายรวมถึงบันทึกชื่อที่อยู่ของคนไข้ไว้เพื่อทำเป็นรายงานส่งให้ อย.ตรวจสอบ
       
       ภญ.สิริกัญญา กล่าวต่อว่า การที่ร้านขายยามีการแนะนำยาให้แก่ผู้ซื้อเพื่อนำไปใช้ในทางที่ผิดสามารถแจ้งทางอย.ให้ดำเนินคดีตามกฎหมายได้เพราะสำนักสภาเภสัชกรรมและอย. จะมีการตรวจสอบร้านขายยาอยู่แล้ว หากมีการจำหน่ายยาที่มีการกำหนดห้ามขายหรือมีไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตก็อาจถูกดำเนินคดีและเพิกถอนใบประกอบโรคศิลปได้
       
       ภก.รศ.(พิเศษ) กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า การที่จะไปขอซื้อยานั้นต้องตรวจดูให้ดีว่าคนที่ขายเป็นเภสัชกรจริงหรือไม่ หากไม่ใช่เภสัชกรจริงทางสภาเภสัชกรรมไม่สามารถเข้าไปยุ่งได้ ทาง อย.ก็จะเป็นผู้จัดการผู้ขายและร้านที่มีการจำหน่ายยาที่มีการควบคุม แต่ถ้าเภสัชกรเป็นผู้จำหน่ายเองถึงจะสามารถลงโทษได้ ซึ่งสภาเภสัชกรรมก็จะประสานงานกับ อย.อยู่แล้ว ถ้าหากทาง อย.ไปตรวจสอบร้านขายยาร้านใดแล้ว พบว่า มีการกระทำผิดแล้วเกี่ยวกับเภสัชกรก็จะแจ้งมาให้พิจารณาจรรยาบรรณของเภสัชกรที่ร้านนั้นด้วย
       
       "ทางเราก็ไม่เห็นด้วย ถึงแม้ว่ายาแก้ไอและยาทรามาดอล (Tramadol) ซึ่งกฎหมายเภสัชกรจะจ่ายได้ แต่เมื่อมันเป็นยาที่ก่อให้เกิดปัญหาในพื้นที่ โดยจรรยาบรรณแล้วมันก็ไม่เหมาะสม ควรขายยาตามความจำเป็นว่าบุคคลนี้จำเป็นต้องใช้ยาตัวนี้จริง ต้องมีประวัติและอาการที่ชัดเจน แต่ถ้าขายอย่างเดียว ใครมาซื้อก็ขาย แบบนี้ก็ไม่ถูกต้อง" ภก.รศ.(พิเศษ) กิตติ กล่าว
       
       นายกสภาเภสัชกรรมกล่าวต่อไปว่า การกระทำผิดพวกนี้สภาเภสัชกรรมก็เข้มงวดในการพิจารณา หากเภสัชกรทำผิดจริงก็จะมีการลงโทษเพิกถอนใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพเป็นการพิจารณาโทษที่ค่อนข้างรุนแรง และได้มีการดำเนินต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว ถ้าหากไปตรวจสอบร้านขายยาแล้วพบว่าเภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ ตามเวลาที่แจ้งไว้ก็จะถูกพิจารณาพักใช้ใบอนุญาต 1 ปี
       
       อย.เตือนผู้ขายปฏิบัติตามกฎ
       
       นายวราวุธ เสริมสินสิริ เภสัชกรชำนาญการสำนักยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ว่า ยาแก้ไอและยาทรามาดอลอยู่ในมาตรการในการจับตามองและควบคุม อย่างเช่น ยาแก้ไอตอนนี้ทางอย.ก็ได้ใช้มาตรการการควบคุมการจำหน่ายแก่ร้านขายยา โดยร้านขายยาร้านหนึ่งจะสามารถซื้อยาแก้ไอได้เพียง 300 ขวดต่อเดือนเท่านั้น ไม่สามารถซื้อเกินกว่านี้ได้ โดยข้อบังคับนี้เป็นมาตรการที่ทางอย.วางไว้สำหรับแก้ปัญหายาแก้ไอ ส่วนยาอีกหนึ่งตัวที่เป็นยาแก้ปวดหรือ ทรามาดอล อย.ได้ทำหนังสือไปยังร้านยาทุกแห่งแล้ว ให้ร้านยาจำหน่ายยาตัวนี้สำหรับผู้ที่มีความจำเป็นทางการแพทย์เท่านั้น และยังแจ้งไปในจดหมายด้วยว่า ถ้ายังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ปัญหาได้ทาง อย.ก็จะเริ่มมาตรการในการจำกัดจำนวนการจำหน่าย หรือจัดให้เป็นยาควบคุมพิเศษห้ามจำหน่ายในร้านขายยา ให้จำหน่ายได้เฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ถ้าหากยังไม่สามารถควบคุมได้อีกอาจจำเป็นต้องเพิกถอนทะเบียนยาออกจากประเทศไทย กระบวนการเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่เราวางขั้นตอนในการปฏิบัติไว้ค่อนข้างชัดเจนโดยตอนนี้ทาง อย.ก็ได้ดำเนินการตามขั้นตอนไปทีละขั้น และทำการประเมินสถานการณ์อยู่เป็นระยะ
       
