ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสสงขลา มากกว่าเมืองใดๆในสยาม...

เริ่มโดย หมัดเส้งชู, 22:41 น. 19 ก.ย 53

หมัดเส้งชู

แทบทุกครั้งที่ผม  ต้องมีงานที่เกี่ยวเนื่องต้องสืบค้นข้อมูลการเสด็จประพาสเมืองสงขลาในรัชสมัยของพระองค์ท่าน  ผมค่อนข้างที่หงุดหงิดใจลึกๆ ผมไม่ได้คำตอบ จำนวนครั้งที่พระองค์ท่านเสด็จฯ บ้างก็ว่า 8 ครั้ง บ้างก็ว่า 9 ครั้ง ในสารคดีตามรอยเสด็จประพาสต้น บอกว่า 9 ครั้ง โดยตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 2 ครั้งในปี พ.ศ. 2402 และ 2406
และเมื่อครองราชย์แล้ว เสด็จเมืองสงขลา ในปี พ.ศ. 2431 และ 2433 ซึ่งครั้งนั้น เมืองสงขลา ยังคงเป็นหัวเมืองชั้นโทอยู่ และเมื่อเปลี่ยนเป็น มณฑลเทศาภิบาล พระองค์เสด็จสงขลา อีก 5 ครั้ง และเมื่อย้อนไปดูงานเอกสารวิจัย งานของศรีสมร ศรีเบญจพลางกูร ประวัติศาสตร์เมืองสงขลา. สงขลา. ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สถาบันราชภัฏสงขลา,2539. "นับตั้งแต่ปีพ.ศ.2414 ถึง พ.ศ.2448 เสด็จประพาสเมืองสงขลารวมถึง 8 ครั้งด้วยกัน" ซึ่งถ้ารวมโดยตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 2 ครั้ง ก็นับได้ 10 ครั้ง แต่ข้อเท็จจริงมีมากกว่านั้น อาจมาก จนบอกได้ว่า...พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสสงขลา มากกว่าเมืองใดๆในสยาม...

แผนที่ราชอาณาเขตสยามรัตนโกสินทร์ศก ๑๑๖ เป็นแผนที่ประเทศซึ่งอยู่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการเสด็จประพาสต้นแถบที่สว่างเป็นบริเวณที่เสด็จประพาสต้นโดยประมาณ  เอกสารประกอบจากงานวิจัยเรื่องจดหมายเหตุเสด็จประพาสต้นของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้ารัชกาลที่ 5 โดยศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หมัดเส้งชู

ผิดอีกแล้วครับ ขอแก้ครับ แผนที่ที่นำมาประกอบ...จากงานวิจัยเรื่องพระราชหัตถ์เลขาเรื่องเสด็จประพาสแหลมมลายูของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้ารัชกาลที่ 5 โดยศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถบที่สว่างเป็นบริเวณที่เสด็จประพาสโดยประมาณ

หมัดเส้งชู

จากรายงานการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง "ตามรอยเสด็จฯ เกาะช้าง จังหวัดตราด"
โดยอภิลักษณ์ เกษมผลกูล สนับสนุนโดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตราด กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) พุทธศักราช ๒๕๔๘
...เป็นการเสด็จฯที่เรียกว่าเมืองตราด เพียง 5 ครั้ง

การเสด็จเมืองจันทบุรีทั้ง 12 คราวของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้สามารถจำแนกได้เป็นการ เสด็จที่ทรงแวะจันทบุรี 9 ครั้ง กับการที่ไม่ได้ทรงแวะจันทบุรี 3 ครั้งและในส่วนที่ทรงแวะจันทบุรี 9 ครั้งนั้น ได้ทรงเสด็จตัวเมืองเพียง 2 ครั้งเท่านั้น นอกนั้นเป็นการเสด็จที่ปากน้ำแหลมสิงห์ เนื่องด้วยการเสด็จในทุกครั้งเป็นการพระราชดำเนินทางชลมารค
http://kohchangnews.com/index.php?option=com_content&view=article&id=177&Itemid=110

หมัดเส้งชู

ครั้งที่ ๑ เสด็จสิงคโปร์และชวาอย่างเป็นทางการ รวมระยะเวลา ๓๘ วัน ระหว่างวันที่ ๙ มีนาคม ถึง ๑๕ เมษายน ร.ศ. ๘๙ ปีพุทธศักราช ๒๔๑๓
มีผู้ติดตามทั้งสิ้น ๒๐๘ คน เสด็จแวะเมืองสงขลาในขาไป  ในคราวที่เสด็จประพาสชวา
วันเสาร์ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๔ (วันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๔๑๓)  เห็นเกาะกระหน้าเมืองนครศรีธรรมราชอยู่ข้างตะวันออกเฉียงเหนือ เห็นฝั่งแลเขาแต่เขียวๆ เวลาเช้า ๒ โมงแล่นเรือตรงแหลมทราย ยังห่างปากอ่าวเมืองสงขลา ๓๐ ไมล์ เห็นตลิ่งแลเขาต้นไม้สูงๆ บ้าง เวลาเช้า ๔ โมงถึงหน้าแหลมทราย แลเห็นต้นตาลต้นมะพร้าวแลบ้านตามชายตลิ่ง เวลาเที่ยงแลเห็นกำปั่นทอดอยู่ปากอ่าวเมืองสงขลา เวลาบ่ายโมงยี่สิบนาทีถึงที่ทอดปากอ่าวเมืองสงขลา  เวลาบ่ายโมง ๒๐ นาที ถึงที่ทอดปากอ่าวเมืองสงขลาน้ำลึก ๓ วาศอก เรือกลไฟประพาสอุดรสยาม เรือกลไฟเจ้าพระยามาจอดอยู่ก่อน กับเรือกำปั่นลูกค้า ๓ ลำ เจ้าพระยาสงขลา (เจ้าพระยาวิเชียรคีรี(เม่น) พระสุนทรานุรักษ์ (เนตร ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา บุตรเจ้าพระยาวิเชียรคีรี(เม่น) แลกับตันออตันนายเรือเจ้าพระยา มาเฝ้าที่เรือพระที่นั่ง เวลาบ่าย ๒ โมงเสด็จขึ้นประทับที่พลับพลาแหลมทราย แล้วเสด็จทรงรถประพาสตามตลาดที่เมืองสงขลา แล้วกลับเรือพระที่นั่งเวลาบ่าย ๕ โมงเศษ ทรงฝากพระราชหัตถเลขามาถึงเจ้าคุณผู้สำเร็จราชการแผ่นดินกับเรือเจ้าพระยา เวลา ๒ ยาม เรือสยามูถึงทอดท้ายเกาะหนู เวลายาม ๑ พระสุนทรา พระยาสมุท มาเฝ้าในเรือพระที่นั่ง รับสั่งให้เรือสยามูออก ณวันอาทิตย์ แรม ๗ ค่ำ เดือน ๔ เวลาเช้า ๒ โมง

วันอาทิตย์ แรม ๗ ค่ำ เดือน ๔ (วันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๔๑๓) เวลาบ่ายโมงเศษเสด็จไปประพาสตามสวนราษฎรริมเกาะยอ จนถึงโรงพวกจีนทำอ่างไห แล้วกลับถึงเรือพระที่นั่งเวลาทุ่มหนึ่ง เวลาเจ็ดทุ่มใช้จักรออกจากท่าทอดสมอเมืองสงขลา

การเสด็จประพาสเมืองสงขลาในครั้งแรกนี้ เป็นการเสด็จเมืองสงขลาครั้งที่ ๓ ของพระองค์ โดย ๒ ครั้งแรก ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า พระราชบิดา ในปี พ.ศ. ๒๔๐๒ และ ๒๔๐๙ เมื่อครั้งยังมีพระชนม์

อ้างอิง จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. จดหมายเหตุเสด็จประพาสต่างประเทศ ในรัชกาลที่ 5 เสด็จเมืองสิงคโปร์ แลเมืองเบตาเวียครั้งแรก แลเสด็จประพาสอินเดีย. พิมพ์ครั้งที่ 2. [พระนคร] : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2468. [77] หน้า. พิมพ์ในงานพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช ณ พระเมรุท้องสนามหลวง.


เด็กตัวดำ

ขอบคุณมากครับ สำหรับข้อมูลดีๆ

จะเข้ามาเก็บความรู้บ่อยๆครับ  :)

หมัดเส้งชู

ขอบคุณครับสำหรับเด็กตัวดำๆ โดยเฉพาะรูป โลโก้

ครั้งที่ ๒ เสด็จเสด็จอินเดียอย่างเป็นทางการ รวมระยะเวลา ๙๒ วัน ระหว่าง ๑๖ ธันวาคม ๒๕๑๔ ถึง ๑๖ มีนาคม ๒๕๑๕ ร.ศ. ๙๐ ปีพุทธศักราช ๒๔๑๔
มีผู้ติดตามทั้งสิ้น ๔๐ คน
เส้นทางที่พระองค์ได้เสด็จ สิงคโปร์ มะละกา ปีนัง เมาะลำเลิง มะละแหม่ง ร่างกุ้ง จากนั้นเข้าทางอ่าวเมืองกัลกัตตา แล้วเดินทางโดยรถไฟไปพาราณสี เดลลี บอมเบย์ และสารนาถ การเดินทางส่วนใหญ่ใช้รถไฟ รวมแล้วใช้เวลาบนรถไฟ 200 ชั่วโมง  สำหรับเมืองที่พระองค์เสด็จประพาสในครั้งนั้น ประกอบด้วย กัลกาตา เดลี อักรา คอนปอร์ ลักเนาว์ บอม เบย์ และพาราณสี โดยใช้เวลาถึง 47 วัน
อินเดียที่รัชกาลที่ 5 ทรงไปพบเห็นนั้น เป็นยุคสมัยของบริติชราช ที่สืบมรดกดินแดนและอำนาจมาจากบริษัทอีสต์อินเดียที่ถูกยุบเลิกไปในปี พ.ศ.2401 ภายหลังการมีกบฏอินเดียครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.2400 ทำให้มีการตั้ง 'กระทรวงอินเดีย' ขึ้น มีรัฐมนตรีดูแลกำกับรับผิดชอบโดยตรงในกรุงลอนดอน ในขณะที่อินเดียเองมีตำแหน่งข้าหลวงใหญ่ ซึ่งต่อมาได้รับยกย่องให้เป็นอุปราช
       ศ.สาคชิดอนันท สหาย กล่าวว่า จากเอกสารและข้อมูลที่สำรวจมา ชี้ให้เห็นว่า การเดินทางในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ของรัชกาลที่ 5 ในขณะที่พระองค์ทรงเป็นยุวกษัตริย์อายุ 19 ปีนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะความปรารถนาที่จะได้เห็นสถานที่แปลกใหม่ หรือเป็นการศึกษาส่วนพระองค์ หากแต่เป็นการดำเนินวิเทโศบายทางการทูตชั้นสูงที่วางแผนขึ้น เพราะได้ตระหนักถึงอำนาจของอังกฤษที่ทวียิ่งขึ้นในประเทศอินเดียและประเทศ พม่า ประการสำคัญ คือ
       "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพยายามอย่างยิ่งในการสำรวจสถานการณ์ร่วมสมัยในบริบททั้งด้านการเมือง การทหาร สังคมและวัฒนธรรมของประเทศอินเดีย เพื่อใช้เป็นแบบอย่างสำหรับประเทศของพระองค์"
http://www.activeboard.com/forum.spark?aBID=54408&p=3&topicID=2520466
http://www.activeboard.com/forum.spark?aBID=54408&p=3&topicID=2619429

