ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

ศาลาน้ำหน้าจวนเมืองสงขลา

เริ่มโดย พี่แอ๊ด, 22:43 น. 15 มี.ค 53

หม่องวิน มอไซ

แนวถ่ายภาพ คือเส้นสีม่วงครับ


หม่องวิน มอไซ

เปรียบเทียบภาพดวงอาทิตย์ตกของท่านคนเขารูปช้างกับภาพท่าเรือรถไฟแล้ว
คิดว่าข้อสรุปของท่านคนเขารูปช้างถูกต้องครับ
ต้องเป็นประตูที่อยู่ใกล้กับกำแพงเมืองด้านใต้ จึงจะเห็นภาพแบบนี้ได้

คนเขารูปช้าง

ผมขอนำเสนอภาพชื่อประตูเมืองด้านริมทะเลสาบไล่จากใต้สุดไปทางทิศเหนือ จากสมุดภาพสงขลามหาวชิราวุธของคุณ เอนก นาวิกมูล เล่มนี้ครับ

คนเขารูปช้าง

ภาพแรกนี้ผมปรับ contrast , brightness ให้เห็นทิวเขาในทะเลสาบครับ
คิดว่าเป็นประตูอัคนีวุธครับ

เพิ่มรูปที่ไม่ปรับมากไปแต่เห็นทิวเขาไม่ชัดครับ

คนเขารูปช้าง

ต่อมาถัดขึ้นมาทางเหนือ ๑ ประตู คือประตูที่ผมคิดว่าเป็น ประตูศักดิ์สิทธิ์พิทักษ์ ครับ

คนเขารูปช้าง

ถัดมาทางเหนืออีก ๑ประตู สองภาพนี้เป็นประตูเดียวกันสังเกตุจากตำหนิบนข้างประตูที่ผมใส่สี่เหลี่ยมไว้ครับ
ผมคิดว่าเป็นประตูสุรามฤทธิ์ ครับ

คนเขารูปช้าง

ขอนำภาพเรือบรรทุกข้าวในทะเลสาบสงขลา จากสมุดภาพเล่มเดิมมาให้ชมกันที่ผมคิดว่าถ่ายจากริมทะเลสาบบริเวณ
ระหว่างตำแหน่งที่ตั้งของประตูเมืองอัคนีวุธ กับประตูศักดิ์สิทธิ์พิทักษ์


ขอแถมด้วยภาพทางอากาศที่ผมขีดตำแหน่งลูกศรสีเหลืองที่คิดว่าเป็นจุดถ่ายภาพเรือบรรทุกข้าวในทะเลสาบครับ

Singoraman

ขอบคุณทุกท่านที่ช่วยให้ "ตาแจ้ง" ขึ้นอีกมาก

หม่องวิน มอไซ

ต้องขอบคุณท่านคนเขารูปช้างครับที่พิสูจน์ทราบ (identify) หาตำแหน่งภาพถ่ายประตูเมืองเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วออกมาอย่างเป็นรูปธรรม
จิ๊กซอว์รูป"สงขลาแต่แรก"ของเราเริ่มเห็นเป็นภาพออกมาแล้วครับ

ในสารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ.๒๕๒๙ นั้น ได้ระบุตำแหน่งของประตูต่าง ๆ ไว้พอเป็นแนวดังนี้ครับ



ซึ่งบางอย่างก็สอดคล้องกับภาพสเก็ตช์แผนผังป้อมและประตูเมือง บางอย่างก็คลาดเคลื่อนไปบ้าง คงต้องหาทางสืบสวน (investigate)
สอบทาน (verify) กันต่อไปครับ

หม่องวิน มอไซ

สารคดีเสด็จประพาสต้น ถือเป็นการบุกเบิกสารคดีโทรทัศน์เชิงประวัติศาสตร์และโบราณคดีท้องถิ่นไทย ที่สถาบันอุดมศึกษาร่วมกับภาคเอกชนผลิตออกมาให้ชาวบ้านทั่วไปได้รับชมกันเป็นซีรี่ส์ครับ ทำให้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นเรื่องไม่น่าเบื่อ