       เภสัชกรชำนาญการ อย.กล่าวต่อว่า ยาแก้ไอและยาแก้ปวดทรามาดอลนั้นการลงโทษจะไม่หนัก เพราะอยู่ในกลุ่มของยาอันตรายจ่ายโดยเภสัชกร โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์และยาพวกนี้ไม่มีสถานภาพเป็นยาเสพติด แต่กลุ่มวัยรุ่นนำไปใช้โดยหวังผลอาการข้างเคียงจากการใช้ยา โทษจึงไม่หนักเหมือนยาเสพติดให้โทษ ซึ่งยาแก้ปวดทรามาดอลจะมีลักษณะทำให้เกิดอาการเคลิ้ม มึนงง เมื่อทานร่วมกับยาน้ำแก้ไอที่มีแอนตี้ฮิสตามีน(Antihistamine) ก็จะทำให้เกิดอาการเสริมฤทธิ์กันของยาทำให้อาการข้างเคียงเพิ่มมากขึ้น ส่วนยาอีกชนิดที่วัยรุ่นใช้แทนตัวยาทรามาดอล หรือใช้รับประทานเสริมเข้าไปก็คืออัลปราโซแลม ซึ่งยาตัวนี้จัดอยู่ในประเภทวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท การจำหน่ายโดยไม่ขออนุญาตเป็นความผิดอย่างแน่นอนและมีโทษทางกฎหมาย ต้องมีใบสั่งแพทย์ประกอบทุกครั้งในการจำหน่าย ซึ่งในอนาคตยาตัวนี้จะถูกยกระดับห้ามจำหน่ายในร้านขายยา
       
       นายวราวุธ กล่าวต่อไปอีกว่า กรณีที่มีการประกาศขายยาแก้ไอจำนวนมากในเฟซบุ๊กนั้น อาจจะเป็นเพราะรับยามาจากหลายๆร้านรวมกันก่อนที่จะนำมาจำหน่าย เพราะโดยหลักแล้วร้านขายยาจะถูกควบคุมปริมาณการซื้อไว้ 300 ขวดต่อเดือน ซึ่งการจำหน่ายในเฟซบุ๊กลักษณะนี้มีความผิดทางกฎหมายมีโทษทั้งจำและปรับ ส่วนการจัดจำหน่ายยาแก้ไอเป็นชุดนั้นถ้าหากผู้ขายๆ ในขณะที่เภสัชกรไม่ได้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ตัวคนขายก็จะมีความผิดทางกฎหมาย
       
       หมายเหตุ : ข่าวชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติ "หอข่าว" จัดทำโดยนักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาวารสารศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
สนับสนุนการขับเคลื่อนโดย
- ฮอนด้าพิธานพาณิชย์-อริยะมอเตอร์ www.phithan.co.th/hondaphithan
- ปาล์มสปริงส์ & ซิตี้รีสอร์ท บ้านและคอนโดคุณภาพจากเครืองศุภาลัย www.hatyainakarin.com
- ธีระการช่าง หาดใหญ่ (เยื้องบิ๊กซีคลองแห) โทร 086-4910345 www.facebook.com/teerakarnchanghy
- เอนกการช่าง ผู้นำการพัฒนาเครื่องจักรกลเกษตร โทร 081-7382622 www.an-anek.com/contact.php
รีวิวธุรกิจ เกาะติดบ้านเมือง ร้อยเรื่องท้องถิ่น TLP 0897384215

๛๏uๅellwu llสulwลิu๏๛

ระยะทางแม้ยาวไกล .. หากใจมุ่งมั่น ..แม้จะเป็นเพียงก้าวเล็กๆ ..
แต่ก็สามารถไปถึงที่หมาย .. ไม่ต่างกัน ..

puiey

โกธรกับแฟน ขึ้นสเตตัส "โสด" ถ้าวันนึง แม่มึงโกธร มึงไม่ขึ้นสเตตัส "กำพร้า" เลยเหรอ

sin ratsanti

อีกไม่นาน   อาจจะมีคำว่า     "ผู้ซื้อหวยเถื่อนคือผู้หลงผิด"   และจะไม่มีความผิด   รัดถะ........ก็จะมีหน้าที่นำผู้ที่ซื้อหวยเถื่อน
เข้ารับการอบรม   ให้เลิกซื้อหวยเถื่อน   ครับผม   เหมือนผู้เสพยาคือผู้ป่วยแน่นอนครับ  (สงสารประเทศไทย)
หากรู้จักเป็นผู้ให้   โลกใบไหนก็น่าอยู่
ผู้ใดรู้จักการให้     ผู้นั้นจะรู้จักคำว่าพอเพียง
ผู้ใดไม่รู้จักการให้   ผู้นันจะไม่รู้จักคำว่าพอ "โปรดเลิกคบ คนไร้ มารยาท "

cocore

เหอๆๆเห็นกันเต็มๆกันแบบนี่แต่ตะตรวจยังทำอะไรไม่ได้อีกหรอครับ