ในเส้นทางขากลับผ่านภูเก็ต พังงา ถึงไทรบุรี 
วันที่ ๑ วันพฤหัส แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๔ (วันที่ ๗ มีนาคม ๒๔๑๕) เวลา ๕ โมงเช้าถึงที่ทอดน่าปากอ่าวเมืองไทรบุรี เวลาเช้า ๕ โมงเสด็จจากเรือพระที่นั่งพร้อมด้วยข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ทรงเรือโบ๊ตกรรเชียงไปตามลำน้ำเมืองไทร เวลาบ่าย ๕ โมงเศษถึงท่าที่ขึ้น เสด็จขึ้นทรงรถไปตามทางสถลมารค เวลาย่ำค่ำแล้ว รถพระที่นั่งถึงที่ประทับตึกใหญ่บนยอดเขา (อะนะบูเก็จ) เมืองไทรบุรี
วันที่ ๒ วันพฤหัส แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๔ (วันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๑๕) เวลาเช้า ๓ โมงเศษ เสด็จจากที่ประทับเมืองไทร ขึ้นทรงรถมาตามทางสถลมารค เวลาบ่าย ๔ โมงเศษถึงที่ประทับแรม
วันที่ ๓ วันศุกร์ แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ (วันที่ ๙ มีนาคม ๒๔๑๕) เวลาเช้า ๓ โมงเศษ เสด็จจากที่ประทับแรม มาตามทางสถลมารค เวลาเช้า ๕ โมงเศษถึงพลับพลาที่ประทับร้อน เวลาบ่าย ๓ โมงเศษเสด็จจากที่ประทับร้อน เวลาบ่าย ๕ โมงเศษถึงที่ประทับแรม
วันที่ ๔ วันเสาร์ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ (วันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๔๑๕) เวลาเช้า ๑ โมงเศษ เสด็จจากที่ประทับแรม มาตามทางสถลมารค เวลาเช้า ๓ โมงเศษถึงพลับพลาที่ประทับร้อน เวลาบ่าย ๓ โมงเศษเสด็จขึ้นทรงมา ออกจากที่ประทับร้อนมาตามระยะทาง เวลาบ่าย ๕ โมงเศษถึงที่ประทับแรม
วันที่ ๕ วันอาทิตย์ ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๕ (วันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๔๑๕) เวลาย่ำรุ่งแล้ว เสด็จขึ้นทรงม้าพระที่นั่งมาคามระยะทางสถลมารค เวลาเช้า ๕ โมงเศษถึงพลับพลาที่ประทับร้อนเข้าในเมืองสงขลา เวลาบ่าย ๓ โมงเศษ เสด็จขึ้นทรงม้ามาตามระยะทาง เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ ถึงพลับพลาที่ประทับแรมหาดใหญ่
วันที่ ๖ วันจันทร์ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๕ (วันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๔๑๕) เวลาเช้า ๒ โมงเศษ เสด็จพระราชดำเนินจากที่ประทับแรมหาดทรายใหญ่ ทรงเรือพระที่นั่งเก๋งมาตามทางชลมารคเวลาบ่าย ๕ โมงเศษ ถึงพลับพลาที่ประทับแหลมทราย
ครับ...จากเส้นทางเสด็จ ที่มีการบันทึกไว้ในครั้งนี้  อาจจะเรียกได้ว่า เป็นบันทึกการเดินทางครั้งแรก  ของเส้นทางจากฝั่งมหาสมุทรอินเดียสู่ฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก   ผ่านคาบสมุทรที่เคยใช้เป็นเส้นทางมาตั้งแต่ครั้งโบราณ เป็นเส้นทางที่ใช้ ทั้งเดินทัพ เส้นทางขนส่งสินค้าระหว่างมหาสมุทร
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าพระราชบิดาของพระองค์  ได้มีพระราชดำริให้มีการสร้างทางติดต่อกันเพื่อการ
ไปมาระหว่างหัวเมืองไทรบุรีกับสงขลาให้มีความสะดวกยิ่งขึ้น โดยการจัดทำเป็นทางหลวง เพื่อการไปมาค้าขาย และการติดต่อราชการได้สะดวกขึ้น โปรดให้มีการก่อสร้างในปี พ.ศ. ๒๔๐๕ แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๐๘
และการติดต่อราชการได้สะดวกขึ้น ในครั้งนั้นขอแรงไพร่แขกหัวเมืองไทรบุรี ปะลิส และสตูล ให้พระยาไทรบุรี สร้างทางมาจากเมืองไทรบุรีมาถึงพรมแดนหัวเมืองสงขลา โดยพระราชทานเงินอากรรังนกเมืองสตูล ให้พระยาไทรบุรีเป็นค่าใช้จ่ายในงานนี้ 3ปีเป็นเงิน 15,000เหรียญ ฝ่ายทางหัวเมืองสงขลาก็ให้ขอแรงไพร่เมืองแขกที่ขึ้นกับเมืองสงขลาสร้างทางจากเมืองสงขลา ไปจนถึงพรมแดนหัวเมืองไทรบุรี บรรจบกับทางที่เป็นไทรบุรีสร้างมา และพระราชส่วยที่ได้จากเมืองสงขลาเป็นระยะเวลา3ปีเพื่อใช้ในการนี้
ดูข้อมูลเพิ่มเติมของ ป๋าไก่ สมาร์ทตี้-จี 
http://chicken-3.spaces.live.com/blog/cns!150158983B61E668!2247.entry
เป็นปริศนาคำถาม... ว่าทำไมถึงพระองค์ต้องทรงลำบากพระวรกาย เสด็จมาตามเส้นทางนี้  เส้นทางเสด็จในช่วงนี้ได้ถูกกำหนดมาก่อนแล้วหรือไม่  หากถูกกำหนดมาก่อน อะไรเป็นสาเหตุที่ให้พระองค์เลือก...

ครับทิ้งท้ายไว้สำหรับรูป ที่น่าจะเป็นที่ประทับแรมหาดทรายใหญ่ รูปจากเวปกิมหยงนี่แหละครับขอบคูณสำหรับเจ้าของรูป  สำหรับเส้นทางเสด็จเข้าสู่ที่ประทับแรมหาดใหญ่ และจดหมายเหตุวันสุดท้ายที่เสด็จเยือนเมืองสงขลาในครั้งนี้ ขออนุญาต พรุ่งนี้ค่อยเข้ามาต่อนะครับ




Kungd4d


หมัดเส้งชู

ครับ สำหรับเส้นทางชลมารคในวันสุดท้าย น่าจะมีกระบวนเรืออย่างน้อยๆ น่าจะมี ๓ ลำขึ้น  ลำแรกคงเป็นผู้สำเร็จราชการในสมัยนั้น พระยาวิเชียรคีรี(เม่น)  ลำที่สองเป็นลำที่เสด็จฯเป็นเรือพระที่นั่งเก๋ง  ลำที่ ๓ เป็นเรือของผู้ติดตาม  ย้อนอดีตไปเมื่อ ๑๓๘ ปีที่แล้ว ท่าหาดใหญ่ในสมัยนั้น ก็คงพอจะมีผู้อาศัยอยู่บ้าง อาจจะเป็นชุมชนมีผู้คนตั้งถิ่นฐานอยู่  ณ รอบบริเวณๆนั้น การตรวจสอบประวัติของวัดหาดใหญ่ใน หรือวัดท่าเคียน  ก็น่าที่จะเป็นหลักฐานอีกอย่างหนึ่งในการสนับสนุนของการตั้งชุมชนที่ท่าหาดใหญ่  จุดสุดท้ายของที่พักสินค้าการซื้อขายแลกเปลี่ยน ก่อนที่จะขนส่งสินค้าทางบกข้ามคาบสมุทรไปสู่มหาสมุทรอินเดียโดยมีปลายทางอยู่ที่เมืองไทรบุรี   หลังถัดมาจากห้วงเวลานี้อีก ๔๑ ปี เมื่อเส้นทางรถไฟสายสงขลา – อู่ตะเภาแล้วเสร็จ ผู้คนต่างถิ่นเริ่มอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน  ๓ ปีถัดมาเปิดทางรถไฟหลวงสายใต้ ตั้งแต่กรุงเทพพระมหานครฯ ลงไปยังมณฑลภาคใต้ ในปี พ.ศ. 2459 รุ่งขึ้นจึงได้เปลี่ยนชื่อจาก อำเภอเหนือ เป็น อำเภอหาดใหญ่ 
แต่ข้อมูลที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ของการเสด็จครั้งนี้  สามารถที่จะยืนยันได้ว่า  พระพุทธเจ้าหลวง ได้เคยเสด็จมาและประทับแรมที่พลับพลาท่าหาดใหญ่ เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในรัชสมัยของพระองต์

การเสด็จวันสุดท้ายทางชลมารค คงเป็นด้วยเพราะสายน้ำคลองอู่ตะเภาในสมัยนั้น สองฟากฝั่งลำน้า ยังเต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ ผู้คนมาตั้งหลักปักฐาน อาศัยทำสวน ทำไร่ ทำนา จากหลักฐานที่ปรากฏ มีวัดต่างที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ครั้งโบราน ๒ ฝั่งลำน้า ไล่เรียง มาตั้งแต่วัดท่าแซ  วัดนารังนก วัดอู่ตะเภา วัดคูเต่า ไม่เพียงแต่นั้น บางพื้นที่ยังเป็นท่าชุมตลาดแลกเปลี่ยนสินค้า  เป็นอู่ต่อเรือจอดเรือสำเภา เป็นสวนส้มจุกส้มโอ  ฯลฯ ผู้คนที่ตั้งถิ่นฐานเล่า ก็มีทั้ง ไทย จีน อิสลาม ความหลากหลายของที่นี่เกิดขึ้นมาเมื่อแต่ครั้งนั้น หรือก่อนหน้าเสียด้วยซ้ำ 
ถ้าอ.บ.จ.จะรื้อฟื้นเส้นทางตามรอยเสด็จประพาสพระพุทธเจ้าหลวง จัดเป็นตลาด ๒๐๐ ปี แบบที่สามชุก... สำหรับสถานที่จะเป็นบริเวณไหน รูปแบบเช่นไร การประชาสัมพันธ์จุดขาย? ปีหน้าเส้นทางเสด็จเส้นนี้ก็อายุครบ ๑๓๙ ปีแล้วครับ

ฝากรูปมาให้ 2 รูปครับ เส้นทางเสด็จทางชลมารค  และแผนที่ประเทศสยาม ปี พ.ศ.๒๔๔๙ ก่อนหน้าที่จะมีเส้นทางรถไฟ  มีเพียงเส้นทางหลวง สงขลา-ไทรบุรี เส้นทางคาบสมุทรเส้นแรก  และอีก ๑ รูปแถมให้อาจารหม่อง แผนที่มาลายา ปี ๒๔๖๕ ก่อนแก้รางจากสงขลา ยังปรากฏชื่อชุมทางอู่ตะเภา ไม่มีชุมทางหาดใหญ่  ??? ???

วันสุดท้ายของการเสด็จเยือนเมืองสงขลาในครั้งนี้
เวลาเช้าโมง ๑ เสด็จจากพลับพลาที่ประทับแรมแหลมทรายเมืองสงขลา ทรงเรือพระที่นั่งกรรเชียงออกมาตามทางชลมารค เวลาเช้า ๓ โมงเศษ ถึงเรือพระที่นั่งบางกอก เรือราญรุกไพรียิงสลุต ๒๑ นัด ข้าราชการผู้ใหญ่น้อยทหารพลเรือนซึ่งตามเสด็จลงเรือพระที่นั่งพร้อมแล้ว เวลาเที่ยงเรือพระที่นั่งใช้จักร ออกจากที่ทอดปากอ่าวเมืองสงขลา เรือราญรุกไพรียิงสลุตอีก ๒๑ นัด


หมัดเส้งชู

ขออภัยที่ผิดพลาดอย่างแรง ในตอบกระทู้ที่ 7 อาจจะเป็นเพราะย่อหน้าที่ผม save มาทำให้ผมไขว้เขว แต่จะไม่ขอแก้ตัวอะไรทั้งสิ้น...เป็นเพราะผมไม่ตรวจสอบข้อมูลก่อนที่จะตั้งกระทู้ ถ้าอย่างไรฝากผู้ดูแลลบกระทู้ที่ 7 ให้ผมด้วย

ระยะทางที่เสด็จทางสถลมารค จากที่ประทับตึกใหญ่บนยอดเขา(อะนะบูเก็จ) เมืองไทรบุรี  จนถึงที่ประทับแรมหาดทรายใหญ่  รวมระยะทางทั้งหมดประมาณ ๙๖ กิโลเมตร โดยใช้เวลา ๔ วัน  วันหนึ่งๆ จะเสด็จมาตามระยะทางได้ประมาณ ๒๔ กิโลเมตร  ในจดหมายเหตุเสด็จประพาส ไม่ได้ระบุถึงที่ประทับแรม
ในบันทึกระยะทางวันที่ ๑ เวลาที่ใช้เดินทางประมาณ ๔ ชั่วโมงเศษ
                วันที่ ๒ เวลาที่ใช้เดินทางประมาณ ๔ ชั่วโมงเศษ
                วันที่ ๓ เวลาที่ใช้เดินทางประมาณ ๔ ชั่วโมงเศษ
            และวันที่ ๔ เวลาที่ใช้เดินทางประมาณ ๖ ชั่วโมง ถึงที่ประทับแรมท่าหาดทรายใหญ่

ที่ประทับแรมวันที่ ๑ น่าจะอยู่ที่ ระหว่างทาง จิตรา-จังโหลน
ที่ประทับแรมวันที่ ๒ น่าจะอยู่ที่ ระหว่าด่านนอก-เมืองสะเดา
ที่ประทับแรมวันที่ ๓ น่าจะอยู่ที่ ใกล้ๆคลองแงะ

ผมเคย save ข้อความย่อหน้าหนึ่งไว้ แต่จำที่มาไม่ได้ ในย่อหน้านั้น มีความว่า...ครั้งนั้นเจ้าพระยาไทรบุรี(อหะมัต)สร้างวังขึ้นรับเสด็จที่เขาน้อย เรียกว่าอนักบุเกต(เดี๋ยวนี้รื้อสร้างใหม่ แต่ยังใช้เป็นที่รับแขกเมืองมีบรรดาศักดิ์สูงอยู่) และให้ทำทางให้รถจากเมืองไทรมาจนต่อแดนจังหวัดสงขลา ข้างสงขลาเจ้าพระยาวิเชียรคีรีผู้สำเร็จราชการจังหวัด ก็ให้ทำถนนรถแต่ปลายแดนมาจนถึงท่าลงเรือที่ตำบลหาดใหญ่(เป็นแรกที่จะมีถนน ข้ามแหลมมลายู) จึงทรงรถจากเมืองไทรบุรีมาประทับแรมที่ตำบลจังโลนแขวงเมืองไทรบุรีคืน ๑ ที่ตำบลสะเดาแขวงสงขลาคืน ๑ นับเป็นเวลาเดินทาง ๓ วัน วันที่ ๓ ถึงหาดใหญ่ เสด็จลงเรือพายออกทะเลสาบ มาถึงเมืองสงขลา เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ให้เรือจักรข้างชื่อ " ไรลิงสัน" ที่ท่านต่อไปรับเสด็จกลับกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม เข้าปีวอก พ.ศ. ๒๔๑๕ รวมเวลาที่เสด็จไปอินเดียครั้งนั้น ๔ เดือน...