มีอีกรายการหนึ่ง ผมชอบดูรายการ"พินิจนคร"ของคุณจ๊อบ นิธิ สมุทรโคจร ที่นำเอาผลงานวิจัยทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีมาวิเคราะห์หาตำแหน่งที่ตั้งของเมืองเก่า หลายสัปดาห์ก่อนได้ดูตอนวิเคราะห์หาตำแหน่งของพระราชวังปฐมนคร ที่จังหวัดนครปฐม ซึ่งมีหลักฐานเพียงภาพถ่ายเก่าของวัง และคำบรรยายไม่กี่ประโยค และสันนิษฐานกันว่าที่ตั้งของวัง อยู่บริเวณอาคารเทศบาล (เทศบาลสร้างทับที่ที่เคยเป็นวังมาก่อน)

ต่อมามีการทุบเทศบาล เพื่อไปสร้างใหม่ที่อื่น นักโบราณคดีก็เข้ามาขุดแต่ง ขุดค้นอยู่ระยะหนึ่ง พบว่ามีซากอิฐปูนที่เป็นฐานรากของตึกโบราณจริง ๆ ครับ แต่จะเป็นของวังปฐมนครจริงหรือไม่ ก็คงต้องศึกษากันต่อไป
ผมเองเวลาเข้าเมืองนครปฐม ก็มักจะหาโอกาสผ่านไปชะโงกดูผลงานการขุดค้นอยู่บ้างเหมือนกัน ตอนนี้คงขุดค้นเสร็จแล้ว เพราะเริ่มละทิ้ง ปล่อยให้หญ้าขึ้นรกบ้างแล้ว

ไม่รู้ว่าทางคุณจ๊อบ สนใจจะมาพินิจ(เทศบาล)นครสงขลาบ้างหรือเปล่านะครับ รอดูอยู่  ;D

พวกเราที่นี่ทุกท่าน แม้ไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ โบราณคดีโดยอาชีพ แต่ก็ถือเป็นนักศึกษาค้นคว้า"สงขลาแต่แรก" ทำงานด้วยใจรัก ผลงานเลยออกมาให้ตื่นเต้นได้เรื่อย ๆ
นี่ถ้ามอบหมายให้ไปศึกษาขุดค้น โดยได้รับเงินงบประมาณสนับสนุนและต้องทำงานตามกรอบเวลา ต้องส่ง paper ไปตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ อย่างที่นิสิตนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยผมนั่งเครียดกันอยู่ตอนนี้ ผลงานอาจไม่ออกมาดีเท่านี้ก็ได้ครับ (ฮา)

หม่องวิน มอไซ

ผมศึกษาผลงานการวิเคราะห์ของท่านคนเขารูปช้างแล้ว มีข้อคิดเห็นเพื่อการต่อยอดในอนาคตดังนี้ครับ
๑. หากประตูเมืองด้านตะวันตกมีทั้งหมด ๖ ประตูจริง แสดงว่าค้นพบภาพถ่ายและตำแหน่งแล้ว ๔ ประตู ขาดอีก ๒ ประตู
๒. ประตูที่มีภาพถ่ายทั้ง ๔ ประตูนี้ มีจุดเด่นคือ มองไปทางทะเลสาบ ๓ ประตู เห็นทะเลอย่างชัดเจนไม่มีสิ่งบดบัง แสดงว่าประตูทั้ง ๓ นี้มีทางทะลุออกสู่ทะเลสาบได้โดยตรง
๓. อีก ๑ ประตู ไม่มีภาพถ่ายออกไปที่ทะเลสาบ คือ ประตูหน้าศาล มีแต่ภาพถ่ายย้อนกลับมา เห็นศาล (จวนเก่า) ทั้งนี้อาจเป็นด้วยเหตุผลที่ว่า ให้มุมมองที่สวยกว่าถ่ายย้อนออกไปทางทะเล ซึ่งอาจจะติดเสา อาคารต่าง ๆ และที่สำคัญคือ อาจจะโดน"ศาลาน้ำหน้าจวนเมืองสงขลา"บังทะเล ดูรกรุงรัง เลยไม่มีใครถ่ายภาพมาก็ได้
๔. อีก ๒ ประตูที่ไม่มีภาพให้เห็นนั้น อาจเคยมีภาพแต่สูญหายไป หรือไม่เคยมีภาพก็ได้ โดยที่ ๒ ประตูนี้ อาจเป็นประตูที่มองไปแล้วไม่เห็นทะเล เพราะมีบ้านเรือนริมทะเลบัง เพราะเป็นประตูที่อยู่บริเวณตัวตลาด (ตัวเมือง) ที่มีอาคารหนาแน่นแล้วตั้งแต่สมัยนั้น ช่างภาพจึงไม่ได้สนใจถ่ายภาพไว้ เพราะถ่ายออกไปก็ติดบ้านคน นอกจากนี้ถ้าหันหลังให้ทะเลสาบ เพื่อถ่ายย้อนเขามาในเมือง อย่างประตูหน้าศาล ก็ทำได้ยากอีก เพราะถนนแคบไม่สามารถถอยห่างออกไปให้ได้ระยะพอถ่ายประตูทั้งประตูได้ เพราะมีบ้านคนด้านหลัง (ด้านทะเลสาบ) ขวางอยู่
๕. ประตูอัคนีวุธ ซึ่งเชื่อกันว่าอยู่ที่ถนนยะลาตัดถนนนครนอกนั้น ไม่ได้หันไปทางทิศตะวันตกตรง ๆ ๒๗๐ องศา แต่น่าจะทำมุมเอียงลงไปทางตะวันตกเฉียงใต้ ตามแนวโค้งของถนนนครนอก ด้วยเหตุนี้จึงมองไม่ค่อยเห็นทิวเขา อย่างที่ท่านคนเขารูปช้างพยายามปรับแสงของภาพให้เห็นทิวเขาครับ