ครับ เส้นทางเสด็จทางสถลมารคและที่ประทับแรมทั้ง ๓ วัน 
และวันที่ ๔ ถึงที่เสด็จประทับแรมที่ท่าหาดใหญ่

หมัดเส้งชู

ครั้งที่ ๓
เสด็จประพาสหัวเมืองมลายู ร.ศ.๑๐๗ ปีพุทธศักราช ๒๔๓๑ ระหว่างวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๔๓๑ เสด็จออกจากเกาะสีชัง เส้นทางที่เสด็จ ๑. ปราณบุรี ๒. ชุมพร ๓. เกาะพงันด้านตะวันออก ๔. ธารเสด็จ ๔. อ่าวระเวน ๕. เกาะสมุย ๖. ปากน้ำเมืองสงขลา ๗. เกาะยอ(สงขลา) ๘ เขาตังกวน ๙. กลันตัน ๑๐. ตรังกานู ๑๑. เมืองตานี ๑๒. นครศรีธรรมราช ๑๓ เมืองหลังสวน ๑๔ เขาสามร้อยยอด ๑๕ พระสมุทรเจดีย์ (สมุทรปราการ) กลับถึงท่าราชวรดิษฐ์   วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๓๑

วันอาทิตย์เดือน ๙ แรม ๑๑ ค่ำ (วันที่ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๑) เวลาเช้า ๔ โมง ๒๕ นาที ถึงปากน้ำเมืองสงขลาทอดเรือพระที่นั่งหลังเกาะหนู ห่างฝั่ง ๖๐ เส้นเศษ หลวงวิเศษภักดีผู้ช่วยเมืองสงขลา ลงมาเฝ้าทูลลอองุธุลีพระบาทในเรือพระที่นั่ง กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า พระยาวิเชียรคีรีผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ป่วยเป็นฝีอคเนสันมาตั้งแต่เมืองแขก กลับมาถึงเมืองสงขลาได้ ๕ วัน ถึงวันอังคาร เดือน ๙ แรม ๖ ค่ำ ถึงอนิจกรรมเวลาบ่ายโมง ๑  เสด็จพระราชดำเนิรขึ้นบกประทับแรมที่ค่ายหลวงที่แหลมทรายเมืองสงขลา เวลาบ่าย ๒ โมง เสด็จโดยทางชลมารคไปขึ้นที่ท่าน่าจวนเมืองสงขลา ทอดพระเนตรจวนเจ้าเมืองเก่าแลบ้านพระยาสงขลาที่ถึงแก่กรรม แล้วทรงพระราชดำเนิรตามตลาดเลี้ยวตามถนนบ้านขาม แลวัดมัฌิมาวาส คือวัดกลาง ซึ่งเป็นวัดสงฆ์ธรรมยุติกาแล้วกลับลงทางตลาด ไปประทับเรือพระที่นั่งน่าจวนกลับที่พลับพลาแหลมทราย แรมอยู่คืนหนึ่ง
วันจันทร์ เดือน ๙ แรม ๑๒ ค่ำ (วันที่ ๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๑) เวลาเช้า ๔ โมงครึ่งเสด็จไปเกาะยอในทเลสาบ ขึ้นที่วัดแหลมกระพ้อ ทอดพระเนตรโรงเผาโอ่งอ่างแล้วทรงพระราชดำเนิรตามถนนข้ามทุ่งไปที่สวนตามเชิงเขา ทางประมาณ ๔๐ เส้น   แล้วเสด็จกลับมาที่พลับพลา ทรงพระดำริห์ว่าเมืองสงขลาเป็นเมืองใหญ่ ได้บังคับบัญชาเมืองแขกหลายเมือง ไม่มีตัวผู้รักษาเมือง ผู้ช่วยเป็นแต่หลวงมีบันดาศักดิ์น้อยไม่สมควร จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรตั้งหลวงวิเศษภักดีเป็นพระยาสุนทรานุรักษ์ ตำแหน่งผู้ช่วยราชการ ให้เป็นผู้รักษาราชการบ้านเมือง ในเวลาที่ไม่มีตัวผู้สำเร็จราชการ ให้นายพ่วงมหาดเล็ก บุตรพระยาวิเชียรคีรีที่ถึงแก่กรรมเป็นหลวงอุดมภักดี โปรดเกล้าฯ ให้นายผันมหาดเล็ก บุตรพระอนุรักษ์ภูเบศร์เป็นหลวงบริรักษ์ภูเบนทร์ ผู้ช่วยราชการทั้งสองคน ประทับแรมอยู่ที่เมืองสงขลาอีกคืนหนึ่ง
วันอังคารเดือน ๙ แรม ๑๓ ค่ำ (วันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๑)เวลาเช้าเสด็จพระราชดำเนิรขึ้นไปนมัสการเจดีย์บนยอดเขาตังกวน ทรงพระราชศรัทธาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างศาลาพระวิหาร ซึ่งพระบาทสมเด็จฯพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระดำริห์จะสร้างค้างอยู่ เวลาบ่ายพวกแขกซึ่งคุมเครื่องราชบรรณาการมาคอยอยู่ที่เมืองสงขลา คือพระพิพิธภักดีแลตนกูมหมัดเมืองตานี พระไพรีพ่ายฤทธิ์ กับน้องพระยายะลา นายทัดผู้ว่าที่เจ้าเมืองหนองจิก พระดำรงเทวฤทธิ์ ผู้ว่าราชการเมืองเทพา พระมหานุภาพผู้ว่าราชการเมืองจะนะ ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วย เวลาบ่าย ๔ โมง เสด็จไปขึ้นที่หาดหัวเขาแดง ทอดพระเนตรมรหุ่ม ที่ฝังศพแขกโบราณ แล้วเสด็จมาประทับเรือพระที่นั่งได้ใช้จักรจากเมืองสงขลาเกือบทุ่ม ๑

ซิงโกร่าแมน

ติดตามข้อมูลมาอย่างต่อเนื่อง
ด้วยความขอบพระคุณ

หมัดเส้งชู

เมื่อผมย้อนกลับไปดู จดหมายเหตุระยะทางเสด็จประพาสครั้งที่ ๓ เมื่อวันที่ ๒..
วันจันทร์ เดือน ๙ แรม ๑๒ ค่ำ (วันที่ ๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๑) เวลาเช้า ๔ โมงครึ่งเสด็จไปเกาะยอใน ทเลสาบ ขึ้นที่วัดแหลมกระพ้อ ทอดพระเนตรโรงเผาโอ่งอ่างแล้วทรงพระราชดำเนิรตามถนนข้ามทุ่งไปที่สวนตามเชิงเขา ทางประมาณ ๔๐ เส้น   แล้วเสด็จกลับมาที่พลับพลา  ในการเสด็จครั้งนี้มีเรื่องที่จะต้องหมายเหตุ อยู่ ๒ เรื่องด้วยกัน คือ
หนึ่ง จากการตรวจสอบประวัติของวัดแหลมพ้อ ระบุไว้ว่า ได้รับพระราชทานวิสุงคสีมา เมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๔๓๑ เขตวิสุงคสีมา  กว้าง ๑๙ เมตร ยาว ๒๔ เมตร ปีที่ระบุเป็นปีเดียวที่พระองค์เสด็จประพาส
สอง พระองค์เสด็จพระราชดำเนินตามถนนข้ามทุ่งไปที่สวนตามเชิงเขา ระยะทางประมาณ ๑๖๐๐เมตร หรือกว่ากิโลครึ่ง ระยะเวลาที่เสด็จทอดพระเนตรเกาะยอ น่าจะใช้เวลา ไม่ต่ำกว่า ๔ ชั่วโมง การเสด็จประพาสเกาะยอครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ ๒ ถัดจากครั้งแรกที่เสด็จเมืองสงขลาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๓ ระยะเวลาที่เสด็จประทับทั้งสองครั้งก็น่าจะใกล้เคียงกัน 

หมัดเส้งชู

ครั้งที่ ๔
เสด็จประพาสหัวเมืองมลายู ร.ศ.๑๐๘ ปีพุทธศักราช ๒๔๓๒ ระหว่างวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๔๓๒ เสด็จออกจากท่าราชวรดิษฐ์ เส้นทางที่เสด็จ ๑. สมุทรปราการ ๒. เกาะหลัก ๓. ปากน้ำชุมพร ๔. เกาะง่าม-เกาะลังกาจิ๋ว-เกาะกุลา ๕.เกาะช่องอ่างทอง-เกาะพงัน ๖.เกาะสมุย-ช่องอ่างทอง-เกาะพงัน ๗. แหลมตะลุมพุก ๘.เมืองสงขลา-วัดมัชฌิมาวาส ๙.เกาะมวย-พลับพลาหน้าเขาเทวดา ๑๐. เขาชั้น ๑๑. เมืองพัทลุง-ควนพร้าว ๑๒. วัดคูหาสวรรค์ ๑๓. เกาะมวย ๑๔. เมืองหนองจิก ๑๕. เมืองสาย ๑๖. เมืองตานี ๑๗ สงขลา-เมืองเทพา ๑๘ อ่าวเสด็จ ๑๙ ปากน้ำพุมเรียง ๒๐ เมืองไชยา ๒๑ กาญจนดิฐ ๒๒ หลังสวน ๒๓ เมืองชุมพร ๒๔ เขาสามร้อยยอด ๒๕ ปราณบุรี  ๒๖ ป้อมผีเสื้อสมุทร กลับถึงท่าราชวรดิษฐ์   วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๓๑

การเสด็จประพาสเมืองสงขลาในครั้งนี้ เนื่องจากมี่ทั้งพระราชนิพนธ์ระยะทางเสด็จประพาส และจดหมายเหตุเสด็จประพาส จึงได้คัดมาลงไว้เพื่อเปรียบเทียบทั้ง ๒ อย่าง

เหตุที่จะเสด็จประพาสคราวนี้  เพราะทรงประชวร  พอพระอาการคลายขึ้นจึงเสด็จไปเปลี่ยนอากาศตามคำแนะนำของแพทย์

การเสด็จประพาสในครั้งนี้ ได้ปรากฏหลักฐานภาพถ่ายที่ ถ่ายด้วยพระองค์เองอย่างมากมาย รวมทั้งการจารึกพระนามาภิไธย ไว้ที่ไว้ที่หน้าเพิงศาลเทวดาบนเกาะมวย หมู่เกาะสี่เกาะห้ากลางทะเลสาบ  ซึ่งในครั้งนั้นยังถือเป็นแผ่นดินของเมืองสงขลา

พระราชนิพนธ์ระยะทางเสด็จประพาส

พระราชหัตเลขาฉบับที่ ๑


เรือพระที่นั่งอุบลบุรทิศ  ทอดปากอ่าวเมืองสงขลา
วันที่  ๒๑  กรกฎาคม  รัตนโกสินทร๒๒ศก ๑๐๘

ถึง  ท่านกลางแลกรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ

...
วันที่  ๒๐  พอรุ่งสว่างเลื่อนเรือไปทอดที่  พระยาสุนทรานุรักษ์(๙)นำ แผนที่ทเลสาบลงมาคิดกะการที่จะไปเมืองพัทลุง  เวลาบ่ายขึ้นบก  เขาทำพลับพลารับที่น่าจวน  กรมการแลภริยากรมการมาหา  แล้วไปเที่ยวตลาด  ตลอดจนถึงวัดมัชฌิมามาวาส  การที่เมืองสงขลาจัดตกแต่งบ้านเมืองเรียบร้อยดีขึ้นกว่าแต่ก่อน  เขื่อนน่าเมืองที่ชำรุดก็ซ่อมใหม่ตลอด  ถนนดาดปูนใหม่กว้างขวางหมดจด  ที่วัดมัชฌิมาวาสตั้งแต่พระภัทรธรรมธาดาออกไปอยู่(๑๐)  ก็ตกแต่งปักกวาดสอาดสอ้านขึ้นพอสมควรแก่เวลาที่ได้ออกมาอยู่น้อยวัน  มีสัปรุษถวายของประมาณห้าสิบหกสิบคน  มีนักเรียนร้องเพลงสรรเสริญบารมีกว่ายี่สิบคน  ได้ถวายเงินเลี้ยงพระสงฆ์สามชั่ง  แลเงินข้างในเข้าเรี่ยรายกันทำถนนในวัดสี่ชั่งหย่อน  แลแจกเงินสัปรุษนักเรียน  แล้วจึงได้กลับมาลงเรือ  ผ้าพื้นในตลาดสงขลาปีนี่มีมากอย่างยิ่ง  ด้วยรู้อยู่แต่ก่อนว่าจะมา  ลงมือทอกันเสียตั้งแต่เดือนอ้ายเดือนยี่ก็มี  ซื้อไม่พร่องเหมือนอย่างแต่ก่อน  เมื่อผ่านไปแล้วกลับมาก็เต็มบริบูรณ์อย่างเก่า  แต่ผลไม้สู้ครั้งก่อนไม่ได้  ส้มก็ยังมีน้อยไม่หวาน  มีแต่มม่วง  จำปาดะก็หายาก

         ซึ่งกำหนดว่าจะไปเมืองพัทลุงแต่สองคืนแต่ก่อนนั้น  เปนอันไม่พอทีเดียว  ด้วยระยะทางตั้งแต่เมืองสงขลาไปถึงเกาะห้าเต็มวัน  ไม่มีเวลาพอที่จะเที่ยวในหมู่เกาะเหล่านั้นได้เลย  ระยะทางตั้งแต่เกาะห้าไปจนถึงเมืองพัทลุงก็ไกลเต็มวัน  จะกลับไปกลับมาไม่ได้  จึงต้องคิดไปค้างที่เมืองพัทลุง  เห็นว่าบางที่จะต้องค้างที่เกาะห้าสองคืน  เมืองพัทลุงสองคืน  ฤๅถ้ากระไรจะต้องค้างเกาะห้าอีกคืนหนึ่ง  เมื่อขากลับคงจะต้องผ่อนผันตามเวลาที่จะพอควร  กำหนดจะได้ออกจากเมืองสงขลาไปโดยทางทเลสาบเวลาพรุ่งนี้

         ตัวฉันแลบันดาผู้ที่มา  มีลูกโต(๑๑)เจ็บ ไข้วันหนึ่ง  ด้วยไม่สบายรวนมาแต่กรุงเทพฯ แล้ว  สองวันก็หายเปนปรกติ  ฉันก็ค่อยมีกำลังแขงแรงมากขึ้นตั้งแต่ล่วงมาได้สี่วันห้าวัน  เว้นแต่ท้องแลนอนนั้นยังไม่เปนปรกติทีเดียวนัก  แต่เชื่อว่าคงจะสบายได้ในเร็วๆ นี้เปนแน่  คนอื่นก็มีความสบายด้วยกันหมดทั้งสิ้น  ให้เธอแจ้งความแด่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการทั้งฝ่ายน่าฝ่ายในให้ทราบทั่วกัน  อย่าให้มีความวิตกถึงฉันเลย

                                                                                                                                    สยามินทร์


(๙)  พระยาสุนทรานุรักษ์ (ชม  ณ สงขลา)  ต่อมาได้เปนพระวิเชียรคิรี

(๑๐)  เดิมอยู่วัดโสมนัสวิหาร  ได้เปนพระครูอยู่วัดส้มเกลี้ยงในกรุงเทพฯ  แล้วจึงเปนพระราชาคณะออกไปอยู่เมืองสงขลา

(๑๑)  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันนี้ (รัชกาลที่ ๖ - กัมม์)

หมัดเส้งชู

ผมกำลังหาแผนที่... ไม่ทราบว่าท่านใดพอจะมีบ้างครับ ทราบว่ามีในห้องสมุดกรมแผนที่ทหาร ไว้ว่างผมจะไปขอสแกน แผนที่แหลมมลายู กรมทำแผนที่เขียนโดย พระบรมราชโองการ สำหรับพระราชนิพนธ์ ระยะทางเที่ยวทางบก - ทางเรือรอบแหลมมลายู แสดงเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินประพาสเมื่อ ร.ศ.๑๐๘ - ร.ศ.๑๐๙ (พ.ศ.๒๔๓๒ - พ.ศ.๒๔๓๓) แสดงพื้นที่ตั้งแต่กรุงเทพ ฯ ถึงเมืองสิงคโปร์ ตีพิมพ์ที่ลอนดอน

สำหรับแผนที่พระราชอาณาเขตร์สยาม (แผนที่โลโก้กระทู้นี้) เป็นแผนที่มาตราส่วน ๑/๒,๒๘๐,๙๖๐ ซึ่งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ รับพระราชโองการให้เจ้าพนักงานของกรมแผนที่ ออกไปตรวจถึงพระราชอาณาเขตซึ่งติดต่อกับเขตแดนปกครองของอังกฤษและฝรั่งเศส นายสอนเป็นผู้เขียนเมื่อ ร.ศ.๑๑๖ (พ.ศ.๒๔๔๑) และในปีเดียวกันนี้มีแผนที่ชื่อระวางและมาตราส่วนเดียวกัน นายแบนเป็นผู้เขียน แผนที่ทั้งสองที่กล่าวมานี้ตีพิมพ์ที่กัลกัตตา ประเทศอินเดีย เมื่อ ค.ศ.๑๘๙๘ (พ.ศ.๒๔๔๒) จากหลักฐานนี้สันนิษฐานได้ว่าขณะนั้นประเทศไทยยังไม่มีเครื่องพิมพ์แผนที่ และแผนที่ทะเลสาบที่นำมาแสดงไว้ข้างล่างนี้ เป็นแผนที่พระราชอาณาเขตร์สยาม ร.ศ.๑๑๖ เป็นเฉพาะส่วนเมืองสงขลาที่ขยาย

หมัดเส้งชู

เรือพระที่นั่งอุบลบุรทิศ  ทอดปากอ่าวเมืองสงขลา
วันที่  ๒๙  กรกฎาคม  รัตนโกสินทร๒๒ศก ๑๐๘

ถึง  ท่านกลางแลกรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ

         ด้วยแต่ก่อนได้บอกข่าวคราวเข้ามาเพียงวันที่ ๒๐ เดือนกรกฎาคม  จะขอบอกข่าวต่อไปตามลำดับ

         วันที่  ๒๑  กรกฎาคม  ได้รับหนังสือกรุงเทพฯ เขียนหนังสืออยู่ในเรือ  จนบ่าย ๓ โมงจึงได้ขึ้นบก  ฝนตกมาแต่เที่ยงเปนคราวๆ  เมื่อเวลาขึ้นบกฝนสงบ  แต่ครั้นเมื่อตีกระเชียงไปถึงกลางทางฝนกลับตกอีก  พร่ำเพรื่อไปไม่หยุด  ขึ้นพักอยู่บนพลับพลารับพวกกรมการและภรรยา  กับทั้งราษฎรชาวบ้านมาหา  จนพลบกลับลงเรือ  ตำบลที่หมายว่าจะไปเที่ยวแห่งใดไม่ได้ไป  ป่วยการทั้งวัน

         วันที่  ๒๒  เกือบโมงเช้าจึงได้ออกเรือ  เพราะต้องกาหลกันในการที่จะพ่วงเรือไป  เรือกลไฟน้ำตื้นที่จะไปในทเลสาปได้มีสามลำ  คือเรือทอนิครอฟต์ลากเรือที่นั่งทรงที่นั่งรองผ้านุ่งห่มรวม ๔ ลำ  เรือเซนต์ยอชลากเรือเจ้านายและเรือผ้านุ่งห่ม เรือครัวรวม ๕ ลำ  เรือยาโรลากจูงเรือเครื่องเปนเรือหัวเมืองลำใหญ่ๆ ๓ ลำ  ต้องเดิรตามร่องน้ำลึกไปจนถึงน่ามะระหุ่ม  จึงเลี้ยวกลับเข้าปากช่องแหลมทรายเสียเวลาชั่วโมงหนึ่ง  ได้เห็นป้อมเขาแดงและป้อมค่ายม่วงที่เขาแหลมสน  ซึ่งเขาถางไว้ทั้งสองตำบล

         ป้อมเขาแดงเปนป้อมสี่เหลี่ยมเล็กๆ แต่ป้อมค่ายม่วงเปนป้อมยาวตามริมฝั่งน้ำ  เรือมาออกช่องเขาเขียวกับเกาะยอ  แลเห็นแนวเขาและทิวไม้รอบ  ไปค่อนข้างฝั่งเหนือแลเห็นต้นไม้สนัด  มีต้นตาลมาก  ตาลเหล่านี้ที่ทำ "ผึ้งฮบ"(๑) ลงมาขายตลาด  มีต้นไม้อื่นๆ บ้างไม่หนานัก  แลเห็นทุ่งหลังหมู่ไม้เปนที่แผ่นดินราบๆ ตลอดไป  บ้านเรือนมีรายเปนหมู่ๆ ไม่สู้เปลี่ยวนัก  ตั้งแต่น่าบ้านป่าจากไปน้ำน้อย  จักรเรือคุ้ยดินขึ้นมาสีแดงๆ จนเกือบจะถึงคลองปากรอ  ซึ่งเปนที่กิ่วแห่งหนึ่งในทเลสาปน้ำจึงได้ลึก  แต่คลองปากรอนั้นมิใช่เล็ก  ถ้าจะเรียกว่าแม่น้ำก็ได้  กว้างกว่าคลองเกร็ดมาก

         พักร้อนที่หว่างบ้านปากบางกับบ้านแหลมจากต่อกัน  ปักเตนต์ใหญ่ของพระยาสุนทรา พระยาจางวาง (เมืองพัทลุง) ยกรบัตรและหม่อมราชวงศ์หรั่ง เมืองพัทลุงมารับ(๒)  ออกจากที่พักร้อนมาตามทาง  เห็นบ้านปากจ่า  มีบ้านเรือนมากเปนสามหมู่  ไปในระหว่างฝั่งกับเกาะญวนเรียกว่าคลองหลวง  น้ำตื้นบ้างลึกบ้าง  จนถึงบ้านปากพยูนซึ่งเปนช่องจะออกที่กว้าง  มีบ้านเรือหลายสิบหลัง  ต้นไม้และภูมที่งามนัก  ฝั่งขวาเปนเกาะหมาก  ฝั่งซ้ายเปนแหลมเขาปากพยูน  ตั้งแต่เมืองสงขลาขึ้นมาจนถึงปากพยูน  มีเสารั้วโพงพางและยกยอตลอดระทางไป ไม่ได้ขาดเลย  เพราะในตอนนี้ปลาชุม

         พอขึ้นไปถึงกลางเกาะปราบ  บ่ายหัวเรือขึ้นเหนือจะไปตามน่าเกาะรังนก  ลมพัดโต้น่าจัด  น้ำก็ตื้น  เรือไปได้เพียงน่าเกาะยิโส  ซึ่งเปนเกาะที่สองหมู่เกาะสี่เกาะห้า  ต้องปล่อยเรือกลไฟตีกระเชียงไปจนถึงพลับพลาซึ่งปลูกไว้ที่เกาะมวย  เข้าทางช่องหว่างเกาะมวยกับเกาะพระต่อกัน  เวลาค่ำจึงได้ถึง  หลวงอุดมภักดี(๓)เจ้าภาษีรังนกมาคอยรับตั้งเลี้ยงอยู่ในที่นี้  ที่ซึ่งปลูกพลับพลานี้เรียกว่า น่าเทวดา  คือเปนศาลสำหรับพวกรังนกไหว้ก่อนที่จะลงมือทำรังนก  พระมหาอรรคนิกรเปนผู้มาปลูก  มีท้องพระโรงหลังหนึ่ง  ที่อยู่หลังหนึ่ง  ที่เจ้านายข้าราชการอยู่อาศรัยโรงของเจ้าภาษีรังนกสองหลัง  พื้นที่ที่ทำพลับพลาเปนที่เลนขึ้นตัดหญ้าถมทรายโรย  เมื่อมาตามทางไม่ถูกฝน  แต่ที่พลับพลาฝนตกอยู่ข้างจะเปรอะเปื้อน  มีกลิ่นเหม็นตมเหม็นหญ้า  เคยอยู่ในทเลกว้างๆ  ขึ้นมาอยู่บนบกออกร้อน  และฝนยังตกประปรายอยู่เปนคราวๆ มาเกือบสิบสองชั่วโมงออกเหนื่อย  แต่ก่อนๆ ที่มากับเขา พักปากพยูนเปนเวลาพอดีอยู่ในสี่โมงเย็น  แต่คำสั่งให้มาปลูกพลับพลาที่เกาะ เขาก็ทำตามคำสั่ง  ก็นับว่าดีอย่างหนึ่งที่เที่ยวเสดวกไม่ต้องไปทางไกล

หมัดเส้งชู

วันที่  ๒๓  ฝนตกแต่เช้ามืดพร่ำเพรื่อไปจนเกือบ ๕ โมงจึงหายสนิท  ไปเที่ยวที่ตรงน่าพลับพลาซึ่งเปนศาลเจ้านั้น  เปนเพิงเข้าไปตามเชิงเขา  เพดานราบก่อแท่นไว้เปนที่ตั้งเครื่องสังเวยกว้างขวาง  ในนั้นเปนที่ตำรวจและกรมวังอาศรัย  ต่อไปข้างซ้ายเขาก่อสอบศิลาก้อนสูงขึ้นไปเปนที่ก่อพระเจดีย์ทราย เมื่อเวลาเลิกทำรังนกแล้ว  มีชาตรีประชันกันเปนการฉลองทุกปี  ในซอกเขากับที่ก่อพระทรายต่อกันปลูกร้านมุงกระแชง  กระแชงเป็นที่ผึ่งรังนก  ต่อนั้นไปเปนโรงครัวหลวงอุดมซึ่งมาตั้งเลี้ยง  ข้างขวามือเปนเพิงเขาคล้ายกันกับที่ศาลเทวดาแต่กว้างกว่า  เปนที่อาศรัยของพวกทำรังนก  เดิมกั้นมาแต่เดี๋ยวนี้เปิดไว้ให้เปนที่ข้าราชการอาศรัย  เพดานเพิงนั้นเปนควันดำรอยหุงเข้าตลอดไป  ที่ตรงน่าเพิงมาข้างมุมพลับพลา  หรือจะเรียกว่าค่ายหลวงอย่างย่อๆ  เพราะกั้นด้วยหญ้าและผ้าฉนวนทั้งนั้น

         มีบ่อน้ำร้อนแห่งหนึ่งก่อขอบไว้แล้ว  มีเปนธารสั้นๆ ออกไปหน่อยหนึ่ง  น้ำนั้นถ้าจะร้อนก็คงเปนด้วยหินปูนอย่างที่ท้องช้าง  แต่เมื่อไปลองดูก็ไม่เห็นร้อน  เปนแต่ไม่เย็นตามที่ควรจะเย็นเท่านั้น  เดิรเลียบไปตามข้างเขาหนทางกว้าง  แต่อยู่ข้างจะเปื้อนเปรอะด้วยน้ำฝน  มีศิลาที่ท่วงทีงามๆ เปนช่องเหมือนปากถ้ำบ้าง  เปนหลืบเปนโพรงพรุนไปทั้งนั้น  มีต้นไม้ใหญ่เล็กและกล้วยไม้ประดับงดงาม  ถ้าช่างก่อเขาเห็นก็จะไม่สู้ติว่า "ไม่เปน" นัก  ไปทางประมาณห้าเส้นถึงที่จะขึ้นถ้ำ  เรียกว่าถ้ำใหญ่  จ้องขึ้นเขาอยู่ข้างจะชัน  ต้องมีบันไดสองตอน  ถึงปากถ้ำ  แล้วลงไปตามศิลาชันๆ ต้องผูกเชือกเปนราวไต่ลงไปถึงพื้นถ้ำ  ในถ้ำกว้างกว่าสิบห้าวาสูงมาก  ที่พื้นเปนมอสูงๆ ต่ำๆ มีหลืบซอกไปได้บ้าง  อยู่ข้างจะมืด  แต่ไม่ถึงต้องอาศรัยแสงเทียนมากนัก  นกทำรังอยู่เสียในโพรงในซอกศิลาบนเพดานถ้ำมาก  ไม่ใคร่แลเห็นรัง  ต่อจุดไต้ผูกปลายไม้ขึ้นไปส่องจึงได้เห็น