หม่องวิน มอไซ

 8)
ที่จริงผมเจอประตูเมืองที่ถูกรื้อทิ้งแล้วครับ เมื่อหลายวันก่อน วางพิงฝาบ้านอยู่ครับ
ยกประตูนี้เป็นกรอบไปวางที่ริมทะเลสาบ คงพอจะพิสูจน์สมมุติฐานของท่านคนเขารูปช้างได้นะครับ
(ล้อเล่นครับ)


หม่องวิน มอไซ

นี่ครับ สาเหตุที่ประตูอัคนีวุธ ซึ่งเชื่อว่าอยู่ที่ถนนยะลา (ถนนที่ตรงกับหน้าวัดกลางพอดี) มองออกไปเห็นแต่ทะเลเวิ้งว้าง
ไม่เห็นภูเขาครับ

ลักษณะแผนที่ภูมิประเทศชุด L7018 ของกรมแผนที่ทหารนี้ ถ้าเอาไปทำเป็นภาพสามมิติ
แล้วใช้เทคนิคการรังวัดทางวิศวกรรมโยธา
เอาระยะห่างจากจุดที่ตากล้องยืน มองทะลุประตูที่กว้าง ๔ ศอก สูง ๕ ศอก ไปยังภูเขาที่อยู่ห่างออกไป ๑,๗๐๐ เมตร
ก็จะยิ่งสอบทานกลับได้ครับ ว่าที่กล่าวไว้ในสารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ กับภาพถ่ายจากหนังสือสมุดภาพสงขลา มหาวชิราวุธนั้น
สอดคล้องตรงกันหรือคลาดเคลื่อนไปจากผลการวิเคราะห์ของท่านคนเขารูปช้าง

สนุกดีครับ เหมือนตามหาเพชรพระอุมา อย่างที่อาจารย์ Singoraman บอกจริง ๆ
(ที่จริงยังไม่เคยอ่านเลยครับ เพชรพระอุมา ซื้อมากลัวจะไม่มีเวลาอ่านจนจบ ชุดนึงราคานับหมื่นบาทน่ะครับ  :D)

หม่องวิน มอไซ

เอาล่ะครับ มาพิสูจน์กันครับ
เอาประตูนี้เป็นตัวอย่างก็แล้วกันครับ เห็นแนวภูเขาเป็นคลื่นรูปตัว S เป็นเอกลักษณ์ดี
(ด้านซ้ายต่ำ แล้วค่อย ๆ ลาดชันขึ้นแล้วลดตกลงมา แล้วขึ้นอีกรอบไปทางขวา)