         การทำรังนกที่นี่ไม่ใช่ลงตะแกรงเหมือนอย่างที่ชุมพร  ใช้พะองไม้ลำเดียวพาดขึ้นไปสอย  ที่สูงนักก็มีขาทรายรับ  ไม้ถ่อที่สอยก็ใช้ลำเดียวไม่ต่อได้เปนท่อนๆ  เหล็กปลายถ่อไม่ใช้เปนวงเดือน  ทำเปนแบนๆ เหมือนปากสิ่ว  เมื่อสอย หรือเรียกว่าแทงตามคำเขาเรียก  ตกลงมาแล้วไม่ร้อง "ออย"  อยู่ข้างจะถือลัทธิสุปัสติเชียสต่างๆ มีพิธีรีตองกันมาก  แต่ดีอย่างหนึ่งที่เก็บรังนกแต่ปีละสองครั้งเท่านั้น  แต่เดิมมาก็ว่าเก็บสามครั้ง  แต่นกน้อยไปทุกๆ ปี  จึงได้เปลี่ยนเปนเก็บสองครั้ง  แต่นั้นมานกก็มากขึ้น  รังก็หนากว่ารังนกที่ชุมพร  ฉันเห็นว่ารังนกที่ชุมพรควรจะบังคับให้เก็บแต่สองครั้งได้เหมือนกัน จึงจะดี  ถ้าคงเก็บอยู่สามคราวเช่นนี้  นกคงจะหมดลงไปเสมอ  ที่สงขลามีนกน้อยจึงได้รู้สึกได้เร็ว  ที่ชุมพรมีนกมากก็ไม่รู้สึก  แลเปนภาษีผูกขาดแท้  เจ้าภาษีคิดแต่จะหาประโยชน์ชั่วเวลาที่ตัวทำ  ไม่ได้คิดบำรุงรักษาเผื่อกาลภายน่า  ถ้าไม่จัดการตรวจตรามีข้องบังคับเสียให้ดี  รังนกคงจะตกลงไปทุกปี  ครั้นจะพูดให้ละเอียดในที่นี้  ก็จะยืดยาวนักไป  ขอตัดตามเรื่องระยะทาง
กลับจากถ้ำใหญ่  ลงเรือข้ามไปถ้ำยู่หลีที่หัวเกาะพระตรงเกาะมวยข้าม  เดิรเลียบเขาไป  ศิลาตามเชิงเขาเปนโพรงพรุนรอยน้ำกัดไปทั้งนั้น  ที่มีรังนกนั้นเปนโพรงลึกเข้าไปหน่อยหนึ่ง  มีรังนกบ้างเล็กน้อย  อกจากถ้ำยู่หลีไปถ้ำแรงวัวที่เกาะดำ  ถัดเกาะพระไป  ก็คล้ายคลึงกันกับถ้ำยู่หลี  กลับจากถ้ำแรงวัวมาขึ้นถ้ำลูซิมที่ในเกาะดำนั้นเอง  ถ้ำนี้ปากช่องแคบเพราะมีเงื้อศิลาบัง  เมื่อเข้าไปถึงปากถ้ำลอดศีร์ษะเข้าในที่บังแล้ว  จึงปีนศิลาขึ้นไปหน่อยหนึ่งก็ถึงในถ้ำ  เปนถ้ำใหญ่เหมือนฉนวนตรงลิ่วเข้าไปยาว  แล้วจึงถึงที่กว้างแยกเปนขาไปอีกขาหนึ่ง  เพดานถ้ำสูงกว่าถ้ำใหญ่  มีรังนกที่แลเห็นมาก  แต่ยังไม่แน่นเต็มไปเหมือนถ้ำน้ำที่เกาะรังกาจิ๋ว  ในถ้ำนี้มืดต้องจุดไฟ  มีปล่องแต่สูงนัก  แสงสว่างลงมาไม่พอถึงพื้น  มีปล่องที่เปนช่องน่าต่างแลเห็นอยู่ภายนอก  ไม่สู้สูงนัก  แต่ครั้นเมื่อเข้าไปในถ้ำเห็นปล่องนั้นสูงมาก  พื้นถ้ำคงจะต่ำลงไปกว่าหลังน้ำบ้าง

         กลับจากถ้ำลูซิม  ผ่านน่าพลับพลาลงไปถ้ำเสือที่ท้ายเกาะมวยนี้เอง  ขึ้นบกไปหน่อยหนึ่งถึงถ้ำแรด ย่อมกว่าถ้ำหลัง  ออกเดิรจากถ้ำแรดนี้ไปนี้ไปไม่มากก็ถึงถ้ำใหญ่  ถ้ำทั้งสองนี้เปนโพรงเดิรได้ตลอดทั่วทั้งถ้ำ  เหมือนกับเอาก้อนศิลาตั้งไว้บนเสาหลายๆ สิบเสา  ไม่มีผนังโปร่งปรุเดิรลัดรอดไปได้ทั่วทั้งถ้ำ  เขาในเกาะรังนกเช่นนี้เปนศิลาปูน  เหมือนกันกับเขาข้างแควแม่น้ำน้อยไทรโยค  และแควป่าสัก  มักจะโปร่งปรุไปตามเชิงเขาแลมีถ้ำมากๆ  เวลาน้ำท่วม ท่วมได้ถึงในถ้ำ  พื้นถ้ำเปนรอยดินน้ำท่วมคล้ายๆ กันทั้งนั้น  ศิลาที่น้ำท่วมจึงเป็นสีนวลๆ มีคราบน้ำจับเขียวๆ น้อยๆ พอสังเกตได้  ที่พื้นน้ำท่วมขึ้นไปก็เปนสีเทาแห้งๆ เหมือนปูนผนังโบราณ

         เกาะรังนกแถบนี้ทรวดทรงสัณฐานก็ทำนองเดียวกันกับที่น่าเมืองชุมพร  แต่มีท่วงทีงามๆ กว่า  ไม่เปนเข้าไปเที่ยวในกรุงเก่าเหมือนเกาะอ่างทอง  มีต้นไม้ใหญ่ๆ และต้นกล้วยไม้ใบเขียวสด  ช่วยประดับประดาให้หายร้างขึ้นได้มาก  นกพวกนี้ข้างชอบที่ชื้นๆ สังเกตดูที่ตรงไหนมีคราบน้ำเปนทาง  นกมักทำรังตรงนั้นมาก  ศิลาปูนเช่นนี้มักเปนซอกเปนแซกเปนแอ่งที่ขังน้ำ  ฝนตกเวลาวานนี้แลวันนี้ทำให้มีน้ำหยัดน้ำซึมได้หลายแห่ง

         กลับออกจากถ้ำเสืออ้อมเข้าไปดูเกาะเข็มข้างใน  เกาะนี้เห็นข้างนอกเปนก้อนศิลาโตๆ รูปรีๆ ตั้งเกะกะอยู่สามก้อน  แต่ครั้นเมื่อไปข้างในเห็นเปนรูปเขามอเช่นก่อลงไว้ในกระถาง  ประดับด้วยต้นไม่ใหญ่เล็ก  และมีหญ้าดาดลงไปจนถึงริมน้ำน่าดูอยู่  ในท้องทเลนี้น้ำยังกร่อยแต่มีบัวสายมีสันตะวาสาหร่ายตามริมๆ เกาะ  ถ้าหันหน้าเข้ามาข้างเกาะแลดูคล้ายๆ ทุ่งที่น้ำท่วม  ต่อเมื่อแลออกไปข้างฝั่งไม่แลเห็นฝั่งจึงเห็นเปนทเล  เวลาบ่ายกลับมา  วันนี้ฝนตกแต่เช้า  บ่ายมีแดดพื้นแห้งดูค่อยสบายขึ้น  เวลาเย็นก็มีลมพัดจนตลอดค่ำ

         วันที่  ๒๔  เดิมคิดว่าจะไปเมืองพัทลุงในวันนี้  แต่ครั้นเมื่อเวลาวานซืนนี้ได้ความว่า  ที่เมืองพัทลุงทำไว้แต่พลับพลาประทับร้อน  เมื่อวานนี้จึงได้ให้พระมหาอรรคนิกรคุมเตนต์ขึ้นไปตั้ง  จึงพักอยู่ที่นี่พอได้ทำการเวลาหนึ่ง  ครั้นเวลาสายพระยาพัทลุง(๔)ลงมาแจ้งว่าได้ทำพลับพลาไว้ใหญ่โตพร้อมแล้ว  เปนแต่สงสัยเล็กน้อยนำแผนที่มาให้แก้ไข

         ได้จารึกอักษร จ.ป.ร. และศักราช ๑๐๘ ไว้ที่น่าเพิงศาลเทวดาแห่งหนึ่งเปนศิลาปูนเราะง่าย  แล้วลงเรือไปที่เขาชันเปนเกาะใหญ่ของเมืองพัทลุง  อยู่หลังเกาะสี่เกาะห้า  ระยะทางชั่วโมงหนึ่ง  ตั้งข่ายไล่กระจง  ในที่ที่ไล่นั้นเปนป่าคอแหลมกว้างสักสี่สิบวาเท่านั้น  ขึงข่ายสกัดได้เกือบตลอด  ข้างหนึ่งเปนทุ่ง  ข้างหนึ่งเปนทเล  ใช้คนประมาณ ๕๐ คน  เข้าไปต้อนตีป่าใกล้ๆ  ในป่านี้ไม่มีสัตว์อื่นเลยนอกจากกระจง  เพราะเปนป่าโปร่งเดิรง่าย  และกระจงที่นี่ตัวเล็กๆ  เล็กกว่ากระจงที่เคยเห็นๆ กันอยู่สักครึ่งหนึ่ง  สีตัวเหลืองท้องขาว  ไม่โตกว่ากระต่าย  ดูน่ารักมาก  ต้อนมาเข้าข่ายแล้วก็ตะครุบจับเอาได้ง่ายๆ  กิริยาที่จะมาไม่เหมือนเนื้อ  ไม่หนีคนไกล  วิ่งวิ่งหยุดๆ ไม่ใคร่จะเข้าที่รก  วิ่งก็ช้าไม่เหมือนกระต่าย  กิริยาที่วิ่งคล้ายหนูมากกว่าอย่างอื่น  แต่ที่มาได้เห็นหลายสิบตัว  วิ่งหักหลังไปเสียมาก  ไล่สี่เที่ยวจับได้สิบสี่ตัว  คราวหนึ่งคงจะได้เห็นอยู่ในในสิบตัวขึ้นไปหาสิบห้าตัว  การที่ไล่ได้น้อยเปนเพราะคนเราไปนั่งน่าข่ายมาก  ล้วนแต่เสื้อสีสรรพ์ต่างๆ เกือบจะเปนหีบน้ำยาเครื่องเขียน  ถ้ากระจงไม่ไล่ง่าย ที่สุดเกือบมานั่งตักได้ก็เห็นจะไม่ได้ตัว  แต่เท่านี้ก็นับว่าเปนได้มากอยู่แล้ว  คิดว่าจะพาเข้าไปเลี้ยงในกรุงเทพฯ ให้ได้  กระจงใหญ่มีบ้างแต่น้อย  แต่ดูอยู่ข้างจะเขื่องกว่าที่เคยเห็นไปเสียสักหน่อยอีก  เวลาเย็นกลับมาพลับพลา

         วันที่  ๒๕  เวลาเช้าโมงหนึ่งออกเรือไปพัทลุง  น้ำลงขอดเรือไฟ  ต้องเข็นออกจากช่องเกาะ  พอพ้นแล้วไปได้สดวก... 

หมัดเส้งชู

ขอโทษครับเกือบลืมไป ต้องขอบพระคุณ ท่านซิงโกร่าแมน...ที่ให้เกียรติติดตามข้อมูล ครับ   แม้นจะไม่ได้เกิดที่สงขลา  แต่ก็เคยใช้ชีวิตอยู่ช่วงหนึ่งรวมๆแล้วก็น่าจะจะถึง ๑๕ ปี  แต่ที่สำคัญที่สุด...ด้วยความสำนึก...แผ่นดินนี้คือแผ่นดินแม่... แผ่นดิน- ที่แม่เกิด

หมัดเส้งชู

         วันที่ ๒๗  เวลาเช้าสองโมง ๔๕  ออกจากเมืองพัทลุง  มาที่พลับพลาเกาะมวยเร็วกว่าเมื่อขาไป ๑๕ มินิต  พอมาถึงก็มีพายุจัด  ภายหลังเปนฝนตกพรำไปจนค่ำ  ไม่ได้ไปไหนและไม่ได้ทำอะไร  จึงจะพูดถึงทเลสาบหน่อยหนึ่ง  ทเลสาปนี้มีที่กว้างเปนสองลอน  ลอนต้นอยู่ในกลางเมืองสงขลา  มีคลองหลายคลอง  แต่คลองอู่สำเภาเปนคลองใหญ่  มีเกาะสองเกาะ  ช่องที่จะออกไปลอนที่สอง  เรียกว่าคลองปากรอ  เปนแขวงสงขลาทั้งสองข้าง  ข้างทิศใต้คลองบางไมเปนพรมแดนกับเมืองพัทลุง  แต่ที่ของสงขลาเข้าไปแซกอยู่ในหว่างเมืองพัทลุงล้อมรอบตำบลหนึ่งเรียก ว่าพะเกิด  นอกนั้นเปนแขวงพัทลุงทั้งสิ้น  ฝั่งข้างเหนือเปนแขวงสงขลา  เกาะในทเลลอนที่สองนี้  บันดาเกาะใหญ่ๆ ตั้งแต่ปากช่องคลองปากรอออกไปเจ็ดเกาะ ๆ เล็กสามเกาะ  ไม่มีประโยชน์อันใด  ตกเปนของเมืองพัทลุง
แต่เกาะเล็กๆ ที่มีรังนกเรียกว่าเกาะสี่เกาะห้า  รายอยู่ตามน่าเกาะใหญ่ของพัทลุงสิบเอ็ดเกาะ  มีรังนกอยู่หกเกาะ  กับเกาะหว่างช่องที่จะออกไปทเลลอนที่สาม  ซึ่งน่าจะเปนของเมืองพัทลุงด้วยนั้น  กลับเปนของเมืองสงขลา  ยังเกาะเล็กๆข้างเหนืออีกห้าเกาะ  จะเปนของสงขลาก็ดูจะควรอยู่  แต่เหตุที่เปนเช่นนี้  ก็เห็นจะด้วยเรื่องเมืองสงขลาผูกอากรรังนก  จึงได้ยกมาให้ขึ้นเมืองสงขลาเท่านั้น  ดูก็ไม่สู้กระไรนัก  แต่ที่พะเกิดนั้นเกือบจะแปลไม่ออก  เห็นจะเปนด้วยเรื่องไม่เคี่ยมในที่นั้นจะมีมากแต่เดิมอย่างไร  เมืองสงขลาสบเสียอยู่ก็ขอตัดเอาแต่ฉเพาะต้องการ  แต่ในเวลานี้ก็ว่าไม่มีอันใด  ดูน่ากลัวที่จะเปนซ่องโจรผู้ร้ายหลบหนีข้ามแขวงข้ามแดนได้ง่าย

        ในทเลตอนที่สาม  ตั้งแต่ทิศใต้โอบไปจนทิศตวันตกครึ่งทเล  เปนแขวงเมืองพัทลุง  ตั้งแต่ทิศตวันตกครึ่งทเลโอบไปจนทิศเหนือเปนแขวงเมืองนครศรีธรรมราช  ทิศตวันออกเปนแขวงเมืองสงขลา  ในที่ทเลต่อแดนกันนี้  ว่าผู้ร้ายชุมอย่างยิ่ง  ฟังเสียงทั้งพัทลุงทั้งสงขลา  กล่าวโทษว่าแถบทเลน้อยในแขวงเมืองนครมีคนตั้งบ้านเรือนมาก  แต่เกือบจะไม่มีคนดีเลย  ในหมู่นั้นเปนผู้ร้ายทั้งสิ้น  ด้วยเปนปลายแดนห่างจากเมืองนครศรีธรรมราชมาก  การติดตามผู้ร้ายยากลำบากอย่างยิ่ง  การอันนี้ก็เห็นจะเปนจริง  ด้วยหัวเมืองที่มีเขตแขวงติดต่อกันถี่ๆ  หรือที่ขนาบคาบเกี่ยวกันและก็ ติดตามผู้ร้ายยากอยู่ด้วยกันทุกเมือง

        วันที่  ๒๘  เวลาย่ำรุ่ง ๔๕ นาที  ออกจากเกาะห้า  ฝนตกพรำมืดคลุ้มมาแต่กลางคืนจนออกหนาว  เวลาเที่ยงแล้วค่อยสงบฝน  เวลาบ่ายก็ตกอีกจนตลอดถึงเรือ  ขากลับเร็วกว่าเมื่อไปมาก  เมื่อไปนั้น ๑๒ ชั่วโมงเต็ม  ขากลับ ๙ ชั่วโมงเศษเท่านั้น  เมื่อถึงเรือแล้ว  เวลาเย็นมีพยุพักหนึ่งพอพลบก็สงบ

        เมื่อก่อนที่จะขึ้นไปเมืองพัทลุง  เห็นว่าเรือจะหยุดอยู่เปล่า  จึงได้ให้พระยาไชยาลงไปเยี่ยมเยียนฟังราชการดู  ที่เมืองกลันตันเมืองตรังกานู  พระยาไชยากลับมาถึงสงขลา  แล้วตามขึ้นไปที่เกาะห้าแจ้งว่า  พระยากลัยตันพระยาตรังกานูต้อนรับตามสมควร  การทั้งสองเมืองนั้นก็เปนปรกติดีอยู่

        กำหนดเดิมว่ากลับจากเมืองพัทลุง  แล้วรุ่งขึ้นจะไปเมืองหนองจิก  เห็นว่ากลับลงมาถึงเวลาเย็นผู้คนเหน็ดเหนื่อยบอบช้ำ  แลจะตั้งผู้ช่วยเมืองพัทลุง  ได้สั่งให้เขาตามลงมา  จึงได้ทอดนอนอยู่ที่สงขลาอีกคืนหนึ่ง

        วันที่  ๒๙  เวลาบ่าย  ขึ้นไปดูที่ปั้นหม้อตำบลบ่อพลับเหนือเมืองสงขลา  เปนที่ปั้นหม้ออย่างบาง  แล้วกลับออกไปดูที่เมรุพระยาสงขลา (๕)  ซึ่งปลูกไว้ที่สนามหลังเมือง  แล้วเข้าไปดูบ้านพระยาอนันตสมบัติ(๖)  บ้านพระยาสุนทรานุรักษ์  เวลาบ่ายเปนพยุฝน  ต้องรออยู่จนบ่าย ๕ โมงเศษ  จึงได้กลับมาลงเรือ  กำหนดว่าเวลาวันนี้แปดทุ่มจะออกเรือไปเมืองหนองจิก  เมืองสายเปนที่สุด  แล้วจะกลับขึ้นมาแวะเมืองเทพา เมืองกาญจนดิฐ เมืองไชยา เมืองหลังสวน ตามที่กะไว้แต่เดิม  แต่วันคงจะเคลื่อนออกไปมาก  ด้วยการที่มาเที่ยวครั้งนี้อยู่ข้างจะหาความสบายมาก  ไม่รีบร้อนเหมือนครั้งก่อน  ตั้งแต่มาถึงเมืองสงขลาแล้ว  อาการที่เจ็บของฉันก็นับว่าเปนหาย  ในระยะที่ไปเมืองพัทลุงครั้งนี้  ได้มีความสบายอ้วนขึ้นเสมอกับปรกติแต่ก่อนได้  แต่ยังไม่นับว่ามีกำไร  บรรดาคนที่มาไม่สบายบ้างเล็กๆ น้อยๆ ไม่ถึงนับว่าได้  พอจะบอกได้ว่าเปนสุขสบายอยู่ทั้งสิ้น

(๑)  ชาวนครเรียกน้ำตาลงบว่า (น้ำ) ผึ้งฮบ  เพราะใช้สำเนียง ฮ แทน ง

(๒)  พระยาวรวุฒิไชย น้อย ท.จ. จางวางเมืองพัทลุง  หม่อมราชวงศ์หรั่ง  สุทัศน ณ อยุธยา  บุตรหม่อมเจ้าจินดาในกรมหมื่นไกรสรวิชิตเปนญาติกับพระยาพัทลุง ทับ

(๓)  หลวงอุดมภักดี  พ่วง  ณ สงขลา  เดี๋ยวนี้เปนพระยาหนองจิก

(๔)  พระยาอภัยบริรักษ์ (เนตร) บุตร์พระยาจางวาง

(๕)  พระยาวิเชียรคิรี (สังข์  ณ สงขลา)

(๖)  พระอนันตสมบัติ (เอม  ณ สงขลา)  น้องพระยาสุนทรานุรักษ์                                                                                                                                    สยามินทร์

ผมคงจะต้องขออนุญาตตัด จดหมายเหตุเสด็จประพาสออกไป  เนื้อหาของการเสด็จประพาสเมืองสงขลาในครั้งนี้ มีค่อนข้างยาว ยังมีเนื้อหาตอนที่เสด็จประพาสเมืองเทพายังมีประเด็นที่น่าสนใจอึกหลายเรื่อง ขอคงมีเฉพาะพระราชนิพนธ์ระยะทางเสด็จประพาสเท่านั้นนะครับ

หมัดเส้งชู

ตรงเชิงอรรถ ข้อ (๕)  ที่ระบุว่าพระยาวิเชียรคิรี (สังข์  ณ สงขลา)  ผมขอแก้เป็น  พระยาวิเชียรคีรี (ชุ่ม ณ สงขลา)...เมื่อคราวเสด็จประพาสครั้งก่อน ร.ศ. ๑๐๗ ระบุว่าป่วยเป็นฝีอคเนสันมาตั้งแต่เมืองแขก กลับมาถึงเมืองสงขลาได้ ๕ วัน ถึงวันอังคาร เดือน ๙ แรม ๖ ค่ำ ถึงอนิจกรรมเวลาบ่ายโมง ๑ 
และคำว่าสยามมินทร์ อยู่เหนือบนเชิงอรรถด้วย

พระราชหัตเลขาฉบับที่ ๓

เรือพระที่นั่งอุบลบุรทิศ 
วันที่  ๔  สิงหาคม  รัตนโกสินทร๒๒ศก ๑๐๘

ถึง  ท่านกลางและกรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ

         ด้วยจดหมายระยะทางฉบับที่ ๒ บอกแจ้งความมาเพียงวันที่ ๒๙  บัดนี้จะขอบอกรายวันระยะทางต่อไป...
...เวลาบ่าย ๕ โมง ๔๐ มินิต ถึงเมืองเทพา  ที่ฝั่งแลเห็นมีเขาลูกหนึ่งหลังทรายยาว  แลเห็นแหลมที่ต่อแดนกับบเมืองจะนะเปนภูเขาติดต่อกันเทือกยาว  เวลาที่มาถึงเปนหมอกกลุ้มไปตามฝั่งเหมือนอย่างฝนตก  มีลมพัดหนาวออกมาจนถึงเรือ  พระยาสุนทรานุรักษ์  พระดำรงเทวะฤทธิ์เจ้าเมืองเทพา(๕)  พระยาหนองจิกตามขึ้นมาหาที่ในเรือด้วย  เวลาเย็นค่ำเสียแล้วจึงไม่ได้ขึ้นบก  วันนี้เปนวันได้รับหนังสือเมล์ซึ่งมาด้วยเรือนฤเบนทรบุตรี  จึงได้หยุดทำหนังสืออยู่จนดึก
           วันที่  ๓  เวลาเช้าโมงหนึ่งกับ ๔๐ มินิต  ลงเรือกระเชียงขึ้นไปตามลำน้ำเมืองเทพา  ที่หาดทรายปากช่องมีกองฟืนมาก  เพราะใช้ทั้งการที่เตรียมรับเสด็จด้วย  สงขลาก็ใช้ฟืนเมืองเทพาด้วย  มีเรือนโรงสองฝั่งประมาณ ๔๐ หลัง  มีต้นมะพร้าวต้นตาลเล็กน้อย  เปนบ้านคนทำปลา  คนพวกนี้ว่าเปนแขกเมืองกลันตันมาก  ต่อนั้นเข้าไปเปนป่าไม้โกงกาง ไม้เสม็ด  ลำน้ำเข้าไปข้างในยิ่งกว้างขึ้น  มีบ้านอีกหมู่หนึ่งประมาณ ๑๑ – ๑๒ หลังเรือนอยู่ฝั่งข้างขวา  ฝั่งข้างซ้ายมีไร่ยาหลายไร่  มีคลองแยกแต่ลงเฝือกทำปลา

          พ้นจากนั้นขึ้นไปเลี้ยวหนึ่ง  ถึงเกาะกลางแม่น้ำเปนเกาะใหญ่อยู่  อยู่ตรงน่าบ้านพระเทพา  แม่น้ำตรงนั้นกว้างใหญ่ทั้งสองทาง  ที่เกาะนี้เปนที่นกชันมีชุม  นกชันนั้นรูปพรรณสัณฐานคล้ายนกคุ่ม  แต่ขายาวสีแดงตลอดจนถึงนิ้วเท้า  สีที่คอเปนสีน้ำตาลเจือแดง  แต่สีขนปีกเหมือนนกกระทานกคุ่ม  ดวงตาแดงเปนสีทับทิม  นกพวกนี้สันดานเปนคั้งคาว  กลางคืนตื่นขึ้นหากิน  กลางวันนอน  ถ้าฤดู ๖ – ๗ เปนเวลากำลังที่มีเนื้อ  มีชุมมาก  นัยว่าดักได้ถึงวันละ ๓๐๐ – ๔๐๐

          วิธีที่จะดักนั้น  กลางคืนไปนั่งอยู่ที่เกาะ  ไม่ว่าคนมากน้อยเท่าใด  ไม่เปนเหตุทำให้ตื้นเต้นหลบหนี  ห้ามอย่างเดียวแต่ไม่ให้สูบบุหรี่  มีหมอที่สำหรับร้องเลียนเสียง  พระยาสุนทราบอกว่าร้องแกร้กๆ แกร้กๆ  ดูเสียงไม่น่านกลงเลย  แต่ครั้นเมื่อได้ฟังร้องวันนี้  ดูเสียงฉ่ำเฉื่อยเยือกเย็นเปนเสียงนก  เวลาร้องนั้นร้องสองคนประสานกันไป  คนหนึ่งร้องเสียงนางนก ก๊อกๆๆๆๆ ฯลฯ  คนหนึ่งร้องเสียงนกผู้ กิ๊ว ปรื้อ--  แต่ปรื้อนั้นลมออกริมฝีปากลากยาวไป  แล้วมีรื้อขึ้นมานิดๆ  ลากต่อไปอีกสองคราว  จึงหมดโน๊ตครั้งหนึ่ง  นัยว่าถ้าไปเรียกเช่นนี้นกพวกนี้ที่บินอยู่ในอากาศก็ลงมาถึงพื้นแผ่น ดินใกล้ๆ ตัวคนบ้าง  นัยว่าถึงจับศีร์ษะคน  ต้องร้องล่อไว้จนสว่าง  พอแสงสว่างขึ้นแล้วก็เปนบินไปไหนไม่ได้ด้วยตาฟางมืด  หรือเปนเวลานอน  แต่ถ้าทิ้งไว้จน ๕ โมงเศษหรือเที่ยงเปนเวลาตื่นก็ไปได้  วิธีที่จะจับนั้นเมื่อเรียกลงมาไว้ได้จนรุ่งเช้าแล้ว  จึงไล่ต้อนให้เข้าไซเหมือนอย่างดักปลา  ไม่ต้องยิงต้องจับอย่างหนึ่งอย่างใดเลย  เห็นเปนการที่น่าดูอยู่เช่นนี้