ประตูในภาพข้างบนนี้ สมมุติว่าเป็นประตู X มีการวิเคราะห์ไว้แบบนี้ครับ
๑. ท่านคนเขารูปช้างคิดว่าประตู X ในภาพ เป็นประตูศักดิ์สิทธิ์พิทักษ์
๒. สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้บอกว่า ประตูชื่อ ศักดิ์สิทธิ์พิทักษ์ นั้นอยู่ที่ถนนยะหริ่ง
๓. แผนผังประตูเมือง บอกว่า ประตูชื่อ ศักดิ์สิทธิ์พิทักษ์ นั้น เดินตรงไปจะเจอประตูวัดกลาง (วัดมัชฌิมาวาส) พอดี
ซึ่งก็คือ ถนนยะลา ซึ่งพิสูจน์แล้วว่า ประตูที่ถนนยะลานั้น มองออกไปจะเจอทะเลเวิ้งว้าง ไม่เห็นภูเขา
ดังนั้นในเบื้องต้น ภาพถ่ายประตู X ไม่ได้ถ่ายที่ถนนยะลา ครับ

สมมุติฐานเบื้องต้น ผมจึงเชื่อท่านคนเขารูปช้างว่า ในภาพถ่ายประตู X นั้น ชื่อประตูศักดิ์สิทธิ์พิทักษ์ และอยู่ที่ถนนยะหริ่ง
(เชื่อตามสารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้)

หม่องวิน มอไซ

พิจารณาภาพถ่ายประตู X พบว่า
๑. ถ่ายในช่วงใกล้เที่ยง ไม่ค่อยมีเงาของชายคาหรือเงาของตัวบ้าน ชาวบ้านที่นั่งรอรับเสด็จอยู่ จึงพยายามเบียดกันเข้าไปหลบอยู่ในเงา แดดร้อนแรงมาก
๒. พระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาตามถนนนครใน ตำแหน่งของช่างภาพจึงอยู่ที่ถนนนครใน ส่วนประตูเมืองอยู่ริมตะวันออกของถนนนครนอก
๓. ประตูเมืองกว้าง ๔ ศอก ( ๒ เมตร)
๔. ระยะทางจากกล้องไปยังยอดเขาข้างหลัง ประมาณ ๑,๗๐๐ เมตร
๕. ประตู X ห่างจากถนนนครในที่ช่างภาพยืนอยู่ ๓๕ เมตร

ดังนั้นเมื่อช่างภาพยืนอยู่ที่ถนนนครใน มองทะลุกรอบประตูเมืองกว้าง ๒ เมตรไปยังภูเขาที่ห่างออกไป ๑,๗๐๐ เมตร จะมองเห็นภูเขาได้เป็นระยะทางประมาณ ๑๐๐ เมตร

จากนั้นจึงนำค่าที่ได้มาลากเส้นลงในโปรแกรม Google Earth โดยเส้นสีม่วงที่เห็น คือเส้นที่ลากผ่านกึ่งกลางถนนยะหริ่งไปยังภูเขาข้างหลัง
ซึ่งพบว่า ตรงกับวัดสุวรรณคีรีพอดีครับ

หม่องวิน มอไซ

จากนั้นลากเส้นสีเหลือง ๑ เส้น บรรจบกันที่ถนนนครใน
เกิดระยะห่างที่ถนนนครนอก (ประตูเมือง) ๒ เมตร และเกิดระยะห่างบนภูเขา ๑๐๐ เมตร
ผลปรากฏว่า...

หม่องวิน มอไซ

สรุปว่า แม้จะคลาดเคลื่อนไปทางขวาบ้างเล็กน้อย
แต่"จุดเปลี่ยนเว้า"รูปตัว S หรือ สูง-ต่ำ-สูง ก็อยู่ในกึ่งกลางกรอบที่วิเคราะห์พอดีครับครับ
(สังเกตว่า ช่างภาพก็ไม่ได้ยืนอยู่กลางถนนเป๊ะ แต่ยืนค่อนไปทางทิศเหนือ (ขวามือ) เล็กน้อย
ทำให้เห็นภาพภูเขาด้านหลังค่อนไปทางด้านใต้ได้อีกเล็กน้อยครับ

ดังนั้น การวิเคราะห์ของท่านคนเขารูปช้าง ว่าภาพถ่ายประตู X นั้น เป็นประตูที่อยู่ลำดับที่ ๒ นับจากทิศใต้
เป็นอันว่าถูกต้องครับ
และถ้ายึดตามสารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ ประตูลำดับที่ ๒ จากทิศใต้นี้ คือประตูชื่อศักดิ์สิทธิ์พิทักษ์
ตรงตามที่ท่านคนเขารูปช้างบอกครับ  ;D