          จึงให้พระยาสุนทราลงมาคอยอยู่ที่เมืองเทพา  ครั้นเวลาคืนนี้มาถึง  ได้ถามพระยาสุนทรา  พระยาหนองจิก  พระยาเทพาซึ่งรับรองสมคำกันมาแต่เดิมนั้น  แจ้งว่าในฤดูนี้ตกมาถึงเดือนเก้านกเหล่านี้น้อยไป  ไม่ชุมเหมือนเดือน ๖ เดือน ๗  เปนเวลาตกฟองใหม่ๆ กำลังผอม  พระยาสุนทราได้ลองไปเรียกดูสองคืน  แยกเรียกหลายแห่งด้วยกัน  ได้แต่เพียงแห่งละเก้านกสิบนก  ไม่ตั้งร้อยดังเช่นว่า  แต่คงจะมีตัวนกที่ทดลองได้  เดิมฉันคิดว่าจะขึ้นไปในเวลาค่ำ  ดูเมื่อนกลง  จึงได้รีบมาให้ถึงเมืองเทพาแต่วานนี้  ครั้นเมื่อทราบว่านกไม่ลงมากเหมือนอย่างเช่นว่าแต่ก่อน  และไม่เกลื่อนกลุ้มถึงจับหัวดังเช่นว่า  จึงให้เขาเรียกเสียเวลาเช้าวันนี้จึงขึ้นมาดู

          ที่ซึ่งต้อนให้นกเข้าไซนั้น  เอาไม้ทำเปนคร่าวสระใบไม้เปนปีกกา  เอาไซวางดักไว้ที่ปากช่อง  เวลาที่จะไล่นกก็ร้องเสียงเบาๆ เอาใบไม้ไล่ฟาดๆ  นกนั้นก็วิ่งเข้ามาประสงค์แต่ที่จะหลบเข้าซุกรกอย่างเดียว  ตะครุบจับก็ได้ง่ายๆ  เมื่อไล่ให้เข้าไซก็วิ่งก็วิ่งไปถึงน่าไซ  เห็นใบไม้ที่สระรกๆ ก็ลอดเข้าไปอยู่ในไซ  แต่ที่ต้อนวันนี้ได้ห้าตัวเท่านั้น  ตะครุบจับเอาตัวหนึ่งมาพิเคราะห์ดูก็อยู่ข้างผอมจริง  และง่วงงุยงายไม่สู้ดิ้นรนนัก  ถ้าจับไว้ในมือนิ่งๆ ประเดี๋ยวหนึ่งก็หลับตา  ท่าทางอยู่ข้างครึมครำ  นกที่พระยาสุนทราดักไว้ได้แต่ก่อนนั้นก็ได้เรียกเอาไว้แล้ว  ฉันคิดจะเลี้ยงเข้าไปให้ถึงกรุงเทพฯ  เห็นว่าคงจะเลี้ยงรอดได้  ด้วยดูไม่เปรียวเลย  อาหารก็อย่างนกกระทาหรือลูกไก่นั้นเอง  นกเช่นนี้ว่าถ้าเปนฤดูที่มีชุม  ขายในท้องตลาดเมืองสงขลาตัวละไพ  เราฟังดูไม่สู้น่าเชื่อ  แต่ไปเอ่ยขึ้นกับคนที่สงขลาดูรู้กันซึมทราบไม่เปนการอัศจรรย์อันใด

          ดูนกเข้าไซแล้วจึงได้ข้ามฟากไปที่พลับพลาน่าหมู่บ้านที่เปนเมืองเทพานั้น  มีเรือนเจ้าเมืองและราษฎรประมาณสัก ๓๐ หลัง  ปลายแหลมวัดที่เกาะสีชังอยู่ข้างแน่นหนากว่ามาก  มีวัดอยู่วัดหนึ่งเปนของเก่า  แต่พระเทพาเรือง  คนนี้มาปฏิสังขรณ์ขอที่วิสุงคามสิมา  ได้ให้ใบอนุญาตแลเติมท้าย  ชื่อเดิมซึ่งชื่อว่าวัดเทพา  ให้มี เรือง อีกคำ  ชื่อวัดเทพาไพโรจน์ ได้ออกเงินช่วยในการวัดสองชั่ง

          เมื่อเทพานี้อยู่ข้างเปนที่ขัดสนกันดารมาก  เพราะพื้นที่ไม่ดีเอง  ลำคลองเทพาปลายขึ้นไปถึงเหมืองดีบุกแขวงเมืองยะลา  ตวันออกเฉียงเหนือต่อเมืองจะนะ  ตวันตกเฉียงเหนือต่ออำเภอจะแหนขึ้นสงขลา  ตวันตกต่อเมืองไทร  ตวันตกเฉียงใต้ตอเมืองยะลา  ทิศใต้ต่อเมืองหนองจิก  มีคนอยู่เรี่ยรายกันไปประมาณสักพันเรือน  เปนแขกมากไทยก็มีจีนมีน้อย  สิ่งซึ่งเปนที่เสียของเมืองเทพานั้น  คือพื้นแผ่นดินลุ่ม น้ำเหนือท่วมอยู่นานๆ น้ำทเลขึ้นถึง  แผ่นดินเค็มอยู่เสมอทำนาไม่ได้  ทำได้แต่เข้าไร่ที่ใกล้ๆ เขา  แต่ไม้มีมาก  หวายต่างๆ แลชันก็มี  แต่ไม่มีผู้ใดทำ  ไม่ได้เปนสินค้าออกจากเมือง  เพราะราษฎรในเมืองไม่มีเข้าพอกิน  คนที่อยู่ในเมืองนี้ต้องเสียแต่ค่าเข้า  ที่เรียกว่าค่าน้ำมันดิน  เห็นจะเปนค่าน้ำมันดิน  แต่น้ำเสียงชาวนอก  เมื่อเรียกติดกับคำอื่นน่าจะมีมะขึ้นได้  แล้วจึงกลายเป็นมันไป  เสียสิบลดหนึ่งหรือลดสอง กับเกณฑ์ให้ตัดฟืน  คนหนึ่งปีละร้อยดุ้น  เฉลี่ยเกณฑ์พอให้ได้ครบห้าหมื่นดุ้น  นอกนั้นไม่ต้องเกณฑ์อันใด  ฉันได้ว่ากับพระยาสุนทราว่า  ถ้าคิดซื้อเครื่องจักรเลื่อยไม้มาตั้ง  จ้างราษฎรตัดไม้พอมีทางหากิน  คนเห็นจะติดมาก  เข้าก็เห็นด้วย  แต่ยังครางออดแอดจะต้องหาหุ้นส่วนต่อไป...

อนึ่งพระยาสุนทรานุรักษ์แจ้งความว่า  พระยาไทรบุรีกับพระยาสุรพลพิพิธมาถึงเมืองสงขลา  ไม่ทันเวลาที่ฉันอยู่  ทราบว่าพระยาสุนทรานุรักษ์มาคอยรับฉันจะแวะที่เมืองเทพา  จึงได้ขอเรือมาดเก๋งที่เมืองสงขลาพายมาคืนยังรุ่ง  ถึงหาดทรายน่าเมืองเทพาเวลาเช้าวันนี้  ให้คนเดิรบกขึ้นไปบอกพระยาสุนทราที่พลับพลา  พระยาสุนทราได้สั่งให้ตามขึ้นไปหาฉันที่พลับพลา  จึงได้คอยอยู่จนเช้า ๔ โมงเศษก็หายไป  เห็นว่าจะเปนด้วยพระยาสุรพลมาเรือคนละลำยังไม่ถึงรอคอยกันอยู่  ฉันยังไม่ได้กินเข้าเช้าขึ้นไปจึงได้กลับลงมาเรือ  จัดเรือกระเชียงให้ไปรับมาหาในเรืออุบลบุรทิศ

          พระยาสุรพลพิพิธนั้นดูชราไปมาก  ผมหงอกขาว  ได้ถามถึงวันที่มา  เดิรทางบกอยู่ ๔ วัน*  พักที่สงขลาวันหนึ่งลงเรือมาวันหนึ่ง  เปน ๖ วันด้วยกันแล้ว  ฉันเห็นว่าเวลาจะกลับไปเมืองสงขลาต้องทวนลม  กว่าจะไปถึงเมืองสงขลาก็จะช้า  จึงชวนให้ลงเรือเวสาตรีจะไปส่งที่สงขลา ก็ไม่ยอม  ว่าจะต้องขนเข้าของเปนความลำบาก  ด้วยเรือกลไฟทอดอยู่ห่างฝั่งมาก  มีคลื่นลม  เปนเวลามีคลื่นอยู่บ้าง  จะขอไปเรือเล็กเลียบฝั่งไปเหมือนเมื่อมา  ได้พูดกันถึงราชการบ้าง  เรื่องการทำรังนกบ้างประมาณค่อนชั่วโมง  จึงได้ให้เรือกระเชียงใหญ่ (เรือเหว) ไปส่งที่เรือ  และจัดสะเบียงอาหารที่ในเรือไปส่งให้  ด้วยในเมืองเทพานี้นอกจากเข้ากับปลาแล้วไม่มีอันใด  การซึ่งเขาอุตส่าหข้ามแหลมมา แล้วติดตามลงมาจนถึงเมืองเทพานี้  ก็เปนความแสดงความจงรักภักดีเปนอันมาก  ขอบใจเขาอยู่  กว่าจะขึ้นไปถึงเมืองสงขลาได้เห็นจะถึงคืนกับวันหนึ่ง  บ่ายโมงเศษได้ออกเรือจากเมืองเทพา  มาพบเรือเวสตาซึ่งรับหนังสือเมล์ออกมาก่อนน่าเรือนฤเบนทรบุตรี  มาขัดฟืนตามทาง  ทอดอยู่น่าเมืองสงขลาหยุดรับหนังสือเมล์และสิ่งของ  แล้วจึงได้ออกเรือต่อมา

          ในเวลานี้น้ำจะใช้ในเรืออยู่ข้างขัดสน  จึงได้คิดจะไปแวะที่อ่าวเสด็จเกาะพงันอีกคราวหนึ่ง  แลจะได้พระยาไชยาซึ่งลาไปตรวจการที่เมืองไชยาด้วยเรือแคลดิศ  จะได้ทราบเวลาน้ำ  ซึ่งจะข้ามกระเส็ดเข้าไปเมืองไชยาด้วย  เพราะฉะนั้นจะบอกกำหนดเวลาข้างน่าเปนแน่ทีเดียวยังไม่ได้

          หนังสือฉันฉบับนี้มีข้อความคลุกคละปะปนกันอยู่หลายอย่าง  ด้วยเวลาไม่พอที่จะแยกออกเปนฉบับๆ  ตั้งใจว่าจะให้ทราบในที่ประชุมเสนาบดีเต็มข้อความนี้ได้  แต่เมื่อจะส่งให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการฝ่ายน่าฝ่ายในทราบ  ขอให้กรมหลวงเทวะวงศ์ตัดข้อความซึ่งไม่ควรจะพูดถึง  เช่นว่าด้วยความคิดพระยาตานีในเรื่องรายามุดา  ซึ่งเปนแต่ความคาดคะเนของฉันเองเปนต้นออกเสีย  แล้วจึงบอกกล่าวให้ทราบทั่วกันแต่ข้อที่สมควร

          ตัวฉันเองตั้งแต่มีหนังสือฉบับก่อนมาแล้ว  ก็มีความสบายมากขึ้นและอ้วนขึ้นอีกหน่อยหนึ่ง  เว้นแต่เมื่อขึ้นเมืองสายเมืองตานีเมืองยิหริ่ง ๓ วันติดๆกันนี้  อยู่ข้างจะเหนื่อยเกินไปหน่อยหนึ่ง  เพราะต้องนั่งมาก  ชักให้เมื่อยไม่เหมือนเดิร  ถึงไต่ลำธารหลายร้อยเส้นเหน็ดเหนื่อยก็กลับทำให้แก้โรคภัยได้  แต่นั่งมากนั้นกลับให้โทษได้มาก  แต่ก็ไม่เจ็บไข้อันใดสบายดี  บันดาคนที่มาก็มีแต่ไชยันต์(๖)ขึ้นไปถูกแดดที่เมือง สายกลับมาจับไข้  ไม่ได้ขึ้นเมืองตานีและเมืองยิหริ่ง  ครั้นมาถึงเมืองเทพานี้ก็ขึ้นบกได้หายเปนปรกติ  นอกนั้นมีความสุขสบายอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น

          อนึ่งหนังสือของเธอ  ลงวันที่  ๒๙  กรกฎาคม  บอกรับหนังสือและข่าวที่กรุงเทพฯ  กับส่งคำร้องเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงมานั้นได้รับแล้ว
                                                                                                                 
                                                                             สยามินทร์

(๕)  พระดำรงเทวฤทธิ์  ชื่อเรือง  ข้าหลวงเดิมแล้วได้เลื่อนเปนพระยา

(๖)  คือพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย

(*)  เส้นทางคาบสมุทรจากไทรบุรีมาสงขลา ระยะทางที่เสด็จทางสถลมารค คราวที่เสด็จประพาสอินเดีย ร.ศ.๙๐

พระราชหัตถเลขาเสด็จประพาสแหลมมลายู ร.ศ. ๑๐๘
http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2007/10/K5918661/K5918661.html

ข่าวทั่วไป หนังสือพิมพ์บ้านเมือง -- เสาร์ที่ 13 มิถุนายน 2552 10:14:06 น.
พระสามองค์  พระคู่บ้านคู่เมือง เทพา
... เมืองเทพา จังหวัดสงขลาในปัจจุบัน ก่อตั้งเมื่อใดไม่มีหลักฐานแน่ชัด แต่ในแผนที่สมัยกรุงศรีอยุธยา ได้ปรากฏชื่อเมืองเทพา วัดพระสามองค์ หรือวัดเทพาไพโรจน์ เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองเทพามาตั้งแต่สมัยโบราณและนับว่าเป็นหลักฐานสำคัญที่ ทราบถึงความเป็นมา...
ในอดีตประมาณ พ.ศ. 2447-2450 เจ้าพระยาข้าหลวงนายอ่อน ซึ่งเป็นผู้ปกครองเมืองเทพา นับว่าเป็นนายอำเภอเทพาคนแรกของอำเภอเทพา ขณะที่ข้าหลวงนายอ่อนปกครองเมืองเทพานั้น ได้สร้างศาลาไว้เป็นที่พักอยู่หน้าเมืองเพื่อไว้เป็นที่พักผ่อนก่อนจะเข้า เมืองเป็นศาลาทำด้วยไม้ และที่ศาลานี้เองมีพระมาจำพรรษาอยู่ ชื่อพระภิกษุนวล ซึ่งเป็นพระธุดงค์ ขณะที่พระภิกษุนวล ฉันภัตตาอาหารเช้าที่เราเรียกว่า จังหัน คนมาทำบุญมากอาหารเหลือ ท่านจึงเอาข้าวที่ฉันจังหันนั้น ปั้นเป็นพระพุทธรูปแล้วห่อด้วยดินเหนียวขึ้น ต่อมาเมื่อเป็นพระพุทธรูปแล้วก็เก็บดอกไม้มาบูชา แล้วเก็บดอกไม้แห้งนั้นไว้ และนำมาปั้นเป็นพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่ง ด้วยในช่วงนั้นธูปเทียนนั้นคงหายาก จึงเอาแก่นจันทร์ซึ่งเป็นไม้หอมมาจุดเป็นธูปบูชาเศษไม้หรือขี้เถ้าจากไม้ แก่นจันทร์ท่านก็เก็บมาปั้นเป็นพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งรวมสามองค์ ความตั้งใจของพระนวลนั้นเข้าใจว่าพระสามองค์นี้จะแทนพระรัตนตรัยนั่นเอง จึงได้ชื่อว่า "พระจังหัน" "พระเกสร" "พระแก่นจันทร์" โดยให้ประดิษฐานอยู่บนศาลานั้น และได้ทำพิธีปลุกเสกเรียบร้อย
สำหรับข้อมูลและตำแหน่งแผนที่ คงต้องให้อาจารย์หม่องวิน มาชี้ชัดอีกครั้ง

และรูปสุดท้ายของฝากทุกๆคน...จากเมืองเทพา O0 O0 O0

หมัดเส้งชู

ดูๆ มันเงียบๆ ยังไงไม่รู้  ที่กรุงเทพฯฟ้าครึ้มๆ ฝนตกปรอยๆ หยุดๆ ตกๆ ตลอด
เลยฝากคลิปหนังมาให้ดู "Anna and The King"
http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=sawasdeekrab&group=4
หรือถ้าใครชอบหนักๆ ก็ลองอ่านบทความดูได้ Anna and The King กับข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์
http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=sawasdeekrab&date=05-05-2009&group=4&gblog=1

หมัดเส้งชู

งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 15
(BOOKEXPO THAILAND 2010)
รวมทั้งสิ้น 11 วัน คือ ระหว่างวันพฤหัสบดีที่ 21 – วันอาทิตย์ที่ 31 ตุลาคม 2553 เวลา 10.00-21.00 น. พิธีเปิด: วันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม 2553 เวลา 10.00 น. สถานที่จัดงาน: ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ • แพลนนารีฮอลล์, Main Foyer โซน C ชั้นบน-ล่าง และโซนพลาซ่า • ห้อง Ball room , Hall A และ Main Foyer • ห้อง Meeting Room 1-4 และห้อง Board Room 2-4 ห้อง Lotus
บริเวณฮอลล์เอ    •  ร้านภูฟ้า (เลขที่ Y03) จำหน่ายสินค้าหัตถกรรมที่เป็นผลิตภัณฑ์ของชาวบ้านในถิ่นทุรกันดารในโครงการ ส่งเสริมอาชีพตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เช่น ผ้าทอมือ ชาสมุนไพร และของที่ระลึกหลากหลายรูปแบบ ซึ่งบางชิ้นได้รับพระราชทานภาพวาดฝีพระหัตถ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาตีพิมพ์บนผลิตภัณฑ์    
•  นิทรรศการ "สมเด็จพระปิยมหาราชกับการปฏิรูปการศึกษา" (เลขที่ Y04) เพื่อน้อมรำลึก 100 ปีวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในวันที่ 23 ตุลาคม 2553 ซึ่งจะเสนอพระปรีชาญาณและพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อปวงชนชาวไทยในสมัยนั้นได้ มีโอกาสเข้ารับการศึกษาในระบบโรงเรียนตามแบบตะวันตกหรือที่รู้จักกันในนาม "การปฏิรูปการศึกษา" แต่เดิมจะต้องเป็นผู้มีอันจะกิน เจ้านาย ชนชั้นสูง หรือ ขุนนาง เท่านั้นจึงจะมีเงินจ้างครูไปสอนบุตรหลานที่บ้าน ส่วนชาวบ้านทั่วไปจะพาบุตรชายไปฝากพระสงฆ์เพื่อเรียนหนังสือและบวชเรียน จึงเป็นครั้งแรกที่ประชาชนทั่วไปทั้งชายและหญิงได้มีโอกาสเข้ารับการศึกษา ตามแบบแผนฝรั่ง และผู้ที่จบการศึกษาจากโรงเรียนนั้นๆ สามารถสอบเข้ารับราชการซึ่งเป็นการใช้ความรู้ความสามารถส่วนตัวของแต่ละ บุคคล ไม่ใช่การสืบทอดตำแหน่งงานทางสายตระกูลอีกต่อไป ดังนั้น การปฎิรูปการศึกษา จึงเป็นหนึ่งขบวนการหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยที่เคยเป็นมาแต่ในอดีตให้ เป็นสังคมไทยอย่างที่เรารู้จักกันอย่างในปัจจุบัน และยังเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปประเทศไทยให้ทันสมัยตามแบบตะวันตก (Modernization) ในสมัยรัชกาลที่ 5 ภายในนิทรรศการนอกจากจะจัดแสดงเนื้อหาการดำเนินงานของการปฏิรูปการศึกษาแล้ว ยังจัดแสดงหนังสือแบบเรียนเก่าที่หายากกว่า 20 เล่มอีกด้วย
      พิเศษสำหรับผู้ชมงานสามารถขอรับหนังสือที่ระลึก "สมเด็จพระปิยมหาราชกับการปฏิรูปการศึกษา" ได้ฟรี! ใน บริเวณนิทรรศการ (1 ท่าน/เล่ม/วัน) ซึ่งตีพิมพ์จำนวนจำกัดเพียง 5,100 เล่ม ซึ่งเลข 5 หมายถึง รัชกาลที่ 5 และ 100 หมายถึง 100 ปีวันสวรรคต

หนังสือ "ธิราชเจ้าจอมสยาม" มีเนื้อครอบคลุมเรื่องราวสำคัญ ๆ ตั้งแต่ตอนปลายรัชกาลที่ 4 นับแต่พระองค์ทรงพระราชสมภพ ใน พ.ศ.2396 จนถึงสวรรคตใน พ.ศ.2453 โครงเรื่องแบ่งเป็น 3 ภาค โดยมีความรักเป็นแกนเดินเรื่องคือ ความรักต่อแผ่นดินสยาม ความรักต่อพสกนิกร และความรักต่อราชตระกูล แบ่งเป็นบทรวม 24 บท ความยาว 554 หน้า พิมพ์สี่สีบนกระดาษถนอมสายตา แต่ละบทจะเล่าเรื่องแต่ละเรื่องจบในบท ทำให้อ่านง่ายเข้าใจง่าย มีภาพประกอบที่น่าสนใจ หลายภาพเป็นภาพที่หาดูได้ยากเพื่อร่วมเล่าเรื่องราวในรัชสมัยของพระองค์ให้ กระจ่างขึ้น
         การใช้ภาษาไทยในหนังสือจะเน้นความสละสลวยเป็นภาษาบอกเล่าเรื่อง ราว มิใช่การเขียนเชิงวิชาการ แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์ มิได้เป็นนวนิยาย จึงยังคงกลิ่นอายของวิชาการไว้ระดับหนึ่ง เพราะหวังให้เป็นหนังสือที่มีเนื้อหาถูกต้อง สามารถนำไปอ้างอิงได้ทุกประเด็น หนังสือ "ธิราชเจ้าจอมสยาม" จะจำหน่ายผ่านธนาคารกสิกรไทยทุกสาขา และศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายนนี้ ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพของรัชกาลที่ 5 ในราคาเล่มละ 1,005 บาท รายได้จากการจำหน่ายทั้งหมด โดยไม่หักค่าใช้จ่ายจะมอบให้สภากาชาดไทย
การ จัดทำสารคดีโทรทัศน์ "ธิราชเจ้าจอมสยาม" ค่อนข้างซับซ้อน เนื่องจากเป็นสารคดีกึ่งละครประวัติศาสตร์ หรือที่เรียกว่า docu-drama นับเป็นเรื่องแรกของวงการโทรทัศน์ของไทย และบทจะต้องสอดคล้องสัมพันธ์กันอย่างดีระหว่างส่วนที่เป็นสารคดีและบางฉาก ที่ดึงออกมาทำเป็นละคร ผู้ผลิตและถ่ายทำก็ต้องแยกออกเป็น 2 กอง แล้วนำมาตัดต่อให้กลมกลืน และน่าสนใจ นอกจากบทจะต้องถูกต้องตามประวัติศาสตร์ที่มีบันทึกไว้แล้ว ฉาก การแต่งกาย นักแสดง ก็ยังต้องให้ประพิมพ์ประพายคล้ายคลึง อย่างไรก็ตามในการถ่ายทำภาคละครที่เป็นฉากในวังนั้น ได้รับความอนุเคราะห์เป็นอย่างดีจากธนาคารแห่งประเทศไทย ที่อนุญาตให้ใช้วังบางขุนพรหมเป็นสถานที่ถ่ายเป็นครั้งแรก ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยอนุญาตให้มีการถ่ายทำมาก่อน
     
  สารคดี โทรทัศน์ "ธิราชเจ้าจอมสยาม" มีคุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ เป็นผู้เขียนบท คุณสรรัตน์ จิรบวรวิสุทธิ์ ผู้ช่วยพัฒนาบท คุณวินัย ปฐมบูรณ์ ทีมผลิตภาคละคร คุณธวัชชัย กฤติยาภิชาตกุล ทีมผลิตสารคดีและ อาจารย์ทั้ง 3 ท่าน ได้ร่วมกันทำงานอย่างสุดหัวใจ สุดฝีมือ ทุกท่าน จะพูดด้วยประโยคเดียวกันว่า "ขอทำถวายเสด็จพ่อ ร.5" สารคดีโทรทัศน์มีกำหนดออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ทีวีไทยตอนแรกในวันที่ 6 ตุลาคม 2553 อันเป็นเดือนที่ครบ 100 ปีแห่งการสวรรคตของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง และจะออกอากาศทุกวันจันทร์ อังคาร พุธ เวลา 20.20 น. ไปจนถึงวันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน (ซึ่งเป็นวันคล้ายวันบรมราชาภิเษกครั้งที่สอง ใน พ.ศ. 2416 ) คงเป็นที่ยินดีสำหรับพสกนิกรชาวไทยที่ได้อ่านและได้ชมได้ร่วมกันเทิดพระ เกียรติสมเด็จพระปิยมหาราช รำลึกถึงพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของเราชาวไทย และสถิตสถาพรอยู่ในหัวใจคนไทยทุกดวงมิรู้ลืม
         สำหรับความเป็นมาของคำว่า "ธิราชเจ้าจอมสยาม" นำมาจากโคลงสี่สุภาพที่พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี ทรงนิพนธ์ถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เมื่อครั้งทรงประชวรด้วยความตรอมตรมพระทัยในกรณีเหตุการณ์ ร.ศ. 112 พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี จึงทรงนิพนธ์โคลงสี่สุภาพขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงปลุกปลอบพระทัยสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง และสะท้อนความรู้สึกทุกข์ระทมของกลุ่มข้าราชสำนักฝ่ายใน เนื่องด้วยพระอาการประชวร ความตอนหนึ่งว่า

         สรวมชีพข้าบาทผู้                ภักดี
         พระราชเทวีทรง                 สฤษดิ์ให้
         สุขุมาลมารศรี                   เสนายศ นี้นา
         ขอกราบทูลท่านไท้              ธิราชเจ้าจอมสยาม


บทความพิเศษพระราชกรณียกิจด้านต่างๆของพระองค์ตลอดเดือนตุลาคมนี้
        เชิญท่านที่สนใจคลิกได้ที่ www.chaoprayanews.com

หม่องวิน มอไซ

ต้องไปอย่างแน่นอนครับงานมหกรรมหนังสือฯ
ไปทุกปีครับ  ;)