หม่องวิน มอไซ

ด้านข้างของประตูเมือง มีช่องระบายอากาศด้วยครับ  ;D
ดูตรงอักษร C เห็นมีช่องดำ ๆ อยู่ด้วย
แต่ประตูเมืองจำลอง ยังไม่เห็นมีใครทำช่องนี้ไว้
อาจไม่ทันสังเกต หรือมองข้ามความสำคัญไปก็ได้ครับ


คนเขารูปช้าง

เป็นที่น่าสังเกตุครับว่าการสร้างหลังคาซุ้มประตูเมืองสงขลามีหลากหลายแบบครับ
- หลังคาซุ้มประตูเป็นแบบเก๋งจีนชั้นเดียวบ้าง สองชั้นซ้อนกันบ้าง ด้านริมทะเลสาบจากทิศใต้ขึ้นมาสองประตูเป็นแบบหลังคาชั้นเดียว
- ช่องระบายลมใต้หลังคาทำเป็นช่องเฉยๆบ้าง บ้างก็ทำเป็นลูกกรงลวดลายแบบจีน(น่าจะเป็นกระเบื้องเผาสีเขียวๆ แบบบ้านแถว นครนอก นครใน)

คิดว่ามีการทยอยก่อสร้างในเวลาต่างๆกัน และช่างจีนต่างๆคนกันครับ
   

หม่องวิน มอไซ

สรุปว่าใน ๑๐ ประตู มีภาพถ่ายเหลือให้เห็นเพียง ๔ ประตูเท่านั้นนะครับ (ด้านตะวันตกทั้งหมด)
ประตูเมืองจำลองที่บ้านบน ผู้ออกแบบคงใช้จินตการเสริมเพิ่มจากภาพประตูสุรามฤทธิ์นะครับ เพราะมีภาพถ่ายเห็นองค์ประกอบชัดมากที่สุด


ขอบคุณภาพโดยท่าน"พี่"

หม่องวิน มอไซ

ในหนังสือจดหมายระยะทางไปตรวจราชการแหลมมลายู ร.ศ.๑๒๑ พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
กล่าวถึงประตูเมืองเพียงประตูเดียว คือ ประตูไชยยุทธชำนะ ดังนี้

เช้า ๓.๑๕ ขึ้นรถไปกับเทศาทางถนนตลาดใหญ่ ตรงไปออกมุมกำแพง ตัดที่ถนนเลยไปออกใหม่ทางด้านใต้เมือง แล้วเลี้ยวลงข้างตวันออกไปตามถนนริมกำแพงนอก ถึงประตูไชยยุทธชำนะแล้วเลี้ยงลงใต้อีก ตามทางไปเมืองไทร...
พอเวลา ๓.๓๐ ถึงวัดศาลาหัวยาง (ซึ่งเป็นวัดพระยาเม่นสร้าง ดูภายนอกเหมือนจะทำดี มุงกระเบื้องเคลือบด้วย)...
๓.๔๐ ถึงคลองสำโรง หยุดรถที่นี้ เพราะตพานเล็กข้ามไม่ได้ จึงลงจากรถเดินข้ามสพานไป พอลงเชิงสพานทางโน้นถนนก็เปนสองแพร่ง แยกห่างกัน ๒๐ ดีกรี โดยประมาณ แยกขวาฝ่ายเหนือเปนทางไปเมืองไทร แยกซ้ายฝ่ายใต้เปนทางไปเมืองแขก ๗ เมือง มีป้ายปักว่า "ทวีวิเชียรรัถยา" (แปลว่าถนนพระยาวิเชียรสองคน ทำสองชั่ว)

---------------------------------
พระยาเม่น คือ พระยาวิเชียรคิรี (เม่น ณ สงขลา) ต่อมาเป็นเจ้าพระยาวิเชียรคิรี
พระยาวิเชียร ๒ คน พระยาวิเชียรคิรี (ชุม) และพระยาวิเชียรคิรี (ชม ณ สงขลา)

คนเขารูปช้าง

ผมขอนำภาพตัดส่วนจากแผนที่ ๒๔๗๘ มาประกอบ พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
จะเห็นว่าคนสมัยก่อนท่านเขียนแผนที่ละเอียดจริงๆ สะพานข้ามคลองสำโรงแคบกว่าถนนมากก็เขียนไว้เช่นนั้นจริงๆครับ